ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๒๕

เราเรียนรู้สติปัฏฐาน สติปัฏฐานท่านแยกแยะ มุมเหลี่ยมไว้ เป็นหัวข้อง่ายๆว่า เราจะต้อง พิจารณากาย กายที่ว่านี้ มันครอบคลุม ไปจนกระทั่ง ถึงความประชุมของวัตถุนอก ที่เราไปสัมพันธ์ ไปเอามาประชุม เกี่ยวข้อง ยิ่งใหญ่ ยิ่งมาก กายยิ่งโต เป็นสักกายะ ก็ยิ่งหนักยิ่งหนา ใจของเรานี่ มันกว้างมันใหญ่ มันเที่ยวได้ไปรอบรัด รวบรวม ไปเที่ยวได้ต้องการ มันเที่ยวได้อยากใคร่ เอาไว้เยอะเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ใจผู้ใดยิ่งอยากใคร่ ยิ่งโตใหญ่เท่าไหร่ ก็ยิ่งหนัก ยิ่งลำบาก ยิ่งทุกข์ร้อน เท่านั้น นั่นเป็นกายนอกกาย ที่เราจะต้อง รู้ตัวเองว่า เราเฟ้อเราเกิน เราหลงใหล มาประชุมอะไรเอาไว้ มากมาย หอบหามไว้มากมาย ทั้งๆที่บางอย่าง ไปเอามาประชุมไว้น่ะ มันเป็นเศษเป็นกาก เป็นนรก ทั้งตัว เป็นหัวหน้านรก เป็นเรื่องเฟ้อ เป็นเรื่องเกิน เป็นเรื่องหยาบ เรื่องตัดทิ้งได้อย่างเบา ง่าย สบาย ด้วย แต่เราก็ไม่รู้ตัว จึงต้องพิจารณา กายนอกกาย เหล่านี้ให้ชัด แม้ที่สุด ข้างนอก ที่เป็นความประชุมใน เป็นรูปธรรมที่เป็น มหาภูตรูป เป็นเรื่องของนอกๆ เราละลงไป ได้มากแล้ว เราแม้จะย่นย่อเข้ามา จนกระทั่ง ถึงผัสสะ ถึงลาภ ถึงยศ เราก็จะต้อง เรียนรู้ ลาภยศ และผัสสะเหล่านั้น ว่ามันก็ยังประชุม เราก็ยังดูดดึง เราก็ยังผลักไส พิจารณา อย่าให้มัน หยาบคายอีก เป็นกายนอกอยู่อีกน่ะ ใกล้ชิดเข้ามา แม้ที่สุด ตัวเนื้อตัวร่าง ตัวกายของเรา เขาหลงประคบ ประหงมมัน มันก็เป็นความประชุม ของธาตุน่ะ ตั้งแต่ผิวหนัง ไปจนกระทั่ง ถึงไส้น้อย ไส้ใหญ่ ถึงกระทั่งทุกอวัยวะ มันก็เป็นเพียง ความประชุม ดังนี้ก็ให้พิจารณา เราจะได้ไม่หลงใหลร่างกาย ไม่ประคบ ประหงม ไม่ออเซาะ บำรุงบำเรอ มันมากนัก เราก็จะค่อยยังชั่วขึ้นน่ะ ---

เพราะฉะนั้นกาย ทีนี้กายนอก ถึงกายตนกายตัว ที่ถึงขั้นพิจารณาร่างกายแล้ว เราก็พิจารณาถึง กายใน กายในนี่เรียกว่า เป็นนามธรรมน่ะ เป็นนามธรรม หรือเป็น รูปในจิต เราก็พิจารณา เราหลงรูป หลงรส หลงอะไร อยู่ในจิต ปั้นเสพย์ ปั้นสร้าง อะไรไป หรือตัวอาการของจิตเอง เราก็พยายามพิจารณา ในความรู้สึก เป็นหลง เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ เราเรียกว่าเวทนา ซ้อนลงไป ในเวทนา มันมี อาการต่างๆ ที่มันเป็น เวทนาในเวทนา ลึกซึ้ง ซับซ้อนเข้าไปอีก แม้หยาบ แม้กลาง แม้ละเอียด แม้อาการ ที่ต่างกัน ตั้งแต่สุข ตั้งแต่ทุกข์ จนกระทั่งถึง อทุกขมสุข จนกระทั่งถึง ความละเอียดลออ เป็นขั้นโสมนัสโทมนัส ต่างๆ พวกนี้ แล้วเราก็ ให้มันน้อยลง ให้มันว่างเฉย ให้มันน้อยลง ไม่หลงสุขหลงทุกข์ของโลก นี่พิจารณาเวทนา และ แท้จริงนั้น เวทนานั้นก็คือจิต เราก็จะได้รู้จิตที่ชัดเจน จิตบริสุทธิ์ จิตประภัสสร จิตที่ไม่มีกิเลส เป็นอย่างไร จิตที่มีอาคันตุเก มีแขกจร เข้าไปร่วม ประสมโรง ตีตัวตีตน เป็นเหมือนกับ เป็นจิตเป็นใจ ครอบงำ บังคับจิตใจของเรา อยู่เหลือเกิน เรายังเป็นทาสอยู่ ก็ให้รู้ว่าเราเอง เรายังมีเจ้านาย ที่เป็นกิเลส หยาบ กลาง ละเอียด บังคับจิตเราให้เป็นทาส ไม่ใช่จิตอิสรเสรี ไม่ใช่จิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง เราก็เรียนรู้ไป แล้วก็ละล้าง ออกจากจิตไปเรื่อย จนสุดท้าย เรารู้อารมณ์ ที่ทรงอยู่ในจิต อย่างละเอียด ลออ ลึกซึ้งทั้งหมด จะกระทบ สัมผัสนอก จะปลดปล่อยได้ หรือแม้จะอยู่กับโลก กระทบสัมผัส อย่างอ่อน อย่างแรง อย่างกลาง ก็พิสูจน์ อ่านอารมณ์ของจิต ที่ทรงอยู่ แม้กระทั่ง จะถูกกระแทก กระทั้น จากกายนอก จากวัตถุนอก จากโลกข้างนอก จะเป็นโลกธรรม หยาบใหญ่ ถึงขนาดไหนก็ตาม เราก็ไม่กระเทือน อารมณ์ของเรา มั่นคงนะ ผุฏฐัสสะ โลกะ ธัมเม หิ จิตตัง ยัสสะ น กัมปติ แม้แต่ในใจ อย่างละเอียด ถึงขั้น ธุลีหมอง ธุลีเริง เราก็กำหนดรู้ได้ว่า อารมณ์ของจิต ของเรามั่นคง ละเอียดลออ ไม่มีแม้ธุลีหมอง ธุลีเริง

หรือแม้แต่ที่สุด จิตของเราสงบ เราก็ไม่เสพย์สงบ ได้ขั้นต้นๆตื้นๆ แล้วก็ไปหลงติดแป้น หลงว่าเป็นเจ้า ประจำศาล เทพประจำศาล แค่นั้น นั่นมันยังเป็น ศาลเตี้ยๆ ให้รู้ หรือสูงขึ้นมาอีก สงบได้อีก สูงขึ้นก็ตาม แล้วก็จะแช่อิ่ม อยู่ที่ศาลเตี้ยๆ นั่น ไม่เอาภาระ ไม่เอาการงาน ไม่มีบทบาท เป็นมนุษย์ธรรมดา สัมผัส สัมพันธ์ อยู่กับโลกเขา เราก็จะไม่ได้รู้เลยว่า เราหมด กามานุสัย หรือเปล่าน่ะ การที่เรานึกว่า เราเองเรากดข่มจิตได้ ไม่มีอะไรสัมผัส แล้วเรานึกว่า เราหมดนั้น ยังไม่ใช่เป็นข้อพิสูจน์ ที่ยืนยัน พระพุทธเจ้า จึงไม่รับรอง แม้แต่เป็นโสดาบัน แต่ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรม มรรคองค์ ๘ มีผัสสะเป็นปัจจัย จิตของเราไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่านี่อันนี้ ขนาดนี้ กระทบสัมผัส เราก็อยู่เหนือ ไม่มีเศษ ไม่มีเสี้ยว จริงๆ รู้ด้วยตน กำหนดด้วยตน แล้วผู้อื่นที่รู้ ที่มีปัญญา ก็สามารถรู้ได้ด้วยน่ะ เราไม่ติดสงบ เราจะสลัดคืน เราจะปฏินิสสัคคะ เราจะอยู่กัน อย่างธรรมชาติ สร้างสรร ไม่เสพย์ไม่ติด ไม่ใช่เป็นของเรา ถ้าเผื่อว่า เราไปหลงติด จิตสงบ เราก็จะเป็นส่วนหนึ่ง ของผู้ที่สร้างอัตตะ ชนิดนั้น เหมือนกันนะ ---

แม้แต่จิตสงบ แม้แต่จิตที่ยังมีเศษกาม เราก็จะต้องรู้ ความเป็น กามสุขัลลิกานุโยค และ การเป็น อัตตกิลมถานุโยค ทั้ง ๒ ฝ่าย อย่างชัดเจน และเราก็จะเป็นคนที่ อยู่กลางๆ ไม่เสพย์ไม่ติดอะไร เป็นแต่เพียงอาศัย เราจะมีชีวิตอยู่ อย่างอาศัยสิ่งเหล่านี้ พิจารณาแล้วก็อาศัย หรือพักพิง พักพิงไป อันนี้สมควรก็พอเป็นไป เมื่อยเราก็พัก ไม่เมื่อยเราก็เพียร เราจะรู้ว่า อารมณ์ของเรานั้น เป็นอารมณ์ ที่ไม่มีกิเลส อย่างละเอียด และเราก็ไม่ติดอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์สงบ ถึงขั้นปานใดๆ เราทำความสงบได้แล้ว เรายินดี ในความสงบสูงสุด เรายินดีในความสงบ สูงสุด แต่ว่าเราจะต้องรู้ ความคิด ความยังแสวงหา ความยังไม่ละ ยังไม่พราก ยังไม่ปราศจาก แม้แต่ความยินดีพอใจ เราต้องปราศจาก ถ้าไม่ปราศจาก แม้แต่ว่า เป็นยินดีพอใจ นั่นก็คือ จิตที่ละเอียดซับซ้อน ที่เราจะรู้ เราจะไม่ยินดี ไม่พอใจ โดยเฉพาะ ไม่กระหาย และ ไม่เร่าร้อน ไม่อยาก แต่มันเป็นไปตามธรรม ที่อาศัย แม้จะไม่ใช่ ความสงบ ไม่สงบเพราะว่า เราเอง เราสัมผัสสัมพันธ์ ต้องปรุง ต้องสร้าง ต้องสรร อยู่กับโลก เราก็อยู่ได้ แต่จิตสงบนั้น เรายินดีแน่ และเราทำได้ อย่างมั่นคง เด็ดขาด เมื่อใดๆ จิตสงบนั้นก็ทำได้ เรายังพิสูจน์ จิตสงบนั้นอยู่ทุกวัน ผู้ที่ได้จิตสงบแล้ว จะมีจิตสงบ ให้เราพิสูจน์อยู่ทุกวัน เมื่อไรๆ เราก็แน่ใจว่า เราได้จิตสงบ แต่เราไม่จำเป็น จะต้องแช่ อยู่ที่จิตสงบนั้น เราจะคิดอ่าน เราจะทำงานทำการ ทำอะไรต่ออะไรก็ได้ หรือ เราแม้แต่ขณะที่ ทำงานทำการอยู่ เราจะตรวจอ่านด้วย ฌานอันเก่งของเรา ว่าเรามีจิตสงบ อยู่กับตัวเรา ซึ่งเป็นสันติวิหาร ของเรา ก็มีอยู่แน่แท้ ส่วนเราจะวาง ไม่ต้องไปหมกมุ่น แต่เรามาทำงานทำการ สร้างสรรไป เมื่อยก็พัก ไม่เมื่อยก็เพียร พระพุทธเจ้า จึงได้ยืนยันว่า ผู้ไม่พัก ผู้ไม่เพียร นั่นแหละ คือผู้ข้ามโอฆสงสาร ได้แล้ว ท่านตอบเทวดา องค์ที่เคยติดแป้น แล้วก็มาถาม พระพุทธเจ้าว่า เป็นเทวดา นิกายหนึ่ง ติดแป้นอยู่ บอกว่า นิพพานคืออย่างไร นิพพาน คือเราไม่พัก เราไม่เพียร เราข้ามโอฆสงสาร ได้แล้ว เทพนิกาย หรือว่า ฤาษีตนที่มีจิต แล้วก็ติดอยู่ตรงนั้น ก็ได้คิด จากคำตอบ ของพระพุทธเจ้านั้นไป เพื่อที่จะเรียนรู้ ปฏิบัติตน ให้เป็นคนขยัน สร้างสรร เป็นคนที่ ไม่ขี้เกียจ ไม่เสพย์ ไม่ติดนิกาย หรือไม่เสพย์ ไม่ติดศาลที่ตนได้ หรือว่า แป้นที่ตนได้ หรือว่า อารมณ์ที่ตน หลงแช่ อยู่ในสงบนั้น นี่เป็นหลักฐานต่างๆ และเป็นคำอธิบาย ที่พยายาม จะชี้แนะ ชี้ให้เห็น ถึงความละเอียด ลออ ---

เพราะฉะนั้น เราปฏิบัติสติปัฏฐาน ตั้งแต่หยาบ ไล่เข้าไป จนถึงจิตละเอียด ดังที่กล่าวนี้ มันก็เป็นความจริง ที่เราจะพิสูจน์ได้ ขอให้พวกเรา ได้พยายาม ทำหยาบมาหาละเอียด อย่างซับซ้อน ที่ดีจริงๆ แล้วเราจะเห็นว่า สติปัฏฐานนั้น เป็นทางเอก อย่างเยี่ยมจริงๆ ที่เราจะไปสู่นิพพาน อันสูงสุด แม้กระทั่งที่สุด ถึงอนัตตาธรรม หรือ หมดอัตตา ไม่ติดไม่ยึด ไม่เสพย์ ในสิ่งที่แม้จะเป็น สภาพสงบ ก็ไม่แช่ ไม่ติด แต่เราก็ยินดีได้ ดังกล่าวแล้วน่ะ นี้คือหลักสังเขป ๆ ให้พวกเรา ได้ทบทวน และพิสูจน์ พิจารณาทุกคน ก็จะประสบผล ตามบารมี ของแต่ละคนทุกคน

สาธุ.---