๑๗. ร่วมกันสู้ หน้า ๑๙๖

ปฏิกิริยาในต่างแดน

การใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชน ในครั้งนี้ รู้ถึงไหน ก็อายไปถึงนั่น ประเทศต่างๆ พากันเศร้าสลด และรุมประท้วง หลายประเทศ ประกาศตัดความช่วยเหลือ ที่เคยมีกับประเทศไทย เป็นเหตุการณ์ รุนแรงที่สุด ที่ประเทศไทย ถูกประเทศต่างๆ ประท้วงถึง ๒๒ ประเทศ เช่น

สหรัฐฯ นางมาร์กาเร็ต ทัตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ระบุว่า การกระทำ ของรัฐบาลไทย เป็นเรื่อง เกินกว่าเหตุ ป่าเถื่อนและโหดเหี้ยม เกินกว่าจะยอมรับได้ สหรัฐฯ ประกาศ ตัดความช่วยเหลือไทย ด้านเศรษฐกิจ และ ความมั่นคง ยกเลิกการซ้อมรบ ร่วมกับทหารไทย พร้อมกับเสนอ หนังสือประท้วง อย่างเป็นทางการด้วย

อังกฤษ รัฐบาลอังกฤษ เรียกทูตไทยเข้าพบ เพื่อยื่นหนังสือประท้วง ด้วยการไม่ให้เครื่องบิน บริติชแอร์เวย์ บินมาไทย
และแสดงความเศร้าสลด ที่ประชาชนถูกสังหาร พร้อมกับเรียกร้อง ให้รัฐบาลไทย ปล่อยผู้ชุมนุมประท้วง ที่ถูกจับกุมไป

ออสเตรเลีย นายพอล คีทติง นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า ตกใจจนขนหัวลุก กับการใช้กำลัง เข้าปราบครั้งนี้ เป็นโศกนาฏกรรม ที่น่าสยดสยองอย่างยิ่ง ออสเตรเลีย ประกาศทบทวน ความสัมพันธ์ทั้งหมด ที่มีกับไทย

นิวซีแลนด์ ก็เช่นกัน ขณะเดียวกัน กลุ่มประชาคมยุโรป อีก ๑๒ ประเทศ เริ่มตั้งข้อสังเกตว่า จะค้าขายกับเรา ต่อไป หรือไม่

ญี่ปุ่นนั้น ประกาศหยุด การประกอบกิจการ บางประเภทไว้ชั่วคราว

สวีเดน นายกรัฐมนตรีสวีเดนกล่าวว่า การที่รัฐบาลใช้กำลัง เข้าปราบปราบ ประชาชนนั้น นับเป็นความล้มเหลว ที่สุด ของประชาธิปไตย ในเมืองไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ปล่อยผู้เรียกร้อง ประชาธิปไตย ที่ถูกจับกุมทุกคน โดยด่วน

แคนาดา รัฐมนตรีฝ่ายกิจการค้าต่างประเทศ ของแคนาดา ประกาศระงับ การขายอาวุธยุทโธปกรณ์ ทุกชนิด ให้กับไทย และระงับการแลกเปลี่ยน ทางการทหาร ทุกชนิดด้วย พร้อมกับยกเลิก การเดินทางของ รัฐมนตรีกลาโหม แคนาดา ที่จะมาเมืองไทยด้วย

มีข้าราชการที่จะได้ไปดูงาน บางประเทศ เขาของด

ส่วนข้าราชการที่ได้ไป ก็ไม่ได้รับการต้อนรับ

ทีนี้หันไปฟัง ความคิดเห็นของสื่อมวลชน ในต่างประเทศบ้าง ซึ่งให้ความสนใจมาก ต่อเหตุการณ์ รุนแรง ที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย

สำนักข่าวเอพี เสนอบทวิเคราะห์ว่า สาเหตุเกิดจาก ความขัดแย้ง ระหว่างทหาร ที่สืบทอด อำนาจเผด็จการ กับขบวนการ เรียกร้อง ประชาธิปไตย ที่แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ผู้ชุมนุมประท้วง ส่วนใหญ่ มาจากคนชั้นกลาง ที่มีการศึกษา ไม่พอใจ ที่ทหาร ใช้กำลัง เข้ายึดอำนาจ

นิตยสารไทมส์ เขียนบทบรรณาธิการไว้ว่า ประเทศไทยรุ่งเรือง ทางเศรษฐกิจ แต่ล้าหลัง ทางการเมือง ในระบอบ ประชาธิปไตย การเรียกร้องประชาธิปไตย ด้วยเลือดเนื้อ และชีวิต ได้เกิดขึ้น อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเคยเกิดมาแล้ว

หนังสือพิมพ์ ดิอินเดอเพนเดนท์ เสนอบทวิเคราะห์ว่า ในประเทศไทย ทหารเป็นผู้กุมอำนาจ ทางการเมือง ส่วนเรื่องที่ พลเอกสุจินดา อ้างว่า คอมมิวนิสต์ อยู่เบื้องหลัง การประท้วงนั้น คอมมิวนิสต์ ได้สูญหายไปนานแล้ว เชื่อถือไม่ได้

หนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ ของอังกฤษ กล่าวไว้ในบทบรรณาธิการว่า พลเอกสุจินดา เลือกที่จะใช้ กำลังทหาร เข้าปราบปราบ ประชาชน มากกว่าจะยอมทำตาม คำเรียกร้อง ของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อรักษาตำแหน่งไว้ เชื่อว่า ไม่สามารถ หยุดยั้ง การปฏิวัติสังคมไทยได้

หนังสือพิมพ์ เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล ของสหรัฐฯ ให้ความเห็นไว้ ในบทบรรณาธิการว่า การตัดสินใจของ พลเอกสุจินดา ให้ทหารยิงประชาชน เป็นการทำลาย และก่อให้เกิด ความเสียหาย ต่อการพัฒนาประเทศ อย่างหนัก

หนังสือพิมพ์ของฟิลิปปินส์ หลายฉบับ ให้ความเห็นตรงกันว่า การที่รัฐบาลใช้ทหาร เข้าเข่นฆ่า ประชาชนนั้น ทำลาย การเติบโต ทางเศรษฐกิจของไทย ที่กำลังอยู่ในระดับสูง ให้ชะงักงัน เป็นเรื่องน่าขยะแขยง ที่รัฐบาลและทหารไทย ปฏิเสธการเรียกร้อง ประชาธิปไตย

สรุปว่า ถ้าหากการต่อสู้ยังคงมีต่อไป และประชาชน ต้องเสียชีวิต เพิ่มอีกละก็ ประเทศไทย จะถูกสังคมโลก ประณาม และโดดเดี่ยว ทันที ไม่มีใครคบ ไม่มีใครซื้อของ จากเมืองไทย ไม่มีใครมาเที่ยว แค่นี้ก็แห้งตาย กันไปทั้งชาติ

ส่วนทางด้าน ปฏิกิริยาของคนไทย ในต่างแดนนั้น สื่อมวลชน ได้รายงานว่า

คนไทยที่ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ ได้ชุมนุมประท้วง ที่หน้าสถานกงสุลไทย และที่วัดไทย พร้อมกับส่งจดหมาย ขอร้องให้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กดดันรัฐบาลไทย ให้ยุติการใช้กำลังรุนแรง และยังได้เรี่ยไรเงิน เพื่อช่วยเหลือ ผู้เสียชีวิต

กลุ่มนักเรียนไทยในออสเตรเลีย เรียกร้องให้รัฐบาล ออสเตรเลีย ตัดสัมพันธ์ทางการทูต กับรัฐบาลไทย ทั้งยังได้เรียกร้อง ให้ปล่อยตัว ผู้ถูกจับกุมทั้งหมด และให้พลเอกสุจินดา ลาออก จากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี

ในอังกฤษ คนไทยได้ไปชุมนุมประท้วง หน้าสถานทูต เรียกร้องให้รัฐบาล “หยุดฆ่าประชาชน”

การชุมนุมประท้วง ของคนไทย ในต่างแดนนั้น มีการชุมนุมประท้วง อีกหลายประเทศ ทั้งนักศึกษา และ ประชาชน ที่ทำมาหากิน อยู่ในประเทศนั้นๆ ต่างมีความรู้สึกนึกคิด เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการสนับสนุน การเรียกร้อง ประชาธิปไตย และประณาม การใช้กำลัง เข้าปราบปรามประชาชน 


 

อ่านต่อ ๑๘ พฤษภาทมิฬ

จากหนังสือ ... ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง
* ปฏิกิริยาในต่างแดน * หน้า ๑๙๖