560528_1 รายการสงครามสังคมธรรมะการเมือง โดยพ่อคร
เรื่อง ดับนิโรธอย่างพุทธสูงสุดคือนิพพาน ตอน ๒


            พ่อครูดำเนินรายการที่บ้านราชฯ...

พ่อครูได้บรรยายถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้าเข้าใจดีปฏิบัติถูกต้อง จะมีมรรคผลสมบูรณ์ ถ้าไม่ชัดเจน ก็ไปไม่รอดแน่นอน ถ้าเข้าใจถูกต้องทำได้ ก็จะพ้นอวิชชา ไปสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ
                อัตตทิฏฐิ แปลว่า มีความเห็นความรู้ในเรื่องอัตตา คือผู้ที่ได้ศึกษา และมีความรู้ เข้าใจ เรื่องอัตตา ผู้ที่ยึดถือ ก็จะมีอัตตา แล้วก็เรียนรู้ เพื่อแจ้งชัดในอัตตา (คือตัวตน) ผู้ศึกษามีสัมมาทิฏฐิ ก็จะเข้าใจ รู้สภาวะอัตตา มีญาณรู้นามรูป และแยกแยะ วิจัยวิจาร ในนามรูป จนเห็นตัวตนที่แท้ของ สมุทัยอริยสัจจ์
                ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องของเหตุและปัจจัย ทุกอย่างอยู่ที่เหตุและปัจจัย ผู้ที่ถือ อย่างสมาทาน ไม่ได้ยึดถือ อย่างอุปาทาน หรืออย่างมีอวิชชา
                ต้องเรียนรู้ตั้งแต่ อัตตทิฏฐิ ตามรู้ตามเห็น ซึ่งทางภาษาบาลีว่า อัตตานุทิฏฐิ คือตามเห็น ความเป็นอัตตา (เป็นสามัญนาม) เริ่มต้นคือเห็น จิตเจตสิกได้ มี นามรูปปริจเฉทญาณได้ เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรมที่จะใช้ทวารนอกเห็น แต่มัน จะเชื่อมโยงกัน จากนอกสู่ใน
                ตัวตนที่เป็นกิเลสแล้ว เราก็รู้จักกิเลส ตั้งแต่เห็นว่า มันไม่เที่ยง (อนิจจโต) พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน ล.๑๘ ข.๒๕๔ ว่าผู้ที่พ้นมิจฉาทิฏฐิ จะต้องมี ตาหูจมูก ลิ้นกายใจ มีผัสสะ แล้วก็เห็นความไม่เที่ยง ในสภาวะเหล่านี้ ในเวทนา ในสัญญา ในวิญญาณ เกิดปัญญาญาณว่า มันไม่เที่ยง ก็พ้นมิจฉาทิฏฐิ แต่ยังไม่รู้ตัวตนที่เป็นเหตุ ซึ่งคือ "สักกายะ" ผู้ที่สามารถเห็น "สักกายะ" และกำจัดลดละตัวตนลงได้ คือ ผู้พ้นสักกายะทิฏฐิ (เป็นตัวตน ที่เฉพาะเจาะจง ของตัวเองส่วนบุคคล) อยู่ในสักกายะทิฏฐิสูตร (ข้อ ๒๕๕)
                คือเห็นด้วยความเป็นทุกข์ แล้วค้นหาเหตุแห่งทุกข์ และกำจัดมันได้ (คือกำจัด สักกายะได้) วิราคะมันเรื่อยๆ จนดับมันได้ ไม่ให้เหลือตัวตน เรียกว่า "อนัตตา" ใน อัตตานุทิฏฐิสูตร ข.๒๕๖
                อย่างคุณ 8705 ก็พยายามติดตามพ่อครู แต่ก็ซัดพ่อครูแรงมา ว่า
0888705xxx    ฟายเอ้ยสัญญาเป็นความจำ สติเป็นตัวกำหนดรู้ หาใช่สัญญา เป็นตัวกำหนดรู้ไม่
                พวกนักบวชที่มีอัตตานุทิฐิ ใหญ่กว่าคนทั่วไป เช่นพุทธทาส ฉายาจริงๆ ที่อุปัชฌาย์ ตั้งให้คืออินทปัญโญ แต่กลัวจะไม่โก้ เลยตั้งฉายาให้ตัวเองว่า พุทธทาส! ซึ่งเป็นการผิดวินัย เพราะถือว่า เป็นการไม่เคารพ ครูบาอาจารย์! ฉันเดียวกัน..พธร. ก็มีอัตตานุทิฐิ ที่ยิ่งใหญ่ ไม่แพ้พุทธทาส เพราะมีอวิชาและตัณหาไม่แพ้กันเลย แถมจะมากกว่า ด้วยซ้ำ! เลยตั้งฉายา ให้ตัวเองว่า โพธิรักขิโต! เพื่อหวังให้คนอื่น เข้าใจว่า ตัวเอง เป็นโพธิสัตว์C7! ถุยๆ

          พ่อครูว่า....ฉายาอันนี้ อุปัชฌาย์ ตั้งให้ พ่อครูแค่บอกว่า เขียนหนังสือ ใช้นามปากกาว่า โพธิรักษ์ อุปัชฌาย์ก็เห็นควร และก็ตั้งฉายาให้ว่า โพธิรักขิโต ก็เล่าสู่ฟัง

0888705xxx    อรหันต์หมดกิเลสแล้วก็จริง แต่เมื่อยังไม่ตาย.. รูปนามของอรหันต์ ก็ยังต้อง เกิดดับอยู่ เพราะเป็นวิบากขันธ์ ฉะนั้นจึงยังต้องรับกายิกทุกข์! เพื่อที่จะบรรเทา กายิกทุกข์นี้.. อรหันต์เช่นสารีบุตร จึงมีการเข้า มหาสูญญตวิหารธรรม ก็เพื่อบรรเทาทุกข์ อันเกิดจากรูป อากาส วิญญาณ สัญญา จึงยังคงเหลือทุกขเวทนา อันเกิดจากผัสสะเท่านั้น แต่เป็นทุกข์ที่เบาบางมาก ขนาดโดนกระบองยักษ์ ทุบศรีษะ สารีบุตร เพียงรู้สึกไหวๆ ที่เส้นผมเท่านั้น!
0888705xxx    แต่ถ้าเป็นมหากัสสปะ จะใช้วิธีเข้านิโรธสมาบัต หรือสัญญาเวทยิตนิโรธ! โดยมิใช่แค่บรรเทา.. แต่เพื่อที่จะดับกายิกทุกข์ ทั้งหมดเลย! โดยสัญญาเวทยิตนิโรธนี้ จะดับผัสสะ อันเกิดจาก สฬายตนะเลย เปรียบเหมือน การถอดปลั๊กไฟ มิให้อายตนะ ภายใน6 กระทบกับอายตนะภายนอก6 จึงไม่มีการสป๊าค เป็นผัสสะ และเมื่อไม่มีผัสสะ 6 ทุกขเวทนา อันเป็นฐานของกายิกทุกข์ จึงไม่เกิดขึ้น! แต่เพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อขันธ์ พุทธเจ้า จึงให้เข้านิโรธได้7วัน!
0888705xxx    แม้วจะเปลี่ยนปชต.ไม่ให้มีในหลวง พธร.จะเปลี่ยนสมาธิ ไม่ให้หลับตาฉันนั้น!
0888705xxx    เมื่อเริ่มผิดเป็นอัตตา ทิฐิทั้งหลายจึงงอกเงยขึ้น จนตั้งสำนักเป็นเอกเทศ!
0888705xxx    สังเกตุให้ดี ตาของพธร2ข้างไม่เท่ากัน นี่แหละลักษณะของคน จะเป็นมิจฉาทิฐ

                พ่อครูว่า อ้างอิงพระไตรปิฎกว่า พระสารีบุตร ถูกกระบองยักษ์ตี ซึ่งอยู่ในพระไตรฯ ล.๕ ข.๙๓

๔. ชุณหสูตร
            [๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหาร เวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และท่าน พระมหาโมคคัลลานะ อยู่ที่ กโปตกันทราวิหาร ก็สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร มีผมอันปลงแล้วใหม่ๆ นั่งเข้าสมาธิอย่างหนึ่ง อยู่กลางแจ้งในคืนเดือนหงาย ฯ
            [๙๔] ก็สมัยนั้น ยักษ์สองสหาย ออกจากทิศอุดร ไปยังทิศทักษิณ ด้วยกรณียกิจ บางอย่าง ได้เห็นท่านพระสารีบุตร มีผมอันปลงแล้วใหม่ๆ นั่งอยู่กลางแจ้ง ในคืนเดือนหงาย ครั้นแล้วยักษ์ตนหนึ่ง ได้กล่าวกะยักษ์ผู้เป็นสหายว่า
                ดูกรสหาย เราจะประหารที่ศีรษะแห่งสมณะนี้ เมื่อยักษ์นั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ยักษ์ผู้เป็นสหาย ได้กล่าวกะยักษ์นั้นว่า
                ดูกรสหาย อย่าเลย ท่านอย่าประหาร สมณะเลย ดูกรสหาย สมณะนั้น มีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์นั้นก็ได้กล่าวกะยักษ์ ผู้เป็นสหายว่า
                ดูกรสหาย เราจะประหารที่ศีรษะ แห่งสมณะนี้ แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์ผู้เป็นสหาย ก็ได้กล่าว กะยักษ์นั้นว่า ดูกรสหาย อย่าเลย ท่านอย่าประหารสมณะเลย ดูกรสหาย สมณะนั้น มีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก     ลำดับนั้นแล ยักษ์นั้น ไม่เชื่อยักษ์ ผู้เป็นสหาย ได้ประหารที่ศีรษะ แห่งท่านพระสารีบุตรเถระ ยักษ์นั้นพึงยัง พระยาช้างสูง ตั้ง๗ ศอก หรือ ๘ ศอกให้จมลงไปก็ได้ หรือพึงทำลาย ยอดภูเขาใหญ่ก็ได้ด้วยการประหารนั้น ก็แลยักษ์นั้น กล่าวว่า เราย่อมเร่าร้อนแล้วได้ตกลงไปสู่ นรกใหญ่ ในที่นั้นเอง ฯ
(แสดงว่าแค่คิด)

            [๙๕] ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เห็นยักษ์นั้น ประหารที่ศีรษะ แห่งท่าน พระสารีบุตร ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ แล้วเข้าไปหา ท่านพระสารีบุตร ครั้นแล้วได้ถาม ท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรอาวุโส ท่านพึงอดทนได้หรือ พึงยังอัตภาพ ให้เป็นไปได้หรือ ทุกข์อะไรๆ ไม่มีหรือ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ ผมพึงอดทนได้พึงยังอัตภาพ ให้เป็นไปได้ แต่บนศีรษะของผม มีทุกข์หน่อยหนึ่ง ฯ

                ม. ดูกรอาวุโสสารีบุตร น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านพระสารีบุตร มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ยักษ์ตนหนึ่ง ได้ประหารศีรษะของท่านในที่นี้ การประหาร เป็นการประหารใหญ่ เพียงนั้น ยักษ์นั้นพึงยังพระยาช้าง สูงตั้ง ๗ ศอก ๘ ศอก ให้จม ลงไปก็ได้ หรือพึงทำลาย ยอดภูเขาใหญ่ก็ได้ ด้วยการประหารนั้น ก็แลท่านพระสารีบุตร ได้กล่าว อย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส โมคคัลลานะ ผมพึงอดทนได้ พึงยังอัตภาพ ให้เป็นไปได้ แต่บนศีรษะของผม มีทุกข์หน่อยหนึ่ง ฯ

                สา. ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วท่านมหาโมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ที่เห็นยักษ์ส่วนผมไม่เห็น แม้ซึ่งปีศาจ ผู้เล่นฝุ่นในบัดนี้ ฯ

            [๙๖] พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับ การเจรจาปราศรัย เห็นปานนี้ แห่งท่านมหานาค ทั้งสองนั้น ด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตธาตุ ของมนุษย์ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่ง อุทานนี้ ในเวลานี้ว่า
                จิต ของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัด ในอารมณ์ เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ไม่โกรธเคืองในอารมณ์ เป็นที่ทั้งแห่งการโกรธเคือง จิตของผู้ใด อบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน ฯ

                ในสูตรนี้หรือสูตรอื่น เป็นบุคคลาธิษฐาน เพราะในยุคนั้น เป็นยุคแห่งเทวนิยม มีการปฏิบัติที่เป็น มโนมยอัตตา เต็มไปหมด แต่พระพุทธเจ้า มาเปิดศาสนา ที่ให้มียึดถือใน มโนมยอัตตา อย่างพระโมคคัลลานะเห็น ที่จริง จิตไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่างให้เห็น ซึ่งศาสนาพุทธ ที่สัมมทิฏฐิ จึงจะเข้าถึงนามธรรมนี้ได้
                อย่างพระโมคคัลลา พระกัสสปะ ที่ยังติดในภาพ ในนิมิตอยู่ เหมือนเราฝันอยู่ ก็เป็นรูปร่าง มีเนื้อตัว พระพุทธเจ้า เปิดศาสนา อเทวนิยม เพียงศาสนาเดียว ที่เป็น อเทวนิยม และก็ไม่ง่าย ในพระไตรฯ ของเถรวาทไม่ขยายความมาก ในเรื่องอัตตา ๓ (โอฬาริกอัตตา มโนมยอัตตา อรูปอัตตา) มโนมยอัตตา คือ รูปที่สำเร็จด้วยจิต เป็นอัตตปฏิลาโภ
                สรุปแล้วบุคคลาธิษฐานนี้ จะเข้าใจไม่ง่าย อย่างพระโมคคัลลานะ ท่านไม่ได้ติดยึด ก็จะเข้าใจ และนำไปใช้ได้ ส่วนผู้ที่ไม่ติดในนิมิต เป็นอัปปณิหิตตนิพพาน
                แม้แต่ในภิกษุณีธรรทินนา ท่านได้รับคำถาม จากวิสาขอุบาสกว่า แล้วผัสสะ มีเท่าไหร่ เมื่อได้สัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว เมื่อออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ (ล่วงพ้นแล้ว) ผัสสะมีเท่าไหร่ .. ท่านธรรมทินนา ก็ตอบว่ามี ๓ คือ สุญญตผัสสะ อนิมิตผัสสะ อัปปนิหิตตะผัสสะ หรือ วิโมกข์ ๓
๑.สุญญตวิโมกข์, สุญญตสมาธิ (นิพพานโดยการเห็นความว่าง ของตัวกิเลส หมดความยึดมั่น จากอำนาจกิเลส และสุดท้าย)
๒.อนิมิตตวิโมกข์, อนิมิตตสมาธิ (นิพพานด้วยไม่ต้องถือนิมิต)
๓.อัปปณิหิตวิโมกข์ (นิพพานโดยไม่ทำความปรารถนา)

            ผู้ที่ยึดถือ มโนมยอัตตา ก็จะเห็นเป็นรูป เป็นร่างได้ เลยปั้นเอาเอง อย่างที่ ยกตัวอย่าง ครูไปหาลูกศิษย์ แล้วก็เจอภาพ มโนมยอัตตา เป็นลูกศิษย์ คุยกันเลย แต่พอไปเจอ แม่ของลูกศิษย์ ก็บอกว่าลูกศิษย์ตายแล้ว ทำไมมาคุย กับครูได้ (นี่ก็คือ มโนมยอัตตา)
                พ่อครูไม่ได้ปฏิเสธว่า ตายไปแล้วไม่มี แต่ผู้บรรลุแล้ว ขณะเป็นๆ ก็ไม่มี ตายไปก็ไม่มี แต่อย่างท่านโมคคัลลานะ ก็มีวาสนาเรื่องนี้ ก็ใช้มโนมยอัตตา เป็นเครื่องอาศัยทำงาน
               
                ต่อไปจะอธิบายต่อจากเมื่อวานเรื่อง นิโรธแบบพุทธ ซึ่ง ต่างจากนิโรธแบบฤาษี ที่เข้าใจ ผิดเพี้ยนไปจาก “นิโรธ” แบบพุทธนี้ กันมากกว่ามากแล้ว
                แต่ก็คงไม่ยาก ที่จะทำความเข้าใจ ถ้าฟังด้วยดี ก็เกิดปัญญาแน่นอน สุสสูสัง ลภเต ปัญญัง นอกจากจะฟังอย่าง “ไม่ด้วยดี” ก็ไม่ได้ปัญญาแน่
                ชัดเจนหรือยังว่า “นิโรธ” ที่ปฏิบัติ “ดับ” จิตเข้านิโรธสู่ “ความมืดดำ” (กิณหะ) แล้วก็ออกจาก นิโรธที่เป็น “ความมืดดำ” นั้นไม่ใช่ “นิโรธอริยสัจ” อย่างไร
                สรุป “นิโรธ” แบบพุทธ เป็นการ ทำ “ความดับ” ซึ่ง “ดับเหตุที่เป็นกิเลส” ไม่ใช่แค่ทำ“กิณหะ” เป็นแค่การทำ“ความมืด-ดำ” ใส่ใจตนได้เท่านั้น
                แต่เป็นการทำ “ความดับ” ที่ รู้จักรู้แจ้งรู้จริง“อัตตาที่เป็นตัวตน ของกิเลส” อันคือ “เหตุ” (สมุทัยอริยสัจ) แล้วสามารถกำจัด “เหตุ” นี้คือ “ตัวตนของกิเลสนั้นๆ”
                ลดละจางคลายไปเรื่อยๆ จนมีภาวะ “ตัวตนนี้ดับ” (นิโรธ) ก็มี ปัญญาญาณ “ตามเห็นความดับ” (นิโรธานุปัสสี) ไปตลอดแห่งสัจธรรม คือ สิ่งที่ทรงอยู่จริง
                และแม้จะ “ดับเป็นแล้ว” ก็ทำอีก ทวนให้แน่นอนมั่นคง ว่า เรา “ดับได้จริง” ถูกต้องแน่แท้ โดย “ตามเห็นการทำทวนนี้” (ปฏินิสสัคคานุปัสสี) ไปตลอดอีกด้วย
                จึงเป็นการทั้ง ตรวจสอบทำซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วย “อรูปฌาน ๔” จนกระทั่ง ล่วงพ้น “เนวสัญญนาสัญญายตนฌาน” สู่ “สัญญาเวทยิตนิโรธ”
                ซึ่งไม่ใช่การเวียนวนเป็นแค่ “กิณหะ “ คือ ทำ“ความมืดดำ” ให้ตนอาศัยได้ ชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็ออกมาสู่ “ความสว่าง” (อาโลก) อยู่แล้วๆเล่าๆ “เข้าๆ-ออกๆ” วนแล้ววนเล่า อยู่อย่างนั้น

                แต่เป็น “การ ดับตัวตนของกิเลส” จนกระทั่งมั่นใจว่า “กิเลสมันได้ดับสนิท” ไม่เหลือเศษธุลี แม้นิดแม้น้อยเป็น “ความไม่มี” (อากิญจัญญ) เลยจริงๆ โดยการได้ปฏิบัติ ตรวจสอบด้วย “อรูปฌาน ๔” จนกระทั่งสัมบูรณ์
                เพราะ “ดับได้” สิ้นเกลี้ยงกิเลส “อาสวะ” สุดท้ายไม่มีเกิด ในจิตอีกเลย ตลอดไป กิเลสก็ดับสิ้นซาก สุดเกลี้ยงของ “ความไม่มีอะไรอีก” (พ้นอากิญจัญญ)
                จึง “ เข้าถึงภูมิ” (อุปัชชติ) ที่เรียกว่า “เนวสัญญานาสัญญายตนภ”
                และท้ายสุดนี้ จึงจะ หลุดพ้น (วิมุติ) หรือล่วงพ้น (สมติกฺกมติ) ได้จากภาวะ ที่เรียกว่า ฌาน หรือ ภพขั้น “อรูปฌาน” สูงสุด คือ พ้นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน (ต้องย้ำว่า แบบพุทธ) ซึ่งเป็น “ฌาน” ขั้นสูงสุดแล้วที่ยัง ไม่รู้ (อวิชชา) ถึงขั้นแจ้งจบ
                ผู้ที่สามารถ ล่วงพ้นหรือหลุดพ้น แม้แต่ “ ฌาน หรือ ภพ” ขั้น "ปรมาภิธรรม" ละเอียดสูงสุด คือ “เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน “ (แบบพุทธ) นี้ไปได้แท้จริง
                ก็หมดสิ้น “เหตุ” เป็น “นิโรธสมาบัติ” ถาวรอยู่ในชีวิต ประจำวันปกติ กิเลสดับ มี“นิโรธ” ในชีวิตสามัญตลอดไป ชื่อว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” ซึ่งเป็นของพุทธแท้ๆ ไม่ต้องเข้าๆ-ออกๆ อะไรแบบนั้น (คำว่าสัญญาเวทยิตนิโรธนั้นไม่มีภพแล้ว ส่วน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ยังมีภพอยู่ เป็นภพสุดท้ายแล้ว)

                จึงเป็นการ “รู้” แจ้งจบ ครบหมดสิ้น ไม่มีเหลือ “ความไม่รู้” (อวิชชา) แม้แต่ขั้น ที่ชื่อว่า “ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ” สู่ “สัญญาเวยิตนิโรธภูมิ”

                เป็นความรู้ที่เรียกว่า “อนุตตริยะ” คือ เหนือกว่าเหนือ ไม่มีเหนือกว่านี้อีกแล้ว, ภาวะที่ยอดเยี่ยม, สิ่งที่ยอดเยี่ยม, สิ่งที่ไม่มีอะไรเปรียบ, ความเลอเลิศ
                เพราะ “มีความ หมดสิ้นภพชาติ” และ สูงสุด “พ้นกิจ-จบกิจ” ที่เรียกว่า “ทำฌาน” จบสุดแล้ว คือได้ “เผากิเลสสุดท้ายในจิตใจ เกลี้ยงสะอาดสุด” ทั้งมี “ความรู้ขั้น อนุตตริยะ ๓” แล้วบริบูรณ์ คือ ๑.ทัสสนานุตตริยะ = การเห็นอันเยี่ยม ๒.ปฏิปทานุตตริยะ = การปฏิบัติอันเยี่ยม ๓.วิมุตตานุตตริยะ = การพ้นอันเยี่ยม
จึงเป็นการสิ้นสุด แห่ง “อาสวะสุดท้าย” คือ “อวิชชาสวะ” หรือ “อวิชชาสังโยชน์” ก็เป็นอัน “หลุดพ้น” หมดสิ้น สัมบูรณ์ทุกประการ
                 “ความคิด” หรือ “ความรู้” แบบพุทธนั้นอย่างนี้ หมายถึง “นิโรธ” ที่ได้ ต้องเห็นๆแจ้งๆ (สัจฉิ) เมื่อบรรลุจึงมี จักษุ-ปัญญา-ญาณ-วิชชา-แสงสว่าง (อาโลก)
                ส่วนอีก “ความคิด” หรือ “ความรู้” ที่ไม่ใช่พุทธ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ “นิโรธ” ที่ได้ ต้องไม่รู้ไม่เห็นไม่เป็นไม่มี เมื่อบรรลุจึงมี “ความมืดดำ” (กิณหะ)
                ฉะนี้แล คือ ภาวะที่เรียกว่า “นิโรธ”  ๒ ขั้วสำคัญที่มีอยู่ในโลก
                ลองวิจัยแยกแยะความเป็น “นิโรธ” ๒ ขั้ว นี้กันละเอียดๆ ดูบ้างซิ
                (ก) “นิโรธ” ที่ไม่ใช่พุทธ หรือ ชาวพุทธที่ยัง “มิจฉาทิฏฐิ”
                ผลธรรมที่ได้ มักจะหมายถึง “มี” (โหติ) ภาวะอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ถูกต้อง ตามเป็นจริง เพราะ“ผลธรรม” ที่ได้ ยังไม่ใช่ผลธรรม ที่เข้าขั้น“ความไม่มีในโลก” (โลเก นัตถิตา) อีก“ตลอดไป” ที่สำเร็จเด็ดขาดอย่างเป็นจริง “ภาวะ” ที่ได้ที่ชื่อว่า“นิโรธ” นั้นจึงคลาดเคลื่อน คือผิดไปจากภาวะ อริยสัจ ที่ชื่อว่า“นิโรธ”
                 “นิโรธ” ที่ได้ จึงไม่ใช่ “นิโรธอริยสัจ” เพราะ “สัญญา” ยังวิปลาส เมื่อ วิปลาส  “สัญญา” ก็กำหนดหมาย คลาดเคลื่อนไปจาก ความเป็นจริง ที่เป็นความจริงขั้น “อริยสัจ” หรือขั้น “ปรมัตถสัจจะ” (สิ่งที่เป็นจริง อันประเสริฐสุด)
                สัญญาที่มิจฉาทิฏฐิ จึงเป็น“คนละอย่าง” จากอริยสัจ เพราะจะกำหนดหมายรู้ (สัญญา) เอาตาม “ทิฏฐิ” ของตน (นานัตตสัญญิโน) ย่อมได้ผลตาม“ทิฏฐิ” ที่“ผิด” ไปจาก“อริยสัจ” ก็จะได้ภาวะนั้นๆตามสมรรถนะ ของแต่ละคน
                 “กาย” ที่ได้ก็เป็น “องค์ประชุมของรูปของนาม” (กาย) ที่แตกต่างกันไปตาม “สัญญา” ที่มีภูมิรู้ อย่างนั้นอย่างนี้ ของแต่ละคน “กำหนดหมาย” และเมื่อสร้าง หรือสังขาร ให้ได้ ก็ย่อมได้ “กาย” ตามความสามารถต่างๆ (นานัตตกาโย)  
                ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน “สัตตาวาส ๙” ข้อที่ ๑ หรือ “วิญญาฐิติ ๗” อันเป็น หลักธรรมลึกซึ้งสำคัญ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ข้อ ๓๕๓, ๔๕๗ และเล่ม ๒๓ ข้อ ๒๒๘ หรือในเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๓๕ และเล่ม ๒๓ ข้อ ๔๑)

                เพราะฉะนั้น เมื่อทำสำเร็จ จึง “หลงยึดภาวะที่ได้ ที่มีที่เป็นนั้น” อยู่ แล้วหลงว่า ตนมี “ความไม่มี” สำเร็จแล้ว แต่แท้จริงก็ยัง “มี” อยู่แท้ๆ และภาวะที่ได้อยู่ “มีอยู่” นั้นก็มิใช่ภาวะ “ไม่มี” (น โหติ) ที่ถูกต้อง ตามสัจธรรมจริงเลย
                ทั้งๆที่ภาวะของ “ผล” นั้น มิใช่ “ความไม่มี” ภาวะจริงของ “นิโรธอริยสัจ”
                มิใช่ “ความดับสนิทสิ้นซาก” มิใช่ความไม่เหลือแล้ว ขอ “ภาวะที่จะมิให้มี” นั้น (คือการดับสิ้นกิเลสาสวะ) ซึ่งจะต้อง “ไม่มี” อีกแล้วในความเป็น “กาย” และ “ในโลก”
                ทั้งๆที่ตน “หลงยึดความไม่มี” นั้นอยู่ ผู้หลงผิดนี้ ก็ไม่รู้ได้ว่า ตน“มี” (โหติ)
                ความยึดนั้น ฉะนี้แลคือ “ความไม่มีในโลก” (โลเก นัตถิตา) ย่อมไม่มี (น โหติ)
                 “โลก” ที่ว่า “ไม่มี” (น โหติ)นั้น ก็คือ ความไม่มี (นัตถิ) โลกนิโรธ เพราะเขายังมี “โลกสมุทัย” อยู่ เขาจึง “ไม่มี” ภาวะที่ “โลกทั้งโลกไม่ควรมี” [ผู้สนใจค้นคว้าได้จาก พระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๔๓]
               
                ต่อไปเป็นการตอบประเด็น

  • การทำประกันชีวิต ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่ อย่างไร

ตอบ ในสมัยพระพุทธเจ้า ยังไม่มีการประกันชีวิต จะถูกต้องตาม พระพุทธศาสนา หรือไม่ ก็ไม่รู้ เราต้องพิจารณาตาม สัปปุริสธรรม ๗ ตามมหาปเทส ๔ ซึ่งคนสมัยก่อน ไม่บ้าเหมือนสมัยนี้ ที่มีประกันน่องประกันหน้าอก มันพิลึกมาก ซึ่งกรณี การประกันชีวิต ก็วินิจฉัย ตามเหตุปัจจุบัน ว่าควรหรือไม่ควร

  • การที่ลูกต้องตายก่อนพ่อแม่ แล้วทำประกันทิ้งไว้ให้พ่อแม่ เหมาะสมหรือไม่ แม้ว่าพ่อแม่ จะไม่อยากได้ก็ตาม

ตอบ พระพุทธเจ้าสอนให้พึ่งตนเอง แต่ก็ดีที่ถ้ามีเหลือเฟือ จะดูแลพ่อแม่ก็ได้ เป็นกตัญญู กตเวที แต่กลวิธี การประกันชีวิตนี่ คือการเล่นหวย ชนิดหนึ่ง นักประกันชีวิต เขาเอาค่าเฉลี่ย จากคนส่วนใหญ่ แต่คนส่วนใหญ่ ก็ต้องพยายามไม่ตาย คนที่ไม่ตาย ก็ต้องพยายามส่งเบี้ย ซึ่งก็ต้องมากกว่า คนที่ตาย ก็คือการเอาพนันชีวิต อย่างหนึ่ง จึงเกิดการโกงกัน มากมาย มีการฆ่า เพื่อให้ได้ประกันชีวิต ขึ้นมา เมื่อมาศึกษา พระพุทธเจ้า เราก็ทำตามควร การสะสมให้พ่อแม่ก็ควรทำ แต่การส่งเสริม อาชีพเช่นนี้ ควรทำหรือไม่ ควรหาวิธีอื่นได้ก็ทำ แต่จะไปตัดสินทีเดียว ว่าไม่ดี ก็ยาก

  • ในฐานะลูกสาว และพ่อแม่ก็ยกทรัพย์สินให้ลูกชาย ลูกสาวที่ไม่ได้แต่งงาน จำเป็นต้องซื้อกรมธรรม์ไว้ดูแล ยามแก่เฒ่า จะเป็นอย่างไร

ตอบ เป็นเรื่องส่วนบุคคล อย่างอโศกนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีใครดูแล จะไม่มีใครเผาผี พ่อครูภาคภูมิใจ ในธรรมะพระพุทธเจ้า ในสาธารณโภคี ไม่ต้องกังวลเลย ไม่ต้องคิดเลยว่า จะต้องซื้อกรมธรรม์ หรือใครจะซื้ออยู่ ก็แล้วแต่คน แต่ใครมั่นใจ ในสาธารณโภคีนี้ สุดยอด

  • ขอแสดงความเห็นว่า วันนี้ฟังอ.ปานเทพ แถลงข่าว ฟังอ.เสรี พูดถึงคน หน้ากากขาว คิดว่าคนไทยฉลาดขึ้น จากบทเรียนที่ไปสู้ จนปราบรัฐบาล ไปหลายรัฐบาล แต่ตอนนี้ ต้องใช้วิธี อุ่นเครื่อง ขอให้กองทัพธรรม เซฟตัวเองให้ดี งานใหญ่ๆ รออยู่แน่ ซึ่งงานที่เหมาะกับพวกท่าน ณ กาละนี้ น่าจะเป็นงานเย็น เป็นการเมือง ภาคประชาชน ไม่ใช่แบบสนามหลวง หรือแบบเสธ.อ้าย เสียดาย ไปตายเปล่า เพราะคนพาลอย่างตระกูลชิน จ้องกำจัดพวกท่านอยู่ ที่แสดง ความเห็นมานี้ เห็นพวกท่าน ไม่ได้หยุดเลย ท่านเคลื่อนไหว เรื่องพลังงาน เรื่องถวายพระพรในหลวง ของชาติพันธุ์ เรื่องสุขภาพ แม้นี้ไทยเฉย ซึ่งเป็นพลังเงียบ ก็ยังไม่เคลื่อน ต้องรอจน คนเดือดร้อนเต็มที่ ซึ่งอาการสุดซอย ใกล้มาถึงแล้ว เมื่อจนซอย ก็จนตรอก เราคงได้แสดงออก ถึงพลังรวมกัน อย่างพร้อมหน้า พร้อมตา โปรดคำนึงถึงจังหวะ

ตอบ เราเป็นพวก ปฏิบัติธรรมพระพุทธเจ้า ไม่ใช่คนดูดาย ไม่ใช่ไทยเฉย

  • ผู้วิญญาณแก่ เมื่อวิญญาณแก่และเสื่อมสลายไป จะเป็นอะไรต่อ

ตอบ ก็ไปเป็นตามวิบาก อยู่ตลอดเวลา จนกว่าคุณจะจบ ผู้จบได้คืออรหันต์ เมื่อจบแล้ว พอเวลาร่างกายก็จะเกิดแก่เจ็บตาย แต่จิตวิญญาณ หมดความแก่ ความชรา ความทุกข์ทรมาน แบบพิสูจน์ได้เลย แต่ความเกิดของจิต สามารถตั้งจิต (ปณิหิตตัง) ต่อพุทธภูมิได้ อยู่ที่ตัวท่าน ว่าจะจบเลย หรือจะต่อ เมื่อมีวิบาก ก็ไปตามวิบาก แต่ถ้าจะไม่ตั้งจิตต่อ (อัปปณิหิตตัง) ท่านก็ปรินิพพาน สูญจบหมดเลย อย่างพระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า เมื่อกายของตถาคต แตกตายแล้ว จะไม่มีใครได้เห็นตถาคตอีกเลย เหมือนพวงมะม่วง หลุดจากต้น ไม่มีกลับคืนอีกเลย

  • คำว่าคบสัตบุรุษบริบูรณ์ และฟังธรรมบริบูรณ์ ขนาดไหน เรียกว่าบริบูรณ์

ตอบ.....ขนาดที่คุณบรรลุอรหันต์นั่นแหละ อย่าประมาท ในการฟังธรรม อย่างคุณ ฟังธรรมพ่อครู มานานแล้ว มีใครว่าบริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องฟังอีกแล้ว ..ไม่มีใครกล้า ..นอกจาก จะมีอัตตาเท่านั้น การฟัง ทำให้เราได้ชัดเจน ฟังธรรม ก็บรรลุธรรมได้ อย่าประมาท อย่าทำเล่น หรือการแสดงธรรม ก็บรรลุได้ เพราะมันต้องใช้ การอ่าน สภาวธรรม ซึ่งการบรรลุธรรม มีได้หลายวิธี หรือ วิมุติได้หลายวิธี
๑. วิมุติด้วยการฟังธรรม  ๒.วิมุติด้วยการแสดงธรรม ๓.วิมุติด้วยการสาธยายธรรม
๔. วิมุติด้วยการตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรม  ๕.วิมุติด้วยสมาธินิมิต

  • สัญญาเวทยิตนิโรธ ต้องผ่านฌาน ๑-๘ มาก่อนหรือไม่

ตอบ ใช่ การผ่านฌาน ต้องผ่านโดยสภาวะ เช่นพระพุทธเจ้าตรัสว่า เริ่มด้วยศีล –สำรวมอินทรีย์ -สติ  -สันโดษ ก็จะเกิดอาริยะ เป็นศีลอาริยะ สันโดษอันเป็นอาริยะ มีสำรวมอินทรีย์ อันเป็นอาริยะ มีสติอันเป็นอาริยะ แล้วก็จะมีฌาน ๑-๔ ต่อมา และการปฏิบัติ จรณะ ๑๕ จะมีลำดับ ให้เกิดฌาน จากทำศีล – สำรวมอินทรีย์ – โภชเนมัตตัญญุตา - ชาริยานุโยคะ แล้วก็จะเกิด ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ ปัญญา จากนั้น เป็นฌาน ๑-๔

  • สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบ ใช่หรือไม่

ตอบ ...ใช่ ศาสนาอื่นไม่มี แต่ตอนนี้ พุทธก็เพี้ยนไปมากแล้ว ไม่เข้าใจ สัญญาเวทยิตนิโรธ เขาเข้าใจว่า ต้องปฏิบัติ นั่งหลับตา ทำสมาธิ เข้านิโรธ แต่มีหลักฐานว่า พระพุทธเจ้า ท่านว่ากับ พระอุบาลีว่า พระอุบาลี ปรารถนาจะไปอยู่ป่า และราวป่าอันสงัด

พระพุทธองค์ตรัสว่า... ป่าและราวป่าอันสงัด อยู่ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอภิรมย์ ในการอยู่ผู้เดียว ป่าทั้งหลาย เห็นจะนำใจของภิกษุ ผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลงหรือจักฟุ้งซ่าน เปรียบเหมือนกระต่าย หรือเสือปลา ลงสู่ห้วงน้ำใหญ่ หวังจะเอาอย่างช้างใหญ่ สูง ๗ ศอก หรือ ๗ ศอกกึ่ง กระต่าย หรือเสือปลานั้น จำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลง หรือจักลอยขึ้น !!

พ่อครูว่า.. การเข้าป่า เราเข้าเพื่อการเช็คเท่านั้นว่า เราติดป่าหรือไม่ เราจะมีจิตฟุ้งซ่าน หรือไม่ ในกาม ในโลกธรรม แต่ติดป่าก็คือจม พระพุทธเจ้า ไม่เคยส่งเข้าป่า การเข้าป่า เป็นความเสื่อม อย่างใน อัมพัฏฐสูตร ตรัสถึง ความเสื่อมสี่ประการ ของผู้แสวงหา อันผิดๆ

  • ผู้ยังไม่มีวิชชาและจรณะ แต่ไปแสวงหาอาจารย์ในป่า โดยเก็บผลไม้หล่น กินบำรุงชีพ อย่างมักน้อยมากๆ
  • ไม่เก็บผลไม้กิน แต่ถือเสียม ตะกร้า หาขุดเหง้าไม้  หาผลไม้กิน ระหว่างออกแสวงหา อาจารย์ในป่า
  • สร้างเรือนไฟไว้ใกล้หมู่บ้าน แล้วบำเรอไฟ รออาจารย์
  • สร้างเรือนมีประตูสี่ด้าน ไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แล้ว สำนักรอ ท่านผู้อยู่มีวิชชา และจรณะอยู่ (อัมพัฏฐสูตร เล่ม ๙ ข้อ ๑๖๓)
  • ผมติดตามรายการธรรมชาติของโสภณ คำว่า ก่อนถึงนิพพาน ต้องเจอ สัมโพธิกายก่อน ซึ่งโพธิสัตว์เท่านั้นที่เห็น

ตอบ สัมโพธิกาย พ่อครูเห็นพยัญชนะว่า คือองค์ประชุมของสัมโพธิ ซึ่งคือความตรัสรู้ ถ้าไม่ตรัสรู้ จะไปถึงนิพพานได้อย่างไร ซึ่งคำว่ากายนี้ ก็อยู่ในวิญญาณฐีติ ๗ และ สัตตาวาส ๙ เราต้องสัมผัส วิโมกข์ ๘ ด้วยกาย ครบองค์ประชุม ทั้งภายนอกภายใน ซึ่งพระโพธิสัตว์ก็คือ ผู้ตรัสรู้ ตั้งแต่โสดาฯ เป็นต้นไป

  • การให้พรของพระ หลังใส่บาตร สมัยพุทธกาล มีหรือไม่

ตอบ ไม่มี นั่นมันนอกรีต การให้พรเป็นการเอาใจฆราวาส เป็นการแย่งลาภ ซึ่งมันบ่งบอกว่า เราสิ้นไร้ไม้ตอกแล้ว ที่เราไม่มีอะไรจะให้ ก็ให้การสวดมนต์ให้พร เป็นจารีต เป็นศีลพตุปาทาน แต่ผู้ที่จำเป็น เขาก็ต้องใช้อย่างนั้น อย่างอโศกเราไม่ให้พร เขาไม่ใส่บาตร ก็ไม่เป็นไร ไม่ใส่บาตร เราก็กินที่วัดมีอุปัฏฐาก อยู่พอควร ซึ่งคำว่าพร ๕ ประการ พ่อครูก็นำมาขยาย พร ๕ ประการ คือ
๑.มีอายุหะ คือมีอิทธิบาทเป็นเครื่องแสดง
๒.มีวรรณะ
คือ มีศีลผุดผ่อง
๓.มีสุขะคือมีฌาน  
๔.มีโภคะคือมีพรหมวิหาร    
๕.มีพละคือมีวิมุติหลุดพ้น เป็นพลังแสดง

  • หากรู้สึกรังเกียจพระ ที่ยืนหน้าปากซอย จะบาปไหม

ตอบ ถ้าเขาทำอะไรน่ารังเกีย จตามสัจจะก็ไม่บาปหรอก ก็จิตใจอย่าไปลบหลู่ แต่เราเห็นว่า อะไรดี น่านับถือ ก็นับถือ อะไรไม่ควรก็ไม่นับถือ อย่าไปสร้าง อาการรังเกียจ จะเป็น อฏฺฏียามิ หรายามิ ชิคุจฺฉามิ เรารู้แล้วก็จบ อย่าเป็นทุกข์

  • พระพุทธเจ้า ดับขันธุ์ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน

ตอบ อนุปาทิเสสะ แปลว่าไม่เหลืออุปาทิ ส่วนนิพพาน แปลว่าดับ แปลว่าตาย คำว่า อนุปาทิเสสนิพพาน จะแปลว่า กิเลสไม่เหลือ ดับกิเลสไม่เหลือเลย ไม่เหลืออุปาทิเลย ตั้งแต่ต้นเค้าเลย หรือ อนุปาทิเสสนิพพาน โดยตายแล้ว ก็ไม่เหลือขันธ์ ๕ เลยก็ได้ เป็นปรินิพพาน สุดยอดเลยก็ได้ (สรุปจะแปลว่า ไม่เหลือกิเลสเลย หรือจะแปลว่า ปรินิพพานเลยก็ได้)

  • ๑.เมื่อเสร็จอรูปแล้ว เป็นนิพพานพรหม ใช่หรือไม่

ตอบ นิพพานพรหม คำว่าพรหมแปลว่า จิตสะอาดบริสุทธิ์ มีทั้งรูปพรหม (บริสุทธิ์ ในรูปฌาน) อรูปพรหม คือบริสุทธิ์ในอรูปฌาน ดังนั้น ขณะในไม่มีนิวรณ์ คือพรหม ก็ทำได้ถาวร ตามลำดับ

  • ๒.เราสามารถทำผ่านนิพพานพรหมได้หรือไม่

ตอบ ก็บริสุทธิ์ก็เรียกว่า นิพพานพรหม จะนิพพานลำลอง นิพพานตั้งมั่น ก็แล้วแต่

  • ปฏิบัติธรรมแล้ว เกิดอาการเกียจคร้าน ติดสุขติดสบาย จะแก้อย่างไร

ตอบ...เพราะว่าโสดาบัน ก็ยังไม่พ้นอบายมุข ๖ คือข้อเกียจคร้าน ให้เอาใหม่ๆ คนที่มาอยู่อโศกแล้ว มีภูมิธรรมพอสมควร ก็เลยเกียจคร้าน ตกอบายเลย เพราะมาอยู่ ข้าวมีกิน ดินมีเดิน ฯ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ ทำศีล ๕ พอได้ แต่มาอยู่ในอโศก เขาจะตาเหล่ จ้องมอง จนถึงมีปากหอกเลย ก็รู้ว่า ขี้เกียจไม่ได้เรื่อง ก็ปรับปรุงไป....


จบ

              

 
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ พุทธสถานราชธานีอโศก