บันทึกจากปัจฉาสมณะ ตอน
เข้าพรรษา...พาเพียร
สู่...อรหันต์-โพธิสัตว์
ประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน (๑)

หนังสือ สารอโศก
อันดับที่ 240
กันยายน 2544
หน้า 1/3


ตอน เข้าพรรษา...พาเพียร สู่... อรหันต์-โพธิสัตว์
ประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน
"วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา อาตมาจะขยายเรื่องโพธิสัตว์กับอรหันต์ให้ฟัง เขาเข้าใจเป็น ๒ อย่าง จนกระทั่ง กลายเป็นเรื่องแยกเป็นสังฆเภท เป็นนิกายใหญ่ ๒ นิกาย เรียกว่า นิกายเถรวาทกับนิกายมหายาน

เมื่อแยกโดยที่นัยของโพธิสัตว์นี่ช่วยคน เห็นการได้ประโยชน์ที่เผื่อแผ่เกื้อกูลคนได้มากๆ เรียกประโยชน์ท่าน เห็นแก่ประโยชน์ท่านมาก ทำให้เกิดประโยชน์ นำพาไปสู่สภาพมาก สภาพใหญ่ ช่วยกอบกู้รื้อขนสัตว์ ไปสู่เมืองนิพพาน

ส่วนอรหันต์นี่ ก็มองดูผล เน้นที่คุณลักษณะอรหันต์ หรืออรหัตผล มีคำสอนอยู่ประโยคหนึ่ง ที่ทำให้เถรวาท เอียงมาข้างโต่งมาหาตัวเองมาก ก็คือคำสอนที่ว่า "อย่าพร่าประโยชน์ตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก" คำสอนพระพุทธเจ้าประโยคนี้ ทำให้คนเข้าใจผิด เลยกลายมาเป็นเห็นแต่แก่ตน เห็นแต่แก่อัตตัตถะ อัตตัตถะแปลว่าประโยชน์ตน ปรัตถะแปลว่าประโยชน์ผู้อื่น อุภยัตถะแปลว่า ประโยชน์ ๒ ฝ่าย ได้ทั้งประโยชน์ตนและท่าน

อรหันต์เน้นประโยชน์ตน โพธิสัตว์เน้นประโยชน์ท่าน มหายานนี่ โพธิสัตว์ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นผู้รื้อขนสัตว์ ผู้ทำประโยชน์ท่าน แม้แต่จะช่วยทางรูปธรรม วัตถุธรรม ในใจจะเป็นอย่างไร ไม่รู้เรื่องทางจิตวิญญาณของตัวเอง เรียนรู้ไม่เป็น ก็ทำให้รู้จักกิเลสไม่ได้ รู้วิธีละกิเลสไม่ได้ ก็เลยได้แต่ตั้งหน้าตั้งตาช่วยผู้อื่น จะเป็นบาปทางปรมัตถ์ยังไง เขาไม่รู้ด้วย แต่เขารู้ว่า รูปธรรมช่วยคนอื่นด้วยวัตถุธรรม มันก็ดี ศาสนาอย่างนี้จึงเข้าใจง่าย คนนิยมมาก มหายานจึงมีคนชื่นชอบมาก และก็ยอมรับกันมาก

ส่วนทางอรหันต์ที่เน้นประโยชน์ตน จะต้องมาเรียนรู้กิเลสตนเอง อ่านจิตตนเองให้เป็น แล้วก็ละลดให้เป็น ก็จะมามุ่นที่ตนเอง ไม่สนใจคนอื่นเท่าไหร่ ทุกข์ของคนอื่นไม่สนใจ เอาแต่ทุกข์ของตัวเอง ปฏิบัติธรรมอย่างนี้มันไม่ถูกตามสัมมาทิฐิ ที่ต้องรู้ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน อันได้สัดส่วน ประโยชน์ตนนี่แหละคือการรู้กิเลส เช่นให้ทาน เราทานจริงหรือเปล่า อ่านจิตให้เป็นนะ วัตถุให้เขาไป ประโยชน์ตนไม่มีทางวัตถุ เพราะเราเสียวัตถุ แต่ประโยชน์ตนทางนามธรรมนี่ เราได้มั้ย ใจคิดถือดี ถือบุญถือคุณมาก เป็นเจ้าบุญเจ้าคุณมากหรือเปล่า การคิดอย่างนี้ เป็นการสั่งสมการยึดติด ยึดถือ ยึดดี เป็นเราเป็นของเรา จองเวรจองกรรม ไม่รู้แล้วไม่รู้จบ เราให้ของเขา แล้วใจเราได้ลดกิเลส จริงหรือเปล่า ของพุทธนี่อ่านทั้ง 2 ด้าน เป็นอุภยัตถะ ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านพร้อมกัน มีทั้งเถรวาท ทั้งมหายาน เห็นมั้ยว่า ประโยชน์ครบสมบูรณ์ ประโยชน์ท่านเราถือว่าเป็นโพธิสัตว์ ประโยชน์ตนเราถือว่าเป็นอรหันต์ ทะเลาะกันทำไมล่ะ โพธิสัตว์กับอรหันต์ก็ต้องไปด้วยกัน ควบคู่กันอย่างนี้ ถ้าไม่มีปฏิคาหก ทายกก็ไม่เกิดบุญ ไม่เกิดการล้างละกิเลส

ทุกวันนี้มันแตกนิกาย อรหันต์ก็ไม่ปฏิบัติโพธิสัตว์ โพธิสัตว์ก็ปฏิบัติอรหันต์ไม่เป็น จึงเกิดนิกายสมบูรณ์แบบ เพราะโง่ทั้ง ๒ ข้าง หนักเข้า อรหันต์เอาประโยชน์ตน ก็มองไปในทางงมงาย นั่งแต่สมาธิ ประพฤติไปอยู่ในจิต ทำงานกับจิตในจิต จิตเจตสิกรูปนิพพานจริง แต่ไม่ได้หมายความว่า ทิ้งมรรคองค์ ๘ เพราะฉะนั้น สมาธิทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นสัมมาสมาธิ ที่เป็นข้อที่ ๘ ของมรรค ที่ปฏิบัติมรรคทั้ง ๗ ตามมหาจัตตารีสกสูตร ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ตั้งแต่ข้อ ๒๕๒ - ๒๘๑ ก็เลยเอียงมาข้างตนใหญ่เลย ไม่มีสัมผัสเป็นปัจจัย มันไม่ถูกคุ้ยถูกเขี่ย ถูกกระแทกกิเลสออกมาจริงๆ เป็นฤาษี หมกหมัก ฝังเน่าใน แล้วก็มีพลังกดข่มด้วย ศาสนาพุทธจึงเสื่อม เพราะแตกนิกายไปเป็นเถรวาท แตกนิกายไปเป็นมหายาน โต่งกันไปคนละด้าน

อีกประเด็นหนึ่ง ที่อาตมามีความเห็นต่างไปจากนักการศาสนาทั้งหลาย ในเรื่องความเป็นโพธิสัตว์ คือเขาบอกสอนกันว่า โพธิสัตว์นั้นคือปุถุชน ซึ่งปุถุชนคือสัตว์ใต้ต้นโพธิ์ แต่ของอาตมา โพธิสัตว์คือผู้มีปัญญาตรัสรู้ สัตว์ที่มีโพธิ สัตว์ที่มีปัญญาตรัสรู้ ต้องได้ปัญญาตรัสรู้ก่อน แม้น้อยได้แค่โสดาบัน คุณก็เริ่มต้นมีสิ่งนั้นในตน เมื่อมีสิ่งนั้นในตน ทำคุณอันสมควรแก่ตนก่อน สอนผู้อื่น จึงจักไม่มัวหมอง นี่ก็คำสอนของเถรวาท เพราะฉะนั้น โพธิสัตว์เป็นได้ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป แล้วสอนตามที่ตนเองมีตนเป็น อย่าไปเกินอุตริมนุสธรรมที่ตนได้ ถ้าจะบอกว่าสอนเกินกว่านี้ ก็อย่าให้คนอื่นเขาหลงว่า ตัวเองมีตัวเองเป็น เราเป็นโสดาบัน แต่เราสอนให้คนเข้าใจผิดว่า เราเป็นสกิทาคามี เราเป็นแค่โสดาบัน ไปสอนเขาเหมือนกับเราเป็นอนาคามี ยิ่งเจตนาหลอกลวงเขา ให้เขาเข้าใจว่าเราเป็นอนาคามี หลอกลวงให้เขาเข้าใจเราว่า เราเป็นอรหันต์ นั่นแหละบาปแน่ โดยภาษาปริยัติ สอนเกินได้ ความรู้ความเข้าใจที่ไม่ผิด เป็นหลักสูตรเป็นทฤษฎีที่ไม่ผิด ก็สอนเขาได้ ถ้าแน่ใจว่าถูก แต่ต้องบอกให้เขารู้ว่า เรายังไม่ใช่นะ

สำหรับที่เขาอธิบายกันว่า โพธิสัตว์นี่ จะเป็นอาริยะไม่ได้ เป็นโสดาบันก็ไม่ได้ เพราะไปเข้าใจว่า สัตตักขัตตุปรมโสดา โสดาขั้นต่ำที่สุด จะต้องเกิดมาอีก ๗ ชาติ จึงจะบรรลุอรหันต์ ก็เลยคิดว่าการเกิดนี่ คือการเกิดอย่างชลาพุชโยนิ คือเกิดจากท้องแม่ ซึ่งถ้าจะบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้า คลอดจากท้องแม่ ๗ ชาตินี่ มันไม่อาจจะสั่งสมบารมีทันแน่ เพราะฉะนั้น ก็เลยไปเข้าใจว่า ไม่มีสิทธิ์หรอก เพราะคนผู้บำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่บำเพ็ญแค่ ๗ ชาติ แล้วจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ นี่คือการเข้าใจผิด เป็นเทวนิยม เป็นตัวตนแล้ว เป็นการเกิดแบบชลาพุชโยนิ เกิดทางร่างกายแล้ว ออกจากมดลูกออกจากท้องแม่ แล้วก็เป็นตัวตน ๗ ชาติ ก็เลยกลัวซิ ถ้าขืนเป็นอาริยะแล้ว ไม่ได้เป็นหรอกพระพุทธเจ้า เพราะอย่างเก่งก็เป็นอรหันต์ภายใน ๗ ชาติ เพราะเข้าใจอีกว่า ถ้าเป็นอรหันต์แล้ว ตายลงเมื่อไหร่ ต้องสูญ ต้องปรินิพพาน ต้องไม่เกิดอีก ก็ไม่มีสิทธิ์ได้บำเพ็ญต่อภูมิ ดีที่ว่าในยมกสูตร พระไตรปิฎกของเถรวาท บันทึกไว้ เล่ม ๑๗ ข้อ ๑๙๘ - ๒๐๔ ใครกล่าวว่า พระอรหันต์ตายแล้วต้องสูญ เป็นปาปกัง ทิฏฐิคตัง เป็นความเห็นผิด เป็นบาป เป็นความคิดลามก

จริงๆแล้ว อรหันต์กับโพธิสัตว์ ไม่ได้แยกจากกัน เช่นเดียวกับ ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ไปด้วยกันเหมือนเหรียญ ๒ ด้าน พระโพธิสัตว์หรือพระอรหันต์นี่ก็ตาม คือ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่จะทำประโยชน์ตนให้เกิดคุณค่าทางปรมัตถ์ เป็นประโยชน์อันยิ่ง เป็นบรมประโยชน์ พอทำทานเราก็ได้ประโยชน์ตน ว่าเราลดกิเลสได้ ทำสำเร็จเป็นประโยชน์ตนแล้ว ประโยชน์ท่านในทางโลกียะ ผู้ได้รับของทานเขาก็ได้แล้ว เขาได้วัตถุจากเราไป เกิดทั้งประโยชน์ตนที่เป็นมรรคผล และเกิดทั้งประโยชน์ท่าน ที่เขาได้ของทานนั้นไป เรียกว่า "อุภยัตถะ" ประโยชน์ ๒ ฝ่าย ที่จริงมีนัยะอื่นๆอีกหลายนัย"

จากบางส่วน ที่พ่อท่านแสดงธรรมก่อนฉัน วันอาสฬหบูชา ๕ ก.ค. ๒๕๔๔ ที่สีมาอโศก

หลังฉันแล้ว เดินทางต่อ โดยรถฝ่าฝัน ไปราชธานีอโศก เพื่อร่วมเข้าพรรษา

วันรุ่งขึ้น ๖ ก.ค. ๒๕๔๔ เป็นวันเข้าพรรษา เช้านี้พ่อท่านและหมู่สมณะ รวมทั้งพระอาคันตุกะ ๑๘ รูป ร่วมพิธีอธิษฐานเข้าพรรษา ที่แพโบสถ์น้ำ ก่อนแจ้งเขตอาวาส ในการจำพรรษา และการร่วมอธิษฐานเข้าพรรษา พ่อท่านให้โอวาทกับหมู่สมณะ จากบางส่วนที่น่าศึกษา

"วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา สมัยพุทธกาล พระภิกษุถูกท้วงติง เพราะไปเหยียบข้าวเหยียบนาของชาวบ้าน พระพุทธเจ้าได้อาศัยเหตุ ที่เป็นเหตุนิดๆ แล้วนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นการตราและกำหนดขึ้นมา ให้มีคุณค่า ยิ่งกว่าได้ ศาสนาพุทธในเมืองไทย มีวินัย ๒๒๗ มีธรรมเนียมเข้าพรรษา ออกพรรษา มีจารีตประเพณี มีอะไรต่ออะไร ทุกวันนี้ ยังพอเหลือเค้า พวกเรานี่ ผมได้พาทำกันมา ในทางใช้ปัญญาเป็นที่ตั้ง พยายามถอดตัวถอดตน พยายามถอดความยึดติด ก็เลยเอียงมาข้างปัญญา แล้วก็มาข้างจะไม่ยึดไม่ติด จะไม่เอาอะไรมากเกินไป วางเกินไป วางจนไม่เอาภาระ วางจนไม่รู้จักที่จะมีอุตสาหะวิริยะ หนักๆเข้า จะเป็นความเห็นแก่ตัวอีกชนิดหนึ่ง ชนิดลอยตัว ให้อยู่เฉยๆ ว่างๆ สนองกิเลสขี้เกียจ มีลักษณะออกไปด้านไม่ยึด เลยกลายเป็นเรื่องเกินไปอย่างหนึ่ง มาถึงวันนี้แล้ว รู้สึกว่าพวกเราปัญญาเฟ้อปัญญาเกิน ขาดศรัทธา ไม่เห็นดีเห็นชอบ ในเรื่องยึดถือ หรือการจะต้องอยู่กับสิ่งหนึ่ง

เราต้องรู้ว่า ความจริงของเราเป็นชีวิต ชีวิตคือความเป็นความมี เราจะไปสู่ความไม่เป็นไม่มี ว่างเปล่าทุกอย่าง ก็จริงอยู่ เราศึกษา เราก็จะได้ความรู้และทำได้ และต้องรู้ว่า ความจริงบัดนี้ เราอยู่ในความดี เรามีรูปกาย เรามีขันธ์ ๕ เรามีการดำเนินชีวิต เรามีสังคม เรามีหมู่กลุ่ม เรามีเพื่อนมนุษยชาติที่เราจะต้องช่วยเหลือกัน พยายามนำพากัน เพื่อเป็นผู้ดี ผู้ประเสริฐ ผู้ที่มีคุณค่า ผู้ที่มีประโยชน์ จริงๆแล้วเรายังไม่ตาย ถึงตายก็ยังมี เมื่อเรายังไม่ปรินิพพาน ยังไม่เลิกรา ทุกสิ่งทุกอย่าง จนตัดสันตติ ไม่มีอะไรต่ออีก ถ้าเรายังมีอยู่ตราบใด ยังไม่หมดสันตติ เราคือผู้มี ต้องรู้สถานะที่แท้จริงว่า เรายังมี เรายังต้องสะสม หรือยังต้องเป็นตัวตน โดยสมมุติ เป็นเรื่องของสัจจะชนิดหนึ่ง เป็นสมมุติสัจจะ ที่เราจะยังสัจจะนี้ แม้จะเป็นสมมุติ ก็อยู่อย่างดี อยู่อย่างสวรรค์ อยู่อย่างเทวะ สามารถอยู่อย่างประเสริฐ อยู่อย่างมีทุกอาริยสัจ ก็หมดทุกขอาริยสัจได้ ต้องรู้ว่า ทุกข์อะไรอื่นที่เลี่ยงไม่ได้ มันก็ต้องยังมี ทุกข์ในการบิณฑบาต ทุกข์ในการยังชีพ ทุกข์ในการแสวงหาอาหาร ทุกข์ในการหาการหางานทำ ที่เป็นความดีความงาม ความประเสริฐ มนุษย์มีการงาน หรือมีกรรมที่ประกอบด้วยอิทธิบาท แสดงถึงความมีอายุ เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่ตาย ถึงขั้นปรินิพพานเลยจริงๆ ยังมีรูปนามขันธ์ ๕ จะมีอิทธิบาท เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นเครื่องแสดง

ผู้มีอายุคือสมณะ สมณะที่หนึ่งตั้งแต่โสดาบัน ต้องเป็นผู้พ้นอบาย อบายข้อที่ ๑ ข้อขี้เกียจก็ต้องพ้นด้วย จะมีจิตจริงๆ เห็นว่าขี้เกียจอยู่เฉยๆอยู่ว่างๆ ยิ่งในฐานะของภิกษุ ยิ่งมีโอกาสว่างๆได้ ด้วยความเข้าใจของสังคม ว่าคนที่อยู่เฉยๆ เป็นพระนั่งหลับตา พักสงบ เรียกว่าฌาน เป็นฌานฤาษี เข้าไปอยู่ในนั้นว่าง ถือเป็นคนเจริญ เป็นคนประเสริฐ ชาวบ้านชาวเมือง พุทธศาสนิกชนเขาไม่ว่า ขอให้มานั่งเข้าฌานอย่างนี้ ยิ่งไม่ลุกไปเลย ๗-๘ วันได้ เขายิ่งยอดบูชานับถือ ก็เอนเอียงไปข้างหยุด ไม่เข้าใจว่า ความจริงเป็นคน จะต้องมีกรรม การงาน มีสัมมากัมมันตะ มีอิทธิบาท มีเครื่องแสดงถึงความเป็นผู้เจริญ ผู้สงบ สมณะเป็นผู้สงบอย่างเจริญ เรามีอิทธิบาท เป็นเครื่องแสดงความเป็นสมณะ ซึ่งหมายถึงผู้สงบ หรือความเป็นอายุที่ยังไม่ตาย มีการมีงาน มีความพอใจในการงาน พากเพียรในการงาน เอาใจใส่การงาน วินิจฉัยการงาน ไม่ใช่สงบอยู่นิ่งๆ เอียงไปข้างอยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้น การอยู่เฉยๆ หาทางอยู่ว่างๆ นิ่งๆ ไม่ขวนขวาย ไม่มีอปจายนมัย ไม่มีการกระทำอะไร ที่เป็นสิ่งสร้างสรร คุณก็เป็นคนที่ตกต่ำ เป็นคนไม่เจริญ เป็นคนถ่วง เป็นภาระของโลก ยิ่งโลกหมดแล้ววัตถุดิบ ทรัพยากรขาดพร่อง

หลงไปเข้าใจว่า เราไม่สร้างเพื่อจะล่าลาภล่ายศ เราอยู่ว่างๆก็ถูกแล้ว ถ้าไปสร้างนั่น มันตามประสาของฆราวาส จะต้องกอบโกย จะต้องมีภาระ ต้องขวนขวาย ทำอะไรให้มากหน่อย แต่เราเป็นสมณะแล้ว ไม่ต้องทำมาก เพราะเรากินน้อยใช้น้อย ก็ดีอยู่ ทำไม... ถ้าเรากินน้อยใช้น้อย แล้วเราทำได้มากๆ ก็เป็นกุศล เป็นส่วนเหลือส่วนเกิน ได้สละ มันไม่ดีประเสริฐหรือ? มันก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้น เราจะสร้างกุศล เป็นโลกียกุศลอะไรก็ตาม ก็น่าจะสะสมไปสร้างสรรไป เป็นทรัพย์ เป็นโลกียทรัพย์ก็ตาม ยิ่งทานเป็นโลกียทรัพย์ ยิ่งอยู่ในรูปแบบนี้แล้ว วัตถุไม่สะสม แต่เราก็ฝากธนาคารบุญ อันเป็นกรรมที่เป็นกุศล สะสมบุญสะสมกรรมเป็นของของเรา เราทำในสิ่งที่เราทำได้ ในฐานะสมณะไม่ผิดวินัย ถ้าเราทำด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ให้ความรู้เขา ไม่ใช่ชี้ให้เขาไปทำ สั่งให้เขาไปทำ แต่ให้ความรู้เขาไปทำ โดยปฏิภาณปัญญาของเขา เราก็สอนเขา แนะนำเขา ให้ขยันหมั่นเพียร สร้างสรรจริงๆ แล้วให้ทานออกมากๆ ยิ่งเราทำระบบ ไปถึงฆราวาส ให้เป็นสาธารณโภคี เขาก็จะเป็นสาธารณโภคีไปในอนาคต ทุกวันนี้คนในโลก เขาทำงานแบบหลงใหล เอางานนั่นไปล่าทรัพย์ เบียดเบียนกัน เป็นทุนนิยมกันอยู่ทั้งนั้น"

โดยสรุปทั้งหมดนี้ เป็นการกระตุ้นสมณะ ที่ยังมีทิฐิลอยตัว ว่างๆ ไม่เอาภาระกิจน้อยใหญ่ของหมู่คณะ ให้เอาภาระขึ้นมาบ้าง บอกสอนก็ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ


งานอบรม... เป็นประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน
งานอบรม... เป็นงานแก้ปัญหาทางจิตวิญญาณ
บ้านราชฯเมืองเรือ เป็นหมู่บ้านได้ ๕ ปี และเพิ่งจะเป็นพุทธสถานยังไม่ถึง ๒ ปี มาถึงวันนี้ กำลังจะกลายเป็นสถานที่ฝึกอบรมคน อย่างสำคัญ มากกว่าพุทธสถานอื่นๆ ตารางการอบรม เฉลี่ยเดือนละ ๔-๕ รุ่น มีทั้งเด็กนักเรียนระดับมัธยมจากร.ร.ต่างๆ และเกษตรกรที่พักชำระหนี้กับธ.ก.ส. เป็นหลัก ที่มาเข้ารับการอบรม ทำให้ชาวบ้านราชฯ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้ฝึกตนเองเป็นผู้รับใช้ ฝึกลดละอัตตามานะ และฝึกถ่ายทอดความรู้ เป็นการฝึกทำประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน ไปพร้อมๆกัน ผลการอบรมทุกรุ่น ได้ผลเป็นที่พอใจ เกิดศรัทธาในศาสนาพุทธมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวิถีชีวิต ขณะที่บ้านราชฯ ยังมีปัญหาเรื่องการจัดการ และการบริหารการเงิน เนื่องจากบ้านราชฯ เป็นชุมชนใหม่ ที่มีโครงสร้างใหญ่ ค่าใช้จ่ายที่ดิน... ค่าก่อสร้าง... ค่าอุปกรณ์สำนักงาน... ค่าน้ำมัน และซ่อมบำรุง... เครื่องกลหนัก... ฯลฯ เหล่านี้ ทำให้รายจ่ายสูงกว่ารายรับ ผู้ดูแลการเงิน จึงพยายามเข้มงวด ตรวจสอบดูแลการใช้จ่ายการเงิน ตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุด นอกจากนี้ ยังมีปัญหา รายละเอียด ในการคิด การมอง.. วิธีการทำงาน... บุคลิกนิสัยที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดกระทบกระทั่ง ขัดแย้งอยู่บ่อยๆ ซึ่งพ่อท่านสอนพวกเราอยู่บ่อยๆว่า ความสามัคคี ต้องมีความขัดแย้งอันพอเหมาะ อีกทั้งการล้างละกิเลส ย่อมต้องมีผัสสะเป็นปัจจัย เป็นโจทย์แบบฝึกหัดจริง ให้เราได้ฝึกหัดเรียนรู้กิเลส และละลดกิเลส

เมื่อมีงานอบรมมากขึ้น มีเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่าย จากธ.ก.ส.เข้ามา เริ่มมีกระแส ที่แต่ละหน่วยงาน อยากเก็บเงินไว้บริหารจัดการกันเอง เพื่อความสะดวกและคล่องตัว

๒๒ ก.ค. ๒๕๔๔ กรรมการชุมชนราชธานีอโศก บางส่วนได้เข้าพบพ่อท่าน เพื่อเรียนปรึกษาเรื่องต่างๆ ก่อนมีการประชุมจริงวันรุ่งขึ้น เมื่อพูดถึงเรื่องการเงิน พ่อท่านติงผู้ดูแลการเงินว่า จี้ตรวจสอบมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาไม่อบอุ่น ควรที่จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นบ้าง อย่างอาตมาเอง ยังปล่อยให้องค์นั้นองค์นี้ คนนั้นคนนี้ คิดทำอะไร ด้วยตัวเขาเอง เขาจะได้เกิดความภาคภูมิใจ ไม่ใช่ไปจี้ตรวจสอบเขาไปหมดทุกเรื่อง เมื่อเกิดปัญหาทางจิตใจ ไม่ร่วมรวมกันเช่นนี้ ให้ตั้งกรรมการใหม่ขึ้นมาดูแลงบฯ ตัวนี้ จะบริหาร จะมีเหรัญญิก จะเบิกจ่ายกันอย่างไร ก็อยู่ที่กรรมการพิจารณาตัดสินเอา ภายนอกเขาต้องการเรามาก พวกเราต้องประสานในกันให้ดีๆ

ค่ำวันเดียวกัน (๒๒ ก.ค.) สมณะและสิกขมาตุ ที่ปรึกษาคณะดูแลการเงินงบฯอบรม เข้าพบพ่อท่าน เพื่อบอกเล่าผลการแบ่งงาน การบริหารการเงิน ไปยังหน่วยงานต่างๆ

พ่อท่านพูดถึงงานอบรมว่า "งานอบรมที่เรากำลังทำ เป็นงานแก้ปัญหาทางจิตวิญญาณ การแก้ปัญหาโดยทั่วไป ไม่ว่าสังคมกลุ่มไหนๆ เขาไม่ได้แก้ที่จิตวิญญาณ เขามุ่งแก้ที่วัตถุ ที่เรากำลังทำอยู่นี่ เป็นนวัตกรรมของสังคมโลก เขาคิดแก้ระบบระเบียบอะไรก็แล้วแต่ หากไม่ได้แก้ที่จิตวิญญาณแล้ว ไปไม่รอดหรอก มันจะสู้ความฉลาดเฉโกของคนได้เหรอ หากคนไม่ได้ลดความโลภโกรธแล้ว การจะแก้ที่กฎระเบียบ การแก้ที่วัตถุก็ไปไม่รอด โดยระบบวิธีที่เราทำนี่ เป็นเรื่องของมนุษยชาติ รูปร่างของราชธานีอโศก ทุกวันนี้ มันเหมือนกับเราเป็นเจ้าสำนักตักกศิลาเลยนะ เขาให้เกียรติเราถึงปานนั้น

เรายังไม่ดีเท่าไหร่เลย แต่เขาก็ชื่นชม โลกนี้มันขาดแคลนจริงๆ เรายังอยากขอเวลา อบรมบ่มเพาะพวกเรา อีกสัก 50 ปีก่อน

ต่อมามีการพูดถึงปัญหาที่ตามมา จากงานอบรม เนื่องจากมีงานอบรมมาก ทำให้การทำวัตรเช้า สมณะ สิกขมาตุ จะแสดงธรรม ปูพื้นฐานเพื่อคนใหม่ๆ ทำให้คนเก่า ไม่ได้ฟังธรรมที่ลึกซึ้งสูงขึ้น จึงมีรายการธรรมะภาคค่ำ ปรากฏว่าคนเก่าสนใจมาร่วมฟังกันมาก ขณะที่ทำวัตรเช้า มีก็เหมือนไม่มี หลังจากรับฟัง

พ่อท่านแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า "ตอนนี้ไม่มีทำวัตรเช้า ก็ลงสู่ภาคปฏิบัติจัดการเลย ก็ดีแล้วนี่ เหมือนกับเด็กๆ เราต้องกินนม โตขึ้นมาก็ไม่ต้องกินนมแล้ว ไปทำกับข้าว กินได้เลย"

สิกขมาตุรูปหนึ่ง แทรกซักเหมือนต่อรองว่า พุทธสถานอื่น เขาได้ฟังธรรม ทำวัตรเช้ากันมานาน แต่ที่นี่เพิ่งจะเป็นพุทธสถาน ยังฟังธรรมทำวัตรเช้า ได้ไม่เท่าไหร่เลย

พ่อท่าน "ก็เคยบอกแล้วไง ที่นี่เกิดมาแล้ว ก็โตเป็นสาวเลย"

๒๓ ก.ค. 2544 ที่ราชธานีอโศก มีการประชุมกรรมการชุมชนราชธานีอโศก เมื่อมีผู้แจ้งตารางการอบรม ในเดือนหน้า (สิงหาคม) มีทั้งเกษตรกรที่พักหนี้ ธ.ก.ส. และนักเรียน จากจังหวัดใกล้เคียง

พ่อท่านได้เสนอแนะว่า "...อาตมาอยากให้มีใครทำรายงานการอบรมแต่ละครั้ง เขียนให้เป็นวิชาการเลยนะ ซึ่งของเราจะไม่เหมือนการอบรมโดยทั่วไป ของเราจะมีครบพร้อมหมด ของเราจะมีศาสนา มีธรรมะ มีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตจริงของชุมชน รายงานนี้จะมีเชิงวิจัยด้วย ซึ่งจะเป็นวิจัยที่จะเป็นอุปกรณ์การศึกษาอย่างดี และเป็นหลักฐานความจริง เป็น "ปฏิบัติวิทยา" อย่างดี การที่เราจะมีงานอบรมอีกมาก จะทำให้เราชำนาญ เป็นมืออาชีพ ในการอบรมต่อไปนี่ ใครที่จะไปทำงานระดับไหนๆ ก็ต้องมาอบรม มาผ่านการรดน้ำมนต์ที่นี่..."

คุรุมิ่งหมาย แจ้งผลการอบรมนักเรียนจากสุรินทร์ รุ่นที่ผ่านไปว่า นักเรียนกลับไป เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตื่นตี 4 ช่วยทำงานบ้านทุกอย่าง ทำให้พ่อแม่และครู แปลกใจมาก ต้องขอมาดูด้วยตนเอง

บางรุ่นของผู้มาอบรม (๑๓ ก.ค. ๒๕๔๔) พ่อท่านพอมีเวลา ได้พูดคุยแสดงธรรมให้คณะครู ที่ร่วมมาดูแลเด็กนักเรียนของตนด้วย พ่อท่านจะย้ำเรื่องความมักน้อยสันโดษ ความวิเศษของศาสนาพุทธ อยู่ที่นิพพาน มีโลกุตระ ศาสนาพุทธสอนคนด้วยมรรคองค์ ๘ ไม่ใช่ศาสนาหนีผู้คน เข้าป่าเขาถ้ำ ผลของศาสนาพุทธ อยู่ที่การลดละกิเลสได้ สามารถทำงานกับโลกได้ จึงมีประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนชาวอโศกอยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน พึ่งเกิด แก่ เจ็บ ตายกันได้ มีระบบสาธารณโภคี มีกองกลางกินใช้ร่วมกัน

คณะครูก็ดูสนใจตอบรับดี มีศรัทธา อยากให้ชุมชนอโศก แพร่ขยายออกไปมากๆ คำถามก็ดูดี อยากทราบวิธีออกจากทุกข์ โดยเฉพาะเรื่องอบายมุข และการตอบคำถามของพ่อท่าน ในเรื่องการอุทิศส่วนบุญกุศล บุญบาปแบ่งกันไม่ได้ คำตอบเป็นที่ครึกครื้นของคณะครู เมื่อพ่อท่านอธิบาย เปรียบเปรย พระที่ทำหน้าที่ อุทิศส่วนบุญกุศลให้ผู้ตาย ดุจดั่งบุรุษไปรษณีย์ ส่งไปให้ผู้ตาย โดยไม่รู้บ้านเลขที่ ถนน ซอยอะไร นรกหรือสวรรค์ เท่ากับเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม ที่ไม่มีในตน ยิ่งการยกตัวอย่าง เรื่องแกงปลาช่อน (ภาษาอีสานว่า แกงปลาคอ) ไปถวายพระ เมื่อพระฉันเสร็จ ก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญ ถามว่า แกงปลาคอ จะออกไปจากกระเพาะพระไหม เป็นคำอธิบายและยกตัวอย่าง ให้ได้คิดอย่างชัดเจน

บางรุ่น พ่อท่านพอจะแบ่งเวลามาเทศน์กับเด็กๆ (๒๕ ก.ค. ๒๕๔๔) เป็นภาษาอีสาน พ่อท่านอธิบายผี ยักษ์ มาร ที่เขาปั้นเขาเขียนกันขึ้นมา ไม่มีตัวตนเจริง เป็นนามธรรม อยู่ที่จิตใจของเราเอง พวกเราที่เป็นคนภาคอื่นๆ มิใช่คนอีสาน วิจารณ์ว่า พ่อท่านพูดภาษาอีสาน ฟังเข้าใจง่ายดี และทำให้พ่อท่านพูดช้า ไม่เร็ว และน้ำเสียงไม่แรง เหมือนพ่อท่านเทศน์ภาษาไทย พ่อท่านบอกว่า เป็นเพราะพ่อท่านไปอยู่กรุงเทพฯเสียนาน กลับมาพูดภาษาอีสานไม่ค่อยจะคล่องลื่น จึงช้ากว่าพูดภาษาไทย

นอกจากเทศน์กับเด็กที่มาอบรม (๑๑ ก.ค. ๒๕๔๔ ) พ่อท่านยังแบ่งเวลา เทศน์โปรดนักเรียน สส.ธ. เด็กบ้านราชฯเอง ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.๒ และม.๔ ส่วนชั้น ม.๑,๓,๕ และ ๖ ได้ปิดเรียน ๑๕ วัน ไปช่วยพ่อแม่ทำนา ขณะที่ชั้น ม.๒ และม.๔ จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงนักเรียน ที่จะมาอบรมในวันพรุ่งนี้ (๑๒ ก.ค.) เมื่อเสร็จงานอบรมแล้ว ก็จะปิดเรียน ๑๕ วัน ไปช่วยพ่อแม่ทำนา สลับกับชั้นม.๑,๓,๕ และ ๖ ที่จะเปิดเรียน มาเป็นพี่เลี้ยง ในการอบรมนักเรียนรุ่นต่อๆไป

"อบรมเขาเก่งปานนั้นเชียว" เป็นคำทักทายจากพ่อท่าน เมื่อทราบจากคุรุที่นำนักเรียนมา โดยก่อนหน้านี้ พ่อท่านได้รับข้อมูลว่า เด็กบางคนกระด้างต่อคุรุ และพี่ๆ จึงถือเป็นโอกาสสอน

"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังพอสมควร พวกเราบางคนมีอัตตามานะ ขนาดเป็นอา เป็นครู เป็นพี่ พวกเราบางคนยังหยิ่งผยอง ไม่เคารพ ไม่มีสัมมาคารวะ แม้เราจะอบรมเขาเก่งอย่างไร ก็จะไปเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ไม่มีสัมมาคารวะ แม้ผู้ใหญ่จะผิด เราก็ต้องเคารพ อย่าไปเอาอย่างตะวันตก เรากำลังสร้างศีลธรรม สร้างคุณธรรม ให้สำคัญกว่าความรู้วิชาการ และวัตถุภายนอก ไม่มีสังคม ไม่มีครอบครัว ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย เรียนอยู่ในกล่องหมด แตกแยกจากชีวิตจริง ครอบครัวไม่รู้เรื่อง การศึกษาอย่างที่เขาทำมา ๗๐-๑๐๐ ปี ก็เป็นอย่างนั้น และก็พังมาแล้ว เขาล้มเหลวหมด เหลือความหวังอยู่ที่พวกเรา

คนเราเกิดมา ไม่ต้องไปแย่งลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข จะดีกว่า แล้วมาทางนี้ เราไม่ได้สอนให้ไปแย่ง มีแต่สอนให้... สละ มีตัวอย่างรุ่นพี่ๆ ที่จบแล้ว หลายคนออกไป ก็กลับเข้ามา ด้วยเห็นว่าข้างนอกเขาหยาบคาย เขาทำชั่ว มันไม่อายด้วยนะ นอกจากไม่อายแล้ว เขายังหลงว่ามันดี ข้างนอกเขาหนักกว่าเรา เขาต้องแย่งแข่งขันกัน แต่ของเรา หน้าที่ต้องแบกหาม เหนื่อย... พักสักครู่ก็หาย ของเราจะไม่มีเรื่องปวดหัวอย่างข้างนอกเขาหรอก อีกหน่อย ถ้าพวกเรามีมากขึ้น จะแน่นเป็นขบวนการกลุ่ม เป็นพลังที่น่าดู"

งานการค้า เป็นประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน
นวัตกรรมพาณิชย์บุญนิยม
การปฏิบัติธรรมที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ไปพร้อมกัน มิใช่เพียงแค่อยู่ในวัด ซึ่งมีงานการกันอยู่ในวัด หรืองานอบรม ช่วยเหลือคนภายนอกเท่านั้น พ่อท่านยังพาพวกเราเข้าไปทำงาน เกี่ยวข้องกับเรื่องค้าๆ ขายๆ เป็นการพาณิชย์แบบบุญนิยม ที่เป็นประโยชน์ตนและ ประโยชน์ท่าน ไปพร้อมกันอีกด้วย

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

    บันทึกจากปัจฉาฯ หน้า ๒

บันทึกจากปัจฉาสมณะ หนังสือสารอโศก
อันดับที่ ๒๔๐ กันยายน ๒๕๔๔ หน้า ๔๘-๗๕