สิบห้านาทีกับพ่อท่าน ทีมสมอ.

พุทธาฯ กู้ดินฟ้า

สารอโศก อันดับที่ ๒๓๓
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔


ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ขอพวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

เมื่อชาวพุทธต่างพากันลืมเลือน ละเลยต่อสัจธรรมคำสอน อหังการ์ต่อการเดินทางชีวิต โดยไร้เข็มทิศแห่งพุทธ ความประมาท นำมนุษย์สู่หายนะ ด้วยวิกฤตินานา ที่สร้างขึ้นมาด้วยความไม่รู้ (อวิชชา)

ไม่รู้(อวิชชา) แม้กระทั่งทำร้ายทำลายธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญเลี้ยงชีวิต มุ่งหวังแต่เพียงเงินตัวเดียว

“กสิกรรมไร้สารพิษ” บุญญาวุธหมายเลข ๓ จากพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ อาจเป็นเปลวไฟสุดท้าย ที่ลุกโชติช่วง เพื่อกอบกู้มนุษยชาติ พ้นจากหายนภัย

ถาม การเกิดสหกรณ์สีเขียวขึ้นที่ราชธานีอโศก ต่อมาเปลี่ยนเป็น โครงการกู้ดินฟ้า ที่งานพุทธาฯ และการกำหนดให้กสิกรรมไร้สารพิษ เป็นบุญญาวุธ หมายเลข ๓ มีที่มาอย่างไรคะ

ตอบ จริงๆแล้วชาวอโศกได้ริเริ่ม หรือได้รณรงค์ทำกสิกรรมไร้สารพิษ กันมานานพอสมควรแล้ว เราเห็นทางออกว่า การทำกสิกรรมไร้สารพิษนั้น จะทำอย่างไร และเราก็ได้ทั้งเรียนรู้ ทั้งทำมาแล้ว โดยไม่ต้องไปใช้ปุ๋ยเคมี และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เราใช้ธรรมชาติของมันเอง ต่อมาก็พัฒนาการ ใช้จุลินทรีย์จนเป็นผลสำเร็จ และก็รู้วิธีแล้วว่า ถ้าปลูกพืชเชิงเดี่ยว จะมีแมลงมารบกวนแน่ เราก็ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากนัก มาเน้นการปลูกพืชผสมผสาน เหตุที่เราเน้นการทำกสิกรรม เพราะเราเป็นนักกินผักพืช ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ จึงเห็นความจำเป็น ที่ต้องพยายามหาทางออกให้กับพวกเรา ทำมาได้จนถึงวันนี้ ก็ประสบผลสำเร็จพอสมควร เพราะฉะนั้น เราควรจะต้องพัฒนา หรือสร้างบูรณาการ ให้ยิ่งกว่านี้ขึ้นไปอีก ให้มันสมบูรณ์ยิ่งๆขึ้น เราจะสร้างชุมชนกสิกร ที่เข้มแข็งให้ได้ และเป็นกสิกรพืชผักผลไม้ไร้สารพิษด้วย อาตมาเห็นอย่างนั้น จึงได้พยายามรณรงค์เรื่องนี้

ถาม มีนโยบายส่งขายออกไปข้างนอก หรือไม่คะ

ตอบ ถ้าเรามีพอกินพอใช้ จนเหลือกินเหลือใช้ เราก็สะพัดจำหน่ายจ่ายแจก ออกไปสู่ผู้อื่นให้ได้กินได้ใช้ด้วย เพราะของดี เราต้องแบ่งแจกกันกินแหละ เมื่อมันมีมากพอ เราจะเอาไปโยนทิ้งทำไมล่ะ แต่เราไม่เห็นว่า ในการดำเนินชีวิตนั้น เราจะต้องผลิตออกไปเพื่อ ให้คนอื่นเขาซื้อแลกเปลี่ยน ไปกินไปใช้ ไม่ใช่เพื่อไปตักตวงโลภ เอาเงินเอาทองกันเท่านั้น เราไม่ได้คิดอ่านอย่างนั้น เมื่อเราจะทำงานสร้างผลผลิตอะไรก็แล้วแต่ เราจะทำในสิ่งที่พวกเรา ต้องกินต้องใช้สอยอยู่เป็นหลัก โดยจะไม่ผลิต สิ่งที่เราไม่ได้กิน ไม่ได้ใช้สอยกัน แต่มุ่งผลิตเพื่อนำไปขาย ๑๐๐% เราไม่มีนโยบาย การดำเนินชีวิตอย่างนั้น เราจะสร้างอะไร สิ่งนั้นต้องเห็นว่าจำเป็น มีคุณค่าที่มนุษย์ควรมีควรใช้ควรสอย และเราก็พึงใช้สอยด้วย เราไม่ต้องเสียเวลา เสียแรงงาน เสียทุนรอน ไปผลิตสิ่งมอมเมา

เมื่อเราผลิตได้มากพอ เราจึงจะเผื่อแผ่ให้คนอื่นใช้สอย นี้เป็นนโยบายหลัก ในการดำเนินชีวิตของพวกเรา ไม่ใช่เห็นว่า ทำอย่างนี้แล้วรวยนะ ได้เงินมากมายนะ ดีไม่ดีบางทีเป็นพิษเป็นภัย มอมเมาคนอื่นเสียด้วยซ้ำ อย่างนี้เลวร้าย เราไม่คิดไม่หรอก ไม่ได้เรื่อง-ได้ราว ทำให้ชีวิตตกต่ำ อย่างนี้ไม่ดี แม้ว่าดูเหมือนเขาใช้แล้ว จะสุขสบายใจก็ตาม ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น เป็นนักออกแบบเสื้อผ้า ให้ดูวิลิศมาหรา แต่พวกเราเองไม่ใช้ อย่างนี้ เราไม่ลงแรงลงทุนไปทำแน่ ถึงแม้เราจะมีฝีมือทำได้จริง และได้เงินมามากๆก็ตาม เพราะเราเห็นว่าอย่างนั้น มันเฟ้อเกินไป เราต้องช่วยกันกอบกู้ชาติกันก่อน

เพราะฉะนั้น ในการจะสร้างจะผลิตอะไรออกไป เราจะต้องทำ ในสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตก่อน เพื่อที่อย่างน้อยเราเองนั่นแหละ จำเป็นต้องกินต้องใช้ ต้องอาศัย หรือเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงเป็นพึงมี ขนาดทำสิ่งที่เป็นสาระสัจจะ ให้แก่มนุษย์ เรายังไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลัง ไม่มีเวลา ไม่มีทุนรอนอะไรมากพอ ที่จะไปทำไปผลิต สิ่งที่เฟ้อเกินไม่เข้าท่า แม้จะได้รายได้ดีก็ตาม จะไปทำทำไม เราจะไม่เลี้ยงตน ด้วยสิ่งที่ทำให้คนอื่นได้รับโทษภัย โดยไปมอมเมาให้เขาตกต่ำ

ส่วนการกำหนดให้กสิกรรมไร้สารพิษ เป็นบุญญาวุธหมายเลข ๓ นั้น ก็เพื่อให้พวกเราชาวอโศก เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และทำให้มันเกิดผลขึ้นมาอย่างจริงๆจัง เหมือนที่เราได้ทำมาแล้ว ในงานที่ทำได้ยาก เช่น เรื่องมังสวิรัติ ที่เป็นบุญญาวุธ หมายเลข ๑ ทั้งๆที่จริงๆ เมืองไทยรู้จัก อาหารมังสวิรัติ และอาหารเจมาก่อนนานแล้ว แต่ก็ไม่ติดตลาด หรือทำไม่ขึ้น จนเป็นเรื่องเป็นราว ที่รู้กันแพร่หลายในสังคม แต่เมื่อเราทำเรื่องมังสวิรัติ อย่างเป็นกอบเป็นกำ แล้วก็เกิดประโยชน์ต่อสังคม ต่อประชาชน หรืออย่างเรื่อง ตลาดอาริยะ ที่เป็นบุญญาวุธ หมายเลข ๒ ก็เป็นงานหลัก ที่เราสัมพันธ์กับสังคมอย่างชัดเจน และก็เป็นการประกาศ ลักษณะของบุญนิยม ระดับสำคัญด้วย คือ การขายต่ำกว่าทุนแน่ๆ โดยไม่ใช่เอาของเก่ามาขายโละ แต่เป็นการขายจริงๆ ขายลดต่ำกว่าทุน มาเสียสละ มาเกื้อกูลกันจริงๆ กินอาหารจานละบาท อย่างนี้เป็นต้น แม้แต่สินค้าต่างๆ ก็ขายกันในราคาที่ไม่ใช่ธรรมดา ต่ำกว่าทุน ๕๐-๘๐% ก็ยังมี อย่างน้อยที่สุด เราก็ทำเป็นเทศกาลประจำปี ในปีใหม่ ปีละครั้ง ถ้าในอนาคต เรามีกำลังมากขึ้น มีความสามารถและมีสมรรถนะสูงขึ้น เราอาจจัดตลาดอาริยะ ปีละ ๒ ครั้ง หรือจัดหลายแห่งพร้อมกัน ในช่วงปีใหม่ก็ได้

ส่วนบุญญาวุธหมายเลข ๓ นั้น อาตมาเห็นเด่นชัดว่า เรื่องกสิกรรมไร้สารพิษนี่ เราจะต้องเอาจริง เพราะมันเป็นเรื่องหลักของชีวิต และของมนุษยชาติเลย เรื่องกสิกรรมไร้สารพิษนี้ จะว่าไปแล้ว ยังเป็นต้นทางยิ่งกว่าเรื่องมังสวิรัติ แม้แต่ตลาดอาริยะ ก็เป็นด้านการตลาดเท่านั้น แต่กสิกรรมไร้สารพิษ จะเป็นเรื่องการสร้างผลผลิต ซึ่งต้องเร่งรัดพัฒนากัน ใน ๓ ความหมาย คือ
๑. คน จะต้องเอาจริง จะต้องมีจริง โดยต้องมีทั้งปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ ซึ่งต้องทำกันจริงๆ ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ ถ้าพร้อมหรือเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ก็โดดลงมาทำได้ ไม่ว่าจะอยู่บนหอคอยงาช้างสูงขนาดไหน ก็ให้ลงมาคลุกดินเลย หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เพราะว่าเรื่องกสิกรรม จะต้องเป็นอย่างนั้น
๒. ต้องมีผลผลิต ของกสิกรรมไร้สารพิษให้ได้จริง ทำกันให้มีทั้งคุณภาพดี และปริมาณที่มากขึ้น มากขึ้นจนสามารถทำให้ราคาถูกลงได้
๓. การตลาด เราต้องเชื่อมโยงพวกเราเอง ในเรื่องของคนที่จะมาทำกสิกรรมไร้สารพิษ จะต้องมีทั้งผู้ผลิต ผู้บริการ และผู้บริหาร เป็นวงจรกสิกรรมไร้สารพิษ ที่ครบบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น ต้องเอาจริง ถ้าไม่เอาจริง ก็คงไม่ฟื้น

อาตมาเห็นความตกต่ำ ของกสิกรมานาน ถูกเหยียดหยาม ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น กสิกรเป็นผู้เลี้ยงโลกเอาไว้ แต่ทำไมถูกเหยียดหยาม มันผิดสัจจะ โดยสัจจะจริงแล้ว เราควรให้เกียรติแก่กันและกัน ต้องเห็นใจกันและกัน โดยเฉพาะเรื่องข้าว ชาวนาที่ปลูกข้าว จะขายข้าวในราคาแพงก็ไม่ได้ ข้าวประเทศไหนก็แล้วแต่ ขายราคาแพงไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศ กินข้าวเป็นอาหารหลัก ถ้าขายข้าวราคาแพง คนจนก็ตายพอดี เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็ต้องควบคุมราคาข้าว ข้าวเม็ดเล็กๆ กว่าจะกินทีต้องเหน็ดเหนื่อย กว่าจะปลูกได้ แต่ขายได้กิโลละไม่กี่บาท ทีสิ่งของอย่างอื่น ขี้หมูขี้หมาก็ขายกันได้ราคาแพงๆ ทั้งที่เป็นของบ้าๆบอๆ ไม่ได้สาระอะไรเลย ขณะที่ข้าวเป็นเรื่องแก่นสารของชีวิตแท้ๆ กลับขายได้ราคาถูก แต่โดยสัจธรรมแล้ว ของยิ่งขายถูก ก็ยิ่งประเสริฐ คนที่สร้างสรรค์ หนักหนาสาหัส แถมต้องขายในราคาถูกๆ เป็นประโยชน์ต่อสังคม มันน่าจะเชิดชูยกย่อง ให้เกียรติกัน แต่นี่ กลับเหยียดหยาม ข่มขี่ ดูถูกดูแคลน อาตมาจึงคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เราต้องแก้กลับค่านิยมผิดๆ หรือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในเรื่องนี้

ถ้าเราเข้าใจสัจจะอย่างนี้แล้ว เราไม่ทำ จะหวังให้คนไม่เข้าใจสัจจะนี่ทำ มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มนุษย์คนไหนจะทำ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องพยายามมาพัฒนา บอกกันให้เข้าใจ ยินดี และทำด้วยความเต็มใจ ภาคภูมิในสิ่งที่ประเสริฐนี้ตามสัจจะ อาตมาไม่ได้มาหลอกมาล่อ อาตมาพูดความจริง อย่างน้อยเราไม่ต้องห่วงเลยว่า เราทำกสิกรรม อย่างแข็งแรงสมบูรณ์ โดยเฉพาะเป็นกสิกรรมไร้สารพิษ ซึ่งมีคุณค่าอาหารที่ดีงาม เราจะไปง้ออะไร กับสังคมฟุ้งๆเฟ้อๆ เพราะชีวิตเราไปรอดแล้ว สิ่งของอื่นๆยังมีความสำคัญเป็นเรื่องรองทั้งนั้น อาตมาจึงเห็นว่า มันต้องเอาจริง เราพูดสัจจะเรื่องนี้กันมาก็นานแล้ว เหลือแต่จะลงมือทำกันจริงจัง เท่านั้น

เพราะฉะนั้น เป้าหมายของเรา ไม่ใช่เฉพาะแก่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่เรายังต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่กสิกร และมนุษยชาติด้วย ทุกวันนี้กลับตาลปัตร พวกที่เป็นนักเต้นนักรำ หรือแม้แต่นักมวย สังคมพากันเชิดชูยกย่อง ให้โล่ให้เหรียญตรา ส่วนคนที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ทำคุณค่าเลี้ยงโลกเอาไว้ กลับไม่ได้รับการยกย่องอะไรเลย ชาวไร่ชาวนาที่ได้รับเหรียญตรามีกี่คน นี่มันอะไรกัน

ถาม ทุกวันนี้ชาวอโศก ดูเหมือนได้รับการยอมรับจากสังคมอยู่มาก พ่อท่านมีนโยบายอะไร จะให้กับพวกเราคะ

ตอบ อาตมาได้เทศน์ไว้ที่ภูผาฟ้าน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นหลักการดีอยู่แล้ว อาตมาได้พูดรายละเอียดในหลายๆอย่าง ไม่ใช่ว่าเรามีสิ่งดี แล้วจะประกาศไม่ได้ เพียงแต่ต้องมีศิลปวิธี ในการประกาศความจริง ไม่ใช่มีลีลาท่าทีที่เป็นการอวด จนเขารู้สึกรับไม่ได้ หรือหมั่นไส้ ซึ่งจะเป็นผลลบจากการอวดของเรา แต่จะไม่ให้เราแสดง ไม่ให้เราประกาศ ไม่ให้บอกยืนยันสิ่งที่ดีนั้น ก็คงไม่ได้เช่นกัน การถ่อมตนหรือการมีศิลปวิธี ไม่ใช่การหลอกลวงคนอื่น หรือไม่ใช่การใช้เล่ห์เหลี่ยม เพียงแต่เราต้องดูสัจจะที่ควรจะเปิดเผย หรือควรจะประกาศออกไป ต้องใช้สัปปุริสธรรม ๗ อย่างสำคัญ สรุปแล้วคือ ต้องมีศิลปวิธีบ้าง ในการที่จะสื่อออกไป หรือมีสัปปุริสธรรมที่ดีๆหน่อย ไม่ใช่ว่าพอเขานิยม ก็แอ็คท่าเบ่งขี้แตก อย่างนี้ก็น่าเกลียด หรือว่าทำให้เขาไปแล้ว ก็มีทีท่าน่าหมั่นไส้ ไม่น่าดู อย่างนี้ก็ไม่ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่า เราต้องไปโกหก พูดผิด ใช่ก็ว่าไม่ใช่ เป็นก็ว่าไม่เป็น ดีก็ว่าไม่ดี การถ่อมตนไม่ใช่การโกหก ไม่ใช่บิดเบี้ยวเรื่องไม่จริง พูดให้เขาเข้าใจผิด เราดีขนาดน้อยก็ว่าน้อย เราดีขนาดพอดีก็ว่าพอดี เราดีมากๆหน่อย ก็ว่าดีมากๆ ไม่ใช่ดีก็คุยตัวไม่ได้ ต้องอยู่เฉยๆ อย่าอวดตัวอวดตน เดี๋ยวจะเลว ใหม่ๆที่ยังไม่มีคนรู้ ยังไม่มีคนเชื่อถือ ก็ต้องประกาศตัวเองก่อน มากน้อยก็ประมาณดีๆ ก็ต้องว่ากันไปพอสมควร ถ้าดีมากๆแล้วจนคนรู้ทั่ว ก็ไม่จำเป็นต้องคุยเองแล้ว ผู้อื่นเขาจะเป็นผู้คุยให้อวดให้ เราเพียงตอบรับ ยิ้มรับว่าใช่ หรือคล้ายๆอย่างนั้นก็พอ เราต้องมีท่าทีลีลา มีศิลปะทำให้ไม่น่าหมั่นไส้ มันก็บอกยากเหมือนกัน เพราะคนบางคนพูดคำๆเดียวกัน บางคนพูดแล้วน่าเกลียดมาก บางคนพูดแล้วดูดีจัง น่ายอมรับ มันก็บอกตายตัวไม่ได้

ถาม เมื่อรับข้อมูล พ่อท่านมีวิธีพิจารณา จัดการอย่างไรคะ?

ตอบ ก็ต้องพิจารณาตามความจริง รวมทั้งตามหลักฐานของความจริงที่อาตมารู้ เพราะอาตมาก็มีส่วนที่รู้จากคนอื่นอยู่บ้าง รับรู้จากข้อมูลที่คนให้มาบ้าง ก็เป็นข้อมูลเพิ่มเติม ในส่วนที่บางที อาตมาก็ไม่รู้ แม้ที่เขาให้ข้อมูลมา ก็ต้องตรวจสอบ ว่าจริงหรือไม่จริง หรือบางทีไม่มีเวลาตรวจสอบหรอก ก็ใช้วิธีประกาศหรือพูดออกไป เพื่อตรวจสอบในทีเลยก็ได้ และเพื่อจะได้ข้อมูลใหม่ กลับมาอีกก็มี คิดว่าประกาศออกไปแล้ว เป็นประโยชน์ทั้งผู้ที่รับฟัง และเจ้าตัวที่รับฟังคำตำหนิติเตียน ก็ตาม

เมื่อเราประกาศออกไป คนที่เขาเห็นความจริงว่า มันไม่ถูกต้อง เขาก็จะได้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก เป็นต้น ก็มีหลายวิธีในการบริหาร แต่การให้ข้อมูลกับการฟ้อง ไม่เหมือนกัน การให้ข้อมูลในเรื่องที่ควรจะบอก จะกล่าวแก่ผู้ใหญ่ จะเป็นเรื่องความผิด ความไม่ดีอะไรก็ตามแต่ มันควรจะต้องบอก โดยบอกสิ่งไม่ผิดไปจากความจริง ไม่ลำเอียง ไม่ใส่ไข่ใส่ไคล้อะไร และต้องไม่มีจิตอกุศล หรือจิตอคติอะไรในนั้น ไม่มีจิตที่โกรธเคือง หรือว่าพูดเพื่อสะใจ เพื่อแก้แค้น เพื่ออะไรต่างๆ ถ้ามีจิตอย่างนี้เป็นจิตบริสุทธิ์ เป็นจิตปรารถนาดี แล้วก็ให้ข้อมูล อันเป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น จะได้ช่วยเหลือกัน ซึ่งเป็นเรื่องดี และเป็นบทบาทที่ดีของสังคม ที่ควรกระทำ

แม้การฟ้อง จะมีนัยะคล้ายกับการให้ข้อมูล แต่ก็ต่างกันอย่างยิ่ง มีแต่รู้ดูที่ใจตัวเองเท่านั้น (สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง) และทั้งหมดทั้งสิ้น จบลงที่ความจริง “ความจริง”ที่พร้อมยืนหยัด แก้ไขตนและให้อภัยผู้อื่น !


สิบห้านาทีกับพ่อท่าน สารอโศก อันดับ ๒๓๓
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ หน้า ๑๓-๑๘