ธรรมปัจเวกขณ์ (๙๑)
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๒๕

เมื่อเรามาปฏิบัติธรรมกัน ตามหลักของพระพุทธเจ้า ที่บอกว่าใช้หลักศีล สมาธิ ปัญญา ต่อจากปัญญาไป ก็จะเป็นวิมุติ, ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัสสนะ ศีลเป็นหลักเกณฑ์ ที่เราใช้กำหนด แต่ละฐานะของบุคคล ใครทำได้มาก ใครทำได้น้อยแค่ไหน ก็กำหนดเอา ตามกำลังของตน เป็นสิทธิเสรีภาพ ที่เราจะเลือกเอา เท่าที่เราพอทำได้ แต่ก็จะต้องมีปัญญารู้ว่า เราอย่ามักน้อยในศีลเกินไปนัก มักน้อยในศีล หมายความว่า เราเอาแต่น้อยๆ และก็เอาแต่สบายๆ แล้วก็อยู่แค่นั้นแหละ ช้าๆอยู่อย่างงั้นแหละ มันก็ไม่เจริญ เพราะฉะนั้น ศีลมันก็จะต้องมีความเจริญ มีอธิศีล มีศีลที่มีความหมายลึกซึ้งขึ้น หนักขึ้นกว่าเดิม เคร่งครัดยิ่งกว่าเดิม มีคุณค่า มีคุณธรรม มีคุณภาพที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น อันนี้เราจะต้องมีปัญญารู้เห็น เมื่อปฏิบัติแล้วว่า ความหมายของศีล มันเป็นอย่างนั้น เขาอธิบายว่า ศีลกำหนดวิรัติกาย วิรัติวาจา ที่จริงก็ถูก ถูกคือหมายความว่า เมื่อกำหนดศีลนั้น ก็กำหนดแต่ว่า อย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ ทางกายและทางวาจา เท่านั้น ส่วนทางใจ มันจะไปกำหนด เข้าไปไม่ได้ มันก็ได้แต่ว่า อย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ ศีลเราก็มาห้ามตนเอง ในขณะที่เราระมัดระวัง ห้ามตนเอง ไม่ให้ทำอย่างนั้น ไม่ให้ทำอย่างนี้นี่ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ หรือว่าพยายามมีสติสัมปชัญญะ ระมัดระวังเสมอ มันก็จิตแหละ เป็นตัวที่ไประมัดระวัง ไม่ทำกายกรรมอย่างนั้น ไม่ทำวาจาอย่างนี้ มันก็จิตนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ว่าจิต ที่ได้ระมัดระวัง ตามองค์ประกอบของศีล ตามความหมายของศีล เราได้ปฏิบัติธรรมแล้ว จิตของเราได้ควบคุมตนแล้ว จิตของเราได้ถูกขัดเกลาแล้ว เมื่อมันอยากจะทำ อาการที่เราห้ามตน เราห้ามตน มันอยากทำ มันก็ต้องต่อสู้ เมื่อต่อสู้ มันก็ขัดเกลา เมื่อขัดเกลาสู้ได้ เราก็เป็นผลได้ ได้ด้วยการขัดเกลา ด้วยอดทนต่อสู้ สู้กันไม่ให้มันไปละเมิด ตามที่ข้อกำหนดของศีล บอกไว้เท่านั้น มันก็ได้เป็นสมถะ มันก็ได้เป็นสภาพ สงบระงับลง ธรรมดา เป็นสมถธุระ ถ้าเรายิ่งทำได้ด้วย ก็เห็นผลดีด้วย เห็นเหตุผลด้วย มีปัญญาช่วย เบาบางลง ง่ายดายขึ้น เพราะเหตุผลมันช่วยเรา เราก็รู้ทั้งเหตุผล และรู้ทั้งกรรมวิธี มีอิทธิวิธีอย่างนั้น มีรูปธรรม กระทำอย่างนี้ มีวิธีการ มีวิถีทาง กระทำอย่างโน้นอย่างนี้
ยิ่งทำกับจิตที่ไม่มีตัวตน เราก็จะเกิดปัญญา เกิดรู้ว่า ทำกับจิตได้ มันก็จะเกิดผลได้ ด้วยจิตปัญญา ด้วยสั่งสมขึ้นเป็นอธิปัญญา จิตตัวที่ได้ ทนได้ ก็ดี สงบระงับอยู่ พอเป็นพอไป หรือยิ่งวางปล่อยได้ ยิ่งเบาสบายไปเลย จางคลายโล่งออกไปเลย มันก็ยิ่งเป็นจิตที่เป็นไปได้ ไม่ต้องสามารถระแวงระไว หรือว่าควบคุมกันมากนัก ก็แคล่วคล่องขึ้น ตั้งมั่นขึ้น เป็นไปขึ้น ตามศีลต่างๆ ที่เราได้กำหนดให้แก่ตนเอง แต่ละหลักแต่ละเกณฑ์ ละเอียดขึ้น เป็นอธิศีล ก็ยิ่งได้สูงขึ้นไปตามลำดับ ไอ้อย่างนี้ เป็นการปฏิบัติ ที่ปฏิบัติในระบบของพระพุทธเจ้า สมาธิเกิด เพราะการกำหนด อย่างที่กล่าวแล้ว แล้วเราก็ได้ปฏิบัติ บอกว่าศีล กำหนดกายวจีก็จริง จิตเป็นตัวกำหนด เป็นตัวมีสติสัมปชัญญะ เกิดสติปัฏฐานอยู่ เกิดการระมัดระวังอยู่ จริง แล้วมันก็จะขัดเกลา ดังที่ได้อธิบายไปให้ฟังแล้ว การขัดเกลาขึ้น จนกระทั่ง สบายขึ้นบ้าง หรือว่าง่ายขึ้นบ้าง เราก็จะเพิ่มศีลข้ออื่นขึ้นได้อีก การเพิ่มศีลขึ้น โดยเอาหลักของศีลมาเลย มากำหนดลงไป ก็เป็นอธิศีลชนิดหนึ่ง โดยตรงๆซื่อๆ เพิ่มศีล ๕ เป็น ๖ เพิ่ม ๖ เป็น ๗ เพิ่ม ๗ เป็น ๘ เพิ่ม ๘ เป็น ๙ เพิ่ม ๙ เป็น ๑๐ ไปเรื่อยๆ มันก็เป็นการมีศีลยิ่งขึ้น อย่างแน่ๆ ง่ายๆ แต่โดยนัยความหมายที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น โดยข้อ ๑,๒,๓,๔,๕ ศีล ๕ ข้อนี่ เคยอธิบายให้ฟังแล้ว เป็นหลักแกนสูงสุด จะขยายความอธิศีล โดยศีล ๕ ข้อนี้ จนถึงอรหันต์ ถึงละเอียดลออ เป็นปรมัตถธรรมสูงสุด ก็อธิบายได้ ก็ขยายความได้ แต่ถ้าเผื่อว่า เราไม่รู้ ไม่มีปัญญาอย่างนั้น เราจะอาศัยศีลหลักย่อยอื่นๆ หมวดธรรมอื่นๆ ผสมผเส สานเข้า เราก็ต้องทำให้เป็นอย่างอธิศีล อย่างนั้นด้วย และมันก็จะขัดเกลา ดังกล่าวแล้ว ถ้าศีลมันขัดเกลาแต่แค่กายวจี บริสุทธิ์ มโนมันก็เก่งขึ้น ตั้งเยอะแล้ว และยิ่งทีนี้ กายวจีก็บริสุทธิ์ ยังมีเศษเหลือในจิตอีกเล่า เป็นภวตัณหา กายทนได้ วจีทนได้ ไม่ละเมิดกาย ไม่ละเมิดวจีข้างนอกแล้ว โดยศีล อย่างนี้ ความหมายละเอียดขึ้นไปเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่ความหมายต่ำๆ หยาบๆ เช่นว่า

ศีลข้อ ๑ เราไม่ฆ่าสัตว์ แล้วเรายังไม่กินเนื้อสัตว์เสียอีก เราก็ทำได้ กายทำได้ วจีไม่พูดให้ใครกินเนื้อสัตว์ได้ แต่ใจเรายังมีกิเลสอีก โดยง่ายละ โดยสบายละ โดยไม่ต้องยากต้องเย็น แน่ใจว่า จะต้องตลอดชาติด้วยซ้ำ แต่มันก็ยังมีสภาพอาการ ที่เราเรียนรู้ได้ เราก็จะต้องไปทำกับจิตที่ลึกซึ้งขึ้นไป อย่างนั้นอีก เรียกว่า จิตในภพ ยิ่งเป็นจิตในภพจริง และยิ่งมันต้องสัมผัสเกี่ยวข้อง มีชีวิตด้วยการเป็นอยู่ธรรมดา ชีวิตประจำวัน เป็นฆราวาสก็ตาม มันจะกระทบสัมผัส เกี่ยวกะสิ่งที่มันเป็นศีล ที่เรากำหนด ละเว้น นี่แหละ มันเป็นจริง และการกระทบกระแทก มันก็จะเกิดการหวั่นไหว เกิดการกระเทือน ยิ่งไม่ได้ตั้งใจ สติตก ไม่รู้ตัว มันยิ่งจะเผลอเรอ เป็นไปตามอำนาจความคิด ความยึดเคย ซึ่งเป็นกิเลส มันทำงานอยู่ในจิตใจของเรา เป็นแน่แท้

ถ้าเราไม่เผลอเรอ มีสติ แล้วเราก็รู้เหลี่ยมมุมแล้ว ว่าเราจะละจะเลิก ด้วยเหตุด้วยผลต่างๆนานา เราก็ยังพอทนได้ นี่ล่ะการปฏิบัติ ให้มันสุขุมประณีต มันก็จะไล่เลียง ทั้งที่รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง จนสุดท้าย ไม่ต้องรู้ตัวก็ได้ แม้แต่กระทบสัมผัส แล้วไม่รู้ตัวเลย ก็ยังเฉย เพราะมันเป็นเสียแล้ว จิตเป็นฌานเสียแล้ว จิตละปล่อยเสียแล้ว จิตไม่เอาแล้ว อย่างนี้ ไม่ปรุง ไม่สังขาร ไม่ไปเกิดปฏิกิริยา ที่กระทำให้เกิด แม้รูปนอกกายก็ดี กายกรรมก็ดี วาจาก็ดี ใจมันก็จะสูงขึ้นๆ ดังกล่าวนี้ จิตก็จะเป็นสภาพ ที่กระทบสัมผัสอย่างไร ก็ไม่ต้องไปเมถุน ไม่ต้องไปเสพย์สม กับสิ่งที่มากระทบข้างนอกเลย วางปล่อย ยิ่งเราเองมีปัญญา รู้ค่าของสิ่งมากระทบนี้ ตามโลกเป็น ชาต รูป รัชตะ เป็นค่าสมมุติของโลกด้วย เราละเว้นได้ แต่ในโลกเขาถือค่า ว่าสูงว่าต่ำ หยาบ ละเอียดอะไร เราก็เข้าใจลึกซึ้ง เราจะอนุเคราะห์เขา ว่าเรารู้ว่า ฤทธิ์มันแรง มันหยาบ เราก็อนุเคราะห์เขา ถ้าเผื่อว่า ใครพอจะเคี่ยวเข็ญเขาได้ เราก็จะรู้ ให้เคี่ยวเข็ญเขาขึ้น การรู้เหล่านี้ ก็เป็นประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตน ทำได้ประโยชน์ท่าน ก็จะอนุโลม ปฏิโลมกับเขา ได้สอดร้อยไปอย่างนี้ การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ และเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราจะมาอบรม พยายามบำเพ็ญกัน ความชำนาญ การใช้การปฏิบัติ ในลักษณะของมรรคองค์ ๘ หรือ ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา ดังกล่าวนี้ มันจะละเอียดลออ แววไว จิตของเรา จะรู้เท่ารู้ทัน แล้วก็กระทำประโยชน์แก่ตน ให้มีจิตสูงขึ้นๆได้

ตั้งแต่หยาบๆเป็นเบื้องต้น เราต้องรู้เบื้องต้นว่า ไม่ใช่ว่าเป็นโรค คลุกคลีก็ได้ เกี่ยวข้องก็ได้ อย่างหยาบ ที่จริง ปรมัตถ์โน่นแน่ เกี่ยวกับจิตโน่นแน่ จิตมันปล่อยวางได้แล้ว ไม่รู้ว่ามันปล่อยจริงหรือไม่จริง ได้แต่หลงตัวหลงตน ได้แต่วาทะ ว่าจิตเราว่าง จิตเราว่าง กระทบสัมผัสเข้ามา ก็ยังเกี่ยวข้องลิ้มเล็ม หรือ สวาปามด้วยซ้ำ สวาปามสิ่งนั้นๆ แต่ภาษาคำว่า จิตว่าง จิตว่างเป็นจอมโจรบัณฑิต ไม่รู้อาการของจิตจริง ไม่รู้ว่าจิตเราเสพย์ ไม่รู้ว่าจิตเราติด ไม่รู้ว่าจิตของเรา บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์อย่างไร แบบนี้ก็มีกันเยอะ ในสายศาสนา ที่เขาสอนกันด้วยจิตว่าง แต่ไม่รู้สักกายะ ไม่ปฏิบัติ เอาองค์ศีลไปประกอบ ไม่เป็นอยู่อย่างแท้จริง อย่างพิสูจน์ได้เลยว่า นี่เราเว้นขาด แม้แต่ข้างนอกน่ะ แล้วข้างในเราก็ยังจะทำการเว้นขาดให้ได้อีก จนกระทั่ง นิ่งสนิท แม้เว้นขาดได้จริงแล้ว ใครคนนั้น เขาไม่เวียนกลับไปเสพย์ สิ่งที่ต่ำหยาบกว่านั้นหรอก ไม่หรอก แล้วตนเองก็จะรู้ตลอดเวลา ว่าตนเองไม่เสพย์ไม่ติดนั้น เป็นอาการอย่างไร อาการอยู่ในจิตของเรา ไม่ใช่ด้นเดาด้วย จินตามยปัญญา ด้วยเหตุผลของตรรกวิทยา อยู่เท่านั้น ไม่ใช่ มันจะหมดอัตตา หมดตัวหมดตน ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็จะบริสุทธิ์ สมาธิจิตก็จะว่างสบายโปร่ง ไม่ฟูไม่แฟบ สัมผัสเกี่ยวข้องยังไง ก็ไม่มีเสพย์สม แม้เมถุนสังโยค ข้อที่ ๖ ก็ไม่มี, เมถุนสังโยคข้อที่ ๗ ที่ยังหลงดี เมถุนข้อที่ ๗ ยังเป็นเทวดา องค์ใดองค์หนึ่ง ยังหลงนึกว่า ตัวยิ่งตัวใหญ่ เป็นเทพเจ้าขั้นพระพรหม ข้านี่แหละใหญ่ ข้านี่แหละใหญ่ก็ไม่มี แม้เราจะดี แม้เราจะทรงไว้ ซึ่งคุณธรรมความดี ใครเขาไม่เคารพก็เรื่องของเขา ใครจะไม่นับถือก็เรื่องของเขา ถ้าเราทรงความดี นี้ไว้มากๆ นานๆ คนเขานับถือเอง เมื่อเขารู้แจ้งเห็นจริง เมื่อเขาแน่ใจแล้ว เราพิสูจน์ความดี ทรงความดีไว้ตลอดเถิด ไม่จำเป็นที่จะต้องโพนทนา ไม่จำเป็นที่จะต้อง แสดงท่าทีข่มเขา เบ่งใหญ่ อะไรต่ออะไรต่างๆ ไม่ต้องเลยนะ ทฤษฎีเหล่านี้ แนะให้พวกเราได้ยิน พวกเราได้รู้ เพื่อที่จะมาพิสูจน์ซิว่า จะจริงไหม ความจริงหรือความเป็นนั้น มันอยู่ที่บุคคลผู้ได้เองเป็นเอง พิสูจน์เอง ได้เอาแล้ว ก็เป็นจริงเอง

เพราะงั้น ความจริงอันนี้ ปรากฏได้ต่อเมื่อ ผู้ที่มีทั้งปริยัติ เรียนรู้มา ทางเหตุผล และมีได้ทั้งปฏิบัติที่พิสูจน์เข้าไป จนถึงอารมณ์ ถึงอาการ ที่ลงท้ายสมบูรณ์จริง อย่างนี้ เมื่อได้จริง จึงเป็นเนื้อแท้ ได้จริงเป็นจริงก็มาเป็นมวล เป็นธรรมทายาท สอดร้อยกันไป อีกเยอะแยะเลย ช่วยคนที่ยังไม่ค่อยได้ ไม่อิโหน่อิเหน่อะไร จนกระทั่ง มีกำลังแข็งแรงขึ้น แรงขึ้นเป็นมวลหมู่ เราก็จะรู้ว่า มันเป็นไปได้ และทีนี้ มานะตัวร้ายนี่ เราต้องมาคอยปราบคอยปราม จับมานั่งแถวเข้าแถวนี่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ จับมาเรียงกัน เป็นอะไร เหมือนอะไร เอ๊ย! เรามาอยู่ใต้อำนาจแล้วนี่ เราจะกลายมาเป็นคน เป็นบริวารแล้ว นี่ เป็นลิ่วล้อ คอยที่จะให้เขา มากำหนดบังคับเรา นี่จับมานั่งกิน มานั่งอยู่ มานั่งทำอย่างโง้นอย่างงี้

ตอนนี้ ถ้าเผื่อผู้ใดมีมานะอยู่ จะไม่ค่อยอยากทำตาม เหมือนกับเขามาสั่ง เหมือนกับเขาเอากฎ เอาอะไรมาบังคับ มันจะถือเนื้อถือตัว อย่างเยอะ แต่เราทำได้โดยปัญญา ค่อยๆทำมานี่ จะสังเกตได้ อาตมาไม่พยายามที่จะสร้างรูปแบบ บังคับเป็นรูป มาแต่ต้น เสียก่อนเลย อะไรๆ มันจะค่อยเกิดมา เป็นรูปเป็นทรงเป็นแบบ เป็นอะไรต่ออะไร แล้วพวกคุณ ก็รู้จิตใจของพวกคุณ บางคนยังมีเศษมานะอยู่ นี่มานั่งทำ มันก็ทำไปอย่างนั้นน่ะ ใจมันก็ยังระลึกแย้งย้อน ยังนึกหาเหตุผลให้แก่ตัวเอง อะไรต่างๆ อยู่เยอะแยะเลย และ มันก็จะรู้สึกว่า เราทุกข์บ้าง เราไม่สงบเท่าไหร่ แต่ถ้าใครไม่มีอะไรเลย จะสังเกตได้เลยว่า เอ๊! ก็ดีนี่นะ นอกจาก ไม่มีอะไรเลยในจิตแล้ว ไม่ย้อนแย้งแล้ว ไม่ค้านแล้ว ยังเห็นดีด้วยซ้ำ ว่าดีนะ เข้าใจด้วยปัญญา เอ้า! อย่างนี้ดี เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นประโยชน์ เป็นคุณค่าอย่างไรๆ เข้าใจเหตุผลด้วย คนนั้นก็ทำง่าย สบาย สงบ เรียบร้อย ไม่ขัดไม่ขืน ส่งเสริม แนะคนอื่นได้ ก็ยังได้ด้วยซ้ำ ไม่ต้องว่า ไปกล่าว ไปจาบไปจ้วง ไปทุ่มไปแทงกัน แต่ค่อยกระทำไป จนเข้ารูปเข้าร่องเข้ารอย สิ่งเหล่านี้ เกิดการพัฒนา คุณอย่าลืมว่า การนั่งเป็นแถวอย่างนี้นี่ ไม่มีผลต่อการเผยแพร่ศาสนานะ เราได้พิสูจน์มาแล้ว อาตมาเอาของจริง มายืนยันพวกคุณ จึงได้เข้าใจด้วยปัญญา ด้วยเห็นตาม แล้วมันง่ายขึ้น นี่ให้นั่ง ก็ง่ายๆขึ้นมาแล้ว ไม่ขัด ไม่แย้งนักหนา เพราะว่า เราได้พิสูจน์มาก่อน แล้วค่อยมาตั้งระเบียบ แล้วค่อยมาตั้งเรื่อง แล้วค่อยมา พอเป็นพอไป ถ้าใครจะดื้อด้าน จะพอใจไม่ทำนะ มันก็ดื้อได้ทั้งนั้น เพราะที่นี่ เราไม่ลงอาชญา และไม่มานั่งทุบนั่งตีกัน ไม่นั่นอะไรนักหนา อย่างดีก็แค่ ต่างคนต่างอยู่ ก็แล้วกัน คุณก็อยู่เขตอื่นเถอะ เราอยู่เขตนี้ เราจะมีอันนี้ นี่ เราถือสิทธิ์ว่าเป็นที่ๆ จะใช้เป็นพุทธสถาน เพราะฉะนั้น ต้องใช้กฎ ตามพุทธสถาน เรากระทำกันอย่างนี้ คุณเองคุณไม่เอา ก็ไม่มีปัญหาอะไร ออกไปทำที่อื่นได้สบาย ทำตามใจคุณ ทุกอย่างได้ ที่นี่ก็จะทำ ขอให้เอื้อเฟื้อกฎระเบียบ เอื้อเฟื้อธรรมวินัยบ้าง อย่างนี้เป็นต้นนะ เราจะเข้าใจลึกซึ้งขึ้น ถึงเหตุถึงปัจจัย ถึงสภาพกรรมกิริยาต่างๆ ว่ามันเป็นผล สังเคราะห์มนุษย์ในสังคม มันเป็นผล เป็นรูป เป็นแบบ เป็นยัญพิธี เป็นหุตตัง แม้เราทำ เราก็จะรู้ว่า เราได้ประโยชน์ตนอยู่ เราได้ทั้งประโยชน์ตนว่า นี่เราถือมานะ เราจะเลิกละหน่ายคลาย หรือมีองค์ประกอบอื่น แม้แต่เป็นกิเลสกาม แม้แต่เป็นเรื่องอื่น กามฉันทะ พยาบาท อะไรอื่น มันก็จะช่วย ช่วยจริง ยิ่งไม่มีกาม ไม่มีพยาบาทแล้ว เหลือแต่มานะ เราก็จะรู้ว่า เราได้ขัดเกลาลงไปอีก นี้ก็เหมือนศีล เป็นศีล เป็นอธิศีล ที่กำหนด กฎเกณฑ์ลงไปอย่างนี้ แล้วเราก็ทำตามกาย เราทำวจี เราทำใจ เราก็จะต้องสอดคล้องลงตัวในที่สุดอีก ด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นญาณ หรือเป็นวิมุติได้ เป็นวิมุติญาณทัสสนะ เป็นการวิมุติ ทั้งที่มีญาณปัญญา ไม่ใช่ว่า เป็นอย่างงมงาย ไม่รู้เหตุไม่รู้ผล ไม่สิ้นวิจิกิจฉา ไม่ใช่ แต่สิ้นวิจิกิจฉา สามารถเข้าใจ อย่างทะลุปรุโปร่งเลยว่า เออ! ยังกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท และอันนี้ลงตัวแล้ว และก็เป็นไปแล้ว คนนั้นก็จะไม่มีทุกข์อะไรเลย เพราะไม่ขัดแย้งอะไรที่ตัวเอง ทุกอย่างกระทำตามปัญญา กระทำตามสิ่งที่ถูกแล้ว ดีแล้ว เห็นด้วย สิ่งเหล่านี้ จึงเรียบร้อยราบรื่น เรียกว่า สันติทั้งนอก ตั้งแต่ตัวบุคคลเราเขา สันติทั้งใน จิตใจของเราก็สุขเย็น สบาย ว่างเปล่าที่แท้จริง

เรื่องเหล่านี้เป็นองค์ประกอบ ในปัจจุบันธรรม ที่เอามาอธิบายให้ฟังกัน เรายังจะมีกิจกรรมอื่น แม้แต่การงานที่เราทำ แม้แต่สิ่งประกอบอะไร ที่เราเป็นเรามี ก็จะเป็นนัยเดียวกันนี้ คือ มันจะสุดท้าย เราก็เห็นในประโยชน์คุณค่า และเราก็เห็นในจิต ที่ว่าง เบา ง่าย สบาย เพราะความไม่ยึดถือ ไม่ใช่ว่า มันง่าย เบา สบาย เพราะความไม่ทำงาน ไม่ใช่ เราทำงานหนักอยู่ด้วยซ้ำ ทั้งร้อนทั้งหนัก ทั้งลำบากยากเย็นเสียด้วยซ้ำ แต่ใจเราก็สบาย เราว่าง เป็นสันตวิหารที่แท้จริงนะ คือ มีสภาพที่รู้ มีสภาพที่เหมือนกะ อย่างองค์ ๔ องค์ ๕ เรียกสันตวิหาร เป็นอรูป ขั้นอรูปทีเดียว และเป็นสภาพเบาบางไปหมด จนกระทั่งไม่มี กามก็ไม่มีอยู่ พยาบาทก็ไม่มีอยู่ ถีนมิทธะก็ไม่มีอยู่ อุทธัจจกุกกุจจะ แม้แต่จะรำคาญก็ไม่มี ไม่มีหมดเลย โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส เราจะเข้าใจ อาการ ลิงคะ เหล่านี้ ของปรมัตถ์ของจิต ไม่ใช่แต่กาย เท่านั้น

ในฐานอนาคามิจิต หรือจิตที่เราจะทำ สอดคล้องกับกายกรรม วจีกรรม เหล่านี้ลงตัว ไม่ฝืดไม่ฝืนเลย ทุกอย่างเป็นไปอัตโนมัติ มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้นๆ ตื้นๆ เดาเอาไม่ได้ แต่เป็นจริง ทำได้แล้ว คุณได้ คุณรู้ ทำเป็นแล้ว คุณได้ คุณเป็น คุณจะรู้ของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ เรากำลังพัฒนา ตัวพัฒนาสังคม อยู่ในรูปในแบบ ในอะไรต่างๆนานา ให้พวกเรา ขอให้พวกเราใช้ข้อสังเกต และก็ฝึกตนอบรมตน ให้สอดคล้อง บอกแล้วว่า เรางามเป็นผู้ดี เราเข้ารูปเข้าร่องเข้ารอย สูงขึ้นยิ่งๆขึ้น นับวัน จะมีความสุขุมประณีต นับวัน จะมีสภาพที่ชัดเจน มีแต่กุศลกรรม ยังกุศลกรรม เป็นตัวอย่าง เป็นแบบ เป็นหมู่สังคม ที่จะเป็นแบบตัวอย่างแก่โลก เราจะมีองค์ประกอบ ที่จะไปเกี่ยวข้องกับโลกเขามากขึ้น แต่เราก็จะรู้ว่า กรรมกิริยาอย่างนี้ เป็นของอริยะ กรรมกิริยาอย่างนี้ เป็นของชาวบ้าน เราจะมีกรรมกิริยาที่เป็นของอริยะ ที่เนียนใน และสอดคล้อง บางทีโดยรอบ หยาบเหมือนกันเลย แต่ในนัยละเอียด มันไม่เหมือนกัน เราจะรู้ไปจนกระทั่งถึง ปรมัตถธรรม ภายในจิตเรียบยิ่ง ไม่มีกิเลส ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีอุปกิเลสอะไร อย่างสมบูรณ์แล้ว เรายิ่งจะเห็นเด่นชัดว่า ศาสนาพระพุทธเจ้านี้ เป็นศาสนาแห่งผู้ดีจริงๆ เป็นความอนุเคราะห์โลก ไม่ใช่ถ่วงโลกเลย เป็นการรังสรรค์โลกไป ให้เจริญงอกงาม ตัวเราเอง ก็เป็นคนงอกงามในความรู้ ไม่ใช่ว่า งอกงามแบบโลกีย์ๆ แต่งอกงามเพราะแก่นสารสารธรรม เรามีสิ่งที่ดีกว่า ไอ้รูปนอก เรื่องหยาบๆคายๆ เราไม่ต้องมีเลยก็ได้

พวกเราทุกคน จะเป็นตัวยืนโรง จะเป็นตัวพิสูจน์ มันจะก้าวหน้า มันจะพัฒนาไป เพราะความจริงที่มีจริง ของจริงที่มีจริง ขอให้พวกเรา ได้ตั้งหน้าตั้งตา ทำความเข้าใจดีๆ แล้วทำตามศรัทธาของคุณ ที่คุณเชื่อมั่นด้วยปัญญาของคุณ อย่างแท้จริง ว่านี่ดีแล้ว เราต้องตั้งตนอยู่ในความลำบาก เราจะต้องพยายามพากเพียร ประพฤติปฏิบัติ ให้เป็นพิณสามสาย แต่ทุกสายต้องขึงให้ตึง และเราก็จะรู้ ตึงเกินไปเสียงเพี้ยน ตึงเกินไปขาด เพราะฉะนั้น คำว่าตึงคำนี้ มีแต่อุทาหรณ์ ช่วยคุณเท่านั้นเอง ใครจะตึงของใคร จะตั้งตนอยู่ในความลำบาก พอประมาณของใคร ได้โดยหลักเกณฑ์ของเรา ผู้นั้นขอให้พิสูจน์ ให้รู้แจ้งเห็นจริงของตนเอง ทุกๆคน

สาธุ

*****