การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ(Work shop) การบูรณาการการศึกษาบุญนิยม

ท่ามกลางความสับสนของครูแต่ละสถาบัน ที่กุมขมับกับการร่างหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ บูรณาการ ให้สอดคล้อง กับวิถีชีวิตชุมชน มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปว่า บูรณาการการศึกษา เกิดขึ้นได้จริงหรือ? เพราะเป็นเรื่องยาก ที่จะให้ครูผู้ชำนาญ การสอนตามตำรา มาเปลี่ยนแปลง วิธีการสอนเป็นแบบบูรณาการ โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ อีกทั้งการสอน ตามหลักสูตร ที่ตนเองร่างมานั้น ทำได้จริงหรือ? นี่คือคำถามที่ครูยากที่จะตอบ

โรงเรียนสัมมาสิกขาของชาวอโศก เป็นโรงเรียนต้นแบบของโรงเรียนวิถีพุทธ การบูรณาการ การเรียน การสอน มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง แต่ไม่ทั้งหมด ทุกรายวิชา และเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น เมื่อต้องเขียนหลักสูตรการศึกษาเป็นของตนเอง เพราะยังไม่สามารถ ออกจากกรอบ ของระบบการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมได้ ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนสัมมาสิกขา ของชาวอโศก จึงร่วมมือกัน จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (work shop) การบูรณาการการศึกษาบุญนิยมขึ้น ที่พุทธสถานศีรษะอโศก ระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม - ๑๑ เมษายน ๒๕๔๗ เพื่อจัดหน่วยการเรียนรู้ ในงานปลุกเสกพระแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๒๘ โดยนำนักเรียน ม.๒ จำนวน ๑๓๓ คน เข้าเรียนภายในงาน เพื่อคุรุ-นักเรียน-ชาวชุมชน จะได้เรียนรู้ร่วมกัน จากการปฏิบัติจริงเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงความเป็นบ้าน - วัด - โรงเรียนเข้าด้วยกัน แล้วนำมาเขียนเป็น หลักสูตรการศึกษา

จากการที่ได้ปฏิบัติจริงนี้ทำให้เห็นศักยภาพของคณะคุรุผู้สอนในการบูรณาการการสอน วิชาต่างๆ ให้สอดคล้องกับ วิถีชีวิตประจำวัน ส่วนนักเรียนเองก็กระตือรือร้น ในวิธีการศึกษา ที่แปลกใหม่ ทั้งสนุกและน่าติดตาม

สมณะฟ้าไท สมชาติโก : การจัดงานในลักษณะนี้จัดเป็นครั้งที่ ๒ ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือดี เป็นภราดรภาพ เข้าใจกันง่าย ปัญหาน้อยลง บรรยากาศการสอนมีทั้งส่วนพร้อมและไม่พร้อม บางทีใส่วิชาการมากไป ทำให้อยู่กับความจริงน้อย หากคุรุปรึกษากันมากขึ้นก่อนสอน จะสมบูรณ์ มากขึ้น เนื้อหาจะครบถ้วน บางรายวิชาไม่ได้ประเมินผล น่าเสียดาย ถ้าหากเทียบ กับงาน ที่ไพศาลี เตรียมความพร้อมมากกว่านี้ ทำให้ได้ข้อคิดว่า แม้เรามีความสามารถ แต่เราประมาทไม่ได้เลย เพราะเวลาพลาด เราไม่มีโอกาสแก้ไข บางสิ่งมีครั้งเดียว อย่างไร ก็แล้วแต่ งานนี้ได้ทำหลักสูตรเป็นและง่ายยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อเด็ก ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

คุรุขวัญดิน : มีความรู้สึกยินดีที่ได้สอนนักเรียนสัมมาสิกขา เพราะว่ามีความประทับใจ ในความเป็น คุรุอยู่แล้ว การสอนแบบบูรณาการ เป็นการเรียนการสอนที่ยาก เพราะเด็กมาจาก หลายที่ หลายแห่ง มีความชื่นชมเด็ก ที่เด็กทุกคน ตั้งใจในการเรียนดี เราต้องมีเทคนิคการสอน ดึงความสนใจของเขามาอยู่ที่เราให้ได้

คุรุใบลาน : ได้เข้าใจการเรียนแบบบูรณาการมากขึ้น เพราะตัวเองมาจากการเรียนแบบในกรอบ ความรู้ที่ได้ มาจากการอ่านหนังสือ และจากครูผู้สอน พอเวลาสอนเด็ก เดิมๆจะอาศัย หลักสูตรการเรียนของกระทรวงที่เขาบอกว่า บูรณาการแล้ว แต่ปรากฏว่า เด็กสอบไม่ผ่าน พอมาเข้าค่ายได้เห็นตัวอย่างคุรุแต่ละท่านที่บูรณาการสอนไปทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน การใช้ชีวิต - กิน - อยู่ - หลับนอนก็เป็นการเรียนรู้ ทุกสาระวิชา ก่อนทำงานทุกฐานมีการ ให้ความรู้ หลังเลิกงาน มีการสรุปให้ความรู้เพิ่มเติม ในส่วนที่เด็กยังขาดอยู่ ทำให้เด็กได้ ความรู้ทั้งศีลเด่น - เป็นงาน - ชาญวิชา ตามปรัชญาการศึกษา ของพ่อท่าน และการสอนแบบนี้ ทำให้คุรุและนักเรียน ได้มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น เกิดความอบอุ่นเป็นกันเอง แม้จะเป็น คุรุวิชาการ ก็ได้ลงไปร่วมกับฐานงาน ทำให้เกิด การพัฒนาฐานงานได้ยิ่งขึ้น

- นภาสูญ รายงาน -

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๙ กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๔๗ -