560530_รายการสงครามสังคมธรรมะการเมือง โดยพ่อครู
เรื่อง บุคคลา-ธัมมาธิษฐานอันลึกซึ้งแบบพุทธ

           พ่อครูเริ่มรายการที่บ้านราชฯ... วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พ.ค.๒๕๕๖

พ่อครูเกิดมา มีหน้าที่เปิดเผยธรรมะ เปิดเผยสัจธรรม จำเป็นต้องบอกอย่างนี้ เพราะว่า มันเป็นเรื่องพิเศษ ไม่เหมือนใคร ถ้าไม่บอกจะไม่รู้เลย พ่อครูอธิบาย แม้แต่ธรรมะ ที่บรรยาย ก็ไม่เหมือนใคร จึงจำเป็นต้องบอกว่าไม่เหมือนใครอย่างไรบ้าง

ผู้ที่ได้ศึกษาตั้งใจฟัง ตามที่พ่อครูได้อธิบาย ได้บอกแจ้ง ผู้นั้นก็จะได้ ส่วนผู้ที่จะเพ่งโทส จับผิด หาเรื่องย้อนแย้งเฉยๆ ก็จะไม่ได้อะไร

เรื่องสำคัญที่จะต้องให้คนรู้ โดยเฉพาะสิ่งที่ เราไม่สามารถ จะรู้ได้ง่ายๆ พูดให้ชัดคือ อาริยธรรม หรือโลกุตรธรรม เป็นสิ่งที่รู้ไม่ง่าย และก็ไม่สามารถรู้เอง สำหรับผู้ที่ ไม่มีของตนเอง

ธรรมะพระพุทธเจ้า ต้องสืบทอดจากผู้รู้ จากปัจเจก และปัจเจกที่จะได้มา ก็ต้องรับมาจากผู้รู้ พุทธธรรมจริง ศาสนาพุทธ จึงต้องมีสาวก ต้องเป็นสาวก

ผู้ที่จะเป็นต้นตอได้ ส่วนสาวกคือผู้ฟัง จะต้องฟังธรรมะ ถ่ายทอดจากปัจเจก ผู้สยังอภิญญา หรือจากสยัมภูเลย คือจากพระพุทธเจ้าเลย ก็คือผู้ที่เป็นเอง มีเองได้เอง สะสมมาเอง จนสูงสุด คือต้นตอ ของผู้ที่จะถ่ายทอด และก็จะมีสาวกสังโฆ คือหมู่กลุ่มผู้ฟัง

ศาสนาพุทธ จึงไม่เกิดรู้เอง โดยไม่ได้มีเชื้อมีที่มา แต่ศาสนาพุทธนั้น "ทุกอย่างมีแต่เหตุ" มีต้นเค้ามาก่อน อยู่ดีๆ จะรู้เองเลยไม่ได้

คนสับสนอันหนึ่งคือ คำว่า ทุกอย่างมาแต่เหตุ กับ ผู้ที่มีเอง ของตนเอง อย่างพระพุทธเจ้า คือผู้ที่สุดยอด เป็นผู้มีเอง ก็ถือเป็นต้นตอ แต่จริงๆแล้ว พระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ ก็มาแต่เหตุ คือรู้เองไม่ได้ ต้องรับมาจากผู้รู้ทั้งนั้น

อย่างพ่อครูว่า ชาตินี้ไม่มีอาจารย์ ไม่มีสำนัก ไม่มีศิษย์พี่ศิษย์น้อง ชาตินี้พ่อครูไม่มี เขาก็ว่า อวดเกินจริง เพราะเขาเข้าใจไม่ได้ว่า ผู้มีเอง มีตั้งแต่ ปัจจัตตัง และก็เป็น สยังอภิญญา และก็ไปสู่ปัจเจกสัมมาสัมพุทธะ และก็ไปสู่ สยัมภู หรือ สัมมาสัมพุทธะ พระพุทธเจ้านั้น ที่เป็นปัจเจกสัมมาสัมพุทธะนั้น ท่านมีสัมมาสัมพุทธะ เฉพาะตน ไม่ใช่มาสร้างศานสนา

พ่อครูก็มาแต่เหตุ คือศึกษากับพระพุทธเจ้า มาไม่รู้กี่ชาติ ชาตินี้ก็มาเป็น โพธิสัตว์ ระดับ ๗ ก็พูดอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน แต่ก็เกรงใจ พวกที่เขายึดถือ เป็นเรื่องที่พ่อครู เป็นของตนเอง แล้วเอามาพูด หลายอย่าง ไม่มีตำราพูดไว้ด้วย ก็เกรงใจ เห็นใจอยู่

การได้เองของตนเอง ตั้งแต่ปัจจัตตัง เมื่อสะสมไป ก็เป็นปัจจเจกภูมิ พอสะสมไปมากขึ้น ก็เป็นสยังอภิญญา แล้วก็เข้าสู่ ปัจเจกสัมมาสัมพุทธ และสุดท้ายก็เป็น สยัมภู แต่ไม่ได้ขัดแย้ง ว่าทุกอย่างมาแต่เหตุ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ก็มาจากพระพุทธเจ้า องค์ก่อนๆ

พ่อครูระมัดระวัง ในการแสดงธรรม พูดชัดๆว่า พ่อครูมั่นใจ เรื่องบาปบุญ เรื่องเวร-กรรม เชื่อกรรม-วิบาก แต่ในยุคใด ที่มีคนที่รู้ผิดๆ ไม่สัมมาทิฏฐิ มีความยึดถือ ถือดีอยู่มาก และก็มีลูกศิษย์มาก มีหมู่กลุ่มมาก ผู้ที่มีของจริง เป็นโพธิสัตว์ เกิดมาในยุคที่มี พวกมีกิเลสอยู่มาก มีพวกมาก ในโพธิสัตว์ที่มาเกิดยุคนั้น ก็จะมีหมู่ จำนวนน้อย เพราะมีผู้ที่มีภูมิรับ โลกุตรธรรมน้อย

ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้ ก็มีปริวิตกว่า จะสอนได้หรือ คนในยุคนั้น แต่ท่านก็เปลี่ยนใจ เพราะมีสหัมบดีพรหม มาอาราธนา จึงเห็นว่า ผู้ยังมีธุลีในดวงตาน้อย คือผู้มีกิเลสน้อย พอที่จะสอนได้ยังมี พระพุทธเจ้า จึงเปิดเผย ประกาศและสร้างศาสนา เพราะถ้าเปิดไปแล้ว ไม่มีคนรับได้ ก็เสียศาสนา

บุคคลาธิษฐาน และธรรมธิษฐาน นั้นเข้าใจยาก ในสมัยพระพุทธเจ้า ศานาทั่วไป เป็นเทวนิยม คือศาสนาที่ยึดถือพระเจ้า มีพระพรหมเป็นต้น เป็นพระเจ้า เป็นนามธรรม ที่คนนับถือ ไม่ได้สัมผัสของจริง ถือว่าเป็นสิ่งลึกซึ้งสูงสุด ไม่อาจเข้าไปแตะต้องได้เลย ยึดถือลัทธิความเข้าใจนิยม (นยม แปลว่าเที่ยง) อย่างนั้น

เทวนิยม เขาจะไม่เข้าใจ ไม่รู้จักเทพเจ้า ที่แท้จริง แม้เขาจะนับถือเทพเจ้า คำว่าเทพเจ้า คือผู้ที่มีคุณงามความดี มีคุณธรรม เทพเจ้าคือจิตวิญญาณ ที่มีความสูงส่ง จะเรียกว่า เทพ หรือเทวา หรือเทวดา ก็คือจิตวิญญาณ

ในตัวคนมีจิตวิญญาณ ถ้าจิตวิญญาณของเรา เป็นจิตวิญญาณที่มีคุณธรรม ท่านเรียกว่า จิตวิญญาณเทพ หรือเทวดา

ที่เขาว่าวิญญาณ เทวดา ผี ลอยล่องอยู่ภายนอกตัว ที่ไหนก็แล้วแต่ แต่พระพุทธเจ้า ไม่พาเรียนอย่างนั้น แต่ศาสนาเทวนิยมเขาเรียน แล้วเขาก็ว่า เขาเห็นเป็นรูปร่างด้วย คำว่ารูปร่าง (สรีระ) หรือเรียกว่า "ร่างกาย" คือมีองค์ประชุมของจิต และ วัตถุธาตุ

แม้แต่ในจิตวิญญาณ ที่เป็นองค์ประชุมของ นามธรรม ท่านก็เรียกว่า "นามกาย" แต่ถ้าสัมผัสแตะต้อง ด้วยทวารนอกได้ เรียกว่า "รูปกาย"

"นามกาย" ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสัน ในพระไตรล. ๑๖ ท่านแจกเรื่องนามรูปว่ามี เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ส่วนรูป มีมหาภูตรูป อุปทายรูป

ต้องศึกษาคำว่า "รูป" ที่มีทั้งภายนอก และภายในที่เรียกว่า "รูปจิต" หรือ "นามรูป" คือมันเป็นนาม แต่เป็นรูปที่ถูกรู้ ใครติดยึดแบบเทวนิยม ว่าวิญญาณหรือจิต มีรูปร่าง มีที่อยู่ เป็นนรกสวรรค์ แบบมีสถานที่เลย

แม้แต่คำว่า "นามกาย" คือองค์ประชุมของนามธรรม และจะประชุมกัน เป็นเทวดา หรือสัตว์นรกก็ได้ ก็คือ "นามกาย" หรือจิตวิญญาณ ไม่มีรูปร่าง (อสรีรัง) ,เห็นไม่ได้ (อนิทัสสนัง), ไม่มีกรอบไม่มีขอบเขต กระจายไปไม่มีที่สิ้นสุด (อนันตัง), เหมือนแสงสว่าง กระจายไป (สัพโตปภัง), ถ้าจะอาศัยอยู่ ก็เฉพาะในกรอบ ร่างกายของคน, สัตว์ที่มีจิตวิญญาณ (คูหาสยัง)

ยุคพระพุทธเจ้า ยังไม่มีใครประกาศศาสนาพุทธ ว่าจิตไม่มีรูปร่างไม่มีขอบเขต เขารู้แต่ว่า จิตวิญญาณเป็นแบบเทวนิยม แต่ของพุทธ ไม่ได้ปฏิเสธเทวนิยม แต่ไม่ได้เป็น อย่างที่เขาเป็น แต่เป็นเทวะ ที่ไม่เหมือนกันกับเขา พระพุทธเจ้า ก็ต้องประนีประนอม อย่างยิ่ง เพราะเขาเข้าใจ อย่างนั้นเสียมาก ว่าตายไป ต้องมีที่อยู่ มีภพอยู่

ซึ่งมันหยาบ ในการมีที่อยู่ แต่ว่าจิตวิญญาณ ละเอียดกว่านั้น คืออาการที่สุข ทุกข์ เป็นจิตสูง หรือจิตตกต่ำ ก็คือวิญญาณ คือคุณลักษณะของ จิตวิญญาณต่างหาก ที่สำคัญ อยู่ในร่างคนนี่แหละ ศาสนาอื่น เขาไม่เรียนจิตวิญญาณในร่างคน แต่ไม่ได้ปฏิเสธ ว่าจิตวิญญาณ ออกจากร่าง ก็เวียนตายเวียนเกิด ไปนรกสวรรค์ ตามวิบาก มีจริง ปฏิเสธไม่ได้ แต่อย่าเอามาพูด พระพุทธเจ้า ไม่สอนอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าสอนให้เรียนรู้ ในร่างกายเรานี่แหละ ศึกษาให้ชัดว่า ถ้าจะสร้างนิมิต จิตก็ปั้นนิมิตได้ เป็นเรื่องเป็นรูปร่างตัวตน เป็นอัตภาพก็ปั้นได้มี แต่มันไม่จริง ไม่ใช่ของจริงเลย

ยกตัวอย่างเช่น คนมิจฉาทิฏฐิ เขาจะเข้าใจว่า คนทุกคน พอตายไป วิญญาณก็จะ เป็นตัวคนนี้ ถ้าใครมีตาทิพย์ จะเห็นว่ามีวิญญาณ หน้าตารูปร่าง เหมือนตอนเป็นๆ นั่นคือ มิจฉาทิฏฐิ แต่ตายแล้ว ไม่มีรูปร่างอย่างนั้น มีนรกสวรรค์ด้วย นรกคือความทุกข์ ความเสื่อมต่ำ มีสวรรค์ก็มี และก็วนเวียนในวัฏฏะ เพราะยังไม่ล้างอวิชชา

ไม่ได้เรียนรู้ ล้างอวิชชาตอนเป็นๆ ตอนตายไป ปฏิบัติให้บรรลุไม่ได้ ตายไปมีแต่จะต้อง รับวิบาก ที่ตนทำไว้ บาปก็เป็นนรก กุศลก็เป็นสวรรค์ แต่สวรรค์จะน้อย ส่วนบาป คือทุกข์เป็นวิบาก จะมีมากยาวนาน

ถ้าเราชำระล้างบาป เป็นโสดาบัน ก็ลดวิบากไปส่วนหนึ่ง สกิทาคามี ก็ลดวิบากอีก สกิทาคามี ก็เหลือเศษวิบากเล็กน้อย ไม่ตกนรก ทุกข์ทรมาน เดือดร้อนแล้ว เหมือนผู้ ไม่ชำระกิเลส หรือชำระกิเลสไม่ถูกต้อง

พระพุทธเจ้าที่ท่านเอง ท่านมีบรรยายว่า เมื่อท่านมีจิตปริวิตก ว่าจะไม่สอนคน ท่านก็เล่า เป็นบุคคลาธิษฐาน ว่า สหัมบดีพรหม (เป็นพระพรหม ที่รวมพรหมวิหาร ๔ อย่างยิ่งใหญ่ ทั้งหมด) มาเตือนพระพุทธเจ้า ให้มีเมตตา

ซึ่งจริงๆสหัมบดีพรหมก็คือ จิตวิญญาณของท่านเอง นั้นแหละ แต่ท่านต้องเล่า ให้เป็นบุคคลาธิษฐาน ก็เพราะคนสมัยนั้น เป็นเทวนิยมเสียส่วนมาก

คำว่าสุขทุกข์ของพระอาริยะ เช่นของพระอรหันต์ สุขทุกข์ของท่านคือสงบ เมื่อตายไป จิตของท่านก็สงบ อย่างพระโพธิสัตว์ตายไป จิตก็อยู่ที่ดุสิต (สงบ)

พระพุทธเจ้าต้องอธิบายอย่างเป็น บุคคลาธิษฐาน เพราะต้องประนีประนอม แต่ว่าสมัยนี้ คนรู้พระพุทธศาสนา มีมานานแล้ว หลังพระพุทธเจ้า ประกาศศาสนา พ่อครูจึงบอก อย่างชัดๆเลย ไม่ประนีประนอม

มาดูตัวอย่าง ที่คุณ 8705 พาดพิงถึง พระสารีบุตร ถูกยักษ์ (คือจิตวิญญาณอันเลวร้าย) ตีที่ศีรษะ โดยที่คุณ 8705 มายกอ้าง เป็นตัวเป็นตน พ่อครูก็ค้นเจอใน ชุณหสูตร ล.๒๕ ข้อ ๘๓
       ๔. ชุณหสูตร
         [๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
           สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ อยู่ที่กโปตกันทราวิหาร ก็สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร มีผมอันปลงแล้วใหม่ๆ นั่งเข้าสมาธิ อย่างหนึ่ง อยู่กลางแจ้ง ในคืนเดือนหงาย ฯ
         [๙๔] ก็สมัยนั้น ยักษ์สองสหาย ออกจากทิศอุดร ไปยังทิศทักษิณ ด้วยกรณียกิจ บางอย่าง ได้เห็นท่านพระสารีบุตร มีผมอันปลงแล้วใหม่ๆ นั่งอยู่กลางแจ้ง ในคืนเดือนหงาย
           ครั้นแล้วยักษ์ตนหนึ่ง ได้กล่าวกะยักษ์ผู้เป็นสหายว่า ดูกรสหาย เราจะประหาร ที่ศีรษะ แห่งสมณะนี้

   เมื่อยักษ์นั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ยักษ์ผู้เป็นสหาย ได้กล่าวกะยักษ์นั้นว่า ดูกรสหาย อย่าเลย ท่านอย่าประหารสมณะเลย ดูกรสหาย สมณะนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แม้ครั้งที่ ๒ ...แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์นั้นก็ได้กล่าวกะยักษ์ ผู้เป็นสหายว่า ดูกรสหาย เราจะประหารที่ศีรษะแห่งสมณะนี้ แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์ผู้เป็นสหาย ก็ได้กล่าว กะยักษ์นั้นว่า ดูกรสหาย อย่าเลย ท่านอย่าประหารสมณะเลย ดูกรสหาย สมณะนั้น มีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
       ลำดับนั้นแล ยักษ์นั้นไม่เชื่อยักษ์ผู้เป็นสหาย ได้ประหารที่ศีรษะ แห่งท่านพระสารีบุตรเถระ ยักษ์นั้นพึงยังพระยาช้างสูงตั้ง ๗ ศอกหรือ ๘ ศอก ให้จมลงไปก็ได้ หรือพึงทำลาย ยอดภูเขาใหญ่ก็ได้ ด้วยการประหารนั้น ก็แลยักษ์นั้น กล่าวว่า เราย่อมเร่าร้อน แล้วได้ตกลงไปสู่นรกใหญ่ ในที่นั้นเอง ฯ
     [๙๕] ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เห็นยักษ์นั้น ประหารที่ศีรษะ แห่งท่านพระสารีบุตร ด้วยจักษุเพียงดังทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ แล้วเข้าไปหา ท่านพระสารีบุตร ครั้นแล้วได้ถาม ท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรอาวุโส ท่านพึงอดทนได้หรือ พึงยังอัตภาพ ให้เป็นไปได้หรือ ทุกข์อะไรๆ ไม่มีหรือ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ ผมพึงอดทนได้ พึงยังอัตภาพ ให้เป็นไปได้ แต่บนศีรษะของผม มีทุกข์หน่อยหนึ่ง ฯ
       ม. ดูกรอาวุโสสารีบุตร น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านพระสารีบุตร มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ยักษ์ตนหนึ่ง ได้ประหารศีรษะของท่านในที่นี้ การประหาร เป็นการประหารใหญ่ เพียงนั้น ยักษ์นั้นพึงยังพระยาช้าง สูงตั้ง ๗ ศอก ๘ ศอก ให้จมลงไปก็ได้ หรือพึงทำลาย ยอดภูเขาใหญ่ก็ได้ ด้วยการประหารนั้น ก็แลท่าน พระสารีบุตร ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ ผมพึงอดทนได้ พึงยังอัตภาพ ให้เป็นไปได้ แต่บนศีรษะของผม มีทุกข์หน่อยหนึ่ง ฯ
       สา. ดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ท่านมหาโมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ที่เห็นยักษ์ ส่วนผมไม่เห็น แม้ซึ่งปีศาจ ผู้เล่นฝุ่น ในบัดนี้ ฯ
     [๙๖] พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับ การเจรจาปราศรัย เห็นปานนี้ แห่งท่านมหานาค ทั้งสองนั้น ด้วยโสตธาตุ อันเป็นทิพย์ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตธาตุ ของมนุษย์ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานี้ว่า
       จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหิน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กำหนัดในอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่โกรธเคืองในอารมณ์ เป็นที่ทั้งแห่งการโกรธเคือง จิตของผู้ใด อบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน ฯ

พ่อครูว่า ยักษ์สองตนก็คือคนนั่นแหละ ที่จิตของเขาคิดไม่ดี ก็คือเป็นจิตยักษ์ เขาเป็นฮินดู ก็ยึดถือว่าคนโกนหัว คือคนจัญไร เป็นคนอุบาทว์ ใช้ไม่ได้ เขาก็เถียงกันเอง ว่าจะประหาร หรือตีหัวพระสารีบุตร และเขาก็ตกนรกของเขาเอง โดยก็ไม่ได้ตีด้วยกาย แต่อย่างใด อาจทำกิริยา

พระโมคคัลลานะท่านมีฤทธิ์ หยั่งรู้ใจของคนสองคน (ที่มีจิตเป็นยักษ์) ก็ไปถาม พระสารีบุตร เพราะท่านอาจเป็นกิริยา ออกมาทางกายกรรม ที่แสดงความไม่ชอบใจ แต่พระสารีบุตร ท่านก็รู้สึก ว่ามีอะไรนิดหนึ่ง ส่วนคำว่าเล่นฝุ่น พ่อครูอธิบายว่า ปีศาจหรือผี มีกิริยาดังฝุ่น คือละเอียด

พระสารีบุตรสายปัญญา จึงเห็นเป็นสิ่งละเอียด แต่รู้สึกว่ามีอะไร กระทบนิดหน่อย ก็คือทุกข์ละเอียดมาก ส่วนท่านโมคคัลลานะ เห็นเป็นสิ่งหยาบกว่า ก็เพราะเป็นสายเจโต

ที่ยกตัวอย่างมานี้ ก็คือให้เห็นว่า ธรรมะพระพุทธเจ้า นั้นยากมาก ที่จะให้คนเข้าใจภาวะ ของความไม่มีตัวตน

คำว่า ทรถ ก็คือความทุกข์ ความลำบาก ของพระอรหันต์ (ท่านแปลว่า ความกระวนกระวาย)

พ่อครูพยายามอธิบาย เพื่อให้คนเข้าใจนามธรรม ผู้ที่มีภูมิปัญญา ก็จะพอเข้าใจได้ เพราะ พ่อครูได้พูดอธิบาย ให้พวกเราฟังมานาน พอมีพื้นฐานรู้ได้

ต่อไปเป็นการตอบประเด็น

  • จะเปรียบ 8705 เป็นยักษ์ที่จะเอากระบอง มาประหารพ่อครู ได้หรือไม่ แล้วพุทธพจน์ ตอนท้าย จะหมายถึง ยักษ์จะทำอันตราย ผู้ที่อบรมจิตไว้ดีแล้วไม่ได้ ใช่หรือไม่

ตอบ..ใช่ แสดงว่าฟังธรรมเข้าใจได้ดี

  • ระหว่าง ๑. การทำงานตำแหน่งรอง ผอ.รร. มีชัยพัฒนา ซึ่งไม่เก็บค่าเล่าเรียนเด็ก กับ ๒.ตำแหน่งผู้จัดการ ในร้านถ่ายรูปเล็ก มีคนทำงานอยู่สองคนพ่อลูก ซึ่งพ่อบุญธรรม ก็เป็นต้อหิน ตอนนี้อยู่ในขั้น ทำเลเซอร์ สกัดไม่ให้ตาบอก ระหว่างสองตำแหน่งนี้ หากเราละตำแหน่งที่ ๒. ไปทำงานตำแหน่งที่ ๑ เสีย ๕ วัน แล้วเหลือ ๒ วัน กลับมาบ้านดูแลพ่อ จะเป็นอย่างไร

ตอบ.. พ่อครูว่า คุณยังไม่แน่ใจตัวเอง มีปัญหาว่า ถ้าคุณไม่ไปรับตำแหน่ง รองผอ. ก็ต้องอยู่ ร้านถ่ายรูป ๗ วันก็ไม่ได้ทำงานต่อ ก็อยู่ที่เหตุปัจจัยของคุณ แต่พ่อครูว่า คุณตัดสินแล้ว ข้อสำคัญอยู่ที่คุณตัดสินใจ ไม่น่าจะมีปัญหา เราก็มีจิตกตัญญูต่อพ่ออยู่

  • 0824039xxx ตนคิดว่า พ่อครูท่านบ่ได้ห้าม มิให้นั่งสมาธิหลับตา ท่านเพียงบอกว่า สมาธิบ่ใช่แค่ นั่งหลับตา.. สมาธิโดยทั่วไป ที่เรียนรู้เป็นสมาธิปถุชน การเพ่งใจ จดใจจ่อกับเรื่องใดเรื่อง1 ที่คนจะถนัดฝึกฝนฯ สมาธิกัลยาณชน คนก็เรียนรู้มาก เป็นวิธีสะกดจิต ให้สงบ ฤาให้จิตรวมเป็น1 เรียกง่ายๆ ว่านั่งสมาธิเข้าฌานฯ ที่พ่อครูเคยสอน เรื่องสมาธิสัมโพชฌงค์ ฤาสมาธิในทางปฏิบัติ มรรคมีองค์8 ต้องเข้าใจสัมมาทิฏฐิ สัมมาทั้ง7 รวมเป็นสัมมาสมาธิ ตนเข้าใจได้แค่นี้หนะ

ตอบ ..ก็ใช้ได้ เข้าใจถูกต้อง
    สมาธิปุถุชน นั้น เขาไม่ได้ฝึกสมาธิเลย เขาก็มีสมาธิตามธรรมชาติ เช่นเวลาทำงาน จิตก็เพ่งอยู่กับอะไรอันหนึ่ง อย่างลืมตาด้วย เรียกว่า สมาธิปุถุชน เป็นสมาธิที่คนฝึกได้ หรือเป็นอยู่แล้วในแต่ละคน มากหรือน้อยต่างกัน แต่ก็มีคนศึกษาว่า ให้จิตมีกำลัง จดจ่อมุ่งอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาก็ฝึกเรียกว่า สมถะลืมตา โดยอธิบาย ในชาวพุทธ มากมาย แต่ไม่ได้เรียนไปถึง จิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่มีโพชฌงค์ ๗ ไม่มีสติ ไม่มีธัมวิจัยสัมโพชฌงค์
    ส่วนสมาธิของกัลยาณชน ที่เข้าใจคือ นั่งสมาธิหลับตา แล้วก็ห่างจากเรื่องโลกๆ ไปนั่งสะกดจิต ให้จิตรวมได้เก่ง รวมได้เร็ว ก็มีวิธีสะกดจิต อย่างเดียวกัน จริงๆสมาธิหลับตา ก็ลดความฟุ้งซ่านได้มาก
    ส่วนสมาธิสัมโพชฌงค์ หรือสัมมาสมาธิ ที่มีญาณปัญญาตรัสรู้ ต้องอ่านจิต เจตสิก สักกายะได้ แล้วจัดการสักกายะ จนหมดอัตตา แล้วสั่งสมจิต ที่ลดละสักกายะ อัตตา นี่คือการทำฌาน เผากิเลสไปตามลำดับ จิตก็เป็นอุเบกขา เป็นฐานนิพพาน แล้วสั่งสม ทำอย่างซ้ำทวน อาเสวนา ภาวนา พหุลีกัมมัง แล้วอนุรักขณาปธาน สั่งสมอุเบกขา สั่งสมเป็นสัมมาสมาธิ ตามมรรค ๗ องค์ อันนี้เรียกว่า สมาธิของอาริยชน

  • ความไม่มี คือ ไม่มีกิเลส ไม่มีโลกสมุทัย คือโลกนิโรธ

ตอบ...ให้ติดตามฟัง มันมีนัยลึกซึ้งมากกว่านั้น ผู้ที่มีโลกนิโรธ ก็ต้องรู้ความมีในโลก
พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่า สัมมาทิฐิ สัมมาทิฐิ ดังนี้  ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่าสัมมาทิฐิ ฯ
    [๔๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรกัจจานะ โลกนี้โดยมาก อาศัยส่วน ๒ อย่าง คือ ความมี๑ ความไม่มี๑ ก็เมื่อบุคคลเห็น ความเกิดแห่งโลก (โลกสมุทยัง) ด้วยปัญญา อันชอบ ตามเป็นจริงแล้ว ความไม่มีในโลก ย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็น ความดับแห่งโลก (โลกนิโรธ) ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงแล้ว ความมีในโลก ย่อมไม่มี โลกนี้โดยมาก ยังพัวพันด้วยอุบาย อุปาทาน และอภินิเวส แต่พระอริยสาวก ย่อมไม่เข้าถึง (น อุเปติ) ไม่ถือมั่น (น อุปาทิยติ) ไม่ตั้งไว้ (นาธิฏฺฐาติ) ซึ่งอุบายและ อุปาทานนั้น อันเป็นอภินิเวสและอนุสัย อันเป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิตว่า อัตตาของเรา ดังนี้ ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า ทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับ ย่อมดับ พระอริยสาวกนั้น มีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล กัจจานะ จึงชื่อว่าสัมมาทิฐิ ฯ

  • ผมกำลังหัดพูดคุยกับเทวดา และตอบปัญหาเทวดาในตัวเอง มีความเข้าใจดังนี้ ให้พ่อครูตรวจ

- คำว่าอรูปฌานขั้นที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนะ ที่พ่อครูว่าตรวจสอบความว่าง รูปสัญญา (สัมผัสทวาร ๕) คือ กามราคะและปฏิฆะสัญญา ที่มาจากอุปาทายรูป ใช่หรือไม่

ตอบ ใช่ สามัญมนุษย์ จะอ่านออกเฉพาะ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่ภายนอก ส่วนคนมีหูทิพย์ตาทิพย์ .. จะเห็นรายละเอียด ของสัมผัสนั้น แล้วมันมีกิเลส มาปรุงแต่ง ร่วมเกิดในเวทนา ในสัญญานั้นหรือไม่ รูปสัญญาที่มีการสัมผัส แล้วเกิดกามหรือปฏิฆะ ผู้ตาทิพย์จะเห็น กามและปฏิฆะ แต่ไม่ได้ไปดับสัมผัส แต่อย่างใด ความเป็นทิพย์ คือรู้อย่างวิเศษ ว่าสิ่งที่ต้องกำจัด คือเหตุแห่งทุกข์ คืออะไร

  • อันคำว่า รูปสัญญา เท่ากับ สัญญาที่ยังระคนไปด้วย เศษอนุสัยของกาม จึงต้องทำ ให้พ้นรูปฌาน ให้ได้ก่อน แล้วเมื่อจะเข้าสู่อากาสาฯ จึงต้องละ รูปสัญญา - ปฏิฆะสัญญา และนานัตตสัญญา ไปได้ส่วนหนึ่งก่อนเท่านั้น แล้วพอเข้าไปถึง ขั้นที่ ๓ คืออากิญฯ จึงจะมนสิการว่า ไม่ให้มีแม้แต่น้อย คือไม่มี รูปสัญญา ปฏิฆะสัญญา -นานัตตสัญญา อันเหลือเศษธุลีของ โลภะ-รชะ ใช่ไหม? ดังนั้น คำว่า รูปสัญญา -ปฏิฆะสัญญา จึงสำคัญมาก คงเป็นฐานอนาคามี

ตอบ คำว่า นานัตต คือตัวตนต่างๆ นานัตตสัญญา คือกำหนดรู้ตัวตนต่างๆ หรือคือ ตัวตนที่เหลือ ที่เป็นกามหรือปฏิฆะ ก็เหลืออยู่คือ นานัตตสัญญา ที่ต้องตรวจสอบ ให้หมด ถ้าหมดกามราคะ และปฏิฆะสัญญาแล้ว ก็คือ ขั้นของอนาคามี เป็นต้นไป

  • รูปฌานคือการต่อสู้กับสัญญา ทั้งสองอันตา ส่วนรูปฌาน นั้นหยาบกว่า จึงต้องต่อสู้ กับเวทนา ที่มีสุข-ทุกข์ เพราะรูปหยาบ ดังนั้น สัญญาและเวทนา จึงไปตรวจสอบ ในขั้นสุดท้าย ที่สัญญาเวทยิตนิโรธ คือครบทั้งนอกและใน ใช่ไหมครับ

ตอบ จะบอกว่าเวทนา ของพระพุทธเจ้า ข้างนอกก็สัมผัสอยู่ ถ้าไม่มีเหตุ คือกิเลส มาปรุงแต่งก็เฉย แต่ถ้ามีกิเลส คือเหตุปรุงแต่ง ก็ต้องกำจัดเหตุ ซึ่งพยัญชนะ จะไปสื่อสภาวะ ก็ไม่ง่าย ส่วนผู้ที่ไม่มีสภาวะ ยิ่งยาก

  • คำว่า ชั่ว และบาป ในระดับปรมัตถ์และสมมุติ ขอพ่อครูอธิบาย

ตอบ คำว่า "ชั่ว" คือความหมายกว้าง ๆส่วนคำว่า บาป ลึกๆจริงคือ จิตมีกิเลส คนหมดบาป คือหมดกิเลส ถ้าเป็นการชำระกิเลสได้หมด คือ อปุญญะ ก็ยิ่งเป็นผู้ที่ ไม่มีทั้งบาปและบุญ บุญคือการชำระจิตสันดาน ให้หมดจด ก็ไม่ต้องทำอีกแล้ว ถ้าอปุญญะแล้ว ต่างจากปุญญาภิสังขาร ที่ยังต้องทำอยู่ เป็นเสขบุคคล ส่วน อปุญญาภิสังขารคือ อเสขบุคคล ส่วน อเนญชาภิสังขารคือ สั่งสมผล ให้ตัดสินตัวเอง ให้แน่ชัด จนไม่มีอะไรหวั่นไหว

  • ในสัตว์เช่น หมาแมว จะมีสติเช่นคนไหม

ตอบ มันมีสัญชาติญาณ มีสติรู้ตามสัญชาตญาณ มันระวังตัว ตามสัญชาตญาณ คนก็มีสัญชาตญาณ มีสติรู้ตัวตามสัญชาตญาณ ถ้าไม่รู้ธรรมะ ก็ไม่มี สติ สัมปชัญญะ สัมปฌานะ ไม่มี สติสัมโพชฌงค์ อ่านจิตเจตสิกไม่ออก ไม่มีธัมวิจัยสัมโพชฌงค์ ถึงจะมีจิตจดจ่อ หรือไปนั่งหลับตาสะกดจิต ก็ไม่เป็นฌาน เป็นสมาธิแบบพุทธ

  • การกำจัดตัณหาทุกตัว ต้องเว้นขาดเสียก่อน แล้วปัญญาวิปัสสนา จะเกิดตามหลัง ใช่หรือไม่ แล้วฤาษีก็เว้นขาด แต่กลับกำเริบ อะไรคือความต่าง

ตอบ ของฤาษี นั้นไม่วิปัสสนา คำว่า วิปัสสนา คือเห็นอย่างยิ่ง รู้เห็นลักษณะของปรมัตถ์ ถามว่า ต้องเว้นขาดก่อน แล้วค่อยวิปัสสนานั้น คำว่า วิปัสสนาคือต้องเห็นจิต เจตสิก อย่างถูกตัวตน ไม่ใช่ไปดับจิต อย่างฤาษี ที่เขาดับจิต มันจึงกลับกำเริบ ฤาษีไม่ได้เห็นกิเลส ที่ถูกกำจัด เจ้าตัวจะรู้เลยว่าทำได้หรือไม่ สรุปคือเว้นขาดนั้นมันคือการไม่ให้สิ่งที่ จะทำให้กิเลสเกิด เช่นตาไม่กระทบ หูไม่ได้ยิน ไม่ให้อาหารกิเลส ไม่ให้กับความอยาก ที่เป็นกิเลส เป็นอุบายเครื่องออก ให้อ่านกิเลสออก คือ วิปัสส คือเห็นกิเลสเลย หลัดๆ แล้วคุณก็กำจัดมัน แล้วตามเห็น กิเลสจางคลาย มันต่างจากฤาษี ที่ไม่วิเคราะห์ว่า กิเลสมีอย่างไร แล้วกำจัดอย่างไร แต่เขาระงับสะกดไว้ ห่างผัสสะ ก็ไม่เกิดกิเลส แต่พอมาเจอผัสสะ ก็กำเริบได้ ส่วนการนั่งสมาธิ ไม่ได้อ่านกิเลสสดๆ ไม่ได้เรียนรู้กิเลสแห้งด้วย พยายามไปหากสิณ ที่ตนจดจ่อไป แล้วมันก็หายไปเอง มันไม่เที่ยง กิเลสก็รามือไป แต่คุณก็นึกว่า ไม่มีกิเลส ให้ติดตามฟังให้ดีจะเข้าใจ

  • อะไรคือตัวล้างตัณหา ไม่ให้กลับกำเริบอีก

ตอบ ...คือวิธีปฏิบัติของพระพุทธเจ้าอย่างสัมมาทิฏฐิ ถามว่าอะไร ก็คือต้องเรียนรู้ ตัณหา โดยมีผัสสะสดๆ และก็มีวิธี วิขัมภนะ (กดข่มชั่วคราว อย่างน้อยก็ดี ที่ได้รู้กิเลส ต่างจากฤาษี ที่หนีผัสสะ ดับผัสสะ) -ตทังคปหาน

  • ยาบ้าขายดีเพราะเด็กไม่มีที่ยึดเหนี่ยวใช่ไหม

ตอบ ใช่ ยาเสพติดทำให้สติไม่เต็ม เพราะเด็กมันกลุ้ม ไม่มีที่พึ่งที่ดีงาม

  • พ่อครูบอกว่าพระพุทธเจ้าทุกองค์ก็คือ มาจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนทั้งสิ้น แล้วสงสัยว่า พระพุทธเจ้าองค์แรกๆ ท่านบรรลุเพราะอะไร

ตอบ พระพุทธเจ้าสมณะโคดม ก็บอกว่า เราไม่รู้ที่ต้น (ขนาดท่านพบ พระพุทธเจ้า มามากกว่า ห้าแสนหนึ่งหมื่นสองพันยี่สิบเจ็ดพระองค์ ท่านก็ยังไม่พบ พระพุทธเจ้าองค์ต้น อย่าไปตามรู้เลย มหายานว่า พระพุทธเจ้ามีเท่ากับ เมล็ดกรวด ในมหานที วัฏฏะสงสาร ไม่มีที่ต้น อย่าไปคิดในเรื่องที่ไม่จำเป็น ไม่ควรคิด เอาองค์ไหน องค์หนึ่ง ที่คุณเรียนตาม จนจบกิจให้ได้ ก็แล้วกัน

  • ๑.พ้นมิจฉาทิฐิ มีญาณเห็นความไม่เที่ยงของวิญญาณ และเวทนาแล้ว จะมีนามธรรม หรือเจตสิกตัวใด ที่จะถูกเห็นอีกหรือไม่ ในเงื่อนไขนี้

ตอบ ก็เห็นเวทนาและก็วิญญาณ รวมทั้ง สังขารด้วย

  • ๒. ตำแหน่งที่ผู้ปฏิบัติ จัดการกับกิเลส ในสังปัปัปปะ ๗ คือ ที่ตัวตักกะ เท่านั้น และตักกะที่มีกาม เราเรียกว่า กามวิตก หรือ กามสังกัปปะ ใช่ไหม

ตอบ ใช่

  • ๓.จิตสังขาร ภายหลังจากสู้กิเลสแล้ว จะชนะหรือแพ้กิเลสก็ตาม จิตก็ดับลงทั้งสิ้น ตามกฎของไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ กับไป เช่นเดียวกับเวทนา ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว หากไม่ถูกกำจัดด้วย มรรคองค์ ๘ ก็ต้องดับไป เช่นกัน ตามธรรมดา ธรรมชาติ ของโลกโลกีย์

ตอบ...จะล้างอุปาทาน ต้องล้างที่ตัณหา ฆ่าตัณหาเท่ากับฆ่าอุปาทาน

  • ๔. โผฏฐัพพารมย์ และ ธรรมมารมย์ แปลว่าอะไร

ตอบ เป็นอารมณ์ที่เกิดจาก ทวารนอกทั้ง ๕ คือ โผฏฐัพพารมย์ ส่วน ธรรมารมย์ คือเกิดแต่ในใจปรุงแต่งเองได้ คือสิ่งที่ทรงอยู่ในใจ จะเรียกว่า มโน หรือ มน ถ้าทรงไว้ดีก็คือธรรมะ

  • ๕. ที่ว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ สอนตรงกันนั้น คือสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ใช่หรือไม่

ตอบ ใช่ คือธรรมะหลักสำคัญ อันอื่นก็มีอีกเช่น อริยสัจจ์ เป็นต้น.....ใช่
        

 
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ พุทธสถานราชธานีอโศก