ประสบ "ธรรม" หรือ "รู้แจ้งธรรม" แท้ ๆ คือเช่นไร

พ่อค้าก๋วยเตี๋ยว จะไม่อยากกินก๋วยเตี๋ยว แม่ค้าทำกล้วยแขกทอดขาย ก็จะไม่อยาก กินกล้วยแขก และ แขกเล่นกล ก็จะไม่ตื่นเต้น หรือ หลงใหล ใฝ่อยากไปดูการเล่นกล ที่เขาก็รู้แล้ว ทั้งทำได้ด้วย

สภาวะเช่นนั้นฉันใด ก็เหมือนคนผู้ "รู้แจ้งจริงแล้ว" ในธรรมะ หรือใน "ทุกข์" ก็ย่อมจะไม่อยาก เกลือกกลั้ว กับ "ทุกข์" เป็นธรรมดา

"ทุกข์" คืออะไร? เหตุแห่งทุกข์ คืออะไร? ความดับทุกข์นั้น คืออะไร? วิธี หรือ การกระทำ ให้พ้นความดับทุกข์ คืออย่างไร? ผู้สนใจธรรมะ ทุกคนอยากรู้ อยากประสบ จึงได้เฝ้าเพียร อ่าน-ฟัง-ท่อง - จด -จำ แล้วก็คลำๆ ลูบๆ อยู่กับ "ภาษา" ต่างๆ หัวข้อธรรม เนื้อความขยาย หัวข้อธรรมต่างๆนั้น อยู่เท่านั้นแหละ ก็เท่านั้นจริงๆ เป็นส่วนมาก โดยไม่พยายาม นำเอาหัวข้อธรรม หรือ ความเข้าใจในธรรม ที่ตนได้รู้นั้น ไปลงมือ "ปฏิบัติ" จริงๆ กันสักที เป็นต้นว่า ศีล ๕ ใครๆ ก็รู้ แต่ไม่นำศีล ๕ อันเป็น ธรรมะขั้นต้น จริงๆ ไปฝึกตน ไปประพฤติ อย่างจริงจังกับตน ให้"เกิดผล" ให้ "แจ้งจริงเป็นรสเป็นชาติ" ออกมาว่า มันจะ "ทน" ได้หรือไม่? ถ้าเราปฏิบัติศีล ๕ เคร่งครัด มัน "ทุกข์" เพราะถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด อย่างไร? ตรงไหน? แล้วจะหาทาง "พ้นทุกข์" ให้ศีล ๕ บริสุทธิ์ได้อย่างไร?

ถ้าใครทำจริงๆ จึงจะรู้ "ทุกข์" จริง จะรู้ "เหตุแห่งทุกข์" จริง จะรู้เหลี่ยมมุม ในการทำตน ให้พ้นทุกข์ จนดับ "ทุกข์" ที่หยาบๆ ใหญ่ๆ ไปตามลำดับขั้นได้ เมื่อ "เกิดผล" กับตนจริงๆ แจ้งชัดๆ แท้ๆ นั่นแหละคือ เรา "รู้แจ้งจริงแล้ว" และ เราก็จะไม่อยากลิ้ม "ทุกข์" ที่เราได้ "รู้แจ้งจริงแล้ว" นั้นโดยแท้จริง เหมือน พ่อค้าก๋วยเตี๋ยว เหมือนแม่ค้า กล้วยแขก เหมือนแขกเล่นกล ที่เขา "จับต้อง" และกระทำ ในสิ่งเหล่านั้น อยู่จริง จนเขา "ไม่อยาก"

จึงควรลงมือ ตั้งสัจจะให้ตนเอง ปฏิบัติอย่างแท้จริงกันเสียเถิด อย่าเอาแต่ "รู้" แฝงๆ "รู้" เทียมๆอยู่เลย

"คนจะรู้แจ้งใจว่า มะนาวหวาน ด้วยตาด้วยหู ไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าไม่ชิมด้วยลิ้น อันเป็นทวารรู้แท้ๆ ที่จะรู้รส"

๒๕ มิ.ย.๒๕๑๔

ประกายธรรม ๑๕-๒

******