ชีวิตตัวอย่าง
ผู้หญิงดีและเก่งที่ชื่อ กานดา สายงาม (กราบดิน)

วันนั้นได้ไปร่วมงานฌาปนกิจศพ คุณกราบดิน (กานดา สายงาม) ที่ปฐมอโศก เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ณ วันนี้ได้รับบุญเพื่อมาเขียนถึงเรื่องราวของเธอ (ขออนุญาตใช้สรรพนาม นี้แทน) ผู้หญิงเล็กๆคนหนึ่งที่มีอุดมการณ์สูงส่ง ทำให้ชีวิตเธองดงาม มีค่าและสาระ ควรค่าแก่ การบันทึก ไว้ในความทรงจำ และบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา เป็นแบบอย่าง ที่ดีสืบทอดต่อไป

เธอลืมตาดูโลกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๘๗ ที่จังหวัดแพร่ จบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษา ที่จังหวัดลำปาง เข้ามาศึกษาวิชาชีพพยาบาล ที่โรงพยาบาลหญิง หรือ โรงพยาบาล ราชวิถีในปัจจุบัน จบแล้วได้เป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลหญิงระยะหนึ่ง และย้ายไป เป็นพยาบาลที่ โรงพยาบาลสุขุมวิท ก่อนที่จะไปเป็นพยาบาลที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึง ๒๕ ปี และ เดินทางกลับมา อยู่ประเทศไทยเป็นการถาวร ก่อนเสียชีวิตเมื่ออายุ ๖๐ ปี

เธอเป็นผู้ใฝ่ธรรม มีจิตเมตตาตั้งแต่วัยเด็ก คุณนิดผู้เป็นพี่สาวเล่าว่า เธอแอบปล่อยปลา ที่คุณย่า ซื้อมาทำอาหารด้วยความสงสาร แม้ไปอยู่ต่างประเทศ เธอก็สนใจศึกษาธรรมะ มิได้ขาด ได้สละทรัพย์เพื่อพิมพ์หนังสือธรรมะของท่านพุทธทาส นำเท็ปธรรมะของท่าน พุทธทาส และวัดสวนแก้ว ไปเผยแพรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งอัดเท็ป ถ่ายเอกสาร แจกเพื่อนๆ และผู้สนใจอื่นๆ แล้วยังเป็นผู้รับภาระรวบรวมทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธา ทางประเทศ สหรัฐอเมริกา ส่งมาพิมพ์หนังสือธรรมะ และเป็นทุนช่วยการศึกษาเด็กด้อยโอกาส เช่นที่โรงเรียน พุทธเกษตรหนองฮ่อ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

เธอเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง มีน้ำใจ โอบอ้อม อารี และอดทนอย่างหาตัวจับได้ยาก คุณอาภรณ์ วิชัยดิษฐ์ (รองประธานชุนชนสันติอโศก) กล่าว ยกย่องไม่เกินจริงเลยว่า เธอเป็นสตรีเหล็ก แม้มี ชีวิตสุขสบายอยู่กับวัตถุสมบัติมาก่อน เมื่อเข้าใจ ศึกษาธรรมะชาวอโศกซึ่งพ่อท่าน นำพาปฏิบัติ ตามแนวทางทฤษฎีอาริยมรรค ก็มาทำงานเป็น คนติดดิน ทำกสิกรรมไร้สารพิษ ผลิตน้ำหมัก ชีวภาพ และยังเป็นครูสอนภาษาอังกฤษกับเด็กๆ ที่อยู่ในชุมชนราชธานีอโศก ทั้งยังเป็นตัวอย่าง ที่ดีของขบวนการ ๕ ส.สร้างสรร เพราะเธอเป็น คนสะอาด มีระเบียบ ใช้ชีวิตสร้างสรร เสียสละ ทุ่มโถมเต็มที่กับงานศาสนา ที่ราชธานีอโศกได้เพียง ๒ ปี เธอต้องพลิกผันตัวเองมาอยู่กรุงเทพฯ โดย เข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลราชวิถี หลังผ่าตัด ได้กลับมารักษาตัวด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด จน อาการดีขึ้นมาก ตลอดระยะเวลา ๓ ปีกว่าที่ป่วย เธอใช้วิชาชีพพยาบาลดูแลตนเอง พยายาม ไม่เป็นภาระผู้อื่น จะรบกวนน้องสาวแลพี่สาวในยามจำเป็นบ้างเท่านั้น แม้ญาติธรรม ที่สนิทก็บอก ไม่ต้องไปเยี่ยมหรอก เธอดูแลตัวเองได้

คุณสวัสดิ์ ไอยสุริยสมบัติ เพื่อนที่คบหากันมาตั้งแต่เล็กจนโต กล่าวถึงเธอด้วยความศรัทธา และ ชื่นชมว่าเป็นคนดีมากๆ โอบอ้อม อารี มีน้ำใจ เสียสละ ชอบช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก ขาด แคลน เด็กด้อยโอกาส เธอเป็นนักอุดมการณ์ ทำงาน เสียสละ ทำให้โลกนี้น่าอยู่และปรารถนา อยาก ให้ผู้อื่นช่วยกันทำโลกนี้ให้น่าอยู่ด้วย เธอเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นคนดีของสังคม เธอทำ ให้โลกยินดี ที่มีคนเช่นเธออยู่ด้วย

คุณกรักน้ำเพชร แสงงาม ผู้ใกล้ชิดสนิทสนม และเคยร่วมงานโครงการปลูกต้นยมหอม เพื่อหาทุน มาสร้างโรงพยาบาลธรรมชาติของชาวอโศกเมื่อหลายปีก่อน เล่าชีวิตสัมพันธ์ ตั้งแต่ ครั้งที่คุณกราบดินได้ไปซื้อที่ที่จังหวัดนครนายกไว้ ๒ แปลง แปลงหนึ่งเธอปรารถนาจะให้มี สถานที่รักษาสุขภาพแบบธรรมชาติบำบัด ตามหลัก ๗ อ. ของพ่อท่าน ปัจจุบันสวนสุขภาพ ธรรมชาติ กราบดินอโศกนี้ เธอได้ยกให้เป็นสมบัติขององค์กรชาวอโศกแล้ว เธอเชื่อมั่นว่า ชาวอโศก จะสานฝันของเธอให้เป็นจริงได้

เธอหลับตาลาโลกเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗ วันนั้นญาติธรรมหลายคน ได้ไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาลมิชชั่น คุณกรัก น้ำเพชร รีบเดินทางมาจากสีมาอโศกทันทีที่ได้ ทราบข่าว มาพร้อมของเยี่ยมคือผักผลไม้ไร้ สารพิษ อาหารหลักของเธอ อาจารย์อาภรณ์ วิชัยดิษฐ์ ได้มีโอกาสนวดเท้าให้เธอด้วยความรักในน้ำใจ คุณมีดี รัศมิทัต ก็เตรียมพร้อมรับอาสา จะดูแลเธอตลอดไปยามที่เธอป่วยดูแลตัวเองไม่ได้ พอดีคุณแตน (ญาติธรรมทำงานร่วมกัน ครั้งอยู่ราชธานีอโศก) ได้อยู่ดูแลเธอ อยู่ก่อนแล้วและเป็นเพื่อนสนิทรู้ใจกันด้วย เธอพูดคุยกับ ทุกคน ที่ไปเยี่ยม เบิกบานร่าเริง หัวเราะได้แจ่มใส ทุกคนไม่คิดว่าจะเป็นการเยี่ยมเธอ เป็นครั้ง สุดท้าย หลังจากทุกคนกลับแล้ว เหลือแต่คุณแตนอยู่เป็นเพื่อนช่วยดูแลคนเดียว และอยู่กับเธอ จนวาระสุดท้ายที่เธอสิ้นลมหายใจ เวลาประมาณ ๒๒.๓๐ น. เธอได้หลับไม่ตื่นอีกเลย เหลือแต่ ใบหน้าที่เป็นสุข และเรื่องราวดีๆของเธอ ทิ้งไว้เล่าขานมากมาย

แม้สิ้นชีวิตแล้ว เธอก็ยังทำบุญอีก ท่านพระอาจารย์พยอม (พระพิศาลธรรมพาที) แห่งวัด สวนแก้ว ได้มาเทศน์ในวันฌาปนกิจศพเธอ และรับเงินบริจาคจากน้องสาวแทนตัวเธอ เป็นเงิน บริจาคเพื่อเป็นทุนในโครงการช่วยคนทุกข์ยาก ขาดแคลน ซึ่งเธอตั้งใจจะไปถวายเอง ที่วัด สวนแก้ว แต่ท่านอาจารย์พยอมเดินทางไปเชียงใหม่ กลับมาก็มาร่วมงานฌาปนกิจศพเธอ ที่ปฐมอโศกซะแล้ว อย่างไรก็ตามท่านก็กล่าวว่าเธอต้องได้ไปสู่สุคติแน่ๆ เพราะจิตของเธอ ตั้งมั่น อยู่ในกุศลตลอด แม้เสียชีวิตก็จากไปอย่างสงบและเป็นสุข และท่านได้ให้แง่คิดที่ดี สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งว่า ถึงมะเร็งมันจะทำให้เราตายได้ แต่มันก็ตายไป พร้อมกับเรา ที่เป็นมะเร็งเช่นเดียวกันแหละ

วันนี้ไม่มีตัวตนของเธออยู่แล้ว แต่เรื่องราว ดีๆของเธอยังคงผลิบานอยู่ในหัวใจผู้คนที่ได้รับรู้ รับฟัง แม้เล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ยังคงให้ความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นทุกครั้งที่ได้เล่าอีก อายุความดี ของเธอ ยืนยาวกว่าอายุตัวเลขมากมายนัก การเสียสละ การให้ การมีน้ำใจของเธอ เป็นการ เพาะ เมล็ดบุญ ให้กระจายไปในจิตใจผู้คนรอบข้าง กรรมดีที่เธอ ทำเป็นหลักประกันชีวิต ที่วิเศษสุด เธอเป็นนักแปรรูปโลกียทรัพย์ให้เป็นโลกุตรทรัพย์ได้อย่างน่าบันทึกจดจำและ น่าสดุดี ยามเธออยู่เธอต้อง ศึกษาอะไรต่อมิอะไร หลากหลายมากมาย ยามเธอตาย เราก็ต้อง ศึกษาอะไรต่อมิอะไรจากเธอมากมาย หลากหลายเช่นกัน

ท้ายสุดนี้ ขอนำส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ท่านสมณะเดินดิน ติกขวีโร ในคอลัมน์สกู๊ปพิเศษ จากหนังสือพิมพ์ข่าวอโศก ฉบับที่ ๒๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ได้กล่าวถึงคุณกราบดินไว้ว่า

"คุณกราบดินเป็นญาติธรรมที่ได้เสียชีวิตไปอย่างน่าภาคภูมิใจในความเป็นนักปฏิบัติธรรม จนวาระ สุดท้ายของชีวิต เขาได้บริจาคทุกสิ่ง ทุกอย่างให้กับส่วนกลางอย่างหมดเนื้อหมดตัว ได้บอกกับคนใกล้ชิดว่า ชีวิตฉันไม่มีอะไรแล้ว เมื่อทำบุญจนหมดเกลี้ยงแล้ว เขาก็ตายไปด้วย ความสงบ โดยที่ไม่ทุกข์ทรมานกับโรคมะเร็งร้าย ที่เข้ามาครอบงำ แต่สิ่งที่อาตมาประทับใจ ก็คือว่า ถ้าเปรียบเป็นนักรบก็เป็นนักรบ ที่เรียกว่า มีวีรกรรมที่น่านับถือมาก ตายอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

แม้วาระสุดท้าย พวกเราต้องนำเขาส่งโรงพยาบาล เขาก็สั่งเสียไว้เลยว่า ไม่ต้องเอาเครื่องมือ ทางการแพทย์ใดๆมาใส่ในร่างกายของเขาเลย เขาพร้อมที่จะตาย และจากโลกนี้ไปอย่าง ไม่มีอะไรติดตัว อาตมารู้สึกว่า ความไม่มีอะไรคือกุศลโลกุตระที่สุดยอดของชีวิตมนุษย์

ก่อนเผาศพโยมกราบดิน พ่อท่านก็เน้นว่า พวกเราทำกุศลแล้วขอให้เป็นกุศลโลกุตระ ทำดีแล้ว ไม่ยึดดี ไม่ถือดี สามารถที่จะมีใจที่ปล่อยวางได้"

สิกขมาตุทองพราย (นักเขียนจำเป็น)
เสาร์ ๖ มี.ค. ๒๕๔๗

- สารอโศก อันดับที่ ๒๖๙ กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๔๗ -