3
๑๔. สี่ปีแห่งความหลัง
 
 
 
page: 14/21
โรงเรียนกินนอน

๑๔. สี่ปีแห่งความหลัง

"วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่" เป็นคำถามที่จะต้องถามตัวเองบ่อยๆ วันละหลายๆครั้ง เพื่อเตือนตัวเองว่า เราจะทำ หรือไม่ทำอะไร ก็ตาม เราก็ต้อง เดินทางอยู่ดี เดินไปสู่จุดหมายปลายทาง ที่เราไม่ต้องการ ทุกชิ้นส่วนในร่างกายของเรา กำลังเสื่อมลงๆ เวลาแห่งการแตกดับ ใกล้เข้ามาทุกที

วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้กำลังรอตรวจโรคฟันอยู่ มาหาหมอฟันทีไร มักจะได้รับธรรมะ กลับไปทุกที หมอบอกให้ทราบ ความจริงเสมอว่า "หมอช่วยได้แค่นี้นะคะ เพราะฟัน จะรักษา ให้ดีอย่างไร ก็ต้องเสื่อมไป ตามอายุขัย" จริงของหมอ ตอนเกิด ได้มา ๓๒ ซี่ เท่าๆกับคนอื่น เดี๋ยวนี้ทวงคืนไปแล้ว ๘ ซี่ ที่เหลือ ก็กำลังผุๆพังๆ ไล่เรียงกันมา

ทำฟันทีไร นึกได้ทีนั้น ไม่เกิดเสียได้ก๊อดีซี จะได้ไม่ต้องเจ็บ พอลงจากเก้าอี้ทำฟัน ก็ตั้งหน้าตั้งตา เดินไปสู่การเกิดอีก อย่างไม่หลาบจำ จนกว่า จะมาหาหมออีก จึงจะนึกขึ้นมา ความรู้สึก ช้าเหลือเกิน สู้พืชชั้นต่ำ ที่อยู่เรี่ยๆดิน ก็ไม่ได้ ไมยราบ เมื่อมีอะไร มากระทบนิดเดียว จะรู้สึกตัว รีบหุบใบหมดทันที เราด้านกว่าเป็นไหนๆ

"ทางสามแพร่ง" เดือนนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่า การระลึกชาติ ระลึกย้อนหลัง ถึงรอบสี่ปีที่แล้ว สี่ปีแห่งความหลัง ที่มีอะไรๆเกิดขึ้น มากพอที่จะเป็น ประโยชน์ต่อไป ในสี่ปีข้างหน้า

เมษา ๒๒ เรามากันสองคน ใครชวนใคร ก็จำไม่ได้ ที่จำได้แน่ๆก็คือ คนที่บอกตำแหน่งแห่งที่ ให้เรามาได้ถูกนั้น ไม่เคยมาวัดเลย

เมื่อข่าวแพร่สะพัดไปถึงเพื่อนๆ และผู้สนิทมักคุ้น เสียงบ่นว่าติฉินนินทา ดังมาไม่ขาดสาย เลิกสู้แล้วหรืออย่างไร ไม่ห่วงใยบ้านเมือง แล้วหรือ จึงได้ตัดช่องน้อย แต่พอตัว หาความสุข -สงบ หานิพพาน

จะชี้แจงอย่างไรๆ ก็ไม่ยอมเข้าใจกัน เมื่อมีสามหน้าที่ ก็สามารถปฏิบัติไปได้พร้อมๆกัน ทั้งทหาร, การเมือง และการปฏิบัติธรรม จนถึงกับต้อง เขียนบทความ "ทางสามแพร่ง" ลงในหนังสือนี้

สี่ปีผ่านมา ย่อมพิสูจน์แล้วว่า สามารถยืนอยู่บนทางสามแพร่งได้ อย่างไม่ขัด ไม่เขิน โลกย์ก็ไม่ช้ำ ธรรมก็ไม่ขุ่น เป็นที่รู้จักกัน ในบ้านในเมือง พอสมควร "ทางสามแพร่ง" เมื่อรวมพิมพ์ เป็นหมื่นๆเล่ม ก็ได้รับการต้อนรับ อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แม้พระคุณเจ้า ที่เร่งรัดให้เขียน ได้จากไปแล้ว แต่บทความนี้ ก็ยังอยู่

ในทางโลกย์ ทางที่จะต้องผจญกับโลกธรรมก็ขึ้นๆลงๆ ไปตามกระแส เป็นเลขาฯ - ออกจากเลขาฯ เป็นวุฒิฯ - ออกจากวุฒิฯ ขึ้นแล้วก็ลง ถ้าใครไม่อยางลง ก็อย่าขึ้น เพราะไม่มีใครในโลก ที่อยู่ค้างฟ้า

สำคัญที่ว่า ตอนขึ้นนั้นได้ทำอะไรเพื่อส่วนรวมบ้าง ทำเพื่ออุดมการณ์ หรืออุดมกิน กินทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ และโลกียสุข ใครจะเป็นอย่างไร ก็ช่าง ขอให้ตัวเรา ครอบครัวเรา บริวารเรา มั่งมีศรีสุข เป็นใช้ได้ อย่างนั้นหรือเปล่า

เคยท่องเที่ยว ล่าพระอริยะ จนอายุหมดไปกว่าครึ่ง จึงได้มาวัดนี้ มาแล้วก็สมใจ สะใจ ทั้งพระและฆราวาส ปฏิบัติธรรมได้เคร่งที่สุด สมเหตุสมผล มากที่สุดแห่งหนึ่ง ถ้าปฏิบัติตามได้ ชีวิตที่เหลือ จะมีสาระแก่นสาร มีเป้าหมายชัดเจน เกิดประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน มุ่งไปสู่การขจัด ความเห็นแก่ตัว ดีทั้งชาตินี้ และชาติหน้า

ฆราวาสที่มาก่อน มาพร้อมๆกัน และมาทีหลัง หลายต่อหลายคน ค่อยๆเลือน เลือนหายไป ในขณะที่ คนใหม่ๆ มามากขึ้น คนที่จากไปนั้น น่าคิด น่าศึกษา อยากจะถาม ใจคุณดูก่อน เมื่อรู้ว่า สังคมเล็กๆแห่งนี้ เป็นสังคมที่ดีที่สุด แห่งหนึ่ง ทำไมจึงไม่อยู่ คำตอบ คงจะมีต่างๆกัน แต่ที่ซ้ำๆกัน ก็คงจะไม่หนีเหตุผลที่ว่า "ดีแต่ทำไม่ได้ ที่อื่นอร่อยกว่า, สนุกกว่า, มีชีวิตชีวามากกว่า"

ก็ไหนว่าจะพากเพียรปฏิบัติธรรม แม้น้ำตาจะนองหน้า นี่น้ำตาไม่เคยร่วงเลยสักเม็ด ก็ทนไม่ได้เสียแล้ว ชีวิตช่างเปราะบาง ต้องการ การทะนุถนอม เอาอกเอาใจ เสียนี่กระไร บางคน เพียงพระท่านเทศน์ ไม่ถูกหูคำเดียว ก็เผ่นเสียแล้ว

ไปเถิด ไปที่ชอบที่ชอบ ไปสนุกสนานอย่างเดิมๆเถิด แต่อย่าลืมถามตัวเองว่า "วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลัง ทำอะไรอยู่"

บางครั้งความเห็นแก่ตัว ก็แวบเข้ามา ไปกันมากๆก็ดี วัดจะได้มีที่ว่างมากขึ้น สงบขึ้น เดี๋ยวนี้ บางเสาร์ บางอาทิตย์ แออัดยัดเยียด เกินไปเสียแล้ว หากเห็นแก่ตัวมากๆ อาจจะถึงขั้น สนับสนุนเอาเสียด้วย ไปเถอะ วัดนี้ไม่ดีเลย ยิ่งอยู่ยิ่งแย่ กินน้อยลง ลำบากมากขึ้น อยู่อีกไม่กี่ปี ก็จะตายแล้ว อย่ามัวมาอดๆ อยากๆ อยู่เลย

ช่วยคนอื่นไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องช่วยตัวเองให้ได้ ต้องพยายามบังคับให้ได้ เพราะชีวิตนี้เป็นของเรา มีหรือที่ปฏิบัติธรรมให้ได้ผล โดยไม่ต้อง ละลด ถ้าเช่นนั้น พระพุทธองค์ ไม่ต้องออกบวชก็ได้ บุตรเศรษฐี มหาเศรษฐี ที่ออกบวชตาม ไม่ต้องละทิ้ง บ้านช่องเรือนชานก็ได้ ไม่ต้องไปกินน้อยใช้น้อย ให้ลำบากลำบน

กินอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข ในคฤหาสน์ก็ปฏิบัติธรรมได้ แต่ได้แค่ขั้นต้นๆ อย่างดีก็แค่กัลยาณชน กิเลส มีอยู่แค่ไหน ก็คงอยู่แค่นั้น นับวันจะพอกพูน มากขึ้นๆ ไม่สามารถเลื่อนฐานะ ไปสู่อริยชนได้

การมีคุณธรรมนั้นไม่ยาก แต่การรักษาคุณธรรมนั้นยากยิ่งกว่า การถือศีลเคร่ง เหมือนเดินอยู่บนคมมีด เผลอเมื่อใด เป็นหล่นทันที ต้องคอย ระวังเนื้อ ระวังตัว ว่าเราไม่เหมือน เมื่อก่อนแล้วนะ เราได้ตัดสินใจ มุ่งมั่นเดินตามรอย พระพุทธองค์ วันคืนล่วงไปๆ เราเดินตาม ไปได้แค่ไหนแล้ว

สี่ปีที่แล้ว ก้าวหน้าขึ้นบ้าง อย่างเห็นได้ชัด ใจไม่เคยเย็นก็เย็นลงได้, ความสวยงาม ความอร่อย ความไพเราะ ที่เคยใฝ่หา ก็ละลดไปได้บ้าง กินง่าย นอนง่าย อยู่ง่ายขึ้น ความเห็นแก่ตัวลดลง เมื่อได้รับการสรรเสริญ หรือนินทาด่าว่า ใจก็ไม่ฟู ไม่แฟบนัก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ ผู้ปฏิบัติธรรม บางคนแล้ว ยังตามหลัง อีกห่างไกล

ความเบื่อในหลายๆเรื่อง ยังคงมีอยู่ เบื่อฟังธรรม เบื่อเขียน เบื่อพูด เบื่อไปหมด อยากจะตามใจตนเอง ด้วยการนั่งเฉยๆ คิดอะไรๆ ไปตามเรื่อง สี่ปีต่อไป จะต้องแก้ไข ตัดความเบื่อ ความเกียจคร้าน ให้เบาบางลง ประเดี๋ยววัน ประเดี๋ยวคืน โลกหมุนเร็ว เวลาเหลือน้อยลง ถ้าไม่ขยันตอนนี้ แล้วจะไปขยันตอนไหน แก่แล้ว ปฏิบัติธรรมได้ยาก ถ้าแก่ด้วย เจ็บด้วย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย

เหตุการณ์บ้านเมือง นับวันมีแต่จะยุ่งยากมืดมนขึ้นทุกที ยิ่งต้องรีบปฏิบัติธรรม ปฏิบัติให้ได้มาก ให้ได้เร็ว ก่อนที่อะไร จะเกิดขึ้น จะได้ไม่เสียใจ, อย่างน้อย เราก็ได้ทำอะไรๆ ดีๆ มาบ้าง พอสมควร เมื่อละจากโลกนี้ไป คงจะไม่ได้ชื่อว่า โมฆบุรุษแน่

เมษายน ๒๕๒๖

อ่านต่อ ตอน ๑๕

ทาง ๓ แพร่ง เล่ม ๒