สรุปงานปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ'๔๗
(ครั้งที่ ๒๘ ระหว่างวันอาทิตย์ที่ ๔ เมษายน - วันเสาร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๗)


ก่อนงานปลุกเสกฯ มีการเข้าค่ายเตรียมงานและเรียนแบบบูรณาการของนักเรียนสัมมาสิกขา ชั้น ม.๒ รวม ๑๓๓ คน ระหว่างวันที่ ๒๙ มี.ค.-๒ เม.ย. ๒๕๔๗ หลังจากจบค่ายแล้วก็อยู่ช่วย จนจบงาน นอกจากนี้ในวันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๔๗ มีการสัมมนาคุรุชาวอโศก ส่วนวันที่ ๒ เม.ย. เป็นการเปิด ร้านหนึ่งน้ำใจ เป็นวันแรก ซึ่งเป็นร้านค้าบุญนิยม ที่ใหญ่ที่สุด พ่อท่านได้มาเทศน์ เปิดร้านในครั้งนี้ด้วย ช่วงเย็น ๑๖.๐๐ น. พ่อท่านได้เมตตามาให้โอวาท และ ตอบปัญหา ให้กับคุรุ เรื่องแนวทางการศึกษาบุญนิยม

ช่วงก่อนงานปลุกเสกฯ ๒-๓ วัน อากาศร้อนพอสมควร แต่บางช่วงท้องฟ้าก็มืดครึ้ม มีลม และฝนตกลงมา ทำให้อากาศร้อนลดลงบ้าง เพราะมีไอแห่งความชุ่มชื้นจากฝน วันที่ ๓ เม.ย. ญาติธรรมจากหลายจังหวัด ก็เริ่มทยอยกันมามากขึ้น ช่วงเย็นของวันนี้ที่ลานเวทีธรรมชาติ มีการฉาย เบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "ฝากฟ้าแด่ดิน" ได้เห็นแล้วก็รู้สึกว่า ไม่ใช่ง่ายเลย ในการสร้างภาพยนตร์ กว่าจะได้แต่ละฉาก และต่อด้วย ภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ซึ่งสื่อถึง ยุคสมัย ที่เปลี่ยนไป แต่ก็มีผู้รักษาศิลปะดนตรีไว้ ด้วยใจรักในดนตรี ระนาดเอก เป็นสิ่งที่บ่งบอก ค่าของความเป็นเอกลักษณ์ของไทยอย่างหนึ่ง

เหตุการณ์ต่างๆในงาน

*** วันอาทิตย์ที่ ๔
๐๙.๐๐ น. พ่อท่านเทศน์เปิดงานปลุกเสกฯ โดยปรามพวกเรา ตอนนี้ข้างนอกเขามีกระแส ตอบรับ พวกเราเพิ่มขึ้น แต่พวกเราพัฒนาคุณภาพของเราได้ระดับหนึ่ง และปริมาณของเรา ก็เพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง ฉะนั้นจึงประกาศ ณ ที่นี้ว่า ใครที่ยังละล้าละลัง หรือปลดปลงโลกียะ ได้แล้ว ไม่มีวิบากอะไรมากมาย มัวแต่เอาใจกิเลสอยู่นั่นแหละ เพราะข้างนอกมีโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอุบัติเหตุ ปี'๔๕ สองชั่วโมงตาย ๓ คน ปีหนึ่งก็เป็นแสน มีอย่างหนึ่ง ที่พ่อท่าน บอกไว้คือ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ดินเพิ่มเพื่อเอามาตั้งชุมชนที่มีคนร่วมกันไม่กี่คน หยุดเสีย ระวังอัตตาโต จนถึงเวลา ๑๐.๓๐ น. จึงนำปฏิญาณตน จากนั้นผู้ว่าฯ จังหวัด ศรีสะเกษ นายถนอม ส่งเสริม มาเยี่ยม และได้กล่าวพูดคุยกับพวกเรา เรื่องการพัฒนาศักยภาพ ของคน โดยเน้นเรื่องกสิกรรม เรื่องปากเรื่องท้อง ของประชาชน และการสร้างเครือข่าย ที่จะช่วย ชาวบ้าน

ภาคบ่าย ๑๔.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. ปฐมนิเทศ
อุ่นเครื่องวันแรก คนเข้าศาลาบางตา ฝ่ายชายน้อยมาก เทียบง่ายๆว่าฝ่ายหญิงนั่ง ๕ เสาศาลา ฝ่ายชาย มีแค่ ๑ เสาศาลา อากาศก็แค่ร้อนนิดๆ ไม่ถึงกับอบอ้าวเหงื่อตก

ปฐมนิเทศคราวนี้ ภายใต้เนื้อหาที่ว่า "จะปลุกเสกอย่างไร ให้สุขภาพกายสุขภาพจิตแข็งแรง" แน่นอนว่า ปฏิบัติกรมาจากบรรดาหมอทั้งหลาย ได้แก่ นพ.วีระพงษ์, ทญ.ฟ้ารัก, หมอก้อง (ไฟเพชร), คุณขาว (พรเพ็ญ) สมณะได้แก่ สมณะกลางดิน โสรัจโจ สมณะมหาเถระที่แข็งแรง ที่สุด ดำเนินรายการโดยสมณะเดินดิน ติกขวีโร แม้จะเป็นช่วงบ่ายหลังอาหาร แต่เนื่องจาก เป็นเรื่องใกล้ตัว ผู้ฟังจึงดูตั้งอกตั้งใจ ได้ทั้งสาระ และความรื่นเริง บันเทิงธรรม


ภาคเย็น ๑๘.๐๐ - ๒๐.๐๐ น.

แดดร่มลมตก เสียงธรรมคีตะดังขึ้น ถึงเวลาสมณะกล้าจริง ตถภาโว นำเข้าสู่รายการ "ผู้นำสัจธรรมชีวิต" โดยนำตัวแทนจากศูนย์อบรมต่างๆ มาบอกเล่ากิจกรรมที่ทำมา มีทั้งชาวบ้าน ธรรมดา ผู้ใหญ่บ้าน และตำรวจ ฟังแต่ละคนเล่าแล้วน่าฟัง สนุกได้สาระ ม่วนหลายเด้อ ควรจะหาเท็ป หรือซี.ดี. ไปฟัง ไปดูซ้ำอีก

*** วันจันทร์ที่ ๕
ทำวัตรเช้า ๐๓.๓๐-๐๕.๔๕ น.
พ่อท่านนำสวดมนต์ทำวัตร อัดพลังศรัทธา บอกกล่าวเล่าแจ้งเพื่อโลกวิทู และปลุกเสกธรรม โลกุตระ "วิถีพุทธ" ให้ขลังในหัวใจลูกๆ โดยเฉพาะเตวิชโช ที่แต่ละคนควรจะฝึกให้เห็นผล รายการนี้ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า เป็นรายการที่เรตติ้งสูงที่สุดในงาน มองดูพวกเราที่ตั้งอกตั้งใจ ฟังธรรมแล้ว ประทับใจยิ่งนัก แต่อย่าลืมเอาไปฝึกให้มากๆด้วยนะ

ธรรมะก่อนฉัน ๐๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น.
สมณะนาไท อิสสรชโน เล่าเรื่องอดีตของท่านที่ทำให้ "หลาบคักๆ ซักแง็กๆ" คือ การทำผิดศีล แต่ละข้อว่า เป็นเรื่องที่ควรเลิกควรเว้น ยิ่งฟังยิ่งสนุก มีมุกสอดแทรกเรื่อยๆ ท่านเทศน์ไป แจกยิ้มไป ชวนผู้ฟังให้ตื่น เสียดายเวลาน้อยไป ตามด้วย สมณะผืนฟ้า อนุตตโร มาชวน "มองหน้า แลหลัง" ให้พวกเราฝึกสมถะให้ดี สร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง เตวิชโช ให้แข็งแรง จะได้ไม่แอ้งแม้งกลางทาง สาระเข้มข้นและขลัง ฟังแล้วมีไฟ

รายการภาคบ่าย
แบ่งตามฐานต่างๆ ใครจะไปจุดไหนก็แล้วแต่เชิญตามสบาย มีฐานต่างๆ ได้แก่

๑. ฐานน้ำส้มไม้ ๒. โยคะ, อาหารเพื่อสุขภาพ ๓. เดินจงกรม ๔. ส้มปลาน้อยร้อยเอ็ด
๕. ธรรมะกระดานดำ ๖. ประชุมร้านมังสวิรัติ ๗. พบสมณะเกจิฯ ๘. ประชุมสุขภาพบุญนิยม

เท่าที่สังเกต แต่ละจุดมีผู้ให้ความสนใจเฉลี่ยๆกันไป จาก ๓๐-๔๐ คน จนถึงร้อยกว่าๆ

รายการภาคค่ำ
คนสงบ ลมสงัด ฟังรายการในหัวข้อ "ฝันให้ไกล ไปให้เขียว" ฟังเรื่องราวน่าอัศจรรย์จาก คนเป็นตางึด (อัศจรรย์ใจ) ของวิศวกรที่หันมาทำกสิกรรม ชาวนาผู้ขยันไม่หยุดนิ่ง และตำรวจ ผู้ยอดขยัน ปลูกต้นไม้ได้แล้วนับล้านต้น ๓ คน ๓ เรื่อง ๓ รส ฟังแล้วยิ่งออกรส หมดเวลา ก็ขอต่อ คนมีบุญจึงจะได้ฟัง ดำเนินรายการโดย สมณะเดินดิน ติกขวีโร ฟังแล้วอาจจะร้องว่า ป๊าดติโท้ เฮ็ดได้จังได๋

 

*** วันอังคารที่ ๖
ธรรมะรับอรุณ เวลา ๐๓.๓๐ - ๐๕.๔๕ น.
โดยพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เรื่อง "วิถีพุทธ"

เปรียบเทียบคุณสมบัติของเศรษฐชนกับเศรษฐี ที่มีการพัฒนาตนไปในทางต่างกัน เศรษฐชน พัฒนา ไปสู่โลกุตระ ส่วนเศรษฐีพัฒนาไปสู่โลกีย์

บรรยากาศในการทำวัตรเช้าเบิกบานร่าเริงดี มีเด็กๆหลายคนมานั่งฟังกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ตั้งใจฟังดี เด็กชายแดนไตร นักเรียนสมุนพระรามนั่งอยู่ด้านหน้า ได้พูดตอบรับ เมื่อพ่อท่าน ถามคำถามด้วย

หลังทำวัตรเช้ามีการประชุม ต.อ. (หน่วยตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพผลผลิตของชาวอโศก) ใต้โบสถ์ เรื่องทิศทางการผลิต การตรวจสอบ และการพัฒนาคุณภาพผลผลิตชาวอโศก ในสถานการณ์ใหม่ สมณะบินบน ถิรจิตโต เป็นประธานการประชุม พ่อท่านได้มารับฟังสรุป ในตอนท้ายหลังจากพ่อท่านได้ประชุมร่วมกับกลุ่มร้อยเอ็ดอโศกมาแล้ว

ธรรมะก่อนฉัน
สมณะดงเย็น สีติภูโต เทศน์เรื่อง "ผ่านวัยชีวิต" เล่าประวัติการปฏิบัติธรรมของท่าน ตั้งแต่ต้น จนถึงปัจจุบัน ได้ฝากข้อคิดไว้ตอนท้ายรายการว่า

๑. ความชั่วที่เราทำจำไว้แก้ไข ความดีที่คนอื่นทำจำไว้ตอบแทน
๒. การแก้ไขตนเอง คือ การช่วยสังคมที่ดีที่สุด
๓. ประโยชน์แท้ที่ได้จากการทำงาน คือ การลดกิเลส

สมณะถ่องแท้ วินยธโร เทศน์เรื่อง "อริยสัจ ๔" ให้ข้อคิดสรุปว่า หากพวกเราไม่ติดสุขแบบ เคหสิตะ ก้าวมาสู่สุขแบบเนกขัมมสิตะ จะช่วยงานศาสนาได้มาก

พ่อท่านปรารภหลังธรรมะก่อนฉันว่า งานสงกรานต์ เป็นงานถนอมน้ำ เพราะเป็นช่วงฤดูร้อน และแห้งแล้ง มีการนำน้ำไปรวมกันรด คนที่มีคุณค่าสมควรจะได้รับ ปัจจุบันมันเสียหายลามก เป็นหายนะธรรม ต้องให้ความรู้กัน

ช่วงเวลา ๑๒.๐๐-๑๔.๐๐ น. เป็นช่วงที่มีการประชุมกลุ่มต่างๆ

ภาคบ่าย ๑๔.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
รายการ "วาไรตี้ยามบ่าย" โดย สมณะบินบน และ สมณะแน่วแน่ เป็นการนำเอาภาพ เอาเสียง ของพ่อท่าน อิริยาบถและการงานของพ่อท่านมาให้ญาติธรรมที่ไม่มีโอกาสได้เห็นได้ดู สมณะ แน่วแน่ กับสมณะบินบน ช่วยกันสรุป ตีความเป็นธรรมะ ในแง่มุมต่างๆอย่างลุ่มลึก บรรยากาศ รื่นเริงในธรรมกันมาก

หลังรายการภาคบ่าย ๑๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. พ่อท่านประชุมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา เรื่องเตรียมงาน คืนสู่เหย้าฯ และให้โอวาทจับใจความได้ว่า ที่พ่อท่านทำงานก็เพื่อสร้างไว้ให้พวกเรา ได้สืบทอดต่อ สิ่งนี้มันเป็นของพวกคุณ จากนั้นพ่อท่านก็ไปร่วมสรุปการประชุมเตรียมงาน เพื่อฟ้าดิน ที่มีสมณะเดินดินเป็นประธานที่ประชุม

อายุของพ่อท่าน ๗๐ ปีแล้ว แต่ต้องทำงานแต่เช้าจรดค่ำด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนไม่รู้จัก เหน็ดเหนื่อยเลย ในฐานะที่พวกเราเป็นลูกก็ควรที่จะไม่นิ่งดูดายเช่นกัน ช่วยกันเอาภาระ ไม่ทะเลาะกัน ซึ่งจะทำให้พ่อท่านทำงานเบาขึ้น

รายการภาคค่ำ ๑๘.๐๐ - ๒๐.๐๐ น.

สมณะฟ้าไท สมชาติโก สัมภาษณ์ปฏิบัติกร ชุด "ตลาดนัดผักผลไม้ไร้สารพิษ" ทั้งผู้รับผิดชอบ การจัดตลาด และเกษตรกรผู้มาขายผักในตลาด ปฏิบัติกรแต่ละคนได้มาเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ ที่ทำงาน เช่น การปลูกผักฉีดสารเคมีมาก่อน และมาเปลี่ยนแปลงปลูกผัก แบบไร้สารพิษ ผลของการเปิดตลาดนัดผักผลไม้ไร้สารพิษ ทำให้กสิกรได้มั่นใจ ในการปลูกผัก ไร้สารพิษมากขึ้น ทำให้ได้ช่วยคนเปลี่ยนแปลงตัวเองจากมิจฉาอาชีวะ เป็นสัมมาอาชีวะ ได้ฟังแล้ว น่าประทับใจมาก เป็นตัวอย่างการทำตลาดให้กับสังคมได้

*** วันพุธที่ ๗
ทำวัตรเช้า
วันนี้ "วิถีพุทธ" พ่อท่านได้อธิบายชี้ชัดถึง คนที่จะรวยได้ เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ

๑. บุญเก่า (บุญโลกียะ/สุขโลกียะ)
๒. โกงใหม่

พ่อท่านได้อธิบายถึงระบบบุญนิยม มีความลึกซึ้งซับซ้อนมาก แต่ละแห่งของพุทธสถาน ชาวอโศกทุกคนเป็นเจ้าของ โดยไม่ต้องทำพินัยกรรม และฆราวาสก็เป็น "สมณะ" ได้ แต่เป็น "ภิกษุ" ไม่ได้ เพราะฆราวาสบิณฑบาตไม่ได้ เนื่องจากยังมีเงินอยู่ (ภิกษุแปลว่า "ผู้ขอ") เช้านี้ ทุกคน ที่ได้ฟังธรรมก็ได้ชัดเจนในสิ่งพ่อท่านได้อธิบายให้พวกเราได้รู้ได้เห็น ได้เข้าใจ ถือว่า มี "สัมมาทิฐิ" ก็ว่าได้

หลังทำวัตร มีการประชุมวิทยุชุมชนของชาวอโศก โดยมีพ่อท่านเป็นประธาน ซึ่งพ่อท่านได้ให้ นโยบายในการทำวิทยุชุมชนว่า เราจะไม่ไปร่วมสหพันธ์วิทยุชุมชนกับเขา แต่เราจะพยายาม สร้างสหพันธ์วิทยุชุมชนของเราโดยพฤตินัย

ธรรมะก่อนฉัน
วันนี้พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้มาพูดคุยกับญาติธรรม ในหัวข้อเรื่อง "ไม่ทำบุญ ทำทาน แล้วจะทำอะไร" โดยพูดถึงเรื่องควายที่ได้แจกให้ชาวบ้านไปเลี้ยง แล้วเขาเอาไปขาย และ พวกเรา กำลังตื่นตัวกันอยู่ ๒ เรื่อง การทำปุ๋ยอินทรีย์ กับอีกเรื่องคือ การรักษาพยาบาล การทำปุ๋ย มีกรมพัฒนาที่ดินที่คอยจะสนับสนุนพวกเรา และได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ที่จะทำนำร่องในการทำปุ๋ยขายให้ชาวบ้านในราคาเท่าทุน ส่วนเรื่องการสร้างโรงพยาบาล พวกเราจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง บรรยากาศญาติธรรมก็ตั้งใจฟังกันดี เพราะคุณจำลอง ได้นำเอาเรื่องราวประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านสังคมภายนอกมาสื่อให้พวกเราได้ฟังกัน

รายการภาคบ่าย
เป็นการสัมมนากลุ่มย่อย ญาติธรรมเห็นประโยชน์ในเรื่องอะไรก็แสวงหาประโยชน์ ในเรื่องที่ สนใจ มี ๑๐ ฐานด้วยกัน เช่น มีการสนทนาธรรมกับสมณะ-สิกขมาตุเกจิฯ, มีธรรมกระดานดำ, เดินจงกรม นั่งสมาธิ, โยคะ และกายภาพบำบัด มีการเรียนทำจุลินทรีย์, การทำน้ำส้มไม้, การทำเชื้อซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว, การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม, มีแนะนำการทำอาหารสูตรปรับธาตุ และมีการประชุมกสิกรรมไร้สารพิษต่อ บรรยากาศบ่ายวันนี้ ก่อนเวลาแบ่งกลุ่มย่อยก็มีลม มีฝน ตกลงมาพอดี ทำให้หลายคนต้องหาที่หลบฝนกันอยู่พักใหญ่กว่าฝนจะหยุด ทำให้ความชุ่มชื้น เย็นสบายไปทั่วทั้งงานเลยทีเดียว รู้สึกประทับใจญาติธรรมหลายคน แม้ฝนตกลงมามาก พอสมควร แต่บางคนก็ตั้งปักหลักไม่ถอย กางเต้นท์นอนใต้โคนไม้ต่อไป

รายการภาคค่ำ
"จนไม่กลัว กลัวไม่จน" ดำเนินรายการโดย สมณะบินบน ถิรจิตโต ได้สัมภาษณ์นางร่มเย็น ศัตยาวิวัฒน์ เป็นคนมีเงินล้านก่อนเข้าวัด แต่ก็สละเงินล้านออกโดยการทำบุญให้วัด และ ให้ญาติ พี่น้องจนหมดตัว มีความรู้สึกสบายใจที่ไม่มีเงิน ดีกว่ามีเงิน กลัวรวยเพราะรู้สึกว่า มันเป็นภาระ และมีอีกท่านซึ่งเป็นอดีตสมณะ นายเลิกคะนอง เทพสุรินทร์ ซึ่งทำงานมีกิจการ หลายอย่าง มีรายได้หลายอย่าง ปัจจุบันมาอยู่ที่บ้านราชฯ ทำงานฟรี และอีกท่านหนึ่ง คือ คุณโจน จันได ก็รู้สึกอบอุ่น ที่ได้มาคุ้นเคยกับพวกเรามากขึ้น เขาได้เลิกหาเงินมา ๗-๘ ปีแล้ว เห็นเงินคือ เครื่องเอาเปรียบผู้อื่น และไม่เห็นเงินว่าเป็นสิ่งที่มั่นคง รายการนี้ฟังแล้วได้เห็น สัจจะของชีวิตว่าอยู่ตรงไหน น่าติดตามฟัง

*** วันพฤหัสบดีที่ ๘
ธรรมะรับอรุณ
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ บรรยายเนื้อหาตามหนังสือ "วิถีพุทธ" พ่อท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านทำงานศาสนามา กว่า ๓๐ ปี ไม่เคยจิตตก ไม่เคยท้อแท้อ่อนล้า หรือหมดไฟ บางครั้งหนัก แต่ก็ทำเต็มที่อยู่เสมอ "วิถีพุทธ" ที่พ่อท่านบรรยาย วันนี้เริ่มที่เรื่องคุณสมบัติของนักผลิต นักบริการ นักบริหาร และนักบวช นักผลิตที่เป็นอาริยบุคคล จะทำหน้าที่ได้ทั้ง ๔ สถานะ คือ เป็นได้ทั้งกรรมกรที่ขยัน แต่ไม่ยึดเป็นเจ้าของ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเป็นนักบวช ที่ตั้งใจลดละ กิเลส อย่างสุดยอดด้วย

หลังทำวัตรเช้าพ่อท่านเป็นประธานประชุมพาณิชย์บุญนิยม พ่อท่านสรุปในตอนท้ายว่า เราต้อง เน้นสินค้าคุณภาพดี มีประโยชน์ ราคาถูก ไม่มุ่งขายเพื่อเอาเงิน ต้องเป็นแบบอย่าง ให้สังคม สินค้าฟุ่มเฟือยอาหารขยะไม่ควรนำมาขาย

ธรรมะก่อนฉัน
"จุดไฟศรัทธา ผ่าภพเดิม" โดย สม.กล้าข้ามฝัน สรุปได้ว่า "ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะเปลี่ยนโจทย์ มาช่วยกันเข็นกงล้อธรรมจักร เพื่อเลื่อนฐานของเราเองในขณะที่ทุกชุมชนของพวกเรา กำลัง ต้องการ คนมีคุณธรรมเข้ามาช่วยงานสืบสานศาสนา เราได้ดีขนาดนี้พอหรือยัง เรารู้ธรรมะ แล้วเราทำได้ เท่าที่เรารู้หรือยัง เราน่าจะถวายชีวิตให้พ่อท่าน ตอนที่พ่อท่าน ยังมีชีวิตอยู่ ยังจะดีกว่า ที่ตอนท่านไม่อยู่ เราจะต้องสร้างศรัทธาให้แรงกล้า ทุกคนคือกระจกเงา ความผิด ของคนอื่นก็คือกระจกเงา ความผิดของเราก็เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องเอาเป็นเอาตาย เรื่องที่จะเอาเป็น เอาตายคือ กิเลส ๑. จะต้องทำตัวให้เบิกบาน ๒. จะต้องเป็นคนมีศีลที่ไม่หย่อนยาน ๓. จะต้อง ทำอารมณ์ให้เป็นฌาน ๔. จะต้องถึงพร้อมด้วยการงานไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ๕. จะต้อง เลื่อนฐาน ให้ยิ่งกว่าเดิมให้ได้

ภาคบ่าย "ตอบให้พ้นโลกีย์ สู่วิถีพุทธ ภาค ๒" โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
พอเริ่มตอบปัญหา ฝนก็ตกลงมา ฟ้าคะนอง ไฟฟ้าดับ ต้องใช้เครื่องขยายเสียงเล็กๆ ที่ใช้แบตเตอรี่ ปัจฉาฯ ต้องใช้ไฟฉายส่องให้พ่อท่านอ่านปัญหา ญาติธรรมต้องขยับเข้ามา นั่งเบียดกันในศาลา ดูบรรยากาศก็อบอุ่นกันดี นักเรียนชั้นประถม สมุนพระรามของบ้านราชฯ นั่งหน้าสุด ตั้งใจฟังพ่อท่านตอบปัญหา มีหลายปัญหาที่มาจากเด็กๆสมุนพระราม ที่ถาม ด้วยความรู้ความเข้าใจธรรมะเหมือนผู้ใหญ่ เช่น ด.ช.ร่วมฟ้า กีตา ถามว่า "คนเรามีภพอะไร ตายไป จะไปเกิดในภพนั้นใช่ไหมครับ"

พ่อท่านสรุปปิดท้ายว่า สังคมเรากำลังต้องการคนทั้งปริมาณและคุณภาพ มาช่วยงาน อย่าช้ากันอยู่เลย

หลังรายการภาคบ่าย สมณะมั่นแจ้ง เป็นประธานประชุม ต.อ. ในเรื่องการศึกษา การใช้สาร ธรรมชาติ แทนสารเคมี เช่น N 70 และผงชูรส

รายการภาคค่ำ
เป็นการสัมภาษณ์ปฏิบัติกรชุด "ไม่รอ ไม่หวัง แต่เราทำ" ดำเนินรายการโดย สมณะเสียงศีล ชาตวโร ได้จัดรายการในศาลาปลุกเสกฯ ปฏิบัติกรเป็นแบบอย่างของการเอาภาระช่วยแก้ปัญหา ของสังคม ที่เขาได้มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง แม้ยากลำบากอันตรายเหน็ดเหนื่อย และ สวนกระแส ค่านิยมของสังคม ก็ยังเพียรพยายามทำอย่างตั้งใจ เช่น คุณทรงชัย วิมลภัตตานนท์ เคยคิดว่า ความสุขที่ได้กินได้เล่นเที่ยว ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงตัวเองเพราะได้ผ่านการอบรมจาก ร.ร.ผู้นำ อีกท่านคือ คุณอนุชาติ อนันตเสส อาชีพก่อนเข้าวัด คือเลี้ยงผึ้ง ส่วนอีกหนุ่มวัย ๒๐ ปี เอาะๆ แต่ได้ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร ปลูกผัก ทำสวนไร้สารพิษ เขาชื่อเดชา การุชาติ ได้ผ่านการ อบรมที่ศีรษะอโศก และมีอาจารย์รัศมี (อ.หญิง) ขึ้นมาร่วมให้แง่คิดเพิ่มเติม ก็ขอเป็นกำลังใจ ให้หนุ่มมหัศจรรย์ เป็นกำลังสำคัญของสังคม

*** วันศุกร์ที่ ๙
ทำวัตรเช้า ๐๓.๓๐ - ๐๕.๔๕ น.
ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบาย ผู้ฟังที่ตั้งใจจดจ่อ มุ่งมั่น แม้พญานาคพยายามพัวพันไม่เลิกรา แต่ธรรมฤทธิ์ของพ่อท่าน ก็แคะเคาะเจาะลึกแง่มุมต่างๆของกิเลส เปิดเผยความจริงของ ฐานะนักบวชหลากหลาย แถมท้ายด้วยข่าวใหญ่ที่ทุกคนรอคอย สามารถตรึงผู้ฟัง ให้ตื่นตา ตื่นใจ

ก่อนฉัน
เรียงร้อยมาลัยธรรม โดยเก็บเอาประสบการณ์ต่างๆ ระหว่างทางที่ย่างก้าวในห้วงเวลาที่ผ่านมา เป็นดังดอกไม้หลากสีสัน นำเสนอในธรรมลีลา ชุด "ธรรมะ บาง บาง" โดย สมณะหม่อน มุทุกันโต ฟังแล้วนำไปพินิจพิจารณา ทำใจในใจให้แยบคาย ธรรมะ บาง บาง มีสิทธิ์พิชิต กิเลสให้บางบางลงได้

รายการภาคบ่าย
ถึงคิวแยกกันตามฐานต่างๆเช่นเดิม ใครชอบหรือเห็นประโยชน์ตรงไหนก็ไปตรงนั้น

รายการภาคค่ำ
เนื่องจากเมื่อวานสายฝนโปรยปราย พื้นดินชื้นแฉะ และไม่แน่ว่าคืนนี้อาจจะตกลงมาอีก รายการ "๒ นาทีของเกจิฯ" จึงย้ายจากลานปลุกเสกฯ มาที่ศาลาปลุกเสกฯแทน ดำเนินรายการ โดย สมณะบินบน ถิรจิตโต ญาติธรรมได้ดื่มด่ำธรรมรสจาก สมณะและสิกขมาตุเกจิฯแต่ละรูป หลายรส หลายลีลา ไม่ซ้ำกัน ใครหลับสำหรับรายการนี้ เอาไปเลยตำแหน่งปู่พญานาค เพราะ มันแสนจะออกรสออกชาติ ม่วนชื่นรื่นเริงธรรม จดจำได้ไม่หมด ก็ไม่ต้องจำอะไรมาก เอาแค่ว่า พ่อท่าน และสมณะชวนเข้าวัดแล้ว มาได้ก็รีบมา อย่ารีๆรอๆ เดี๋ยวกิเลสท่วมถึงคอมาไม่ได้นะ รีบๆเลิกพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ และมาไวๆ

*** วันเสาร์ที่ ๑๐
ทำวัตรเช้า
วันสุดท้ายของงาน พ่อท่านก็ไม่ได้แสดงความเหน็ดเหนื่อยให้พวกเราได้เห็นเลย ได้เห็นแต่ ความเบิกบานยิ้มแย้ม และความเมตตาที่พ่อท่านมอบให้ เช้าวันนี้พ่อท่านได้นำอธิษฐาน เป็นที่ น่าซาบซึ้งชัดเจนยิ่งนัก มีใจความคร่าวๆว่า "ชีวิตของคน ก็วนเวียนอยู่ในวัฏฏสงสาร ตราบใด ที่เรายังไม่รู้จักโลกีย์ ติดอะไรยึดอะไร เป็นโอฬาริกอัตตาก็ดี มโนมยอัตตาก็ดี เป็นอรูปอัตตา นี่แหละตัวร้าย ยึดถือเรา ยึดถือเขา โดยเฉพาะตัวเรา ยึดเป็นเรา เป็นของเรา สมบัติของเรา ศักดิ์ศรีของเรา ความเก่งของเรา ความรู้ของเรา ความสามารถของเรา ความติดยึด เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้เราเกิดอารมณ์โกรธ อารมณ์ชอบ อารมณ์ชัง ถ้าชมก็ชื่นใจ ถ้าติก็ไม่ชอบใจ สิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสของเรา เป็นอัตตาของเรา ฉะนั้นเราต้องมา ศึกษา เรียนรู้ หัดวาง หัดปล่อย ให้ได้ มันไม่ใช่ของเรา ตรวจสอบให้ดี เรียนรู้ให้ดี วางเถิด ปล่อยเถิด เราก็จะเป็นผู้พ้นทุกข์ ได้ตลอดกาล

หลังทำวัตรเช้า มีการประชุมเตรียมงานต้อนรับนายกรัฐมนตรี ที่จะมาเยี่ยมชมและพักค้าง ที่ศีรษะอโศก (๒๓-๒๔ เม.ย. ๒๕๔๗) โดยมีเจ้าหน้าที่ทางภาครัฐมาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย พ่อท่านเป็นประธานในการประชุมในครั้งนี้ และได้เชิญชวนพวกเราให้มาเป็นมวลด้วย

ธรรมะก่อนฉัน
เป็นรายการสรุปงาน มีสมณะฟ้าไท สมชาติโก ดำเนินรายการ มีสมณะเดินดิน ติกขวีโร เป็นผู้ สรุปงานให้แง่คิดพอสรุปได้ว่า งานของเราตอนนี้ค่อนข้างกว้างและหนักขึ้นไปเรื่อยๆ จึงขอเสนอ ให้แต่ละชุมชนช่วยลดความหนัก โดยต้องมารวมกันเป็นขบวนการกลุ่ม ให้ภายในแน่นแข็งแรง ลดความเป็นศิลปินเดี่ยวลง ทำงานประสานหมู่ให้มาก หันมาทำแนวลึกให้ได้ เพื่อที่จะขยาย กว้างออกไปได้ ถ้าทำแนวลึกไม่ได้ในหมู่กลุ่มภายใน แต่มีการขยายกว้างออกไป ก็มีแต่จะแบน แต็ดแต๋ ฉะนั้นเพื่อที่จะเป็นของขวัญให้พ่อท่าน ทำอย่างไรแต่ละชุมชนจะไม่ทะเลาะกัน มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้

ต่อมาตัวแทนที่รับผิดชอบงานด้านต่างๆ ขึ้นมาสรุปการทำงานทั้ง ๗ วัน เช่น ด้านการทำอาหาร โรงครัว ด้านศาลา ฝ่ายประสานงาน ด้านน้ำประปา ซึ่งแต่ละจุดก็มีปัญหาอุปสรรค อยู่พอสมควร แต่ก็พยายามช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ เพื่อให้ญาติธรรมได้รับความสะดวก น้ำไม่ไหล ข้าวไม่สุก พวกเขาก็ต้องวิ่งประสานงานกันในทุกด้าน

งานนี้ได้เห็นเบื้องหลังงานปลุกเสกฯ ในเรื่องการทำอาหารที่โรงครัวให้ผู้ที่มาร่วมงาน ได้รับประทาน กันตลอดงาน มีเด็กและผู้ใหญ่ต้องนอนดึกดื่น ตื่นแต่เช้า เห็นภาพแล้ว ก็น่าประทับใจ ที่หลายฐานงานทุกคนช่วยกันเอาภาระ ไม่นิ่งดูดาย ไม่เป็นแขก ไม่มีใครได้รับ แจกหนวด แต่ช่วยกันเป็นเจ้าภาพทุกคน มีหลายคนมาขอสมัครช่วยงาน เป็นลูกอีแร้ง (ปลอกแขนเขียว)

สรุปท้ายโดยสมณะฟ้าไทให้แง่คิดว่า เราน่าจะเข้ามาช่วยเหลืองาน มีความเห็นใจกัน มีน้ำใจ ต่อกัน มีความเอื้อเฟื้อ ไม่นิ่งดูดาย ถ้าสังคมหมู่กลุ่มชุมชนมีอย่างนี้ก็จะอบอุ่น แน่นแฟ้น มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สังคมข้างนอกเขาต้องการเรามากขึ้น แต่คุณภาพพวกเรา ยังน้อยอยู่ ปริมาณคนภายในก็ยังน้อยอยู่ ที่สำคัญทำอย่างไรเราจะรักใคร่ปรองดองกัน แม้เห็น ข้อบกพร่องผิดพลาดซึ่งกันและกัน

งานปลุกเสกฯครั้งนี้เห็นอีกภาพหนึ่งเป็นภาพที่กินใจยิ่งนัก และเป็นจุดที่ต้องสำนึกที่เราต้อง พัฒนาตัวเองให้สูงขึ้น เพื่อที่จะช่วยงานพ่อท่าน ไม่ทำให้พ่อท่านหนักเหนื่อย คือ ภาพที่พ่อท่าน นำประชุมหน่วยงานต่างๆทุกวัน บางวันเสร็จประชุมนี้ ก็ไปประชุมหน่วยงานอื่นอีก แต่ก็ไม่เห็น ความเหนื่อยล้าของพ่อท่านเลย เห็นแต่รอยยิ้ม ความเบิกบาน และพลังที่พ่อท่านมี เพื่อให้งาน ศาสนาขับเคลื่อนไป

ท้ายนี้ก็ขอฝากแง่คิดเรื่องที่ว่า ตอนนี้ชาวอโศกขาขึ้น เพราะสังคมเขาต้องการคนมีศีล มีคุณธรรม แต่เราขาดมวลที่จะมาช่วยกัน ที่จะมาสร้างหมู่กลุ่มให้แน่นลึกให้เป็นพลัง ดังคำพูด ที่ว่า "ศาสนา คือ พลังที่รวมสังคม" งานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด ที่พวกเราจะต้องทำกว่างาน อื่นใด คือ งานสร้างตน สร้างคน ให้พ้นทุกข์ ไปสู่ความเป็นอาริยบุคคลให้ได้

- ส.แก่นหล้า, ส.ธาตุดิน บันทึก
ส.เห็นทุกข์ บันทึกเรียบเรียง -


ข้อมูลรายรับ-รายจ่าย งานปลุกเสกฯ

รายรับ
รับบริจาคเป็นเงินสด ๒๘๓,๒๙๑ บาท
รับบริจาคเป็นวัตถุดิบ โดยประมาณ ๒๔,๔๘๐ บาท
รับข้าวกล้อง,เห็ด,พืชผักผลไม้,ซีอิ๊ว คิดเป็นเงิน ๕๓,๒๐๒ บาท

รายจ่าย
ค่าแก๊ส ๓,๐๘๐ บาท
ค่าอาหารในงานทั้งหมด ๑๔๑,๓๙๘ บาท
ค่าน้ำมันรถทุกพุทธสถาน ๓๐,๗๒๐ บาท
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ๒๐,๘๔๕ บาท
ค่าใช้จ่ายเตรียมงานปลุกเสกฯ ๒๑๘,๑๐๐ บาท

(ค่าเฉลี่ยต่อคน จำนวน ๑,๗๔๕ คน/วัน จ่าย ๑๖ บาท ต่อ ๑ คน/วัน)

-สารอโศก อันดับที่ ๒๖๙ กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๔๗ -