ตอน....นวัตกรรมแห่งการปกครอง กับ ความเสื่อมของสังคมและสังขาร


สิงหาคม ๒๕๔๖

ต้นเดือนสิงหาคม พ่อท่านยังคงอยู่ที่สันติอโศกต่อเนื่องจากปลายเดือนที่ผ่านมา จากการสัตตาหะ มากิจประชุม ประจำเดือน หลายองค์กร ตั้งแต่ชุมชนสันติอโศก....ประชุม ๕ องค์กร.... ประชุมพาณิชย์บุญนิยม

ทางสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดย คุณวิสุทธิ์ เจตสันติ์ ได้ส่งเอกสาร ที่จะจัดทำ เป็นหนังสือชื่อ "๓ หลวงพ่อกับหลักคิดให้สภาที่ปรึกษา" มาให้พ่อท่าน ได้ตรวจแก้ ก่อนนำไปพิมพ์ เป็นหนังสือออกเผยแพร่ ๓ หลวงพ่อที่ว่าคือ พระ ดร.มหาต่วน สิริธัมโม อดีตรองอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระวินัย สิริธโร ประธานชมรม ศิษย์ท่านพุทธทาส และพ่อท่าน ซึ่งได้ไปแสดงความเห็น เกี่ยวกับกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๑-๗๔ ณ สำนักงาน สภาที่ปรึกษา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ ๒๐ มิ.ย.ที่ผ่านมา

ปลายเดือนก็ได้รับการติดต่อจากคุณวิสุทธิ์อีก อยากจะนิมนต์ให้พ่อท่าน ไปร่วมแสดง ความเห็นต่อ ในกฎหมายฉบับอื่น แต่ครั้งนี้พ่อท่านไม่สามารถ ไปร่วมได้ เนื่องจากติดต่อมา กระชั้นมาก ทั้งเป็นช่วง เข้าพรรษาไปมาไม่สะดวก จึงปฏิเสธไป

การจำพรรษาที่บ้านราชฯปีนี้ พ่อท่านได้มีโอกาสอยู่ที่บ้านราชฯ ได้ยาวนานกว่า พรรษาที่ผ่านๆมา ทำให้ทั้งเกษตรกรและนักเรียน ที่มาเข้าอบรมได้มีโอกาสฟังพ่อท่านเทศน์

สิ่งที่พ่อท่านดำริที่จะทำมี ๒ เรื่อง เรื่องแรกคือการเขียนหนังสือ "ศาสนาพุทธ" หลังจากพ่อท่าน มีเวลา ได้เปิดอ่านหนังสือ "พุทธธรรม" บางส่วนของพระธรรมปิฎก ทำให้พ่อท่านเห็นว่า การเขียน จะนำเอา หัวข้อเรื่องที่ท่านเรียบเรียงไว้ดีแล้วนั้น เป็นประเด็นในการเขียน แล้วอธิบายจากความเข้าใจของพ่อท่านเอง

เรื่องที่สองคืออีก ๓ ปี พ่อท่านจะมีอายุ ๗๒ ปี ถ้าพระวิหารพันปี ที่สันติอโศกเสร็จ ก็คงจะฉลอง การสร้างดัดแปลงเรือใหญ่ที่บ้านราชฯ ซึ่งจะทำเป็นอาคารเรียน และอาคารใช้งานอบรม หรือจัดงาน ประชุมสัมมนาต่างๆ โดยจะมีการตกแต่ง โลหะหล่อ ประกอบให้ดูดีดูมีค่า หากเสร็จทันก็จะหา วันฉลอง พระวิหารดอยฟ้า ที่ภูผาฟ้าน้ำ หากเสร็จทัน ก็จะหาวันฉลอง รวมถึงเรือนพลาภิบาล ที่ปฐมอโศก หากเสร็จทัน ก็จะหาวัน จัดงานฉลองเช่นกัน สรุปก็คือปีนั้น จะจัดงานฉลองเคลื่อนที่ ไปตลอดทั้งปีก็ได้ ถ้ามีที่อื่นๆ มีกิจกรรมอะไรก้าวหน้าที่สมควรจะฉลองก็จะจัดงานฉลองด้วย

นวัตกรรมแห่งการปกครอง เป็นชื่อการประชุมที่สีมาอโศก (๑๒ ส.ค.) พ่อท่านเห็นชื่อดี สมควรนำมา อธิบายต่อ จึงตั้งเป็นหัวข้อในการแสดงธรรมวันนั้นด้วย พ่อท่านมอง การปกครอง ตั้งแต่เริ่มแรก จวบจนปัจจุบันไว้อย่างไร? แล้วนวัตกรรมแห่งการปกครอง ในความเห็นของ พ่อท่านเป็นอย่างไร? คน ๔ กลุ่มคือ นักผลิต... นักบริการ... นักบริหาร... นักบวช เกี่ยวอะไร กับการปกครอง ที่ว่านี้ และ มีปฏิสัมพันธ์แก่กันและกันอย่างไร? ในสายตาของพ่อท่าน พระพุทธเจ้าเป็นนักรัฐศาสตร์ สุดยอด.... นักเศรษฐศาสตร์ สุดยอด....นักสังคมศาสตร์ สุดยอด มีเหตุผลใด จึงกล่าวเช่นนั้น? สูงสุดของการบริหาร ปกครองคืออย่างไร?

เพื่อแม่....แพ้บ่ได้ เป็นข้อความที่เวทีในการจัดกิจกรรมวันแม่ที่สีมาอโศก เมื่อพ่อท่าน เดินทางไปถึง ๑๑ ส.ค. ชาวสีมาอโศก จัดรายการเอื้อไออุ่น เพื่อพูดคุยซักถาม ปัญหาพ่อท่าน อย่างกันเอง และได้จัดให้พ่อท่านนั่งอยู่หน้าข้อความดังกล่าวนั้น ....ทำอย่างไร จึงจะตามจิตได้ทัน เมื่อการงานมีมาก? ทุกวันนี้อโศกกำลังขยายงาน กว้างไปเรื่อยๆ ทำไมพ่อท่านไม่เร่งสร้างอรหันต์ หรือทำบรรยากาศ เหมือนแดนอโศกก่อน? เราอยู่ในฐานศีล ๕ แล้วทำงานมากๆ บางเรื่องเหมือน เราทำเกินฐานเรา ทำให้เรา ไต่ขึ้นสู่ฐานสูงไม่ได้ จึงสงสัยว่าที่เราทำอยู่นี่เป็นโลกีย์หรือโลกุตตระ? การไปนั่งขายของนี่ เป็นโลกีย์หรือเปล่า? ทำไมคนเรา ถึงอยากได้....อยากดัง....อยากมี ?

สังขารเสื่อม ฟันที่อุดครอบไว้มีปัญหาใด? บริเวณเข่าซ้ายที่มีปัญหามานาน เมื่อนั่งทำงานนานๆ จะมีอาการร้อนๆ ในความเห็นของแพทย์ที่ชำนาญโรคกระดูก และแพทย์ที่ชำนาญโรคระบบสมอง และไขสันหลังประสาท มีความเห็นเป็นอย่างไร? อาการเจ็บ ที่ราวนมซ้ายเกิดจากอะไร? เรื่องวิตามิน ที่หมอพจน์จัดถวายพ่อท่านนั้น มีอะไรบ้างในเดือนนี้

สังคมเสื่อม ดาวอังคารโคจรใกล้โลกพ่อท่านเห็นอย่างไรกับกระแสข่าวนี้ ข่าวนักร้องดัง บิ๊ก ดีทูบี ที่ได้รับอุบัติเหตุแล้ว มีเด็กวัยรุ่นไปร้องไห้คร่ำครวญ พ่อท่านเห็นอย่างไร? พ่อท่าน จะแนะนำ เขาเหล่านั้นอย่างไร? ข่าวรัฐให้สินเชื่อ กับคนระดับรากหญ้า ด้วยหวังกระตุ้น ให้ฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจ ในระดับรากหญ้าพ่อท่านเห็นอย่างไร?

ปิดท้ายบันทึกจากโอวาทปิดประชุมชุมชนปฐมอโศก(๒๑ ส.ค.) พ่อท่านเผย เพราะเหตุใด สังคม จึงยอมรับเรามากขึ้นๆ? และพฤติกรรมอย่างไร ที่จะช่วยกอบกู้สังคมได้? อีก ๕๐ ปีข้างหน้า จะมีอะไรงามๆให้ดูอีกเยอะ...? แถมด้วยโอวาทปิดประชุม พาณิชย์บุญนิยม (๔ ส.ค.) .... แม้จะทำงาน เหน็ดเหนื่อยและถูกคนต่อต้านทำไมพ่อท่านจึงไม่หนักใจ? หลักประกันของสัจจะ ที่พ่อท่านกล่าวถึง คืออย่างไร? พ่อท่านพูดถึงการทำงาน ที่ไม่ได้รับสรรเสริญหรือตำแหน่งไว้อย่างไร?

นวัตกรรมแห่งการปกครอง
และปฏิสัมพันธ์ของวรรณะ ๔ ศูทร แพศย์ กษัตริย์ พราหมณ์

๑๒ ส.ค. ๔๖ ที่สีมาอโศก จากการแสดงธรรมทำวัตรเช้า พ่อท่านได้นำเอาชื่อการประชุมครั้งนี้ มาเป็นหัวข้อในการเทศน์ จากบางส่วน ที่น่าสนใจดังนี้

"....ชื่อการประชุมคราวนี้ว่า นวัตกรรมแห่งการปกครอง พรรคเพื่อฟ้าดิน สาขาลำดับที่ ๓ เป็นผู้จัด นับว่าเป็นชื่อดีมาก ในหมู่ชน ต้องมีการดูแล ปกครองกัน หรือว่าให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือ ฝึกหัด เรียนรู้ เพื่อที่จะเจริญ เพื่อที่จะได้เป็นคนดี สร้างสรร เกิดประโยชน์ ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นธรรมชาติ ของมนุษย์ที่มีปัญญา ทีนี้นอกจากธรรมชาติแล้ว เมื่อมีความเข้าใจ เพิ่มขึ้น ก็จัดระเบียบ หลักเกณฑ์ หรือรายละเอียดต่างๆ ก็จัดสรร เข้ามาบัญญัติ เรียบเรียงเป็นหลักวิธี ในการเป็นอยู่ ให้ศึกษาเรียนรู้สืบทอดกันต่อๆไป

คำว่า....นวัตกรรม หมายความว่า สิ่งใหม่ Innovation มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น ที่ว่าใหม่ คือ แปลกไปจากเดิม หรือไม่เคยมีมาแต่ไหนๆ ทีนี้คำว่า....แห่งการปกครอง ก็คือ รัฐศาสตร์ใหม่ๆ หรือเป็นการบริหาร ปกครอง ที่มีวิธีการใหม่ๆ สำหรับชาวอโศกเรานี่แน่ชัด มีวิธีการใหม่ๆ ดูแลบริหาร ปกครอง ต่างกับที่เขาเคยเป็น เคยมีมา ซึ่งหลักบริหารปกครอง ของรัฐศาสตร์เ ขามีมาตั้งแต่เผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราช มีเจ้า มีผู้ที่เป็นใหญ่ในประเทศ มีสิทธิขาด ทุกอย่าง เป็นสมบัติของท่านหมด คนก็เป็นสมบัติของท่าน มีสิทธิขาด ในทุกอย่าง ที่ท่านจะแผ่อาณาบริเวณไปได้ สมัยโบราณ ก็เป็นกันมา ถือว่าเป็นเผด็จการ รุ่นที่ ๑ เป็นใหญ่ในตัวเองแต่ผู้เดียว ใครจะมาช่วยก็แต่งตั้งเอาเอง ให้เป็นอำมาตย์ ระดับต่างๆ ก็ตั้งขึ้นมา แล้วก็บัญญัติหน้าที่กันดูแลควบคุมช่วยเหลือ บริหารปกครองกันไป

ต่อมาคนก็รู้สึกว่าถ้าทำคนเดียวนี่มันผิดพลาดได้ง่าย ไม่มีใครช่วยกรอง หนักเข้าก็หา ผู้ที่จะช่วยกันคิด ช่วยทำงานแทน ก็เป็นการเฉลี่ยความช่วยเหลือ การแบ่งเบาก็เกิดขึ้น เป็นการบริหารปกครอง ที่ขยายจาก อำนาจแต่ผู้เดียว มาพึ่งพาอาศัยกัน ขยายขึ้นมา จนกระทั่ง กลายเป็นบริหารปกครองที่เป็นสภา ให้เป็นความรู้ ความเห็นของคนส่วนใหญ่ จะดีกว่า ลักษณะของ ประชาธิปไตย ก็เกิดขึ้น พัฒนาเป็นลำดับๆ ขึ้นมาเป็นประชาธิปไตย ในระบบสภา แต่ก็ยัง สมบูรณาญาสิทธิราชอยู่ ก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง ทางสภา หรือ ผู้แทนประชาชน มีอำนาจมากขึ้น อำนาจประชาชน มากกว่ากษัตริย์ มากกว่าผู้เป็นเจ้า ขึ้นมาเรื่อยๆ ล้มล้างกษัตริย์ ไม่ให้กษัตริย์เป็นเจ้าใหญ่ก็เกิดขึ้นในบางประเทศ แล้วก็ตั้งคนนี่แหละ เป็นผู้บริหาร เป็นผู้นำ เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกฯ ลักษณะรัฐศาสตร์ ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

ทีนี้คนมันมีกิเลส ขึ้นไปเป็นใหญ่เป็นโต ก็มีอำนาจ สามารถที่จะโลภโมโทสัน ใช้อำนาจ เบ่งต่างๆ นานา ก็เกิดเป็นการกดขี่ กันขึ้นมาในสังคม จึงมีหลักวิธีเพื่อที่จะปรับปรุง ไม่ให้เอาเปรียบกัน แม้จะมีอำนาจ ก็ไม่ให้ใช้ อำนาจนั้น เพื่อที่จะไปข่มเหง รังแก ก็มีหลักเกณฑ์ ของรัฐศาสตร์ เพิ่มขึ้นมามากมาย

เรื่องของการปกครอง ก็คือ การจัดสรรกับกลุ่มหมู่สังคมมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะ ของธรรมชาติคน ๔ กลุ่มใหญ่ๆ คือ นักผลิต.... นักบริการ.... นักบริหาร....นักบวช อาตมา เคยอธิบายแล้ว แต่จะขยายความ ให้มันชัดขึ้นอีก

นักผลิตนี่ทุกคนจะต้องเริ่มหัดผลิตแล้วก็ถ่ายทอด จะผลิตก็ต้องมีคนช่วย เรียกว่านักบริการ หรือผู้รับใช้ เข้ามาช่วยเหลือ นักผลิต ก็จึงเป็นครู ที่สอนวิธีการทำให้แก่ผู้ช่วย ก็เกิดสภาพ สร้างสรร ขึ้นมา เป็นกลุ่มหมู่ มีผู้รู้ มีผู้นำ มีครูอาจารย์ มีหัวหน้า มีผู้รอง มีผู้ช่วย กันตามลำดับ สืบสานมา เรื่อยๆ จากผู้ผลิตก็ขึ้นไป เป็นผู้บริหาร สามารถเป็นเจ้าของ ทรัพย์สินสมบัติ ที่ได้สร้าง ผู้มาบริการ ก็รับใช้ก็ให้ส่วนแบ่ง ให้เงินเดือน ให้รายได้อะไร จนกระทั่ง ทำได้มากกว้างขวางขึ้นก็เป็นนักบริหาร มีกลุ่มหมู่ มีโรงงาน มีกิจการ กว้างขวาง ใหญ่โตขึ้นมา ผู้ผลิตก็ไม่ทำเอง ถ่ายทอดให้ผู้ที่รับช่วง ไปดูแลสืบสานทำกันต่อ เป็นหัวหน้า ขึ้นมาต่อ ผู้ผลิตก็เปลี่ยนหน้าที่ มาเป็นนักบริหาร จัดการ ควบคุม ปรับระบบขึ้นมา เป็นนักบริหาร ก็ถ่ายทอดการผลิต ให้แก่รุ่นต่อๆไป ในลักษณะของ โลกีย์ นักบริหาร ก็จะเป็นผู้ที่เป็นเจ้าข้าวเจ้าของขึ้นไปทดแทนนักผลิต มีทั้งสิทธิ มีทั้งอำนาจ มีทั้งทรัพย์สิน มากกว่าเขา ถ้าเป็นธุรกิจส่วนตัว ก็จัดการแบ่งให้คนนั้นคนนี้ จัดการแบ่งได้เอง แม้จะมีคณะ กรรมการ ก็มีสิทธิ์เสียงมาก สมัยนี้จะเป็นคน มีหุ้นมากกว่าเขา มีอำนาจ มากกว่าเขา สิทธิในการแสดงความเห็น ดีกว่าเขาหมด สามารถที่จะจัดการอะไร ได้เด็ดขาด หรือได้มาก

และในผู้เป็นนักบริการนั้นก็เรียนรู้การผลิตแล้วก็เรียนรู้การบริหารไปด้วย พัฒนาตนเองขึ้น จนได้ตำแหน่ง หน้าที่นักบริหาร ก็เป็นอีกทางหนึ่ง มีรายได้มากขึ้น หรือได้ค่าตัวสูงขึ้นไป หนักเข้าสมบัติต่างๆ ไปตกอยู่ที่ นักบริหาร นักผลิตก็ตกต่ำลงไปๆ นักบริการ หรือผู้ช่วยนั้นน่ะ เป็นคนชั้นรองอยู่แล้วโดยธรรมชาติ นักผลิตเป็นผู้นำมาแต่เดิม ก็กลายไปเป็นผู้รองอีก นักบริหาร กลายเป็น ผู้นำใหญ่ขึ้นมา ในโลกความจริง ของจริยธรรม ในวงการธุรกิจนักบริหาร ควรจะมีคุณธรรม มากที่สุด เพราะฉะนั้น ก็ต้องเรียนรู้ คุณธรรม กันมากขึ้นๆ นักบริหาร ก็เป็นคนที่ พัฒนาตนเองขึ้นไป เป็นเหมือนนักบวช หรือไปเป็นนักบวช เป็นคนที่ เสียสละ เป็นคนสร้างสรรมีน้ำใจ มีจิตวิญญาณไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มากขึ้นๆ ถ้านักบริหารที่ดี เป็นคนดี ก็เสียสละมาก เพราะฉะนั้น ก็เอาเปรียบน้อย แบ่งแจกให้ผู้ร่วมงานมากขึ้น เมื่อตัวเองมักน้อยเข้าๆ ปฏิบัติธรรม สูงขึ้นๆ มีระบบการปฏิบัติธรรม มีนักปราชญ์ นักบวช มีศาสดาอะไรขึ้นมา สร้างสรรระบบ การศาสนาขึ้นมา เมื่อเรียนรู้ศาสนาขึ้นมาก นักบริหาร ก็กลายไปเป็น นักบวช เบื่อหน่าย คลายโลกีย์ เห็นความจริงที่ลึกซึ้ง สะสมกอบโกย เอาเปรียบเอารัด ก็เท่านั้น ก็กลายไปเป็น นักบวชที่แท้จริง

เพราะฉะนั้นเป็นนักบริหารนี่จะเป็นคนมีความรู้ เป็นคนเข้าใจระบบของโลกของสังคม ของมนุษยชาติ สามารถที่จะรู้ การผลิต รู้การบริการ รู้การบริหาร รู้การเป็นอยู่ร่วมกัน รู้จักระบบ ระบอบสังคม เมื่อไปเป็น นักบวช ก็สามารถไปเป็น ที่ปรึกษาได้ เพราะว่า เป็นผู้ผ่านงาน จากนักผลิต นักบริการ นักบริหาร ขึ้นไปเป็น นักบวชที่มีความรู้ เรื่องสังคมมาก และเป็นความจริง

ในยุคต้นๆ มนุษย์เป็นแบบนี้จริงๆ ไม่ได้หลอกลวง ไปเป็นนักบวชก็เป็นนักบวชที่แท้ เป็น ผู้ไม่โลภโมโทสันแล้ว โลกียสุข แบบโลกีย์ๆก็ไม่เอา ไปเป็นนักบวช ก็เป็นโลกุตรบุคคล เป็นอาริยชนที่แท้ ได้รับการเคารพนับถือ กราบไหว้บูชา หรือเป็นที่ปรึกษา มันเกิดจาก ธรรมชาติอย่างนี้ ตอนหลังๆมานี่ นักบวชก็ไม่ใช่อาริยบุคคล กลายเป็นนักบวชโลกีย์ กันมากขึ้นๆ นักบวชก็เลย ไม่มีโลกวิทูจริง ไม่มีโลกุตรจิต ไม่มีโลกานุกัมปา จึงไม่ค่อยจริง กันมาเรื่อย แต่เป็นนักบวชก็มีคนมากราบไหว้ มีคนเอามาให้กิน ให้ใช้ ช่องทางมีกินมีใช้ ก็เพิ่มขึ้นมาในสังคม นักบวชจึงไม่ใช่ผู้แสวงหานิพพานมากขึ้นๆ สมัยนี้นักบวชที่จะมี "โลกวิทู" จริง ซึ่งเป็นผู้รู้แจ้ง ความเป็นสัตวโลก ความเป็นสังคมอาริยะแท้จริง ก็หายาก ที่มี"โลกุตรจิต" ซึ่งเป็นผู้มีจิต อยู่เหนือโลกธรรม อันเป็นหลักประกันได้ว่า ท่านไม่เป็นทาส โลกีย์จริง ก็หายาก หรือจะมี "โลกานุกัมปา" ซึ่งเป็นผู้มีใจเมตตา สรรพสัตว์แท้ พร้อมที่จะช่วยเหลือ เกื้อกูล มวลมนุษย์ ให้เป็นคนเจริญ ด้วยอาริยธรรมของพุทธ ช่วยสังคม ให้สงบสุขเย็นได้ ก็ยิ่งหายาก มีก็แต่ผู้ไม่บรรลุ โลกุตรธรรม จึงอธิบาย แนะนำธรรมที่เป็นอาริยะให้แก่สังคมไม่ได้ นักบวชส่วนมาก ก็กลายเป็นอาชีพ ชนิดหนึ่ง ที่บวชเพื่อได้โลกธรรม เลี้ยงชีพไปชาติหนึ่งๆ

แต่ผู้ที่เรียนรู้ตามระบบของการศาสนาที่มีการเรียนรู้ฝึกฝนปฏิบัติตนสูง ล้างกิเลส พัฒนาการขึ้นไป เป็นอาริยชน ได้จริงก็มี ก็เลยมีซับซ้อน

นักบริหารทุกคนที่เป็นฆราวาสก็อยากเป็นนักบริหารที่ขึ้นไปเป็นใหญ่เป็นโต ร่ำรวย มีตำแหน่ง ยศศักดิ์ แล้วก็ไป ทำการบริหาร รู้ว่าบริหารนี่เพื่อผู้อื่น เกื้อกูลได้ดีๆ มีความเฉลียวฉลาดสามารถ จัดแจงระงับ ความทะเลาะวิวาท หรือให้ความรู้ ในสิ่งที่ขัดข้อง อะไรได้ ก็พยายามเป็นคนชนิดนั้น นักบริหาร ไม่ต้องลงมือทำ ก็เลยกลายเป็น ระบบซับซ้อน คนก็อยากจะเรียนขึ้นไป เป็นนักบริหาร กันเร็วๆ เกิดการเล่าเรียน ศึกษาวิชาการทางลัด ไม่ต้องผ่านการผลิต ไม่ต้องผ่านการบริการ ไม่ต้องผ่าน การรับใช้ฝึกฝน เป็นลูกมือไปก่อน มีการเรียนรู้ไปเป็นนักบริหารเลย ซึ่งมีหลายทาง เป็นนักบริหาร ในทางใช้กำลัง นักบริหาร ในทางใช้อำนาจ นักบริหาร ในทางทำธุรกิจ นักบริหาร ในทางใช้ความรู้ สภาพของผู้ใช้กำลังก็คือลักษณะทหาร ผู้ใช้บริหาร กิจการอาชีพ ก็ไปทางธุรกิจ ผู้บริหารในทางความรู้ ก็ไปเป็นนักวิชาการ จึงเกิดสภาพพวกนี้ขึ้นมาในโลก สังคมก็ยอมรับกัน เกิดความรู้ เกิดศาสตร์ต่างๆ เกิดวิธีการเป็นอยู่ของมนุษย์ที่หลากหลาย

ในหมู่มนุษย์ก็ยังมีโลกุตระ มีความจริงของมนุษย์ที่มักน้อยสันโดษ ไม่ต้องมีมาก เป็นมนุษย์วรรณะ ๙ สุภระ(เลี้ยงง่าย)... สุโปสะ(บำรุงง่าย)... อัปปิจฉะ(มักน้อย)... สันตุฏฐิ(ใจพอ สันโดษ)... สัลเลขะ (ขัดเกลา)... ธูตะ(มีศีลเคร่ง)... ปาสาทิกะ (มีอาการที่น่าเลื่อมใส)... อปจยะ(ไม่สะสม)... วิริยารัมภะ (ยอดขยัน) พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้เป็นมนุษย์อาริยะ (The Classes) ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ทั่วไป (The Masses) ไม่ใช่คนปุถุชนสามัญ แต่เป็นคนหัวกะทิ เป็นคนชั้นสูง มีจำนวนน้อย เป็นคนมีคุณธรรม มีบุญจริง มีบารมีจริง เป็นคนที่ได้สั่งสม ความเป็นจริง ของสัจจะ ที่ตนเองฝึกฝน เรียนรู้ไปในจิตวิญญาณ เป็นคนมี ภูมิปัญญาธรรม รู้ว่า.... ชีวิตเรามันไม่ต้องเรื่องมาก ไม่ต้องไปมีมาก เป็นคนง่ายๆ กินง่าย อยู่ง่าย นั่งง่ายนอนง่าย ไม่ใช่มักง่ายนะ อย่างนี้เรียกว่า สุภระ

วรรณะ ๙ นี่ปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ไปตัดเอาส่วนใดส่วนหนึ่งมา เช่น คนยอดขยันข้อที่ ๙ วิริยารัมภะ ก็ต้องเป็นคนขยัน หมั่นเพียร ไม่ใช่มักง่าย ขยันฝึกให้เป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ.... ทั้งหมดในวรรณะ ๙ นั่นแหละ เป็นคนมีความรู้ ความสามารถ เป็นคนที่ฝึกฝน สร้างสรรขยันเพียร แต่ไม่เรื่องมากวุ่นวาย กินก็ยากอยู่ก็ยาก และเป็นคน เข้าใจจิตใจคน เข้าใจมนุษยชาติ เข้าใจความเป็น สัตวโลกทั้งที่เป็นปุถุชน ทั้งที่เป็นอาริยชน แต่ละระดับ มีน้ำใจ รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว รู้จักบริหาร มีความรู้ ความสามารถ แต่เป็นคน มักน้อยสันโดษ

เป็นคนบำรุงง่าย เฉลียวฉลาด เรียนรู้ได้ง่าย เจริญได้เร็ว ไม่ยึดไม่ถือมาก ไม่ติดศักดิ์ติดศรี เป็นคนอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนใส่ใจ ศึกษาฝึกฝน จนสามารถชำนาญ สามารถเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาได้ดี ได้ก้าวหน้าเร็ว บำรุงง่าย เรียกว่า สุโปสะ

เป็นคนกล้าจน หรือมักน้อยนั่นเอง กล้ามีน้อยๆหรือไม่ต้องมีเลยได้จริง รู้ว่าเราเอง ไม่ต้องไปยึดถือว่า เราต้องมี หัดสละออก จนไม่ต้องมี เป็นของตัวของตนเลย เป็นอนาคาริกชน (ผู้ไม่มีบ้านเรือน ทรัพย์สิน เป็นของตน)ได้แท้ สามารถฝึกฝนพิสูจน์ จนบรรลุความจริง นี่ก็ระบบเป็นวิธีการของมนุษย์ ที่ทำได้เป็น อาริยชนจริง เรียกว่า อัปปิจฉะ

และเป็นคนที่มาเรียนรู้ขัดเกลาตนเอง สัลเลขะ จนกิเลสลดได้จริง มีหลักเกณฑ์ละเอียด สูงขึ้นเป็น ธูตะ คือ อธิศีล เคร่งขึ้นๆได้ จนมีศีล ที่เคร่งได้สบายๆไม่ยากเลย จะพัฒนาตน ทั้งด้านจิตวิญญาณ และด้านกายภาพ จนเป็นคนที่มีอาการ ที่น่าเลื่อมใส ปาสาทิกะ มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อย่างน่าเลื่อมใส แล้วเป็นคน ไม่ต้องสะสม อปจยะ ไม่ต้องสะสม เป็นของตัวของตน มีระบบวิธี ในการบริหาร ระบบวิธีของสังคม เข้าใจสภาพ ของสังคมโลก ก็กลายเป็นผู้บริหาร หรือจะไปเป็น นักบวช ก็เป็นนักบวช ที่เป็นที่ปรึกษาเลย ได้รับความยอมรับ จะเรียนรู้ จะถ่ายทอด จะให้คำแนะนำ ใดๆได้ดี เป็นคนขยัน มันเกิดจากจิตวิญญาณ ที่เกิดปัญญา จากเจโตที่ไม่มีกิเลสเห็นแก่ตัว นั่นเอง

การบริหารปกครองหรือการเป็นอยู่ในฐานะมนุษย์ ๔ สภาพนี่ นักผลิต นักบริการ นักบริหาร นักบวช จริงๆแล้ว นักบวชคือ บุคคลสุดยอด เพราะได้สั่งสมบุญบารมีมาจริง พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า มนุษย์นี่มี "กรรมวิบาก" เป็นทรัพย์ เป็นสิ่งที่จะอุดหนุน จุนเจือ เป็นพลวปัจจัย ของชีวิต

พระพุทธเจ้าก็สั่งสมความรู้แต่ละชาติๆๆแล้วก็รวบรวมเป็นพระพุทธเจ้า คือ เจ้าความรู้ ทุกอย่าง ที่เหมาะสม กับมนุษย์ กับสังคม เพราะฉะนั้น เป็นพระพุทธเจ้าก็คือ นักรัฐศาสตร์ สุดยอด นักเศรษฐศาสตร์สุดยอด นักสังคมศาสตร์สุดยอด เพราะท่านสั่งสมมา ไม่รู้กี่ชาติ ต่อกี่ชาติๆ เป็นผู้บริหาร เป็นนักผลิต เป็นผู้บริการ เป็นนักบวช ฐานะ ๔ สภาพนี้ เรียนรู้ทุกอย่าง ชัดเจน ซ้ำซากเวียนวน ชาติแล้วชาติเล่า นับชาติไม่ถ้วน สั่งสมลงเป็น พลวปัจจัย ที่จริงทุกคนก็ผ่าน สิ่งเหล่านี้มา น้อยๆมากๆ ก็แล้วแต่ ซึ่งวิบากของแต่ละคน ก็เกิดการสังเคราะห์ขึ้นมา แล้วก็ให้เอามาใช้ในแต่ละชาติๆ อย่างได้สัดส่วน บริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ สัจจะไม่มีโกง สัจจะจัดสรรเอง เราไม่รู้ ไม่ใช่วิสัยที่จะหยั่งรู้หรือระลึกถึงได้ ท่านจึงปรามไว้ว่า อย่าพึงคิดเลย เรียกว่า อจินไตย

เราจึงควรทำสิ่งที่ดีไปทั้งนอกทั้งใน ไม่ว่าชีวิตนี้มันจะเกิดมาในฐานะไหน จะตกในฐานะ นักผลิต ก็ผลิตไปเถอะ ผลิตให้ดี มันก็สั่งสมวิบากกุศลได้ เป็นนักบริการ เป็นผู้ช่วย ให้ผู้นำสั่งการ หรือผู้นำ บอกให้ทำ เป็นผู้ทำตามที่ดีได้ มันเป็นกุศล เหมือนกัน ชำนาญเหมือนกัน เกิดการสร้างสรรที่ดี ได้เหมือนกัน นักผลิต ก็ตาม นักบริการก็ตาม ก็จะเรียนรู้ การบริหาร เรียนรู้การที่จะถ่ายทอด เรียนรู้ผิดถูก ในหลายวิชาการ ก็เข้าใจ ประสานสัมพันธ์กันอยู่ บางคนอยากจะเป็นนักผลิต อยากเป็น นักบริการ เป็นนักบริหาร เป็นนักบวช ต่างก็จะออกไปในทางเชิงที่ตนอยากตนชอบนั้นๆมาก ตามที่ตน ได้ประพฤติ พากเพียรสั่งสม แต่นั่นแหละ ไม่ว่าจะประพฤติตนอยู่ในฐานะใด ก็สามารถ จะสั่งสมบุญ สั่งสมธรรม ได้ด้วยทั้งนั้น ถึงขั้นอาริยธรรม หรือ โลกุตรธรรมก็ได้ ถ้าสัมมาทิฏฐิ

สรุปแล้วฝึกฝนเรียนรู้กันไปแต่ละชาติๆ คนเราเกิดในวัฏสงสารกันไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ย่อมสั่งสม ไปตามอำนาจ ของโลกธรรม ดีๆชั่วๆ ไปตามอำนาจกิเลส ตกต่ำบ้าง สูงขึ้นบ้าง แล้วก็ตกต่ำอีก สูงอีก ไม่เที่ยง อนิจจัง เป็นไปอย่างนั้นนานัปชาติ

ส่วนความเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่แท้ในความเป็นคนนั้น ก็สะสมได้ ไม่ว่าอยู่ในฐานะใด ทั้ง ๔ ฐานะ ซึ่งความมีคุณธรรม ขั้นโลกุตระ ก็เท่ากับสั่งสมความเป็นนักบวชยิ่งๆขึ้น ถ้ายิ่งเรียนรู้ฝึกฝน ไปแต่ละฐานะ ก็จะชำนาญ มีพรสวรรค์ ในแต่ละฐานะ ที่ได้สั่งสม และหากสั่งสม โลกุตรธรรมด้วย ก็จะยิ่งสูงส่งซับซ้อน เช่น ยิ่งเจริญทางโลกธรรม ก็ยิ่งจะละ โลกธรรม ได้เก่งขึ้นๆ ความเป็นโลกธรรม ก็ยิ่งจะเป็นบารมีสูงขึ้น มีมากขึ้น แต่เมื่อมีบารมีทางโลกุตรธรรมมากขึ้นๆ ก็ยิ่งจะไม่ติดไม่ยึด หรือ ไม่สะสม โลกธรรม ที่เป็นโลกียสมบัติ ได้เก่งขึ้นๆสบายง่ายขึ้นๆ เป็นนักผลิตได้เยี่ยมก็ไม่ใช้อำนาจ ในการผลิตไปล่า โลกธรรม เป็นนักบริการที่เยี่ยม ก็ไม่ใช้อำนาจ ในการบริการ ไปล่าโลกธรรม เป็นนักบริหารก็ยิ่งไม่ใช้อำนาจ ในการบริหาร ไปล่าโลกธรรม จึงจะเป็นคน ที่ยิ่งมีความร่ำรวย ก็จะไม่เอาความร่ำรวย มาสร้างบาป สร้างหนี้วิบาก เป็นคนมียศ มีอำนาจ ก็จะไม่เอายศ เอาอำนาจ มาสร้างบาป สร้างหนี้วิบาก ยิ่งเป็นนักบริหาร ก็ยิ่งจะเสียสละ สร้างสรรได้ยิ่งๆขึ้น จะมีความซับซ้อน เป็นปฏิสัมพัทธ์ สูงสลับยิ่งๆขึ้น เช่น คนที่มีบารมี อยากจะเป็นนักผลิตก็ผลิตได้มาก แต่ไม่เอามาเป็น ของตัวของตน อัปปิจฉะ มักน้อยได้ ก็ยิ่งสร้างสรร ได้มาก ให้คนอื่นไปได้มากๆ เอาไว้ได้น้อยเท่าไร ก็ยิ่งเป็นคน มักน้อย เท่านั้น เป็นคนกล้าจน ยิ่งเป็นคนจะเกิดมา ผลิตได้มาก ทับทวีขึ้นๆ และจะยิ่ง เสียสละ สร้างสรร ได้มากยิ่งๆขึ้น เป็นต้น

ความมักน้อยนี้ แม้แต่เรื่องกินอาหาร สุดท้ายเมื่อสันโดษสุดได้แล้ว ก็จะรู้ตัวว่าน้อยสุดแล้ว ต้องอาศัยเท่านี้ น้อยกว่านี้ มันไม่พอเหมาะ พลังงานร่างกายการใช้สอยไม่พอดี มันน้อยไป เราจะรู้ พระพุทธเจ้าก็เคยตรัส สาวกบางรูป ก็ฉันมากกว่าเรา บางรูป ฉันน้อยกว่าเรา เพราะฉะนั้น ไม่เท่ากัน ของใครของใคร กินน้อย ใช้น้อย ไม่เท่ากัน ความพอเหมาะพอดี ไม่เท่ากัน อย่าไปเพ่งโทษกัน ความซับซ้อนลึกซึ้งพวกนี้ยังมีอีกมาก

อาตมาบวชใหม่ๆ เคยมักน้อยแบบเว่อร์อยู่อย่างหนึ่ง คือ ฉันอาหาร ๒ วันฉันหนหนึ่ง ก็เลยต้อง บิณฑบาต ๒ วันบิณฑบาตที ชาวบ้านเขาบอกว่าจำวันที่จะใส่บาตรไม่ได้ ไม่รู้จะจำวันอังคาร วันพุธ อย่างไร มันสลับกัน อาทิตย์หนึ่ง มันมี ๗ วัน ใช่ไหม มันก็สลับกันไป เลื่อนไปเรื่อย ไม่รู้จะไปจำ วันไหน อาตมาฉัน ๒ วันทีหนึ่ง ก็ไปบิณฑบาต วันเว้นวัน ชาวบ้านเขาจำวัน เตรียมมังสวิรัติ ใส่บาตรไม่ได้ มันสลับสับสน เลยเป็นความลำบาก อาตมาก็เลยต้องหยุด ก็อย่างว่า.. อย่าเก่งกว่า พระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้า ยังฉัน วันละมื้อ แหม... .เราจะเก่งกว่าพระพุทธเจ้าฉัน ๒ วันมื้อ จะมักน้อยว่างั้นเถอะ แต่มันเว่อร์ เลยเลิก

เมื่อปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ละคนก็มีบารมีมาเดิม เป็นนักผลิตก็ผลิตได้ดี มีสมรรถนะดี มีบุคลิกดี มีธรรมะที่ดี ก็คือ จะเป็นนักผลิตที่ดี เป็นนักบริการที่ดี เป็นนักบริหารที่ดี และเป็นนักบวช ที่ดีได้ เป็นนักผลิต แต่ก็มีบุคลิก เป็นนักบริหารในตัว หรือ มีความไม่มักมากมักใหญ่ เป็นนักบริหาร ก็เป็นคน ถ่อมตน ไม่เบ่งไม่ข่ม แต่ก็เก่งบริหารได้ หรือเป็นนักบริการที่ได้สั่งสมบุญ มาจนมีบารมี ครั้นในชาติต่อๆมา ก็จะยิ่งเจริญ จะให้ไปทำหน้าที่บริหารก็ทำได้ดี ทำหน้าที่ผลิตก็ผลิตเก่ง แต่พฤติกรรม ก็จะมักน้อย ถ่อมตัว สันโดษ แต่ไม่ใช่คนขี้เกียจ ไม่ใช่คนไม่สร้างสรร

สันโดษของพุทธนี่ จะเป็นคนขยัน สร้างสรร อุตสาหะ แต่เป็นคนถ่อมตน เป็นคนเสียสละ จริงๆ ทำตนเองให้มีน้อย ก็อดได้ ทนได้ อยู่ได้ ไม่เป็นคนเรื่องมาก สงบเสงี่ยม เอาหลักธรรมของ พระพุทธเจ้าต่างๆ กถาวัตถุ ๑๐ ก็ได้ วรรณะ ๙ ก็ได้ หรือจะเอาหลัก ตรวจสอบธรรมวินัย โคตมีสูตร ก็ได้ มาวัดก็คล้ายกัน จะสอดคล้อง ตรงตามธรรม ของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น

เราได้เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาพิสูจน์ แล้วคนอย่างพวกเรานี่ เป็นคนที่มีบารมีบ้าง มาแล้ว คนที่ไม่มี บารมีจริงๆ มาอยู่กับพวกเรายาก อาตมาพาทำงานในระดับสูง มาหาต่ำ ไม่ใช่ทำงาน ระดับต่ำไปหาสูง ไม่ใช่เริ่มต้นเรียน ก.ไก่ อาตมาทำระบบสังคม ชนิดสูงมาหาต่ำ อาตมาสร้าง นักบวชก่อน ได้นักบวชแล้ว ก็สร้างฆราวาส ที่จะเป็นนักบริหาร มีคุณธรรมมากๆ แล้วก็ค่อยมาเป็น นักผลิต นักบริการ ทีหลัง แล้วก็ค่อยๆ ขยาย

เพราะฉะนั้นเราจะเป็นนักผลิตก็ตาม นักบริการก็ตาม หรือเป็นนักบริหารก็ตาม เสมอภาคหมดแหละ ในด้าน คุณงามความดี เขาให้เป็นนักบริการ ก็เป็นนักบริการที่ดี ไม่ต้องเรื่องมาก นักบริหาร ก็ทำหน้าที่ บริหาร นักบริการก็ช่วย อย่างรู้หน้าที่ เช่น ตอนนี้ องค์นี้เป็นสมภาร องค์นี้เป็นรองสมภาร ต่อมาก็ให้สมภาร ไปเป็นรองสมภาร ให้รองสมภาร ขึ้นไปทำหน้าที่ สมภารบ้าง สมภารทำหน้าที่ รองสมภาร ก็ไม่ประหลาด อะไร ก็ทำงานช่วยกันไป ฝึกฝนตนเอง อย่าไปข่มไปเหลื่อมล้ำ อะไรกัน เป็นต้น อาศัยงาน เป็นการปฏิบัติธรรม มันก็สงบเรียบร้อยสามัคคีดี ต่อให้เราเก่งเราก็มาฝึก เป็นคนรับใช้ ลดอัตตามานะ ฝึกให้เป็น หรือจะเป็นนักผลิต นักสร้างก็ได้ ทำให้มันถูกหน้าที่ ทำงานให้ดีเจริญยิ่งๆขึ้น ที่สำคัญคือ ทุกอิริยาบถทุกงานนั้น ผู้สัมมาทิฏฐิ ก็จะปฏิบัติธรรม เข้าถึงปรมัตถธรรมไปพร้อมทุกสัมผัส ที่เกิดอยู่ ในขณะทำงานทุกอิริยาบถทีเดียว

คนที่เข้าใจแล้ว มีความรู้ความสามารถ เป็นคนพัฒนา เป็นคนเจริญที่แท้จริงแล้ว เป็นอาริยชน เมื่ออยู่รวมกัน ทุกคนทำหน้าที่ อะไรก็ได้ ทำงานเป็นคนรับใช้ก็ได้ ให้เป็นคนผลิตให้เป็นนักบริการ หรือให้เป็น นักบริหารก็ได้ นั่นคือคนมีเลือดนักบวช มีความเป็น "นักบวช" ในวิญญาณ มีคุณธรรมเป็น แกนหลักของชีวิต

ในโลกจะต้องมีของจริงที่เป็น"นักบวช"จริงๆ ซึ่งจะเป็นตัวอย่าง เป็นรูปแบบ มีรูปธรรม ยืนยัน พุทธธรรม คนผู้มีอาริยธรรมจริง จึงผลิตก็เป็น รับใช้ก็เป็น บริหารก็เป็น ไปเป็น นักบวชก็แนะนำ หรือเป็นที่ปรึกษาได้ดี เพราะมีคุณธรรม ที่เป็นโลกุตรธรรม เป็นอาริยะแท้

เพียงแต่ว่าแต่ละคน ใครจะมีบารมีด้านไหนมาก ด้านไหนน้อย ต่างกันไป กล่าวคือ ใครจะสั่งสม อุปนิสัย ด้านการผลิต การบริการ การบริหาร ถ้าใครได้สั่งสมอุปนิสัย จนเป็นบารมี ก็จะแสดง ออกตามบารมี ที่ตนมีนั้นๆ คนที่มีบารมีมากด้านไหน ก็ทำด้านนั้น ได้ดีกว่า ด้านที่ตนมีบารมีน้อย ก็เท่านั้นเอง

ในการเป็นชุมชน เป็นสังคม หากมีคุณธรรมเนื้อแท้ของมนุษย์ในสังคม ดีแท้สูงแท้แล้ว ลักษณะ สูงสุด ของการปกครองบริหาร คือ การปกครอง โดยไม่ต้องปกครอง การบริหาร โดยไม่ต้องบริหาร ทุกคนเข้าใจหน้าที่ แม้จะไปรับหน้าที่ชั่วคราว ก็รู้ตัว รับหน้าที่ กึ่งชั่วคราว ก็รู้ตัว รับหน้าที่ถาวรก็รู้ตัว เราจะเข้าใจสภาพพวกนี้หมดเลย ทั้งกาละ เทศะ ฐานะ กาละ ก็รู้ว่าระยะเวลา เทศะก็สถานที่ ฐานะ คือตัวเราอยู่ในฐานะอะไร มีความดีอะไร ไม่ดีอะไร สามารถอะไร เท่าไหร่ กาละถาวร หรือกึ่งถาวร หรือ ชั่วคราว อย่างนี้เป็นต้น

ตอนนี้คำว่าชุมชนอโศกนี่มันขึ้นมาเป็นรูปแบบอันหนึ่งของสังคม โดยทางรัฐนี่พอรับได้แล้ว มันไม่ได้อยู่ เป็นชุมชน เดียวกัน มีหลายชุมชน แต่ก็เป็นรูปร่างลักษณะเดียวกัน เขาก็จะดู แต่เขา ก็ไม่มีสิทธิ์ ที่จะเข้ามาวุ่นวายมากนัก เรามีอิสระเสรีเต็มที่ แต่ก่อน เรายังไม่เชื่อมกับ ข้างนอก ตอนนี้เราอยู่ในฐานะ จะเชื่อมบ้างแล้ว เพราะมันจะต้องเชื่อมโยง เข้าไปหาส่วนใหญ่ ของสังคม แน่นอน นั่นมันเป็นลักษณะ การเจริญก้าวหน้าของสังคม ที่จะต้องเป็นไป

อาตมาว่า....นวัตกรรมอโศก หรือสังคมกลุ่มของอโศกนี่ จะเป็นกลุ่มที่ต้องรับหน้าที่ สร้างตัวอย่าง สังคมมนุษยชาติขึ้นมา เป็นสิ่งแปลกสิ่งใหม่ มาถึงวันนี้เขาก็รู้สึก จะชินขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังยึด ภาพพจน์เก่าๆ อยู่ก็ยังมีไม่น้อย อโศกเรอะ.... รู้แล้วล่ะ มันก็บ้าๆบอๆบ้าง อะไรอย่างนี้ก็ยังมี แต่มันก็ดูดีขึ้นนะ ได้แค่นี้ ขนาดนี้ จนกว่า เขาจะบอกว่า อโศกเรอะ โอ้โฮ!.... ถ้าถึงขั้นนี้แล้ว ระวังจะผยอง หลงตัว ตอนนี้เขายังขนาดนี้ ก็ดีแล้ว เราต้องเจียมตัว แล้วสร้างสรรให้มันได้เนื้อหา


เพื่อแม่....แพ้บ่ได้
๑๑ ส.ค. ๔๖ ที่สีมาอโศก มีรายการเอื้อไออุ่นในช่วงค่ำ ที่ศาลายังมีรูปรอย ของการจัด งานวันแม่ ที่ชาวสีมาอโศก จัดนำมาก่อน ข้อความเก๋ๆ ที่ฉากเวที....เพื่อแม่....แพ้บ่ได้ แถมด้วยสีสัน ประดับ ประดาโดยรอบ ที่กลางศาลา มีรูปหัวใจสีชมพู ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง เกือบๆ ๓ เมตร โดยเชื่อมเหล็กเป็นโครง แล้วใช้ลูกโป่ง รูปหัวใจสีชมพูล้วน ผูกมัดโดยรอบ เป็นรูปหัวใจ จากคำถาม บางส่วน ที่น่าสนใจดังนี้.....

ถาม : บางครั้งเรารับงานเยอะและมีหลายงาน จิตหาปีติไม่ได้ เพ่งโทษคนอื่น ก็มาคิดได้ว่า ทุกอย่างคงไม่ได้ดั่งใจเราคิด ขณะเกิดเหตุการณ์ ตามจิตไม่ทัน ควรปรับจิตอย่างไร ให้ทันเหตุการณ์
พ่อท่าน : ฝึก ฝึก ไม่มีอื่น อาเสวนา ภาวนา พหุลีกัมมัง นั่นคือหลักเกณฑ์ ส่วนวิธีปฏิบัติ ให้ตามจิตทัน ตามกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเราให้ทัน พอมีผัสสะแล้ว ที่อาตมา พาปฏิบัติ มาแล้วเนี่ย มันเป็นอยู่แล้ว เป็นแต่เพียง มันยังไม่ชำนาญ เราก็ต้องฝึก ฝึกจริงๆ แล้วค่อยๆรู้ทัน รู้เร็วขึ้น มันกระทบปั๊บ แหม....นี่มันเกิดแล้วนะ จิตใจเราก็ห้ามทัน พิจารณา จะเอามาก เอาน้อย สามารถคุมได้ จิตของเราก็จะมีวสี มีอำนาจ แคล่วคล่อง เก่ง มีทักษะ มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดมุทุภูเต กัมมนิเย ฐิเต อาเนญชัปปัตเต เป็นคุณภาพ ของฌานจิตลืมตา ในขณะที่มีชีวิตธรรมดานี่แหละ กระทบอะไรแล้ว พิจารณาสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ อยู่เนี่ย แล้วจิตของเราจะขัดเกลา เป็นฌานจิต ฌานนี่เป็น ฌานพุทธนะ ไม่ใช่ฌานแบบไปนั่งหลับตาตัดทวาร ๕ ข้างนอก มีแต่ฌาน อยู่ในภวังค์ แต่นี่เป็นฌานที่มีคุณสมบัติพิเศษ อยู่ในสภาพคนลืมตาทำงานทำการปกติธรรมดา ที่มีมุทุภูเต กัมมนิเย ฐิเต อาเนญชัปปัตเต คือมี มุทุภูต....จิตแววไวรู้ได้เร็วไวและดัดง่าย เป็นจิตหัวอ่อน มุทุภูเต อาตมาแปลว่า จิตหัวอ่อน ท่านธรรมปิฎก แปลว่าจิตนิ่มนวล สมเด็จพระเทพฯ ทรงแปลว่า จิตนิ่ม มุทุ นี่มีความหมายว่า อ่อน กัมมนิย คือ การกระทำ การงาน ที่ได้รับการกำหนดจัดสรรด้วยจิตที่เป็นฌาน จิตหรือมโนที่เป็นประธาน กายวาจาใจ ก็จะควบคุมกรรม ทั้งมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ทั้งที่ทำอาชีพ การงาน อยู่ในชีวิตมนุษย์ ตามที่ได้ปฏิบัติ มรรคองค์ ๘ จนเป็นฌาน นั่นแหละ เมื่อสั่งสมคุณภาพ คุณธรรม ที่ได้ลงไป มากเข้าๆ ผลจิตนั้นๆ ก็จะตั้งมั่น คือ ฐิเต ซึ่งแปลว่า ตั้งมั่น และ จะไม่หวั่นไหว คือ อาเนญชา แม้จะถูกกระทบสัมผัส กับโลกธรรม หรือโลกีย์ ที่ตนตัดกิเลสนั้นๆ ได้ด้วยฌานจนเป็นอัปปนาสมาธิ ดังที่พระพุทธเจ้า ทรงยืนยันไว้ว่า แม้จะสัมผัส กับโลกธรรมอย่างไร จิตก็ไม่หวั่นไหวเด็ดขาด ผุฏฐัสสะ โลกธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ น กัมปติ

จิตของเราจะเกิดมุทุธาตุ ซึ่งเหมือนกับอีเลคตรอน ฐานจิตที่แข็งแรงตั้งมั่นฐิตะ ก็เหมือนกับ โปรตรอน แล้วก็มีอีเลคตรอน วิ่งรอบ ยิ่งตั้งมั่นมาก ก็ยิ่งวิ่งรอบเร็วขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าฐิตจิตนี่คือ โปรตรอน มันแข็งแรงเท่าไหร่ อีเลคตรอนก็ยิ่งจะวิ่ง ได้เร็วมาก ไวมากยิ่งๆขึ้น ใช่มั้ย ดังนั้น ฌานและ สมาธิของพุทธนั้น ฌานยิ่งสูงสมาธิยิ่งแข็งแรงตั้งมั่น จิตก็ยิ่งจะทำงานเป็น กัมมนิย กัมมัญญา คือ กรรมทั้งหลายการงานทั้งปวง ก็จะเหมาะ จะควรดีทั้งนั้น

นี่ถามมาว่า ทำยังไงมันจะคล่องแคล่ว เมื่อสัมมาทิฏฐิแล้วก็ฝึกฝน ต้องฝึกเท่านั้นแหละ ไม่มีอื่น อาเสวนา ภาวนา พหุลีกัมมัง ฝึกแล้วจิตวิญญาณ มันจะชำนาญ จะเกิดวสี ข้อสำคัญก็คือ ต้องสัมมาทิฏฐิก่อนให้ได้ ถ้ายังมิจฉาทิฏฐิอยู่ ยิ่งฝึกฝนหนัก ก็ยิ่งออกนอกทาง ไปไกลยิ่งไกลไปใหญ่

ถาม : ทำไมพ่อท่านไม่เร่งสร้างอรหันต์ ๙ รูป คือทำบรรยากาศเหมือนกับ แดนอโศก มาเคี่ยววงในครับ
พ่อท่าน : นี่แหละกำลังเคี่ยววงใน อย่างแดนอโศกนั่นกำลังเริ่มคัด ก.ไก่ แต่นี่เราผสมคำ เป็นแล้ว กำลังทำประโยชน์เอามาใช้งาน

ถาม : แต่ทุกวันนี้อโศกเรากำลังขยายงานกว้างไปเรื่อยๆเหมือนกำลังสร้างประชากรสร้างพลเมือง
พ่อท่าน : ถึงได้บอกกันไง เตือนกันอยู่ตลอดเวลา ถามจริงๆเถอะในพวกเรา ใช้ประสิทธิภาพ หรือว่าสมรรถนะ ความขยัน เต็มที่หรือยัง (....ยัง ) ก็ยัง แล้วจะมานั่งท้อ อยู่ทำไม

ถ้าไม่มีงานพวกนี้ รับรองพวกเราจะเป็นฤาษีมากกว่านี้ จะติดภพมากกว่านี้ จริงๆคุณเอง คุณก็รับ เมื่อกี้นี้ ภพฤาษี แตกหมดเลย ทุกคน ก็อยากจะมาเป็นฤาษี นั่นแหละมันผิดทางไง อย่าไปกวน อาฬารดาบส อุทกดาบสเขาเลย อย่าไปกวนแกเลย ปล่อยแกเถอะ

ถาม : ก็คิดว่าพ่อท่านเร่งสร้างแม่ทัพ ๙ รูปขึ้นมานี่ครับ พอพ่อท่านไม่อยู่ ๙ รูป จะได้ช่วยงานต่อไป
พ่อท่าน : ก็เร่งอยู่นี่ไง ก็ทั้งสอนทั้งแนะนำ ทั้งพาทำ อยู่นี่แหละ ไม่ใช่มานั่งคิด ไม่ใช่มานั่งเดิน เยื่องเชื่องๆ อย่างนี้แหละ กำลังพัฒนา นี้แหละ กำลังได้มีบทฝึกหัด อยู่ตลอดเวลา พิสูจน์ตรงนี้ ถ้าเผื่อว่างานมันเกินแล้ว ไปไม่ไหวแล้ว ผลก็คือ อัตราการก้าวหน้า จะไม่มี ความวุ่นวายในหมู่ ก็จะมาก ประโยชน์ไม่ก้าว จะเกิดความเสื่อม ทั้งตนและท่าน แต่นี่ประโยชน์ตน ในหมู่พวกเราก็ดูดีขึ้น ขยันขึ้น พัฒนาขึ้น ทำไม่เป็นก็เป็น เมื่อกี้ก็พูด พวกสีมาฯพูดไม่ค่อยเป็นหรอก แต่เกษตรกรของ ธ.ก.ส. มาแล้วแย่งกันพูด นี่เห็นไหม แย่งกันทำงาน แย่งกันต้อนรับ นี่แหละคือการเร่งรัดพัฒนา มีบทฝึกหัด มีสิ่งที่ต้องกระทำ ต้องรับผิดชอบ ต้องพากเพียร ต้องมีวิริยารัมภะ ถ้าเช่นนั้น ไม่มีเหตุปัจจัยเหล่านี้

ถาม : ฟังญาติธรรมเก่าๆจะพูดถึงแดนอโศกไว้เยอะว่าจะดีกว่ายุคนี้
พ่อท่าน : อันนั้นเริ่มต้น ก.ไก่ ยังเป็นฤาษี อาตมาพาเริ่มต้นเหมือนกับพาคัด ก.ไก่ เอ้าคัด ก.ไก่ เดินก็ช้า ย่างก็ช้า กินช้า เหมือนกับ นักเรียนนายร้อย พอเริ่มต้นเดินฉาก กินข้าวก็กินฉาก อย่างนี้มันเป็นเรื่อง ก.ไก่ คุณต้องรู้ภาวะในการพัฒนา ไม่เช่นนั้น เราไม่รู้วาระเวลา ที่ควรจะพัฒนา เราก็จะอยู่กับที่ ไม่ก้าวหน้าไปไหนได้ ถ้าอยากจะเดินช้าๆ ก็ไปเดินที่ภูผาฟ้าน้ำ เขาพาเดินช้า ทุกวันนี้เขาก็ทำ แต่นี่ทางภูผาฟ้าน้ำหาเรื่องเอง อาตมา ก็ดันไว้อยู่เนี่ย อยากจะสร้างโรงเรียน อยากจะสร้างนั่น สร้างนี่ โธ่....อย่าเพิ่งเลย เนี่ยพยายามให้หยุด จะทำคอร์สนั่นคอร์สนี่ อาตมาก็ให้เพลาๆไว้อยู่นี่ ไม่เช่นนั้น มันจะไม่มีแหล่งเลย อาตมาจะให้ แหล่งใดแหล่งหนึ่ง ที่เหมือนกับจะเป็นอย่าง แดนอโศกบ้าง เพราะเป็นที่เริ่มต้น ไม่เช่นนั้นไม่มีขั้นตอน

ถาม : เราตั้งใจทำงานและทำไม่หยุด มีความรู้สึกว่าเราอยู่ในฐานศีล ๕ น่ะค่ะ แล้วบางเรื่อง เราทำเกิน ฐานเรา แต่เราไต่ขึ้นสู่ ฐานสูงไม่ได้ เลยสงสัยว่าสิ่งที่เราทำอยู่เนี่ย มันคือโลกียะ หรือ โลกุตระคะ ?
พ่อท่าน : ศีล ๕ ก็เป็นโลกุตระได้ ศีล ๘ ก็เป็นโลกุตระได้ ไม่ได้หมายความว่าโลกียะคือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ โลกุตระ ต้องศีลเกินกว่านี้ ไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้น พวกที่บวชพระ ซึ่งต้องถือศีล เกิน ๑๐ ก็เป็น โลกุตระ กันหมดแล้วน่ะสิ ทุกวันนี้ พระส่วนใหญ่น่ะ อย่าว่าแต่ศีล ๒๒๗ เลย ไม่ต้องถึง ๒๒๗ หรอก แม้แต่ศีล ๕ จะปฏิบัติให้เป็นกุศลโลกีย์อย่างไร และ ปฏิบัติให้เป็น กุศลโลกุตระอย่างไร หรือจริงๆ ก็คือ ยังไม่เข้าใจว่า โลกียะกับโลกุตระ ต่างกันตรงไหน อย่างไร นั่นเอง

โลกียะกับโลกุตระไม่ใช่หมายเอาที่การถือศีลต่ำหรือสูงเท่านั้น ความเป็นโลกุตระน่ะ หมายความว่า เราปฏิบัติแล้ว เราอ่านใจเราเป็น และเราลดกิเลสได้ จะถือศีลกี่ข้อ ก็สามารถ ลดกิเลสได้ เป็นกุศลโลกุตระ ส่วนเราทำกุศลโลกียะ นั่นคือ สร้างสรร ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ที่เป็นคุณงาม ความดี ทางสมมุติสัจจะ ยังไม่ถึงขั้น ปรมัตถสัจจะ ชัดๆก็คือ ยังไม่สามารถ รู้จักกิเลสในจิต และทำให้กิเลสลดละจางคลาย หรือ ดับลงได้ ดังนั้น ศีลข้อเดียวก็เป็นโลกุตระได้ ถ้าปฏิบัติเป็น ขัดเกลากิเลสได้ ราคะขัดเกลา ลงไปได้บ้าง โทสะขัดเกลา ลงไปได้บ้าง กามในระดับศีล ๕ กามในระดับศีล ๘ ก็ลดกิเลสกาม ศีลข้อ ๓ เหมือนกัน แต่หยาบละเอียด มากน้อยต่างกัน เป็นต้น

กุศลโลกุตระคือ ผู้นั้นลดกิเลสอย่างถูกตัวตนของกิเลสได้จริง บรรลุโลกุตระนั้น เช่น มีคนพูดไม่ดี ว่าเรา แหม.... มันจะโกรธ มันจะเคือง มันจะพยาบาท เกิดกิเลสขึ้นมา เราก็รู้ทันนั้นๆ และเรา ก็ลดกิเลสนั้นได้ อย่างนี้เป็นกุศลโลกุตระ นี่คือ ปรมัตถประโยชน์ สูงกว่าโลกียะประโยชน์

ถาม : ทีนี้เราทำงานนี่น่ะค่ะ มันจะจับกิเลสดูใจไม่ทัน....
พ่อท่าน : นั่นแหละ ต้องให้มันทันสิ! พยายามให้ทัน มันจะไม่ทันบ้าง หลุดบ้างก็หลุด แต่ว่า พยายามเรียนรู้ และฝึกให้มันทัน ให้มันอ่านออก ฟังเข้าใจไหม จะศีลเท่าไรก็ไม่มีปัญหา แต่ศีล พื้นฐาน ของเราก็คือ กรอบของมาตรฐานสากล อย่างต่ำ ก็ศีล ๕ ไม่ละเมิดกันนะ มีหลักเกณฑ์ อย่างนี้ มีความหมายไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดผัวเขาเมียใคร ไม่พูดปด ไม่ดื่มน้ำเมา ก็เอาแค่ความหมาย ตามที่เราตั้งใจ กำหนดขอบเขตหมายเอาเท่าที่เรากำหนด จะทำแค่นั้นๆ ให้ได้ก่อน

ถาม : การที่ไปนั่งขายของอยู่นี่เป็นโลกียะหรือเปล่าครับ

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๕ ตุลาคม ๒๕๔๖ -