ธรรมปัจเวกขณ์ (๑๓๕)
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๕

เราฝึกปรือ เราพยายามที่จะเล่าเรียนศึกษา เพื่อให้มีความฉลาดแยบคาย ลึกซึ้งขึ้นเสมอๆ ก็ขอย้ำเรื่องความแยบคาย ย้ำเรื่องความสุขุม ที่เราจะต้องเอาใจใส่ ในตนเองจริงๆ คำว่าเอาใจใส่ในตนเอง ไม่ได้หมายความว่า เราก็จะเห็นแก่ตัว แต่เราจะสัมพันธ์กับหมู่ฝูงนี่แหละ อาการ หรือพฤติกรรมกิริยา ทั้งกาย วจี ที่เรากระทำ สัมพันธ์อยู่กับเพื่อนฝูง หมู่ฝูง กิริยาอะไรหยาบ วาจาอะไรหยาบ อะไรยังไม่แยบคาย อะไรยังปรับ ยังไม่พอเหมาะพอดี เราจะรู้ เราจะสุขุม เราประณีต เราจะเข้าใจ กิริยาการเป็นอยู่ร่วมกัน แม้แต่ตัวในพวกเราเอง เราทำอาการอย่างนี้ ไปในที่อื่น คนอื่น มีองค์ประกอบต่างกันอีก เราจะทำให้สุภาพกว่า หรือว่าบางที จะแสดงท่าที ดูแข็งขืนยิ่งกว่า สิ่งเหล่านี้ เป็นการประมาณที่พอดี ที่จะใช้ให้เกิดผล เกิดประโยชน์ แต่ละกาละ แต่ละครั้งคราว เราจะรู้ แต่ส่วนตื้นๆเขินๆนั้น ก็พูดได้ง่ายๆ ว่า สำหรับที่อื่น เป็นผู้ที่ไม่สนิท ชิดเชื้อกะเรา เราจะต้องสุภาพ ถ่อมตน อ่อนน้อม มากกว่า นั่นเป็นขั้นพื้นฐาน หรือเป็นความรู้ ในระดับธรรมดาสามัญ ง่ายๆ ชั้นเดียว ชั้นแรก เราต้องทำอย่างนั้น เสียก่อน แต่ในท่าทีที่สอดร้อย ในท่าทีที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ถึงกาลเทศะ ที่เราจะต้องมีท่าที ที่ดูแข็งขืนขึ้นมาบ้าง ดูท่าทีที่จะมีสภาพ องอาจ แกล้วกล้า อะไรขึ้นมาบ้าง ในลักษณะซ้อนอยู่ เราจะมีปัญญารู้จริงๆ ว่าจะทำนั้น มีเหตุมีผล มีความสมควร เป็นประการแค่ไหน แค่ไหน อย่างนี้เป็นต้น

เราจะรู้แม้แต่กรรมกิริยา แม้แต่การสัมผัสสัมพันธ์ แม้แต่การเกี่ยวโยง เหล่านี้ เป็นการควบคุม กาย วจี มโน ให้เป็นสุจริต ให้เป็นสัมมา ซึ่งเราทำ เราก็ต้องรู้อยู่ ด้วยปัญญามาแล้ว เราก็รู้ด้วยเหตุปัจจัยที่ประกอบ ประชุมกันลงไป เรียกว่า กาโย ความจะเกิดสันติสุข หรือว่าเกิดการอยู่ร่วม เกิดการเป็นไป ในการขัดเกลาก็ดี หรือว่า การส่งเสริมกัน ให้เจริญ ทั้งสภาวะ ที่เราได้ประโยชน์ตน และเราก็ทำให้เกิด ประโยชน์แก่ผู้อื่น ร่วมด้วย มันจะสอดร้อย ในระบบของ มรรคองค์ ๘ หรือ โพธิปักขิยธรรม ที่เราปฏิบัติธรรม และเราก็สร้างสรรทุกสิ่งทุกอย่าง ไปพร้อมกันในสังคม ประโยชน์ท่าน มันจะมีความแยบคาย มีความสุขุม ดังกล่าวนี้ เมื่อเราแยบคาย เมื่อเราสุขุมมาก ความอ่อนโยน หรือ สุภาพ คำว่าอ่อนโยนนี่ ไม่ใช่อ่อนแอ เป็นสำนวน อ่อนโยนไม่ใช่อ่อนแอ เป็นสภาพที่มันสอดร้อย เรียกว่า สุภาพ มีภาพที่ดี บอกแล้ว บางทีแข็งขืน แต่ก็ดูดีได้ สิ่งเหล่านี้ พูดตายตัวยาก ว่ามันแข็งขืน ว่ามันกระด้าง มันไม่งาม มันดูกระโดกกระเดก หรือว่า มันดูแข็งเกินไป บางที อ่อนเกินไป นี่อ่อน อ้อแอ้ ปวกเปียก หรือว่า มันอ่อนช้อยเกินไป น่าเกลียดน่าชัง ก็เป็นสิ่งที่ดู คำว่า น่าเกลียดน่าชัง ก็แปลว่า คำว่าหยาบ ได้เหมือนกัน มันน่าเกลียดน่าชัง อ่อนเกินไป มันเหลวเป๋วเกินไป มันไม่มีน้ำหนัก ไม่มีน้ำเนื้อ ดูแล้วก็เหมือน คนอ่อนแอ

การศึกษา หมู่เรา เราก็สอนกันมาก กำชับกำชากันมาก ให้พิจารณา ข้อสำคัญ ต้องมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม แล้วก็พิจารณาให้จริง การปฏิบัติธรรม มีประสิทธิภาพ สูงสุดก็อยู่ที่ สติปัฏฐาน ๔ กับ โพชฌงค์ ๗ คือ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม ให้รู้ทั้งกาโย เวทนา จิต เข้าไปในๆ ลึกๆ ก็เป็นจิตกับอารมณ์ อยู่ข้างนอก ก็ความประชุมทั้งภายนอก และก็เวทนา ที่รับ หลงว่าสุข หลงว่าทุกข์ และเราก็ปรับเปลี่ยน จากสุขจากทุกข์ มาเป็นไม่สุขไม่ทุกข์ โดยรู้ โดยการเข้าใจอารมณ์ อาการมัน อย่างชัดแจ้ง นั้นแหละ เป็นจิต เพราะฉะนั้น เศษจิต ที่ลึกละเอียดเข้าไปอีก แม้แต่จิตในจิต ไม่เกี่ยวกับการประชุมนอก เราก็จะต้องรู้อารมณ์ จิตในจิต ลึกซึ้ง นั้นเป็นเรื่องของละเอียด ของสติปัฏฐาน ส่วนโพชฌงค์ ๗ นี้ เป็นหลักตายเลย เป็นหลักยืนหยัดยืนยัน ให้มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ แล้วเราก็จะปฏิบัติ ให้เราเกิดอาการดี ให้เราเกิดการสะอาด ระงับ สงบลงไปเป็นปัสสัทธิให้ได้จริงๆ อาการที่ดีก็คือ ดีทั้งกรรมกิริยาภายนอก ที่มันเป็นกุศล และ ยังกุศลให้ถึงพร้อมอยู่ พร้อมกันนั้น ก็เป็นผล แม้ขณะที่เราทำ กรรมการงานที่ดีแล้ว ก็ยังสามารถ จิตของเราก็ยังสงบ ระงับจากกิเลส จางคลายลงจากกิเลสได้ ซ้อนๆ พร้อมกันอยู่ด้วยกับการงาน ที่ทำเป็นประโยชน์นอก และใจเรา ก็ได้ล้างกิเลส เป็นประโยชน์ใน สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์ นี้เป็นกำไรสูงสุด เป็นวิธีการที่แยบยล

พระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ค้นพบคิดได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เป็นเรื่องวิเศษ เป็นเรื่องวิเสโส เหลือเกิน ฉะนั้น ผู้ใดยังปฏิบัติเข้าในทางนี้ เข้าในทฤษฎีนี้ ทำไม่ถูกตรงกับทฤษฎีนี้ จะไม่ได้กำไรเต็มที่ ดังที่กล่าวนี้

ขอให้ระลึก ให้เห็นจริงว่า การมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อมนี่อย่างไร และว่า การธัมมวิจัย อยู่ด้วย มีความแววไว มีฌานเพียงพอ ที่จะรู้กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรา ว่านี่เรากำลังปรับปรุง ให้ไปสู่ทิศทาง ที่เป็นกุศลสมบูรณ์ ตามที่เราถือ มีสมาทานด้วยศีล ด้วยกฎกรรมฐาน ธุดงค์อะไรก็ตามใจ เราทำได้ตรงไหม เราทำได้ทวีขึ้น เจริญขึ้น ไม่ย่อหย่อน ไม่บกพร่อง ไม่ตกหล่นตกร่วง แต่ทำได้ทุกขณะ มากขณะ ติดต่อ ต่อเนื่องกัน ได้มากๆ จริงๆ เราก็จะสั่งสม ตามขอบเขตของศีล และก็ลึกซึ้ง ขึ้นไปเรื่อยๆ และก็ขัดเกลาขึ้นไป เป็นสมาธิ และก็ต้องสอดส่องด้วยปัญญา รู้จริง ตามความเป็นจริง ที่เราปฏิบัติได้ ปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง มีสภาวะรองรับ ไม่ใช่นั่งคะเน คำนวณเอา แต่เหตุแต่ผล เหตุผล รู้แล้ว ประเดี๋ยวก็จบในตัว แต่เราต้องเอามาปฏิบัติ มันจะไปได้เรื่อยๆ กว่าจะถึงขั้นบริบูรณ์ สมบูรณ์ เกลี้ยง บริสุทธิ์เต็มที่ เราก็จะต้อง เห็นความบริสุทธิ์ บริบูรณ์เต็มที่ เห็นอนัตตาปรากฏ เห็นความสิ้นอาสวะ เห็นความคงทน เห็นความถาวร เห็นความที่เราทำได้ง่าย เป็นปรกติธรรมดา ไม่ต้องยาก ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องทน ไม่ต้องสำรวม ไม่ต้องสังวร ไม่ต้องระวังอะไรมากนัก มันเป็นเองเลย เป็นพระอริยเจ้า ที่ทรงสภาพนั้น โดยปรกติธรรมดาๆ เราจะผลักเบน ให้ไปเป็นสภาพ ที่เป็นอกุศล เป็นทุจริต เสียอีกยาก แต่ส่วนที่เป็นสุจริต เป็นกุศล อย่างธรรมดานี่ มันกลับง่าย มันกลับเป็นปรกติ มันกลับสะดวกเสียด้วยซ้ำ มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถึงที่สุด

ขอให้พวกเราได้มีสติให้ดีๆ เต็มๆ แล้วสอดส่องธัมมวิจัย ปฏิบัติให้เข้าทฤษฎี สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ ด้วยระบบมรรคองค์ ๘ ต้องใช้คำว่าอย่างนั้น ด้วยระบบ มรรคองค์ ๘ คือ ทำความเห็นให้ถูกต้อง ที่พูดที่แนะนำนี่ แนะนำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่ถูก แล้วก็สังวรระวังให้ ความผิด แม้วาจา แม้การงาน แม้กระทำอยู่ ส่วนมาก ที่เรียกว่า อาชีพ และ เราก็พยายาม พยายาม สัมมาวายามะ กับ สัมมาสติ นี่แหละ ก็คือ สติสัมโพชฌงค์ วายามะ พยายาม พยายามอะไร ก็พยายามมีธัมมวิจัย พยายาม รู้ต่อผัสสะ พยายามรู้ต่อการปรนปรุง พยายามรู้บทบาทพฤติกรรม กาย วจี มโน และ ในรายละเอียด ของกาย เวทนา จิต ธัมมารมณ์ พูดอย่างนี้ หลายภาษา ที่มันเป็น ภาษาทางเทคนิคของธรรมะ แต่คิดว่า พวกเราคงเข้าใจ เมื่อเราดูแล พยายามปรับปรุง อย่างนี้ตลอดไป ตลอดไป เราก็จะเดินทางไปสู่จุดเป้าหมาย จุดที่เราหมาย คือ นิพพาน นั้นได้น่ะ เพราะเรารู้เท่าทัน สิ่งประกอบอยู่ในโลก เราจะรู้ทันโลก ที่มาครอบงำคน แล้วเราก็จะหลุดพ้น ออกไปเรื่อยๆ จิตใจของเรา จะปล่อยวาง แล้วเราก็จะรู้ในจิต ในใจ จริงๆ เราปล่อยวาง หรืออยู่เหนือมัน เป็นโลกุตรจิต และเราไม่ได้ขาดการงาน ไม่ได้ขาดสมรรถภาพ และเราเอง เราก็ได้ตัดกิเลส ตัดกิเลส ๆ คนที่ได้ปฏิบัติตาม ทฤษฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเรียกว่า เป็นผู้ประเสริฐที่แท้ ที่โลกทุกกาล ทุกยุคสมัย ต้องการ.

สาธุ

*****