หน้าแรก > สารอโศก


พุทธาฯ ครั้งที่ ๒๗


จริงๆแล้ว ตั้งแต่เกิดจนตาย มนุษย์ทำสิ่งที่จำเจซ้ำซากอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ได้รู้สึกสะดุดอะไร อาจเป็นเพราะ ความรู้สึกลึกๆ ของเรารู้ว่า การกระทำเหล่านั้น จำเป็นต้องทำ เพราะมันเป็นกิจวัตร เป็นหน้าที่ ของชีวิต เราเห็นและให้ความสำคัญ เราจึงทำ นั่นคือการชำระภาวะทางกายให้คงสภาพดูดี

ในด้านการชำระจิตวิญญาณ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความเศร้าหมองของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ต่างๆ นั้น

มีแต่การศึกษาประพฤติปฏิบัติตามคำสอนที่ถูกตรงเท่านั้น จึงจะทำได้อย่างแท้จริง

และมีแต่การเรียนรู้ที่ซ้ำซาก จำเจ กระทำซ้ำๆให้มากๆ เป็นพหุลีกัมมังเท่านั้น ที่จะนำพาเรา ล่วงพ้น จากกิเลส ทั้งปวง

จากบทสัมภาษณ์พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ย้ำยืนยันถึงบรรยากาศ ของความน่าชื่นชม น่ารื่นรมย์ และ น่ายินดี ของงานพุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ ๒๗ แม้ซ้ำซาก.....


พ่อท่านรู้สึกอย่างไรกับงานพุทธาฯ ครั้งที่ ๒๗
มีอะไรแปลกใหม่บ้างหรือไม่คะ


สิ่งที่แปลกใหม่ในงานพุทธาฯปีนี้ คืออาตมาเห็นความเจริญขึ้น ความพัฒนาก้าวหน้า ที่เกิดขึ้น ในงานพุทธาฯ ซึ่งจริงๆก็มีลักษณะซ้ำซาก มาถึงครั้งที่ ๒๗ ทุกวันนี้รายการของเรา เป็นตารางที่ลงล๊อคแล้ว เป็นโครงสร้างที่ตายตัว เรียบร้อยแล้ว เช่น เช้าขึ้นมาก็รับธรรมะอรุณรุ่ง ก็เป็นการฟังธรรม ที่จำเจ โดยอาตมา จะบรรยายถึง เนื้อหาสาระของธรรมะ ให้ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้เป็นต้น ก็เห็นได้ว่า พวกเรา ฟังธรรมเป็น ฟังธรรมเข้าใจ อาตมาเทศน์บรรยายธรรมที่ลึกซึ้ง อาตมารู้ว่าอาตมาเจตนาและตั้งใจ ที่จะบรรยายให้ลึกซึ้งละเอียดลออขึ้นไปเรื่อยๆ พวกเราก็ฟังกันได้ คนนั่งข้างหน้า ต้องมาแย่งจอง ที่นั่งกัน ทุกวัน ตั้งแต่ตี ๒ ตี ๓ เป็นเรื่องมหัศจรรย์ และก็ฟังกันเบิกบานร่าเริงดี ก็เป็นการพัฒนาที่เจริญขึ้น แม้มัน ดูเหมือน เก่าซ้ำซาก แต่คนที่ไม่รู้อะไร คนที่มาแล้วไม่ได้สาระอะไร ก็ว่าเหมือนเดิม มางานพุทธาฯ นั่งฟังธรรม เสร็จแล้วก็ใส่บาตร แล้วก็มานั่งฟังธรรมกันอีกแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนผู้แสดงธรรม เท่านั้นเอง ก่อนฉันอาหาร ก็ฟังธรรม เสร็จแล้วก็กินอาหารร่วมกัน แล้วก็พักผ่อนกันนิดหน่อย บ่าย ๒ โมง ฟังธรรม อีกแล้ว พอ ๔ โมงอาบน้ำอาบท่าเสร็จ ๖ โมงเย็นก็มาฟังผู้ที่เป็นปฏิบัติกรมายืนยัน พิสูจน์ เล่าประสบการณ์ อะไรต่างๆ ๒ ทุ่มกว่าก็นอน

ตื่นเช้าขึ้นมาก็อีกแล้ว ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ทุกๆวัน รายการพุทธาภิเษกฯคราใดครั้งไหน หรือ งานปลุกเสกฯ ก็เหมือนกัน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างรายการอะไรเลย ถ้าเผื่อว่า ไม่มีอะไร ที่ใหม่ อะไรที่ลึกซึ้ง อะไรที่เป็นเนื้อหาที่ดีงาม คนก็คงเบื่อ เบื่อแน่ๆ นั่นหนึ่ง สองเรา ก็สัมผัสได้ อ่านออกว่าสิ่งที่มันเกิดพัฒนาการ เป็นรูปธรรมก็ตาม วัตถุธรรมก็ตาม มันเกิด ความพรักพร้อม หรือไม่ ซึ่งเราก็เห็นได้ว่า มันเกิดพฤติกรรม ของมนุษยชาติ ที่เข้ามาร่วมสร้างงานนี้ เป็นงานพิธีกรรม ที่พยายาม สร้างสรรให้เกิดทางวิญญาณ จนเกิดความพร้อมทางรูปธรรม วัตถุธรรม พัฒนาเป็น ความเจริญ ที่เห็นได้ ทั้งความพร้อมเพรียง ความลงตัว การช่วยเหลือเฟือฟาย สอดคล้องอะไรกัน ยิ่งๆขึ้น อย่างนี้ เป็นต้น รู้สึกว่า เรียบร้อยราบรื่น และก็มีงาน ที่เข้ามาเสริม มาสาน ซึ่งเราก็ได้นำมาประชุม ในเรื่องต่างๆ ดังนี้

เมื่อเรามารวมกันจากทั่วประเทศ มากันทั่วทุกหัวระแหง จริงๆแล้วผู้มาร่วมงานส่วนใหญ่ ก็เป็นตัวหลักๆ ที่ทำงาน อยู่ในแต่ละชุมชน หรือในสังคมกลุ่มต่างๆของชาวอโศก เมื่อมารวมกัน ก็พกเอาอะไร ที่จะมา ปรึกษา หารือกัน จะได้มาตกลงกันในเรื่องต่างๆ จะได้ทำอะไร ที่เป็นความก้าวหน้า ของงานขึ้นไป อีกด้วย จึงเห็นว่าเป็นงานที่แทรกกิจการ กิจกรรมที่จะพัฒนางานของเรา อยู่ในนั้นด้วย เสริมซ้อน กับงานพิธีกรรม ก็เลยเจริญ ทั้งงานพิธีกรรม กิจกรรม และเจริญทั้งพฤติกรรม ของมนุษย์ นี้คือความเจริญ ที่อาตมาเห็นได้ อย่างนั้นจริงๆ


พุทธาฯ มาถึงครั้งที่ ๒๗ นานพอให้พวกเราได้เกิดจิตสำนึกที่จริง และ อย่างมั่นคงใช่ไหมคะ ?
ใช่สิ เมื่อจัดไปนานๆ ก็จะยิ่งแข็งแรง เข้มข้น ทนทาน ยืนนาน แน่นลึก นึกนบ ความจริงเป็นเรื่องที่น่าเบื่อได้ เพราะทำ ซ้ำซากอยู่จริง แต่มันก็มีสิ่งใหม่ ที่เสริมซ้อน มีสิ่งดี ที่ทวีคุณภาพ และมีสิ่งลึก สิ่งกว้างยิ่งๆขึ้น ซึ่งคนเรารู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ต้องไปเอา เราต้องไปร่วม เราต้องไปแสดงออก เพราะฉะนั้น คนที่มา จึงไม่ได้ซังกะตายมา หรือว่ามาอย่างไม่เห็นคุณค่า ซึ่งก็ไม่เป็นอย่างนั้นเลย เท่าที่อาตมาสังเกต คนที่ เขามากัน เพราะเขาเห็นคุณค่าจะน้อยหรือมากก็แล้วแต่ ถ้าใครมีภูมิปัญญามาก คนนั้น จะรู้ได้เลยว่า เป็นเรื่อง ที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ต่างหาก


งานนี้เรามียุทธการ ๔๖ คืออย่างไรคะ ?
ยุทธการ หมายความว่า ร่วมกันหรือลงแขก ลุยงานนั้นประหนึ่งปฏิบัติการรบ คือระดมแรงกันทำ อย่างเอาจริง เอาจัง ทำแบบถวายชีวิตอะไรประมาณนั้น เราเริ่มใช้ ยุทธการนี้ แบบนี้กันมา ตั้งแต่งานปีใหม่ มาแล้ว เห็นผลดี และมีประโยชน์มาก ทั้งทางรูปธรรม และทางนามธรรม จึงควรจะทำกัน ให้ดียิ่งขึ้น

เราจัดขึ้นในวันสุดท้ายของงาน เมื่องานจบลง เป็นการรวมตัวของพวกเรา โดยจะใช้เวลา ตามที่เห็นควร อย่างงานปีใหม่ เราใช้เวลา ๑๘๐ นาที แต่งานพุทธาฯ นี้ใช้เวลา ๔๖ นาที เราเอาเลข ๔๖ จาก พ.ศ.'๔๖ เพื่อช่วยกันเก็บหางเก็บงานทั้งหมดให้เรียบร้อยคืนสู่สภาพปกติ เช่น โกยฟาง รวมกัน เป็นกอง เก็บเต็นท์ เก็บซาแลน กวาดเก็บ ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม และ ความเรียบร้อย ในที่ต่างๆ เพื่อแบ่งเบา ภาระ ของเจ้าของพื้นที่

นี่แหละเป็นพัฒนาการที่เห็นถึงความก้าวหน้า มีความร่วมไม้ร่วมมือ เป็นจิตที่ร่วม เป็นจิต ที่ประสาน เป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกีภาวะชัดเจนขึ้น เป็นความพร้อมเพรียง ตามคุณลักษณะ ที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่เจริญขึ้น ตามลักษณะของมัน อย่างแท้จริง มีอวิวาทะ สามัคคียะ เอกีภาวะ โดยจะเกิด ตั้งแต่สังคหะ ที่มีความเกื้อกูล ความไม่แยก ไม่แตกกัน ปรากฏยืนยัน ตามคำตรัส หรือ ทฤษฎี ให้เห็นจริง เป็นจริงขึ้นมา แม้ในยุคสมัยนี้


ใช้เวลาถึง ๒๗ ปี กว่าพวกเราได้เกิดจิตสำนึกอันนี้
เราไม่ได้เป็นพวกที่ปกครองกันโดยใช้วิธีบังคับ หรือใช้อะไรที่มาหลอกล่อ แต่ให้เขาเรียนรู้ได้ ด้วยปัญญา หรือ สำนึกของตนเอง เมื่อเขารู้โดยปัญญา รู้โดยสำนึก เขาก็พร้อมเพรียงกันทำขึ้นมา อาตมา ยังนึกอยู่ว่า เมื่องานปีใหม่ ซึ่งเราเริ่มต้นทำเป็นครั้งแรก ยุทธการ ๑๘๐ นาที แต่ไม่สำเร็จงาน อาจเป็นเพราะ งานปีใหม่ เป็นงานกว้าง เป็นงานที่มาก ทั้งข้าวของก็เยอะ พื้นที่ก็กว้างไกล แต่ที่งานพุทธาฯ เขาคำนวณดูแล้ว การช่วยกัน เก็บงาน มันไม่มากไม่มาย แต่ถึงกระนั้นเวลา ๔๖ นาที ยังไม่ถึงชั่วโมง ไม่น่าจะเสร็จ ไม่น่า จะพรั่งพร้อม ไม่น่าจะเป็นได้ แต่ก็ทำสำเร็จ เรียบร้อย

เมื่องานปีใหม่อาจเป็นเพราะพวกเรา ก็เริ่มรับรู้ รับลูกยังไม่เป็น เพราะเป็นครั้งแรก ซึ่งคนยังไม่รู้สึก ยังไม่เข้าใจ ยังไม่กระเตื้องอะไรขึ้นมา ก็ได้แค่นั้น แต่พอนำวิธีนี้มาใช้ครั้งที่ ๒ ในงานพุทธาภิเษกฯ พรึบ ! ขึ้นมา อาตมาว่า คนตั้งหลักกันแล้ว ชักรู้แกว ชักมีไหวพริบแล้ว รู้แล้วว่าควรทำอย่างไร อาตมาว่า อันนี้แหละ เป็นการพัฒนา ที่ดีขึ้น จากเริ่มต้นครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ เห็นผลว่ามันก้าวหน้า แค่ ๔๖ นาที ก็ได้งาน ช่วงสุดท้ายจะหมดเวลา เขาดูนาฬิกา นับถอยหลัง ๙ ๘ ๗ ๖ ๕ ๔ ๓ ๒ ๑ ๐ หมดเวลา ตามกำหนด ก็เฮ กันสนุก ทุกอย่างพรักพร้อม เสร็จอย่างที่เห็นๆ น่าชื่นชม เราสนุกในการงาน ไม่ต้องโง่ ไปสนุก ในอบายมุข การละเล่นกีฬา ให้เปลืองเปล่า อย่างนี้สร้างสรรกว่าเยอะ

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของมนุษยชาติ ที่พยายามทำกันขึ้นมาเป็นพลังงานร่วมรวมกัน เป็นคุณลักษณะที่ สังคม ทุกวันนี้ ขาดแคลน เพราะมีความเห็นแก่ตัวเป็นตัวหลักที่มากขึ้นๆ จนกระทั่ง คนขี้เกียจ คนไม่อยาก เสียสละ ทั้งๆ ที่รู้ว่าการช่วยเหลือ เฟือฟาย การเสียสละเป็นเรื่องที่ดี แต่เขาก็ไม่ทำกัน เพราะมี ความเห็น แก่ตัวสูง พวกเราได้พยายาม ลดละความเห็นแก่ตัว จึงสามารถแสดงออกได้ เป็นจริงเป็นจัง ขึ้นมา และ เราก็จะ พยายาม ทำต่อไป พิสูจน์ความจริงไปอีก ตราบที่อาตมายังมีชีวิตอยู่ ก็คิดว่าจะดู และ แม้อาตมา ตายไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ควรเป็นจารีตประเพณี ที่จะต้องทำสืบทอด ต่อไปอีก เพราะเป็น สิ่งที่ มีคุณค่า เป็นพิธีกรรม ที่เกิดประโยชน์ ทางจิตวิญญาณ อย่างยิ่ง


รายการธรรมะทางเลือก ภาคบ่าย พ่อท่านวิจารณ์หน่อยนะคะ
ก็ดีเหมือนกัน ที่จะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง เป็นการเสนอวิธีเป็นกรรมวิธีที่จะให้ผู้รับได้ประโยชน์ในลักษณะนั้น ลักษณะนี้ เป็นการพลิกแพลง เป็นการสร้างองค์ประกอบศิลป์ในวิธีการจัดงาน เพื่อให้เกิดดูมีรสชาติ มีสีสันขึ้น มีคุณค่าประโยชน์แก่ผู้ที่ควรได้รับ อาตมาก็ว่าดีเหมือนกัน ช่วยกันคิดทำขึ้นมา


หนุ่มสาวสนใจปฏิบัติธรรมได้ยิ่งดี แต่โดยทั่วไปก็ยังมีปัญหาของคน หนุ่มสาว ที่กำลัง สับสนเส้นทางชีวิต ระหว่างทางโลก และทางธรรม จะทำอย่างไรคะ ?
เรื่องอย่างนี้บอกบังคับไม่ได้ อยู่ที่เจ้าตัวต้องศึกษาค้นคว้า สอบทานพิสูจน์ และใช้วิจารณญาณ ของตัวเอง ของใคร ก็ของใคร เท่าที่มีอยู่นั่นแหละตัดสิน แต่อย่าเพิ่งรีบตัดสิน ต้องหาข้อมูลตรวจสอบ พิสูจน์ ให้ได้ หลักฐาน ข้อมูลมากๆ เพียงพอ และเราก็จะตัดสินได้ดีกว่า ที่มีข้อมูลน้อย มีประสบการณ์น้อย มีสิ่ง พิสูจน์น้อย ฉะนั้น ขณะนี้ ถ้าจะสับสนอยู่ ก็คงต้องสับสนบ้าง สำหรับ คนที่ยังไม่เข้าใจ แต่ก็ลองดู ตรวจสอบดู จากผู้ที่เขาได้ เขาเป็น เขามี มันดูดีหรือไม่ ถ้าดูดี แต่ทำยาก อันนี้ต้องนำมาคิด เพราะคนเรา ถ้ารู้สึกว่า ยาก แต่มันดี เราก็ต้องทำ เพราะมันดี แม้มันยาก เราก็ต้องพากเพียร ความดีนั้น มันจะยากเสมอ ส่วนผู้ที่ไม่ใช่นักสู้ หรือคนไม่ค่อยเอาถ่านนั้น จะหาทางเลี่ยง โดยมัก จะใช้ วิจารณญาณ ตัดสินว่า มันไม่เหมาะกับเรา ดูดี แต่ยากไม่เหมาะกับเรา อันนี้เป็น การถล่มตัวเอง คนที่ถ้าไม่ใช่ นักสู้แล้ว เขาไม่เอาจริงหรอก และ จะหาข้อแก้ตัวต่างๆ ทำให้เขาไม่ได้เป็น นักพิสูจน์ นักมีประสบการณ์ แต่ก็ถือว่า มีปัญญาบ้าง ส่วนคนที่ไม่มีปัญญาเลย เห็นแล้ว ก็จะบอกว่า ไม่เข้าท่าหรอก อย่างนี้ ก็ไม่ต้องพูดกัน จบ หมดหวังสิ้นหวัง เพราะเขาไม่มีภูมิปัญญา ที่จะแยกแยะได้ว่า อะไรดี หรือ ไม่ดี



ทางบ้านให้ความสุขทางวัตถุ พอมาทางศาสนา ก็พบความสุขทางใจ ชอบทางนี้ เพราะเป็น สิ่งที่ขาด แต่สงสัยว่า ถ้าวันหนึ่ง ได้ความสุข ทางใจพอแล้ว จะหวนกลับไปคิด เรื่องความสุข ทางวัตถุหรือไม่
คนที่มาปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าจริงแล้ว จะอยู่เหนือทั้งวัตถุและจิตวิญญาณ ที่จะมีอะไร ก็แล้วแต่ มาครอบงำเรา ที่จริงมันก็เป็นกิเลส ในจิตวิญญาณเรา นั่นแหละ แต่กิเลสเหล่านี้ มันเหมือนจิต และ มีอำนาจ ถ้าเรามาปฏิบัติธรรมได้มรรคผลแล้ว จะอยู่เหนือวัตถุ และเหนือกิเลส ในจิตเหล่านี้ เพราะฉะนั้น มันจะไม่กลับไปหาทางวัตถุ หรือถ้าจะไปก็ไม่ไปอย่างเป็นทาส แต่ไปอย่างผู้อยู่เหนือ นั่นคือ สิ่งสูงสุด ที่เป็นผลแท้ ของศาสนา ที่พระพุทธเจ้า ท่านพาเป็น ซึ่งเมื่ออยู่เหนือสิ่งนั้นแล้ว มันจะเป็น ธรรมรส เป็นวิมุติรส เป็นรสที่ทำให้เราอยู่เหนือโลก และ เราไม่ต้องเป็นทาส ไม่ต้องไป ถูกเขาปั่นหัว จะต้องไปวุ่นวาย อยู่กับเขา ไปมีอะไร อย่างที่เขาเป็นได้ จะมีญาณเห็น มีปัญญาเห็น ยกตัวอย่าง ง่ายๆ เช่น เขาไปติดยาบ้า เราจะรู้เลยว่า มันเป็นเรื่องของ คนจิตอ่อนแอ ที่ตกเป็นทาส ยาบ้า อยู่อย่างนั้น หรือ เรื่องยาบ้า เป็นเรื่องหยาบ เราไม่ติดแล้ว แต่ติดเรื่องความสวย หรือ ไปเย้วๆ เรื่องที่วัยรุ่น เขาไปติดๆกัน คนที่ จิตอยู่เหนือ สิ่งเหล่านี้แล้ว เขาจะรู้ว่า มันก็ต้องไปลงทุน ลงแรง ต้องเหน็ดเหนื่อย เสียเงิน เสียทอง เสียทั้งเวลา อะไรต่างๆ นานา เปลืองเปล่า และ เมื่อเราไม่ได้ไปติด ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจ ของความอร่อย หรือ โลกียรส อย่างนั้นๆ เราจะมีธรรมรส มีวิมุติรส มีรสอันสงบ มีรสที่อยู่เหนือ สิ่งนั้นๆ ทั้งๆที่เรา ก็รู้ก็เห็น เพราะเรา ไม่ได้เป็น คนตาบอด หรือ ปัญญาบอดอะไร แต่เราจะรู้ว่า มันก็เป็น อย่างนั้นแหละ เขามันส์ ของเขา ในลักษณะนั้น

ซึ่งแต่ก่อน เราก็เคยมันส์อย่างนี้ เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้ เราหลุดพ้นแล้ว เราก็จะไม่มีรส เป็นอย่างนี้
เราจะมีรส "อุเบกขาเวทนา" ที่แท้จริง เป็นต้น เราจะรู้ได้โดยญาณ ปัญญาเลยว่า นี่คือ จิตที่เหนือ กว่าสิ่งนั้น จิตที่หลุดพ้น จากสิ่งนั้น และอยู่เหนือสิ่งนั้นแล้ว จึงเรียกว่า โลกุตรจิต เป็นจิต ที่อยู่เหนือ โลกโลกีย์ ที่เขาเป็น จิตที่หลุดออกมาได้จริง มันจะมีรสว่างจริงๆ และปัญญา ก็จะเห็น ถึงความถูกต้อง ความดีงาม ความที่ไม่ต้องไปเสียเวลา เสียแรงงาน เสียทุนรอน แต่จะเอาเวลา แรงงาน ทุนรอน เหล่านั้น มาสร้างสรร สิ่งที่ดีงาม


บทสรุป
ในแต่ละชาติ
การตั้งจิตที่จะได้พบพระโพธิสัตว์
และรับใช้งานศาสนา มีความสำคัญ
การเกิดในแต่ละชาติ
คือการเรียนรู้จากบทเรียนหนึ่ง
สู่อีกบทเรียนสูงขึ้น ยากขึ้น
เป็นการเรียนที่ได้สะสม "อาริยภูมิ"
เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด
วนเวียน เรียนรู้ ไม่จบสิ้นตราบที่ยังเรียนไม่จบ
ในแต่ละชาติ
เราก็ได้พัฒนาจิตวิญญาณ
ให้ก้าวหน้าขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น
ในแต่ละชาติ
การตั้งจิตที่จะได้พบพระโพธิสัตว์
และรับใช้งานศาสนา มีความสำคัญ !

(สารอโศก อันดับที่ ๒๕๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)