022 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๖

นับวันการปฏิบัติธรรมของเรา ก็มีลักษณะธรรม ที่ชัดเจนขึ้นมาเสมอๆ ลักษณะสำคัญของธรรมะ ที่เรียกว่า พุทธศาสนานั้น เคยเน้นเคยย้ำ ก็ขอสรุปให้ฟังว่า พุทธศาสนาสอนคน ให้คนประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญ แล้วบรรลุธรรม มีความเจริญ มีความถึงธรรมได้แล้ว จะเกิดสมานัตตโต สมานัตตตา หรือจะเกิดความสมานฉันท์ จะเกิดสามัคคีธรรม จะเกิดสันติ ของมนุษยชาติ ขยายความอีก จะเกิด พหุชนะหิตายะ จะเกิด พหุชนะสุขายะ เกิดโลกานุกัมปายะ ดี สามารถจะเกิด การเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ ส่วนรวมได้อย่างจริง จะเกิดความเป็นสุข ในมนุษย์ส่วนรวม เรียกว่า พหุชนะ แล้วก็จะเกื้อกูล เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่แก่โลกเขา เรียกว่า โลกานุกัมปายะ

เพราะฉะนั้น ผลที่มันแสดงออก ซึ่งเกิดจากพฤติกรรม เกิดจากสิ่งที่เห็นได้ เป็นจริงของมนุษย์ เราสามารถจะอ่านได้ แม้จะไม่ต้องฉลาดเฉลียวจนเกินการ เราก็สามารถดู ความสามัคคี ความสมานฉันท์ ความเบิกบาน ร่าเริง เป็นสุข ความมีคุณค่าประโยชน์ ซึ่งเสียสละเกื้อกูลให้แก่ผู้อื่น ตัวเองนั้นได้น้อย หรือเป็นแต่เพียงอาศัย ส่วนการสร้างสรร เห็นได้ดูได้ มีพฤติกรรมได้ และความจริงที่จะเกิดจริงได้ ก็อยู่ที่เวลา เวลาจะเป็นเครื่องยืนยัน เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ว่าผู้ที่ทำนั้น เป็นจริงได้ โดยการบรรลุ โดยการเป็นจริงได้ ก็เพราะว่ามันไม่ต้องอด มันไม่ต้องทน มันไม่ต้องสกัดกั้น

การสะกดสกัดกลั้นนั้น คนจะมีความสามารถ สะกดสกัดกลั้นได้ประมาณหนึ่ง เมื่อพ้น การสะกดกลั้นแล้ว สุดทน สุดกลั้น มันก็จะคลาด เปลี่ยนสภาพ กลับไปสู่ ความที่เป็นอย่าง ของตัวเองแท้ๆ

ผู้มาปฏิบัติธรรม หรือถึงขั้นมาบวชก็ดี ถ้ามีแต่ตัวสะกดสกัดกลั้น มันก็จะสะกดสกัดกลั้นไปได้ เท่าที่เรามีความสามารถ ในการสะกดสกัดกลั้นเอาไว้ ในระยะหนึ่ง เวลาหนึ่ง ช่วงหนึ่ง เมื่อเลยๆเวลา เลยระยะนั้นแล้ว มันก็จะสะกดสกัดกลั้นไปไม่ไหว แล้วมันก็จะกลับเปลี่ยน

ผู้ที่ทำได้ ไม่ต้องสะกด ไม่ต้องสกัด ไม่ต้องกลั้น มันเป็นของธรรมดา หรือ เป็นของพอใจยินดี เห็นจริง เวลาต่อให้อีกนานเท่าไหร่ๆ มันก็ไม่มีปัญหา มันก็จะยังทรงอยู่อย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ยิ่งเป็นวิมุติหลุดพ้นแล้วด้วย ก็ยิ่งไม่ต้องเปลี่ยน ไม่ต้องแปลง ไม่ต้องแปร ไม่ต้องปรวน จะเป็นคนขยันหมั่นเพียร สร้างสรร จะเป็นคนเสียสละ จะเป็นคนเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ จะเป็นคนรักษาสามัคคี จะเป็นคนสมาน ประสานกัน อยู่อย่างสงบสันติ ถ้อยทีถ้อยเกื้อกูลอาศัยกัน หนักนิดเบาหน่อยอะไร แม้ว่าเราไม่เป็นตัวเหตุ คนอื่นเขามีอะไรขึ้นๆลงๆ ยังไม่แน่นิ่ง ยังไม่สงบอย่างดี มันยังมีบทบาทหวั่นไหว มันยังมีปฏิกิริยา ก็จะค่อยๆประสานกัน ด้วยความสามารถ ด้วย ความฉลาด ด้วยความรู้ จะค่อยๆประสานกัน จะค่อยๆสมานกัน แล้วก็จะเกิดสามัคคีธรรมอยู่ได้

เราจะให้ทุกคน มีความเรียบร้อย เรียบราบ ไม่มีปฏิกิริยา ไม่มีอะไรหวั่นอะไรไหวนั้น เราทำไม่ได้ ไม่ว่าในสังคมหมู่ไหน นอกจาก จะเป็นคนน้อยคน แล้วก็อยู่กัน กระจุ๋มกระจิ๋ม ๒-๓ คน ๕ คน คัดเลือกมาได้ อยู่แค่นั้น แล้วไม่ขยายออกไปเลย มันก็อาจจะทำได้ แต่มันไม่เป็นประโยชน์อะไร ในสังคมมนุษยโลก มันควรจะขยายออก ให้ได้มาก มากยิ่งขึ้น แล้วให้มีคนชนิดนี้ สอดประสาน สอดร้อย เข้ามาถูกขัดเกลา ถูกปรับปรุง กลายเป็นเหมือนกับแก่นแกน ที่ผู้ที่ได้เป็นตัวหลัก ที่จะยึดยืน แล้วก็ค่อยๆ แบ่งเพิ่มให้คนอื่น หรือให้คนอื่น เกิดเป็นอย่างเรา เป็นเราได้ แล้วมันก็จะขยายตัว แผ่แก่น แผ่แกนออกไป เพราะฉะนั้น แก่นแกนของศาสนานั้น จึงอยู่ที่สามัคคีธรรม หรือความสมานประสานกัน เป็นกัลยาณมิตร เป็นภราดรภาพ เป็นหมู่มิตรสหาย ที่สันติ สร้างสรรกัน เป็นไปอย่างจริง

และสุดท้าย ก็ลงตัวกันอยู่ที่ สังคหวัตถุ เป็นเรื่องของการสังเคราะห์ ในโลกนี้ จะอยู่ด้วยการสังเคราะห์ เมื่อมีชีวิต หรือมีบทบาท หรือมีการยังไม่ตาย ความยังไม่ตาย ในโลกนี้ ต้องมีการสังเคราะห์ เพราะฉะนั้น การสังเคราะห์ที่ราบรื่น มีฌานเป็นปลาย ทั้งๆที่ฌานนี่ เป็นตัวต้น มีสมานัตตตาเป็นตัวปลาย เป็นตัวประสาน สมาน เบื้องต้นปลายก็ตาม แต่ขอยืนยันว่า ตัวทานเป็นตัวปลาย เพราะเริ่มต้นด้วยทาน แล้วก็จะต้องเก่งไป จนกระทั่งสามารถสมานกันได้ ประสานกันได้ ก็จะอยู่อย่าง ผู้มีความสร้างสรร แล้วก็ทาน แล้วก็เกื้อกูล แจกจ่าย เอื้อเฟื้อผู้อื่น เป็นต้นและเป็นปลายอยู่ในตัว เป็นอนุโลม ปฏิโลม ขึ้นต้น แล้วก็จนกระทั่ง เราสามารถจะประสานกันได้ มีหมู่ มีกลุ่ม มีสมานัตตตา มีผู้ที่เป็นอย่างเดียวกัน สมานัตตตา มีคนอันเสมอ หรือเสมือน มีสิ่งสภาพ ที่เสมอกันเป็น เอกธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ถ้าจะแปลเอาความชัดๆ สมานัตตตา ก็คือ เรามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีตัวมีตน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ตาม ได้เน้น ได้ขยาย ได้อธิบายมามากแล้ว เสมอๆ คือความที่ไม่มีกิเลส หมดความถือตัว หมดความยึดติด หมดความเห็นแก่ตัว เป็นคนเสียสละ เจือจาน หรือ ทานนั้นเอง ตัวสำคัญ

เพราะงั้น แกนจึงอยู่ที่ สามัคคีและทาน เป็นตัวหลัก ส่วนองค์ประกอบนั้น ได้แก่ ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ กับอัตถจริยา อัตถจริยาที่เรียกว่า พฤติกรรม ก็เป็นพฤติกรรมที่มี ลักษณะของทาน และ การสมานวาจา ก็ต้องเป็นวาจาของลักษณะของการพูด ให้พูดสละ ไม่ใช่พูดเพื่อเอา พูดเพื่อสละ และพูดเพื่อสมาน พูดเพื่อประสาน รวมความแล้ว แก่นแกนของศาสนา ที่เราประพฤติปฏิบัตินี้ ก็คือ เป็นไปเพื่อความสามัคคี ขันตี อุดมสมบูรณ์ เรียบร้อย สร้างสรรกันอยู่ พวกเราได้พยายามประพฤติ เป็นไปได้อย่าง สามัคคีธรรม มีการมีงาน สร้างสรร มีความสงบระงับ เห็นแก่ตัว ก็ลดลงของเรา ล้างของเรา ละของเรา แต่ละคน แต่ละคน ควบคุมดูแล แล้วเราก็สร้างสรร เป็นไปกันอยู่ คนละนิด คนละหน่อย ไม่มีไอ้โน่นมันแพลมออกมา ไอ้นี่มันกระโดกกระเดกออกมา เราก็ปราบของเรา ปราบของเรา จัดการของเรากัน การประสาน การสมาน จึงอยู่ได้ อย่างเห็นได้

แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่เป็นแก่นเป็นแกน ดังนี้ขอให้รักษา ให้เป็นไปด้วยดี แล้วเราก็ระลึก ตรวจสอบของตนเองดู ว่าเราเองสบายไหม เราเห็นความจริง ดังกล่าวนี้ไหม ว่าคนเราเกิดมา เพื่ออะไร ถ้าเราเกิดมา เพื่อการเป็นอยู่ในสังคมหมู่กลุ่มนี้ มันประสานกันได้ สมานได้ มันทานได้ สร้างสรรได้ ไม่ต้องเห็นแก่ตัว เสียสละได้ ดังนี้แล้ว เราก็อยู่กับหมู่กลุ่มอย่างงี้ สร้างสรรกันไป ก่อความเจริญงอกงาม แม้มันจะแผ่ขึ้น จะขยายขึ้น จะมีผู้ที่เป็นไปอย่างนี้เพิ่มขึ้น มีอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเห็นเหมือนกัน แล้วก็สร้างสรรกันมาได้อย่างนี้ เพิ่มขึ้นๆ มันเป็นความผิดหรือ หรือว่ามันเป็น ความถูกต้องแล้ว ถ้าถูกต้องแล้ว ทุกคนก็ไม่มีปัญหา ก็คงจะมั่นใจ จะเหลือแต่ว่าเราเอง เท่านั้นเอง ที่เราเองยังเหลือเศษเสี้ยว สิ่งที่มันสะดุด มันมีสิ่งที่ยังขัด ยังขวาง ยังต้านทาน ยังฝืน ยังไม่ราบรื่น ยังไม่เรียบร้อย ยังไม่เก่งในการประสาน จะมีนั่น ดูกระโดกกระเดก ยังมีกระทบกระทั่ง หรือยังมีต้องหลบต้องเลี่ยงกันบ้าง อะไรพวกนี้อยู่ เราก็ต้องมาปรับ เมื่อปรับได้มากๆ นั้นคือ ความเจริญ ความเป็นไป

ศาสนามีความมุ่งหมายอย่างนี้ เราได้ประโยชน์ โลกนี้ก็ได้ประโยชน์ จากที่เราเป็นอย่างงี้ ได้นะ สภาพที่เป็นจริงของพวกเรา มีขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง ขอให้สังเกต ขอให้อ่าน แล้วขอให้เห็นดี ชื่นชม ในเป้าหมายที่ว่านี้ แล้วเราเองก็จะอยู่ได้นาน ไม่ใช่นานเพราะ เรากดข่ม หรือว่าฝืนทน แต่เราจะอยู่ได้นาน เพราะเราเข้าใจด้วยปัญญา แล้วก็ศรัทธามั่น ในความจริง ที่กล่าวนี้ ที่พูดนี่ ไม่ได้ล้างสมอง หรือบังคับ ให้เห็นว่าสิ่งนี้จริง แต่ขอให้ใช้ปัญญาของทุกคน ฟังแล้วก็พิจารณา ตัดสิน เมื่อเห็นแท้แล้ว เราก็ดำเนินไปได้ บอกแล้วว่า เราเหลือแต่ที่เราเท่านั้นเอง ที่เราจะทำ ส่วนการดำเนินไปนั้น ก็ดำเนินไป พัฒนาตนเองไป สังคมหมู่กลุ่ม มันก็จะโตขึ้นขยายขึ้น ความสมาน ความประสาน ที่แนบเนียน สงบสงัด เป็นภราดรภาพอันวิเศษ สันติภาพอันวิเศษ จะเกิดขึ้น เกิดขึ้นได้ ด้วยการเข้าใจความจริง แล้วเราก็ได้พากเพียร กระทำสิ่งจริงอันนี้ ให้ลงตัว ให้มันเป็นไปได้ อย่างจริงจัง เราจึงประกาศความจริงนี้ แล้วนำความจริงนี้ไปได้ ชั่วกาลนาน

สาธุ.