เหตุปัจจัยที่เกิดชุมชนชาวอโศก

คำถาม : แรงบันดาลใจที่ทำให้ความคิด ขบวนการทำความคิด ให้เป็นรูปธรรม

พ่อท่าน : ไม่มีความคิดบันดาลใจอะไรเลย ที่เกิด ที่สร้างชุมชนขึ้นมาเนี่ย สร้างขึ้นเพราะมันต้องเกิดขึ้น ตามเหตุปัจจัย ที่มีจริง ไม่ใช่เกิดเพราะ เราอยากสร้างชุมชน ไม่เคยมีความคิดว่า จะสร้างชุมชนมาแต่เดิม ไม่คิดใหญ่ คิดโตแบบนั้น จริง คนที่เขาอยากคิดสร้างชุมชน มีแน่นอน มีคนที่เขาคิดจะสร้างชุมชนมี แต่อาตมานี่ ไม่ได้มีความคิด ที่จะสร้าง ชุมชนเลย แต่ชุมชนนี้มันเกิด เพราะเหตุปัจจัย ของสัจจธรรม เกิดเหตุปัจจัยจากผู้คน อันนี้คำถามเชิงนี้ดี มันเกิดจาก ปัจจัยของ ผู้คนที่ได้ปฎิบัติธรรม เมื่อได้ปฏิบัติธรรมแล้ว มันก็เกิดปฏิภาณ เกิดปัญญา เกิดความรู้ขึ้น ในตัวเขา ความรู้คือ เมื่อเขาได้ปฏิบัติธรรมแล้ว เขาก็เห็นว่า การที่มีคน ที่เป็นมิตรดี มาเป็นมิตร เป็นสหาย ลักษณะเดียวกัน เดินไปในทางเดียวกัน มีความรู้ ไปในทางเดียวกัน ตั้งแต่ผู้สอน ผู้บรรยาย ผู้ปฏิบัติร่วมกัน ผู้มาปฏิบัติประพฤติ ได้มรรคได้ผล ไปทางเดียวกันเนี่ย มันเป็นมิตร เป็นสหาย อันจะต้อง คบคุ้นกัน อยู่ด้วยกัน อยู่รวมกัน ความคิดอันนี้ เป็นสัจจธรรม มันเกิดขึ้นจริงของมันจริง จึงมีความคิดกันเองว่า ตั้งแต่แรกเริ่มนั้น อาตมาจำได้ว่า เกิดจาก คนอยาก มาอยู่ใกล้วัด มาฟังธรรมมากขึ้น มามีหมู่มวล ที่มากขึ้น ก็เลยเกิด มาซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน ใกล้วัดขึ้น แต่ก่อน มีแต่ที่ สันติอโศก ทีนี้สันติอโศก มันเมืองกรุง ที่ทางมันก็หายาก มีคนมาซื้อมาอะไรหน่อย มันก็เต็มแล้ว ก็คับคั่ง ก็แน่นแล้ว  ทีนี้คนก็มากขึ้น เมื่อคนมามากขึ้น ก็มีความคิด...ก็... คุณจำลอง ศรีเมือง นี่เอง ที่มีความคิดว่า ถ้าอย่างนี้ มันน่า จะมีพื้นที่ แผ่นดินที่พวกเราเนี่ย เข้าไปรวมตัว อยู่เป็นหมู่เป็นกลุ่มกัน เพราะอยู่ที่ สันติฯ มันขยายไม่ออกแล้ว จึงได้ไปหาพื้นที่กัน ไปหาแผ่นดินกัน ตอนนั้นก็โอ้โห... ไปหากันใหญ่เลย ที่ไหนๆ ก็ตระเวนไปหา... สุดท้าย ก็ได้ที่นครปฐม แล้วจึงเป็นที่แห่งแรก ที่ตั้งเป็นหมู่บ้านกันขึ้นมา เรียกว่า ปฐมอโศก มีคนเข้ามารวมอยู่กัน จึงเกิด ชุมชนหมู่บ้านขึ้นมา เมื่อเกิด ชุมชนหมู่บ้านขึ้นมา เราก็พยายามหาธรรมะ ที่จะอยู่รวมกัน อย่างไรดี จึงกลายเป็น หมู่บ้าน ที่เป็นนักปฏิบัติธรรม โดยยืนอยู่บนหลักของศีล ของธรรม

เพราะฉะนั้น หลักศีลธรรมอะไร ที่ควรจะมี ก็เลยมีมาตรการศีลห้า ศีลแปด ตอนนั้น เราเคร่งครัดนะ ศีลแปดเชียวนะ สร้างหมู่บ้าน ชุมชนปฐมอโศกน่ะ ใช้หลักศีลแปดเลย เริ่มแรกน่ะ เป็นหมู่บ้านศีลแปดเลย ตอนหลังๆ มาก็เห็นว่า ศีลแปดมันไม่ไหว ก็เลยลดลงมา เป็นศีลห้า จึงเป็นศีลห้า เป็นพื้นฐาน ในการอยู่รวมกัน อย่างนี้เป็นต้น ก็กลายเป็น หมู่บ้านชุมชน ตั้งแต่บัดนั้นมา ประพฤติปฏิบัติธรรมมา จนถึงทุกวันนี้เลย ยืนยันได้เลยว่า เป็นหมู่บ้านที่มีศีลห้า เป็นหลักที่แท้จริง ทั้งหมู่บ้านเลย ทั้งชุมชนเลย แล้วมันก็แน่นอน มันอบายมุข มันยิ่งกว่าศีลห้าอีก มันไม่มีเหล้า ไม่มีบุหรี่ หมากพลูอะไร ก็ไม่มีทั้งนั้น อะไรอย่างนี้เป็นต้น เป็นหมู่บ้านที่ ปราศจากอบายมุข และยิ่งพวกเราไม่กิน เนื้อสัตว์ด้วย เลยกลายเป็นหมู่บ้าน ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็เลยเป็นการเกิดหมู่บ้านชุมชน ที่มีวัฒนธรรมพื้นฐาน คือ ๑.มีศีลห้า ๒.ไม่มีอบายมุข ๓.ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงเป็น ๓ ข้อหลัก ของวัฒนธรรมชาวอโศก ที่เกิดขึ้น โดยสัจจธรรม ไม่ได้อยากตั้ง อยากสร้างหมู่บ้านเลย  แล้วต่อมา พวกเราก็ได้ยึดเอาหลัก ๓ ข้อที่ว่า เป็นเกณฑ์หลัก ในการสร้างชุมชน หลังจากชุมชน หมู่บ้านปฐมอโศก ก็ได้เกิด ชุมชนหมู่บ้านอื่นๆ ขึ้นมาอีก ตามลำดับ อย่างเช่น ศีรษะอโศก ศาลีอโศก ซึ่งเมื่อก่อนนี้ มีแต่สมณะเราไปปักกลด หรือบำเพ็ญ อยู่ในป่าช้า แล้วก็มีผู้คน มาปฏิบัติธรรมด้วย จนกระทั่งเห็นว่า มันมีที่พักที่อาศัย อยู่ในที่ป่าช้านั้น ก็ค่อยๆ ทำกระต๊อบทำอะไร ที่อยู่อาศัยกันขึ้นมา แล้วก็เกิดตั้งเป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชน ขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เอาหลักเกณฑ์ อย่างปฐมอโศกนี้ไป ก็เลยกลายเป็นหมู่บ้าน ที่มีวัฒนธรรม มีหลักเกณฑ์ อย่างนี้ขึ้นมา

สรุปว่า ไม่ได้มีอะไรเป็นสิ่งบันดาลใจ เป็นสิ่งอะไร ที่มันทำให้เกิดความอยาก จะสร้างหมู่บ้าน ไม่ได้อยากจะสร้าง แต่เกิดตามธรรมชาติ จากการปฏิบัติธรรม มันเป็นไปตามธรรม

ถาม : มีปัญหาอุปสรรคหรือไม่?

ตอบ : โอ๊ะอุปสรรค มันก็ต้องมี แต่อุปสรรคเหล่านั้น อาตมาไม่ถือว่า เป็นอุปสรรคที่หนัก แต่คนอื่น เขาอาจจะถือว่า เป็นอุปสรรคที่หนัก เช่นว่า จะสร้างได้ยังไง หมู่บ้านที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมู่บ้าน ชุมชนไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งชุมชน มีศีลกันทั้งหมู่บ้าน จะคัดคนมายังไง จะมาอยู่ได้อย่างไร ไม่มีอบายมุขเลย ทั้งหมู่บ้าน มันจะเป็นไปได้อย่างไร นี่มันไม่ใช่ เรื่องง่ายนะ ฉะนั้น ถ้าจะสร้างหมู่บ้านชนิดนี้ ก็คงมีอุปสรรค เยอะมากทีเดียว เพราะว่าเขาไม่ได้มี จุดเริ่มต้น เขาไม่ได้ทำมาแต่เริ่มนั้น๑  ๒.หลักธรรม สัจจธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ถ้ารู้ไม่สัมมาทิฏฐิ หรือเข้าใจ ไม่สัมมาทิฏฐิ หรือไม่รู้ในรายละเอียดต่างๆ หรือขยายความ แสดงอุเทศน์ นิเทศน์อะไรต่างๆ บรรยายต่างๆ ในธรรมะของ พระพุทธเจ้า ให้ละเอียดลออ ให้ฟังดีๆ มันก็จะไม่เข้าใจถึง ไม่ลึกซึ้งพอ หรือไม่ชัดเจนพอ เหมือนหงาย ของที่คว่ำ อย่างที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสเนี่ย หรือเหมือนจุดไฟในที่มืด อย่างนี้ คือถ้าไม่ขยายความรู้ ที่ชัดเจน อะไรอย่างนี้ มันก็คงยาก นี่ก็คืออุปสรรค

แต่อาตมาถือว่า มันก็ยาก แต่มันก็ไม่ยากเกินไป อย่างที่มันค่อยๆ เป็นไป ตามเหตุปัจจัย มันค่อยๆ เกิด จนมาถึง วันนี้แล้ว อาตมาก็ยังเอะใจอยู่ว่า เออ..มันเป็นไปได้ ถึงขนาดนี้หรือ มันไม่เป็นอุปสรรคอะไร ยังอัศจรรย์ใจ ด้วยซ้ำไปว่า มันเป็นไปได้ขนาดนี้หรือ อัศจรรย์ใจ ที่เป็นไปได้

ถาม : แสดงว่าบรรลุจุดประสงค์ หรือความคาดหวัง?

ตอบ : อย่างที่พูด ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้คาดหวัง แต่มันเห็นเป็นไปตามธรรม ที่มันมีทิศทาง ของพระพุทธเจ้า นำพามา เอาหลักธรรมต่างๆ ของพระพุทธเจ้า มาตรวจ มาสอบ แล้วมันเข้าหลัก เข้าธรรม ของพระพุทธเจ้า ไปเรื่อยๆ เลย มันเห็นชัดเจนเลยว่า มันตรงตามหลักธรรม ของพระพุทธเจ้า เลยนะ มันเกิดเมตตา กายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม การไม่กินเนื้อสัตว์นี่คือ เมตตา มโนกรรม หรือหลักธรรม ข้ออื่นๆ ต่างๆนานา เอามาเทียบเคียง ตรวจสอบ มันก็เข้าหลัก เข้าเกณฑ์ อย่างลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ

ถาม : เมื่อเกิดชุมชนแล้วเนี่ย พ่อท่านมีความคาดหวัง ต่อไปในอนาคตไว้หรือไม่ว่า จะมีผลไปอย่างไร แบบไหน?

ตอบ : อาตมาไม่คาดหวัง แต่..มันก็มีความควรได้ควรเป็น ไม่เรียกว่าคาดหวัง ไม่เรียกว่า ไปสร้างความหวัง เอาไว้ทีเดียว อาตมาว่า อาตมาแยกคำว่า ความหวัง หรือ ความคาดหวังว่าจะได้ กับคำว่า ความควรได้ควรเป็น ซึ่งทั้งสองคำนี้ มันมีแรงแห่งความอยาก ต่างกันบ้าง จะบอกว่ามันอยาก หรือมันต้องการ มันก็มีความต่างกัน  ไม่คาดหวัง แต่ก็มีความเข้าใจว่า มันควรได้ ควรเป็น  เช่นว่า มันควรจะเจริญขนาดไหน มันก็ควรจะเป็นขนาดนี้ ควรจะเป็นขนาดนั้น ยกตัวอย่างเช่น บ้านราชฯ นี่ควรจะมีคนสัก ๑,๐๐๐ คนนะ ซึ่งอาตมาไม่คาดหวังนะ ว่าจะเป็น ๑,๐๐๐ คนได้หรือไม่ ฟังเข้าใจใช่ไหม? เพราะฉะนั้น อาตมาก็เปรยๆ ไป พูดไป แนะนำบอกกันไป หรือจะเป็นเชิง ถึงขั้น ปลุกเร้าให้พวกเรา มารวมกันอยู่ครบ ๑,๐๐๐ คน บ้างก็ตาม อาตมาก็แสดง ให้เห็นอยู่รู้อยู่ แต่ในจิตของ อาตมานั้น ถ้าจะหวัง หรืออาการของจิตหวัง ว่าคืออย่างไร อาตมาก็ว่า ไม่ถึงขนาด จิตหวังอย่างนั้น อาตมาเข้าใจว่า คำว่าความหวังหรือ ความคาดหวัง นี่คือ ความต้องการจะให้เข้าเป้า และจะต้องได้ ต้องเป็น มันเป็นความยึดถือ เข้าไปตรงนั้น อาตมาว่า อาตมาไม่มีความยึดถือ เข้าไปตรงนั้น เพราะฉะนั้น จะเข้าเป้า หรือไม่เข้าเป้า อาตมา ไม่มีปัญหา ไม่ทุกข์ แต่ถ้าจะถามว่า ยินดีมั้ย ถ้าเป็นไปได้ พูดตรงๆ มันก็ว่า ก็ยินดี ก็มุทิตา ก็มันเกิดดีจริงๆ มันไม่ใช่ เรื่องเสียหายอะไร มันเป็นเรื่องเจริญ มันเป็นเรื่องดี แต่จะบอกว่า มันฟูใจมั้ย อาตมาว่า อาตมาไม่ฟูใจอะไร ไม่กระดี๊กระด๊า ฟูใจอะไร... อาตมาเข้าใจ จิตพวกนี้ ว่ามันจะเกิดปีติ เกิดฟูใจอะไรพวกนี้ อาตมารู้ เพราะฉะนั้น อาตมาคิดว่า อาการสิ่งเหล่านี้ ไม่ค่อยมี หรือไม่มีด้วย ฉะนั้นคิดว่า ไม่มีปัญหา

ถาม : คน ๑,๐๐๐ คน จะไปได้จริงหรือ แล้วจะสร้างวัฒนธรรมได้จริง

ตอบ :  ก็บอกแล้วไงว่า ควรจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนั้น อยู่ไปก็ปฏิบัติไป มันจะต้องยังงัยล่ะ.. มันก็ต้อง อย่างนี้แหละ ต้องบอกกันให้เข้าใจ ให้รู้นะ มันจะเป็นอย่างนี้นะ เป็นเหตุเป็นผลงัย ว่ามันจะดีอย่างไร อะไรอย่างไรบ้าง จะเรียกว่า เป็นการชี้ชวนก็ชี้ชวน เหตุแวดล้อม อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ชี้ชวนไป ทำไป ส่วนจะได้ หรือไม่ได้ ก็บอกแล้วว่า ในเรื่องของจิต อาตมาไม่ตั้งค่าอะไรไว้ ว่าจะต้องให้เป็น อย่างหวัง เป็นอย่างนั้น อย่างจริงจัง ที่จริงทำจริง แต่ไม่ต้องมีจิตที่ว่า เป็นได้จริง หรือไม่ได้จริงแล้ว จะดีใจเสียใจอะไร ก็ไม่ใช่

ถาม : ถ้าคน ๑,๐๐๐ คน วัฒนธรรม เกิดหรือหยั่งลงรากลึก แน่นอนใช่ไหม?

ตอบ :  ใช่ อาตมาว่าคน ๑,๐๐๐ คนนี่ จะมีรูปธรรม ในการดำเนินชีวิต ก็จะมีทั้งการสร้างงาน การเกิดผล ทั้งการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งเห็นว่า ในเรื่องของการงาน หรือสิ่งที่เป็น สังคมมนุษย์ ที่เขามีอะไรต่ออะไร เกิดขึ้น ในกิจกรรม หรือ การงานของมนุษย์ มันคงจะแข็งแรง หรือมันเป็นรูปธรรม เป็นผลอะไรต่ออะไรขึ้น ซึ่งในระบบ ของบุญนิยม หรือในระบบของ สาธารณโภคีนี่ มันเป็นสิ่งที่อาตมาว่า มันสวยงาม มันประเสริฐ แหมอาตมา มีวจีสังขาร คำว่า วิเศษ ด้วยซ้ำไปนะ มันดีงาม มันประเสริฐ มันวิเศษ พูดเลยก็ได้ มันเป็นเรื่อง วิเศษเลยจริงๆว่า ในหมู่ชน ที่มาทำงานร่วมกัน ถึง ๑,๐๐๐ คน ในชุมชนเดียว ชุมชนนี้มีมวล มีพลเมือง มีประชากรถึง ๑,๐๐๐ คน แล้วก็มาทำหน้าที่ แบ่งกันทำ ส่วนนั้นส่วนนี้ คนละหน้าที่ ทำงานอันไม่มีโทษ เป็นอนวัชชะ อย่างแท้จริง แล้วก็รังสรรค์ สร้างสรรกัน ทุกคนทำงานฟรี ทุกคนรังสรรค์ เพื่อให้เกิดผลงานเท่านั้น ไม่ได้มาล่าลาภ ล่ายศ ล่าสรรเสริญโลกียสุข อย่างที่เขาแย่งกัน อาตมาว่า มันเป็นพฤติกรรม เป็นอิริยบทของผู้คน ที่มีทั้งการงาน มีทั้งบทบาทลีลา แล้วสิ่งที่เกิดที่เป็น มันก็จะ มีทั้งผลผลิต มีวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน ซื้อขาย จ่ายแจกเจือจาน เกื้อกูล อยู่กินใช้จ่าย อะไรต่างๆนานา เหมือนสังคมทั้งหลายเขา แล้วมันก็จะมีอะไรต่ออะไร อีกมากมาย ตอนนี้ อาตมาเรียบเรียงไม่ทัน จะต้อง ไปนั่งเรียบเรียงอีก ตอนนี้อาตมาก็พูดได้ เป็นปัจจุบัน เท่านี้ก่อน ซึ่งมันจะดูประเสริฐ น่าดูเลย

สัมภาษณ์พ่อท่าน /ต้นปี 2552 / ส่งคุณ ดาวเพ็ญ นาวาบุญนิยม