พระอานนทเถระ

สุดยอดรับใช้พุทธองค์
มั่นคงเลิศเพียรเรียนรู้
มีสติอ่อนน้อมน่าดู
สุดสู้สู่ขั้นอรหันต์.

พระอานนทเถระได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆแล้ว เช่น ในอดีตกาลสมัยของ พระพุทธเจ้าองค์ ปทุมุตตระ ได้เป็นโอรสของพระเจ้านันทราช มีพระนามว่า สุมนะ กระทำบุญถวายอุทยานชื่อ โสภณะ แด่พระศาสดา และ ยังทำมหาทานอื่นๆอีกมาก แล้วได้ตั้งจิตแรงกล้าปรารถนาเอาไว้ว่า

"จะเป็นพระอุปัฏฐาก(ผู้คอยรับใช้)ของพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่งในอนาคตกาล"

ครั้นในชาติต่อๆมา ก็ได้บำเพ็ญบุญกุศลอีกมากมาย ชาติแล้วชาติเล่า จนกระทั่งถึงยุคสมัยของพระพุทธเจ้าองค์สมณโคดม ได้เกิดเป็นโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ มีพระนามว่า อานนท์ ซึ่งพระเจ้าสุกโกทนะนั้นเป็นกษัตริย์ศากยวงศ์ เป็นพระอนุชาของ พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะนั่นเอง

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชแล้ว กระทั่งบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหล่าเจ้าชายแห่งศากยวงศ์จึงพากันบวชตาม เจ้าชาย อานนท์ก็เป็นผู้หนึ่งที่บวชอยู่ในพระพุทธศาสนา

ต่อมาบวชได้ไม่นานนัก มีโอกาสฟังธรรมจากพระปุณณมันตานีบุตร ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ได้เป็นภิกษุผู้บรรลุโสดาปัตติผล (อริยบุคคลขั้นต้น)แล้ว

วันเวลาล่วงเลยไป เมื่อพระศาสดาเริ่มย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ ทรงมีพระประสงค์ผู้อุปัฏฐากประจำ มิใช่เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเปลี่ยน ผู้อุปัฏฐากไปเรื่อย ได้แก่ พระนาคสมาละ พระนาคิตะ พระอุปวานะ พระสุนักขัตตะ พระจุนทสมณุทเทส พระสาคิตะ พระเมฆิยะ

ดังนั้นพระอัครสาวกทั้งสองและบรรดามหาสาวกต่างพากันอาสาเป็นผู้อุปัฏฐากประจำตัวพระองค์ แต่พระศาสดา ทรงห้ามเสีย ส่วนภิกษุอานนท์นั่งนิ่งเฉยอยู่ ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวขึ้นว่า

"ท่านอานนท์ ท่านจงวิงวอนขอเป็นอุปัฏฐากประจำของพระศาสดาเถิด"

อานนทภิกขุจึงกราบทูลกับพระศาสดาว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอพร ๘ ประการ ถ้าทรงประทานให้ ข้าพระองค์จะเป็นอุปัฏฐากประจำตัว ของพระผู้มี พระภาคเจ้าทันที คือ

๑. จีวรอันประณีตที่พระองค์ได้มา จะต้องไม่ให้แก่ข้าพระองค์

๒. บิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้มา จะต้องไม่ให้แก่ข้าพระองค์

๓. จะต้องไม่ให้ข้าพระองค์พักอยู่ในพระคันธกุฎี(ที่พักของพระพุทธเจ้า)เดียวกันกับพระองค์

๔. จะต้องไม่พาข้าพระองค์ไปยังที่ที่นิมนต์

พรทั้ง ๔ ข้อนี้ ข้าพระองค์ขอไว้เพื่อปลดเปลื้องคำติเตียนที่จะกล่าวหาว่า อุปัฏฐากพระศาสดาด้วยหวังผลประโยชน์

๕. พระองค์จะต้องเสด็จไปยังที่นิมนต์ ซึ่งข้าพระองค์รับไว้แล้ว

๖. ถ้ามีผู้มาจากแดนไกล ข้าพระองค์สามารถนำเข้าเฝ้าได้ในทันที

๗. เมื่อใดเกิดความสงสัยขึ้น ขอข้าพระองค์เข้าเฝ้าถามได้เมื่อนั้น

๘. พระองค์แสดงธรรมใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ขอทรงแสดงธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์ซ้ำอีก

พร ๔ ข้อหลังนี้ ข้าพระองค์ขอไว้เพื่อป้องกันคำสบประมาทว่า เป็นอุปัฏฐากเสียเปล่า แม้เรื่องเท่านี้ก็ช่วยเหลือไม่ได

นี้คือพรทั้ง ๘ ประการที่ขอกับพระองค์"

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ประทานพรให้ทั้งหมด ภิกษุอานนท์จึงได้เป็นผู้อุปัฏฐากประจำตัวของพระศาสดาตั้งแต่นั้นมา ได้กระทำกิจทั้งหลาย เช่น ถวายน้ำสรง(น้ำอาบ) ๒ ครั้ง ถวายไม้ชำระพระทนต์(ไม้สีฟัน) ๓ ครั้ง ช่วยบีบนวดมือ เท้า และ หลัง ปัดกวาดที่พักอาศัย ดูแลทั้งหาสิ่งที่ควรให้ในเวลากลางวัน แล้วจุดโคมไฟให้ในเวลากลางคืน เป็นเวรยามคอยไปมา ที่พักของพระศาสดา ๙ ครั้ง เพื่อคอยรับใช้เมื่อถูกเรียกหา ทั้งเพื่อบรรเทาความง่วงเหงาหาวนอนอีกด้วย

อานนทภิกขุเป็นอุปัฏฐากคอยติดตามอยู่เบื้องหลังพระศาสดาถึง ๒๕ ปี ได้ฟังธรรมจากพระศาสดามากมาย เป็นเสมือน ผู้รักษา คลังพระธรรมของพระพุทธเจ้า แม้จะยังเป็น พระเสขบุคคล(ผู้ยังต้องศึกษาอยู่) แต่กามสัญญา (ความทรงจำ ในเรื่องกาม) ไม่เกิดขึ้นเลย โทสสัญญา(ความทรงจำในเรื่องโกรธ)ไม่เกิดขึ้นเลยตลอด ๒๕ ปีนั้น

ภิกษุอานนท์ เป็นผู้มีความเพียร ประกอบด้วยปัญญา ฉลาดในการฟังมากและทรงจำไว้ได้ เป็นผู้คงแก่เรียน มีความประพฤติ อ่อนน้อม ไม่กระด้าง ชำนาญในบาลีทั้งปวง ดังนั้นแม้จะเป็นพระเสขบุคคลอยู่ แต่พระศาสดาก็ทรงแต่งตั้งให้เป็น ผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหมด ในด้านความเป็นพหูสูต(ฟังจำเรียนรู้มาก) เป็นผู้มีสติ(ระลึกได้ไม่เผลอ) เป็นผู้มีคติ(อัชฌาสัยดี) เป็นผู้มีฐิติ (ความเพียรมั่นคง) และเป็นผู้เลิศในการอุปัฏฐาก

มีอยู่คราวหนึ่ง ณ กรุงโกสัมพีในแคว้นวังสะ เมื่อพระเจ้าอุเทนกับพระมเหสี และเหล่านางสนม ประทับอยู่ในพระราชอุทยาน พร้อมด้วยข้าราชบริพาร พระมเหสีได้สดับข่าวว่า พระอานนทเถระพักอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งใกล้พระราชอุทยาน จึงทูลขอ พระเจ้าอุเทน เพื่อไปเยี่ยมเยียน

พอได้เสด็จไปพบพระอานนทเถระแล้ว ก็ถวายอภิวาท(กราบไหว้) นั่ง ณ ที่ควร พระเถระ ก็ได้สนทนาด้วย ชี้แจงธรรม ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน (ถือปฏิบัติ) ให้อาจหาญและร่าเริงในธรรม ก่อนจะกลับพระมเหสีและพวกนางสนม ได้ถวายผ้านุ่งห่ม ๕๐๐ ผืนแก่พระเถระ

ครั้นเมื่อพระเจ้าอุเทนทอดพระเนตรเห็นพระมเหสีกลับมาถึงแล้ว ได้ตรัสถามว่า

"พวกเธอไปเยี่ยมพระคุณเจ้าอานนท์แล้วหรือ"

"เพคะ และได้ถวายผ้านุ่งห่ม ๕๐๐ ผืน แก่พระคุณเจ้าด้วย"

ทรงสดับอย่างนั้น พระเจ้าอุเทนทรงเพ่งโทษตรัสติเตียนขึ้นมาทันที

"ไฉนพระคุณเจ้าอานนท์จึงรับจีวรไว้มากถึงเพียงนั้น สงสัยจะทำการค้าขายผ้า หรือจะตั้งร้านค้า"

แล้วก็เสด็จในทันที ไปหาพระอานนทเถระถึงที่พัก ทรงปราศรัยกับพระเถระพอประมาณแล้ว ก็ตรัสถามว่า "พระคุณเจ้า อานนท์ มเหสีของข้าพเจ้ามาหาแล้วหรือ"
"มาแล้ว มหาบพิตร"
"พวกพระนางถวายอะไร แก่พระคุณเจ้าบ้าง"
"ถวายผ้าจีวร ๕๐๐ ผืน"
"ก็แล้วพระคุณเจ้าจะทำอะไรกับผ้าจีวรมากมายเพียงนั้นเล่า"
"อาตมาภาพจะแจกให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า"
"ก็แล้วภิกษุทั้งหลายพอได้จีวรใหม่แล้ว จะทำอย่างไรกับจีวรผืนเก่าเล่า"
"จะนำจีวรผืนเก่าไปใช้เป็นผ้าดาดเพดาน(ผ้าขึงไว้บนเพดาน)"
"ก็แล้วผ้าดาดเพดานผืนเก่าเล่าจะทำอย่างไร"
"จะนำผ้าดาดเพดานผืนเก่า ไปใช้เป็นผ้าปูฟูก(ผ้าปูที่นอน)"
"ก็แล้วผ้าปูฟูกผืนเก่าเล่าจะทำอย่างไร"
"จะนำผ้าปูฟูกผืนเก่า ไปใช้เป็นผ้าปูพื้น"
"ก็แล้วผ้าปูพื้นผืนเก่าเล่าจะทำอย่างไร"
"จะนำผ้าปูพื้นผืนเก่า ไปใช้เป็นผ้าเช็ดเท้า"
"ก็แล้วผ้าเช็ดเท้าผืนเก่าเล่าจะทำอย่างไร"
"จะนำผ้าเช็ดเท้าผืนเก่า ไปใช้เป็นผ้าเช็ดฝุ่น"
"ก็แล้วผ้าเช็ดฝุ่นผืนเก่าเล่าจะทำอย่างไร"
"อาตมาภาพจะตำผ้าเช็ดฝุ่นผืนเก่าให้แหลก นำไปขยำกับโคลน แล้วใช้ฉาบทาฝา มหาบพิตร"

ทรงสดับคำตอบอย่างนั้น พระเจ้าอุเทนทรงดำริว่า "พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ นำผ้าไปใช้ได้ประโยชน์ แยบคาย ดีแท้" จึงได้ถวายผ้าอีก ๕๐๐ ผืน และสิ่งของอื่นๆอีกแก่พระเถระ ในคราวนั้นนับเป็นครั้งแรก ที่บังเกิดจีวรถึง ๑,๐๐๐ ผืน แก่พระอานนทเถระ

พระเถระนี้เป็นอุปัฏฐากประจำตัวของพระศาสดา จนกระทั่งพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน แล้วหลังจากนั้น ๓ เดือน ก็จะมีการกระทำสังคายนาขึ้นครั้งแรก ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ในแคว้นมคธ ซึ่งล้วนแต่เป็น พระมหาเถระ ผู้เป็นพระอรหันต์แล้วทั้งสิ้น รวมได้ ๔๙๙ องค์ ยังขาดอยู่แต่พระอานนทเถระที่ยังเป็นเสขบุคคลอยู่เท่านั้น พระเถระ จึงบังเกิดความคิดว่า

"พรุ่งนี้แล้วหนอ พระมหาเถระทั้งหลายจะร่วมทำการประชุมตรวจชำระพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ คำสั่งสอนของ พระศาสดา จะได้ลงกันเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เรายังเป็นอเสขบุคคล ช่างไม่สมควรที่เราจะร่วมประชุม ด้วยเลยหนอ"

ดังนั้นพระอานนทเถระจึงเพ่งเพียรกระทำวิปัสสนา(อบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง)อย่างหนัก ตลอดทั้งกลางวัน และ กลางคืนยันรุ่ง แต่ก็ไม่อาจบรรลุได้ จนในที่สุดก็อ่อนล้า ต้องเข้าสู่พระวิหารหมายที่จะพัก ขณะที่เอนกายลงยังที่นอน ศีรษะ ยังไม่ทันถึงหมอน เท้าทั้งสองเพียงพ้นจากพื้น ในขณะเวลานั้นเอง จิตของพระเถระก็หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ด้วย ความไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งได้แล้ว

พระอานนทเถระเป็นผู้มีคุณวิเศษมากมาย ได้แก่ บรรลุวิชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ และวิโมกข์ ๘ อีกทั้งยังมีอัพภูตธรรม (ธรรมน่าอัศจรรย์) ๔ ประการด้วยคือ
๑. พุทธบริษัทต่างปรารถนาพบเห็นพระอานนท์
๒. มีจิตยินดีที่ได้พบเห็นพระอานนท์
๓. ยินดีที่ได้ฟังธรรมจากพระอานนท์
๔. ไม่อิ่มที่จะฟังธรรม แม้พระอานนท์จะหยุดแสดงธรรมแล้วก็ตาม

พระอานนทเถระใช้เวลาส่วนมากในการอบรมสั่งสอนพุทธบริษัททั้งปวง ทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนาอย่างใหญ่หลวง จนกระทั่ง อายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานที่บนแม่น้ำโรหิณี อันเป็นเส้นกั้นกลางพรมแดนระหว่างแคว้นสักกะของ ศากยวงศ์ กับ แคว้นโกลิยะของโกลิยวงศ์ เพื่อให้พระญาติทั้งสองฝ่ายรู้จักประนีประนอมเข้าหากัน

- ณวมพุทธ -
พฤหัสบดี ๑๐ พ.ย. ๒๕๔๘
(พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๕
พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๙๗
พระไตรปิฎกเล่ม ๓๒ ข้อ ๑๒
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๗ หน้า ๓๐๐
อรรถกถาแปลเล่ม ๗๐ หน้า ๖๔๙
พจนานุกรมพุทธศาสน์ : ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

- สารอโศก อันดับที่ ๒๘๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ -