- ทีม สมอ. -

มหาปวารณา ' ๔๘ ครั้งที่ ๒๔


สถาบันครอบครัว เป็นรากฐานสำคัญยิ่งของสังคมมนุษยชาติ เป็นแหล่งผลิต บ่มเพาะชีวิตจากเล็กจนเติบใหญ่ เราเลี้ยงดูเขา อย่างไร

มีผู้กล่าวว่า "พ่อแม่ที่อ่อนแอเลี้ยงลูกให้แข็งแรงไม่ได้ฉันใด พ่อแม่ที่ยังมีกิเลส ก็เลี้ยงลูกให้กิเลสหมดหรือน้อยลงไม่ได้ฉันนั้น"

เมื่อเทียบกับพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีลูกนับพันเป็นอเนก การเลี้ยงดูใช้หลักคำสอนโดยมีเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย มีศีลเป็น เครื่องกำกับ และมีการลดกิเลสต่างๆเป็นบทปฏิบัติขัดเกลา ด้วยวิธีการแบบนี้ ศาสนาจึงมีผู้สืบทอด

หมู่กลุ่มเล็กๆของชาวอโศก ลูกๆจากทุกสารทิศจากร้อยพ่อพันแม่ มาอยู่รวมร่วมกันอบอุ่นอย่างพี่น้อง มีพ่อเป็นผู้นำครอบครัว หลายปีผ่านไปลูกๆต่างเติบใหญ่(ทางจิตวิญญาณ) นอกจากปัญหาพวกเราน้อยลง ลูกๆยังได้แบ่งเบา ภาระหนักอึ้ง ของพ่อ ให้เบาลงด้วย

มหาปวารณา ครั้งที่ ๒๔ นี้ คือ การย้ำยืนยันจากบทสัมภาษณ์ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์

ถาม : บรรยากาศวันมหาปวารณาที่ผ่านมา
ตอบ : มหาปวารณาที่หมายถึง สังฆกรรมของสมณะมันง่ายขึ้น สะดวกขึ้นจริงๆ เพราะว่าเราทำมา ๒๔ ครั้งแล้ว เราทำมา ตั้งแต่แรก ตอนใหม่ๆยังไม่ค่อยเข้าใจกันว่าจะทำอย่างไรดี พวกเราก็มาพูดกัน มีเรื่องราวอะไรก็มาตรวจสอบกัน แต่ก็ยังไม่ค่อย กล้ากันในการเปิดเผยส่วนนั้นส่วนนี้อะไร ก็เป็นอย่างนั้น แรกๆใช้เวลากันนาน ทั้งวันทั้งคืนดึกดื่น จนเกือบทั้งคืน เร่งกัน ๒ วัน ๒ คืน พอทำไปก็ค่อยๆรู้วิธีการ ค่อยๆรู้เรื่องรู้ราว การจัดระบบก็เข้ารูปเข้ารอย รู้อะไรเป็นอะไร ก็เลยดีขึ้น อะไรที่มันเฟ้อก็ตัด อะไรที่มันขาดก็เติม อะไรคืออะไรก็เข้าใจดี

มาถึงทุกวันนี้เป็นปีที่ ๒๔ แล้วมันจึงเร็วและง่ายขึ้น และอีกอย่างก็คือแกนสังคมสงฆ์ของพวกเราเข้าที่กันดี เรื่องก็เลยน้อยลง มีแต่ประเด็นสำคัญหลักๆที่มาคุยกัน แต่ก่อนกระปริดกระปรอย ประเด็นเล็กประเด็นน้อยก็เอามาพูดหมด มันเลยมากมาย เยอะแยะ จนไม่มีเวลาพอ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าประเด็นเล็กประเด็นน้อยจะตัดสินกันแค่ในกลุ่มเล็ก หรือว่าจะบอกกัน เพื่อให้ไป แก้ไขกัน ในระดับที่ประชุมกลุ่มเล็กก็พอ ไม่จำเป็นต้องเอามาพูดในที่กว้างกลุ่มใหญ่ที่รวมทั้งหมดก็ได้ อะไรอย่างนี้เป็นต้น มันก็เลยเรียบร้อยขึ้น เข้าระบบมากขึ้น ลงตัวมากขึ้น จึงใช้เวลาน้อย ทุกวันนี้ประชุมวันเดียว หรือวันกว่าๆก็จบแล้ว ซึ่งจริงๆ วันเดียวก็เสร็จ ส่วนเรื่องประเด็นเล็กประเด็นน้อยก็มอบหมายกันไปพิจารณาต่อ สำหรับสงฆ์ที่แยกกันไป ในแต่ละหมู่ แต่ละเหล่า ก็รับผิดชอบให้ไปจัดสรรกันไป ตกลงกันในแต่ละแห่งก็ได้ สรุปง่ายๆก็คือ ดีขึ้น เจริญขึ้น ก้าวหน้าขึ้น และลงตัว ยิ่งขึ้น

ถาม : ในการประชุมเหมือนพ่อคุยกับลูก มีอะไรที่พ่อท่านหนักใจไหม
ตอบ : ไม่มีอะไรหนักใจ ถึงแต่ก่อนก็ไม่มี จะมีก็แค่เหนื่อยกายเท่านั้น ความหนักใจไม่มี เพราะว่าจริงๆแล้ว ไม่ใช่คุยตัว หรือ อวดเก่งอะไร ก็คืออาตมาเข้าใจสังคม เข้าใจเหตุ เรื่องก็เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุอย่างนี้ แต่เหตุบางอย่างสามารถแก้ได้ทันที บางอย่าง ก็ต้องอาศัยเวลา เพราะว่าเกี่ยวกับวิสัยของคน เกี่ยวกับนิสัยของคน เกี่ยวกับกิเลสของคน และเกี่ยวกับ พฤติกรรม ของคน ซึ่งมันต้องค่อยๆปรับไป ทำไป เพราะฉะนั้นถามว่าหนักใจไหม จริงๆแล้วไม่หนักใจหรอก ถ้าหนักป่านนี้คงแย่ อาตมา ทำงานกับคนสารพัดสารเพ ข้างนอกก็ถล่มทลายเราด้วย หากหนักใจป่านนี้คงจะตายไปแล้วมั้ง แต่ก็มีเหนื่อยกายบ้าง ก็เหนื่อย เมื่อต้องทำงานตลอดเวลา แต่เหนื่อยก็พักเท่านั้นเอง ๓๕ ปีมานี่มีผู้แนะนำให้อาตมาออกไปปฏิสัลลีนะ ออกไป หลีกเร้น พักผ่อนบ้าง แต่ก็จะเห็นว่าไม่เคยเลย ทำงานทั้งวัน ยิ่งวันเสาร์-อาทิตย์ยิ่งหนัก ก็ว่ากันไป ไม่เป็นไร ก็พยายาม พักผ่อนในตัว

ถาม : การที่พ่อท่านไม่ยอมหยุดพักผ่อนตามที่ลูกๆแนะ จะว่าพ่อดื้อได้ไหมคะ
ตอบ : ไม่ใช่ดื้อ แต่ดูตัวเองแล้ว เห็นว่ายังพอไปได้ มันไม่อะไรหรอก ไม่ได้เสียหายก็ทำงานต่อไป ถ้าเผื่อว่าฝืน จนมันไม่ พอเหมาะพอดีจริง แล้วดื้อดึงอยู่อย่างนั้น ป่านนี้ก็เสื่อมแล้วสิ ก็เห็นความทรุดโทรมทั้งร่างกาย ชีวิต แต่อาตมาก็ไม่เป็นนี่ ก็มีคนบอกว่า ๗๐ ยังแจ๋วอยู่เลย

ถาม : ปัญหาต่างๆที่ลดน้อยลง จะบอกว่าเพราะพ่อท่านเลี้ยงลูกได้ดีได้ไหมคะ
ตอบ : จะว่าอย่างนั้นก็น่าจะได้ มันเป็นระบบที่ถูกต้อง เป็นระบบของพระพุทธเจ้าที่อาตมานำมาใช้ จริงๆแล้ว ถ้าว่าโดยแนวลึก มันไม่ง่าย เพราะว่าเราทำงานรวมตัวกันอยู่อย่างเป็นสังคมแบบบุญนิยม ไม่ได้เอาลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เป็นที่ตั้ง ทุกคนตั้งใจมาลดละลาภยศสรรเสริญ โลกียสุข ซึ่งถ้าว่ากันจริงๆแล้ว ทางโลกจะมองว่าเป็นสังคม ที่มีความกดดัน แต่พวกเรามาทำอย่างนี้ได้โดยอาศัยวิธีของพระพุทธเจ้า ถ้าวิธีนี้ไม่ถูก อดทนทำ กดข่มเอา ฝืนไปๆ ถึงจุดหนึ่ง ก็คงระเบิดไปแล้ว

แต่ทีนี้ระบบของพระพุทธเจ้าช่วยล้างละลดกิเลสด้วยสติปัญญา จนทำให้เข้าใจจริงๆว่าการเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย กล้าจน หรือตั้งใจมาจน มุ่งมาจน เราพูดกันจนถึงวันนี้ เราพูดกันชัด พูดกันจริงๆ ไม่ใช่พูดเล่นลิ้นเล่นคารมอะไร ใครสามารถทำได้ก็ทำไปตามฐานะตามขั้นตอน ไม่ใช่ว่าจะมาทำโก้ ทำสวย ทำเท่ แต่เป็นเรื่องจริง ของจริงที่เราทำได้ และ เป็นของจริงของเรา มันก็สุขสบายไปและกลายมาเป็นคนมักน้อย คนสันโดษ คนขัดเกลา คนที่มีศีลเคร่ง ไม่ต้องไปสะสม เรามีสัมมาทิฐิ เราเข้าใจจริงแล้ว และเราก็ตั้งใจที่จะทำจริงๆ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องธรรมดาของโลกีย์ ไม่ใช่เรื่องง่าย มันทวนกระแสโลก จนเป็นคนละเรื่องกันเลย แต่พวกเราก็ทำได้ถึงขนาดนี้แล้วมามักน้อย สันโดษ อยู่กันอย่างไม่เหลือเฟือ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่บำเรอ จริงๆแล้วในโลกที่ไม่ลดกิเลสจริง ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ เพราะมันไม่ตามใจกิเลส มันต้องต่อสู้ มันต้องสู้ อดทนเมื่ออยาก ต้องข่มช่วยเมื่อสู้ ต้องฝืนอะไรพวกนี้ ถ้ากลุ่มคนที่ทำไม่สัมมาทิฏฐิมันก็จะตีกันง่าย ทะเลาะกันง่าย ระเบิด อารมณ์ใส่กันง่าย แต่ทฤษฎีของพระพุทธเจ้าที่เป็นสัมมาทิฐิจริง มันลดกิเลสได้จริงมันจะไม่นำไปสู่ความเก็บกด หรือกดดัน ซึ่งอาตมาเชื่อว่า เข้าใจทฤษฎีของพระพุทธเจ้าถูกต้อง จึงนำมาให้พวกเราปฏิบัติพิสูจน์ตามคำอธิบายที่อาตมาเข้าใจ ถึงจะมีคนค้านแย้งว่า อาตมาสอนผิด ทำให้ธรรมวินัยวิปริต แต่อาตมาว่าไม่วิปริตหรอก มันถูกต้อง"สัมมา"แล้ว แบบอื่น อาจจะวิปริตด้วยซ้ำไปนะ ทางเรานี้น่าจะถูกต้อง ชัดเจนกว่า ทำให้มั่นใจยิ่งขึ้น

ถาม : ตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้าที่ว่าดี ยังมีวิธีอื่นอีกไหมที่เขาจะพัฒนาคนให้ดี
ตอบ : ถ้าวิธีนี้ดีและจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ อาตมาก็พยายามศึกษา เปรียบเทียบ ตรวจสอบในสังคมโลกอยู่ สังคมที่เขาพยายาม แสวงหาวิธีพัฒนาให้มันเกิดสังคมกลุ่ม ที่ผู้คนอยู่กันอย่างสงบ อบอุ่น และก็ไม่เป็นสังคมที่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย เป็นสังคมที่มี คุณธรรม แต่ก็ยังไม่พบวิธีอื่นที่ดีกว่าของพระพุทธเจ้า

ทุกวันนี้อาตมาภูมิใจนะ ที่ในสังคมของเรา ในหมู่บ้าน ในชุมชนของพวกเรา เป็นชุมชนของ คนมีศีล มันน่าภูมิใจ ที่ทั้ง หมู่บ้านของเราไม่มีการฆ่าสัตว์ ไม่มีการลักทรัพย์ ไม่มีการผิดผัวเขาเมียใคร สังวรระวังกันจริงๆ ถ้ามีขึ้นเมื่อไรเป็นเรื่อง ต้องพิจารณา ลงโทษกันอย่างจริงๆจังๆ โดยเป็นเรื่องจริงที่เราได้ดูแลกัน และทำกันจริงๆ หรือการกินเหล้าเมายา และเรื่อง อบายมุขต่างๆเราก็ไม่มี ซึ่งทั้งชุมชนไม่มี เป็นสังคมที่อาตมาว่าวิเศษ ที่ท้าทายให้มาพิสูจน์ได้ว่าเป็นคนมีศีลมีธรรม เป็น พุทธบริษัท ที่แท้จริง ที่อยู่กันโดยเอาศีลมาจับได้เลย อยู่ไป ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี เขาก็เป็นอย่างนั้น เอาศีลมาเป็นเครื่องวัด เป็นเครื่องตรวจสอบว่าเป็นไปได้จริง ศีล ๘ ก็ยังมีเลย ฆราวาสที่ปฏิบัติเคร่งอยู่ในหมู่ในกลุ่ม ศีล ๑๐ ก็ยังมี โดยไม่ใช้เงิน ไม่ใช้ทอง ไม่สะสมทรัพย์สินเงินทองแล้ว ฆราวาสก็ยังทำได้เลย อย่างนี้เป็นต้น

ถาม : ในการดูแลลูก พ่อท่านต้องใช้การประมาณให้พอเหมาะว่าจะต้องดุแค่ไหน ใจดีแค่ไหน ใช่ไหมคะ
ตอบ : ใช่ นี่เป็นเรื่องสำคัญ ต้องรู้จักประมาณในการที่จะใช้ศิลปะอย่างไร น้ำเสียงอย่างไร ท่าทีอย่างไร ใช้กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอย่างไร ให้เหมาะสม ที่จะให้เกิดคุณค่าประโยชน์ เกิดผลที่ดีขึ้นมาช่วยเขาได้ ซึ่งเป็นศิลปะในการใช้ท่าทีลีลาโวหาร หรือแม้แต่องค์ประกอบ ของสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาตมามั่นใจว่าได้ใช้ศิลปะในการสร้างสังคม สร้างมนุษยชาติ เพื่อให้เกิด ประโยชน์ และเกิดการพัฒนา แต่ศิลปะที่อาตมาใช้นี้ เป็นศิลปะโลกุตระ เป็นศิลปะที่ไม่เหมือนเขาทำกัน อาตมา ก็ใช้รูป ใช้สี ใช้ปฏิมากรรม ใช้จิตรกรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรี นาฏกรรม แต่ไม่ใช่เพื่อผลโลกีย์ตามที่เขาทำกันเท่านั้น อาตมา ใช้ศิลปะในการทำงานทุกอย่าง จิตรกรรมก็เห็นใช่ไหมว่าอาตมาใช้ แต่ไม่ใช่จิตรกรรมที่ให้ผลแค่โลกีย์ หรือแค่มีความคิด ในเชิงนั้นเชิงนี้เท่านั้น ศิลปะดังกล่าวก็ใช้ด้วยเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ดูรูปปั้นอย่างนี้ อาคาร หรือสิ่งแวดล้อม สถาปัตย์ ที่ประกอบไปด้วย การตกแต่ง มีแม่น้ำ มีลำธาร มีภูเขา ก็เป็นศิลปะซึ่งนำมาใช้ทั้งนั้น

แม้แต่วรรณกรรม ดนตรี เพลง ท่าทีลีลาต่างๆ เมื่อเราเข้าใจแล้วเราก็สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยต้องรู้จัก องค์ประกอบศิลป์ จัด composition ให้เหมาะ รู้จักทฤษฎีการใช้ศิลปะที่เป็น convergence เป็นต้น หลักของศิลปะเขามีอยู่ เช่นจะจัดสรรอย่างไรให้เกิด harmony ขององค์รวม มันจะจัดร่วมอยู่กันอย่างไรจึงจะประสานสมานสามัคคีกลมกลืน อยู่ได้ อย่างพอเหมาะ ทั้งที่มีความต่าง กันอย่างนั้นอย่างนี้ ถึงขั้นขัดกัน contrast ตรงกันข้ามกัน แต่เราก็ทำให้มันประสม ประสาน กลมกลืน อยู่ด้วยกันได้อย่างเป็นเอกภาพ unity อย่างนี้เป็นต้น ศิลปะพวกนี้เราต้องเข้าใจ อาตมาใช้หลักการศิลปะจริงๆ ความรู้ความสามารถพวกนี้ในการทำงาน เกิดสัปปุริสธรรม ๗ ประการของพระพุทธเจ้าคือศิลปะสูงสุดในการจัดสรรสังคม จัดสรรหมู่กลุ่ม เป็นศิลปะชั้นยอดมาก ถ้าใครสามารถเข้าใจ สัปปุริสธรรม ๗ ประการ แล้วก็จัดสรรประมาณได้อย่างลงตัว อย่างถูกธรรมะ ถูกอัตถะ แม้แต่ตัวเราเองก็มีส่วนในนั้นโดยต้องรู้จักประมาณให้พอดี รู้จักกาลเทศะ รู้จักหมู่กลุ่มสังคม ประชุมชน รู้จักบุคคล แล้วก็ทำให้ได้สัดส่วนที่พอเหมาะ ในที่สุดก็จะเกิดประโยชน์ที่พัฒนา เจริญขึ้นตามที่เรามุ่งหมายได้

ถาม : โศลกธรรมในงานมหาปวารณาปีนี้ของพ่อท่านมีว่าอย่างไรคะ
ตอบ : ปีนี้มีโศลกธรรม ๒ โศลก โศลกธรรมภายในของพวกเราก็คือให้พัฒนายิ่งๆขึ้น ให้ดูแลตนเอง ให้จัดสรรตนเอง "เอาแต่ใจตัว คือ ชั่วโดยอัตโนมัติ จะดีได้ต้องหัดให้ หัดเห็นใจคนอื่นเสมอ" อย่าตกคำว่า "เสมอ" นี่คือโศลกธรรม ภายใน ของพวกเราที่จะต้องปฏิบัติเพื่อตนเอง พัฒนาตนเอง ส่วนโศลกสำหรับข้างนอกนั้น "คนจนมหัศจรรย์ คือ ผู้กอบกู้สังคม ให้ไปรอด" นี่คือโศลกที่จะประกาศเปิดเผยให้สังคมภายนอกได้รับรู้ว่า เราจะทำกับสังคมภายนอกอย่างนั้น โดยเราต้องมาเป็น "คนจนมหัศจรรย์"ให้ได้ถึงจิตจริง จึงจะมาเป็น"คนจนมหัศจรรย์"แท้ เราต้องลดละที่ตัวเราให้ได้จริง ไม่ติดยึด ไม่กอบไม่หอบไว้ เป็นตัวเป็นตน ซึ่งในเรื่องของวัตถุแล้วถ้ายังหอบอัตตา หอบกิเลสอะไรอยู่ก็ยังใช้ไม่ได้ ยังไม่จนจริง มีกิเลสเยอะๆนี่ ไม่ใช่ คนจนนะ คนกิเลสเยอะๆเป็นคนรวย หรือยังอยากรวยไม่มีจบอยู่ทั้งนั้น ส่วนคนที่กิเลสลดลงแล้วจะเป็น"คนจน"จริงๆ ยิ่งกิเลสลด ยิ่งจนได้จริง เป็นคนจนมหัศจรรย์ ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าเป็นสุดยอดคนจนมหัศจรรย์ เป็นต้น

ถาม : นัยของโศลกภายในดูเหมือนพ่อท่านจะเน้นลูกๆในเรื่องการละลดอัตตามานะ
ตอบ : ในเรื่องของกาม เรื่องของวัตถุ เรื่องของโอฬาริกอัตตาซึ่งเป็นเรื่องกิเลสที่มันยึดติดเป็นตัวเรา ของเรา เป็นวัตถุ สมบัติพัสถาน เงิน ทอง ข้าวของอะไรต่างๆของเรา เราก็พูดกันมามากแล้ว เข้าใจแล้ว ลดละได้ไม่น้อยแล้ว แต่เรายัง สามารถ ละลดลงไปได้อีก ถ้าใครทำได้เพิ่ม ก็ทำความเจริญให้แก่ตนเอง ส่วนมโนมยอัตตา คือภาพที่หลอกหลอน เสียงที่หลอกหลอน สภาพที่ปั้นอะไรมาหลอกหลอนตัวเองนั้น เราไม่ค่อยมีกันมาก แต่อรูปอัตตานี่สิคือตัวร้าย ร้ายมาก ได้แก่การยึด เอาแต่ใจ ตัวเอง ยึดความรู้ตัวเอง ยึดความเห็นตัวเอง ยึดศักดิ์ศรีของตัวเอง ยึดความเก่งของตัวเอง ยึดความเก๋าของตัวเอง หรือ ยึดอะไร ก็แล้วแต่ ที่มันเป็นอรูป ฉะนั้นต้องตรวจสอบจริงๆว่า อย่ายึดมั่นถือมั่นจนไปกระทบกระเทือนกัน บาดหมางกัน ไม่ประสานกัน ซึ่งทำให้ไม่เป็นพลังร่วม ไม่เป็นกำลังสร้างสรร แตกระแหง ทะเลาะเบาะแว้ง พลังสร้างก็ถอยลดลงไป ความอบอุ่น ก็น้อยลง

เราต้องตรวจสอบให้รู้กิเลสแล้วสังวรระวังละล้างของตัวเองให้ได้จริงๆขึ้นไปเรื่อยๆ อาตมามั่นใจว่า ความเป็นปึกแผ่น ความประเสริฐ ของแต่ละบุคคลจะยิ่งสูงขึ้นๆ แล้วความเป็นปึกแผ่นของสังคม ความเป็นจารีต ประเพณี วัฒนธรรมของ สังคมพุทธ ก็จะปรากฏรูปร่างของความเป็นพุทธที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

ถาม : ถ้าเราไม่มีอัตตายึดเป็นส่วนตัว ก็เท่ากับเราคืนให้แก่ส่วนรวมหมด
ตอบ : ใช่ แต่มันก็ไม่หมดหรอก จะว่าหมดมันก็ไม่ใช่หมดนะ มันจะมีอะไรอยู่ที่เรา ถ้าเราสามารถจะมีความจริงนี้ มีความรู้ ที่ถูกต้องจริงๆแล้ว แต่เราไม่ยึดเอาตามจริงของเรา ตามความรู้ของเรา โดยให้หมู่นี่แหละเป็นผู้ตัดสิน มันก็จะเป็นอย่างเรา ถ้ามันจริง ถ้ามันถูกต้อง หมู่จะรู้จะเข้าใจเอง โดยเราไม่จำเป็นต้องยึดเป็นของเราหรอก โดยให้หมู่นั่นแหละตัดสิน ถ้าเรา ถูกต้องจริง ถ้าเรามีความเชื่อว่า หมู่ทุกคนปรารถนาดี และก็ได้ใช้ปัญญาสุดยอดแล้ว และถ้าหมู่นี้เป็นคนฉลาด ก็ต้อง ตัดสินได้ถูก แต่ถ้าเราจะไปอยู่ในหมู่ของคนโง่ ก็แน่นอน หมู่ของคนโง่จะเอาแต่ของไม่ดี มันก็เป็นของจริง อยู่กับหมู่โง่ เขาก็พา ไปอย่างนั้น แต่คุณอยู่กับหมู่ฉลาด หมู่ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทิศทางเดียวกัน มีศีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา เพราะฉะนั้น ความเห็นก็จะสอดคล้อง เป็นเอกภาพ มันก็จะตัดสินออกมาเป็นค่ารวม มติก็จะออกมาเป็นมติที่ถูกต้อง ด้วยเสียง ข้างมาก หรือเยภุยยสิกาของพระพุทธเจ้า จะออกมาใช้ได้ทุกที เพราะฉะนั้นเราต้องหัดละวางตัวเราเอง ถ้าเรา แพ้มติแล้ว เราก็ต้องยอมให้กับหมู่ เมื่อเราให้ความเห็นออกไปแล้ว เขาไม่เอาหรือแม้แต่ให้ความเห็นออกไปแล้วเขาเอา แม้เขาเอาเป็นของเรา เราก็ยังต้องตัดความเป็นตัวตน ไม่หยิ่งผยองว่าเป็นของเรา เราถูก เราดี เราเก่ง แล้วเราก็หยิ่งผยอง พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้ระวังอุปกิเลสซ้อน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไม่ติดไม่ยึดพวกนี้ แม้จะเป็นสิ่งดี แต่นำมาใช้ประโยชน์ ให้ได้



ครั้งหนึ่งที่เรายังโง่อยู่
เราเสพรสชาติอัตตา
อย่างใหลหลง อย่างมัวเมา
ว่ามันคือสุดยอดแห่งรส.....อร่อย
เราติดกับ.......มันคือเรา และเราคือมัน
มันเจ็บ เราเจ็บ
เมื่อเกิดปัญญา ส่องสว่าง
เรารู้เห็นอัตตา ซ่อนบังอยู่ในตัว
แท้จริง มันไม่ใช่เรา และเราไม่ใช่มัน
แท้จริง มันเจ็บ เราไม่เจ็บ
แท้จริง ถ้ามันตาย เราจะมีอิสระ

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ -