ความรัก มิติที่: 1กามนิยม  2พันธุนิยม  3ญาตินิยม  4ชุมชนนิยม  5ชาตินิยม  6สากลนิยม  7เทวนิยม  8อเทวนิยม  9นิพพานนิยม  10พุทธภูมินิยม
 
มิติที่ 9 นิพพานนิยม
page: 11/20
ตัณหา 3

สารบัญ

มิติที่ ๙
นิพพานนิยม

 

 อาริยบุคคล ๔ 


ตัณหา ๓


กัลยาณ
ปุถุชน


อาริยชน


อมตชน

 

มิติที่ ๑๐
พุทธภูมิ
นิยม

วิภวตัณหา
๓ ระดับ


ปล่อยวาง
อย่างพุทธ


ความมหัศจรรย์
ของอมตชน

คำถามท้ายเล่ม

  อาริยบุคคล ๔  

ระดับแต่ละระดับ ก็คือ "ความจบ" แต่ละรอบ จบในที่นี้ก็คือ ตัดกิเลสได้เสร็จสิ้น ไม่เวียนวนไปเกิดใน "โลก" นั้นๆ หรือ "กิเลสไม่เกิด" เวียนวน เป็นสุขเป็นทุกข์ อยู่ใน"โลก" นั้นๆอีกแล้ว

"โลก" คือ ความหมุนวนเวียนไปๆมาๆ หรือ ต่ำๆสูงๆ เป็นวงวนวงเวียน ไม่หยุดจบ เด็ดขาดลงได้ แน่แท้

เป็นต้นว่า โลกอบาย โลกกาม โลกธรรม โลกอาตมัน

"โลกอบาย" ก็คือ ความหมุนวนของคน ผู้ยังมี "กิเลส" ในจิต กิเลสมันก็จะมีอำนาจ บงการ บุคคลผู้นั้นอยู่ ให้วนๆเวียนๆอยู่ ใน"อบาย" (ความไม่ดีไม่เจริญ ที่คนผู้นั้น ยังเสพ ยังติดอยู่) เช่น อบายมุข ที่เป็นความไม่ดี ไม่เจริญ หาก"จิต"ผู้ใด ยังมีกิเลส ติดในอบายมุขใดอยู่ ถ้าคนผู้นั้น ยังตัดไม่ขาด หรือ ละล้างกิเลส ออกจากจิต ไม่ได้หมดเกลี้ยงจริง ก็จะยังวนๆเวียนๆเสพ วนๆเวียนๆสุข ยังจะต้อง เป็นสุขเป็นทุกข์ อยู่กับอบายมุขนั้น ไม่หยุด ไม่จบ อยู่นั่นเอง ซึ่งก็มีพักชั่วคราว ชั่วระยะ อาจจะหยุดไปนานๆ ก็ยังได้ แต่ถ้ากิเลส มันยังไม่ได้ถูกกำจัด ออกไปจาก "จิต" จริง มันก็จะกลับวนมา กำเริบ (กุปป) หรือ เวียนมาเสพใหม่ได้อีก หากมีวิธีกดข่มเก่งๆ ก็อาจจะดูเหมือน มันหยุดได้สนิท ไปนานข้ามชาติ ไปโน่นก็เป็นได้ แต่ จะไม่ "ตายสนิท" อย่างเด็ดขาด ชนิดถาวรนิรันดร์ หากไม่มีทฤษฎี ที่ดีวิเศษเป็น "สัมมาอาริยมรรค" ที่สามารถจับ "ตัวตน" ของกิเลสได้จริง อย่างแม่นมั่น คมชัดลึก และมีวิธีละล้าง หรือกำจัดมันได้ ถูกตัวของมัน จนเกลี้ยง ทั้งหยาบ-กลาง-ละเอียด

"อบาย" ที่เป็นสัจจะสมบูรณ์ ก็หมายถึง "ความไม่เจริญ" ทั้งหมดนั่นเอง ที่ไล่จากหยาบต่ำ ไปหากลาง หาสูง จนถึงที่สุด ทีเดียว แม้จะหมดความหยาบต่ำ ระดับต้นแล้ว ระดับต่อไป ก็ย่อมเป็น "ความไม่เจริญ" ในขั้นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่า จะเจริญสูงสุด ถึงขั้นเป็นคนเจริญ ประเสริฐสุดยอด ก็คือ อรหันต์


"โลกกาม" ก็มีนัยคล้ายกันกับคำว่า "โลก"ที่ชื่อว่า "อบาย" เพียงแต่ว่า เป็นความหมุนวน ของคนผู้ยังมี "กิเลส"ในจิต ที่ติดใน "รูป -เสียง -กลิ่น -รส -สัมผัสภายนอก" อันเรียกว่า "กามคุณ ๕" กิเลสมันก็จะมีอำนาจ บงการบุคคลผู้นั้นอยู่ ให้วนๆเวียนๆอยู่ใน "กาม" (ความใคร่อยาก ที่คนผู้นั้น ยังเสพยังติดอยู่) เช่น ของสวย ของงามต่างๆ ความไพเราะต่างๆ ความหอมต่างๆ ความอร่อยต่างๆ ความสัมผัส ที่ได้แตะต้อง เสียดสีคลุกคลี ทางพฤติกรรม ภายนอก แล้วก็ยังเป็นสุข เป็น "รสอร่อย เพลิดเพลิน สนุกสนาน" ที่เรียกว่า "อัสสาทะ" ทั้งหลายอยู่ หาก"จิต"ผู้ใด ยังมีกิเลส ติดใน"กามคุณ ๕" ใดอยู่ ถ้าคนผู้นั้น ยังตัดไม่ขาด หรือละล้างกิเลส ออกจากจิตไม่ได้ หมดเกลี้ยงจริง ก็จะยังวนๆ เวียนๆเสพ วนๆเวียนๆสุข ยังจะต้องเป็นสุข เป็นทุกข์ อยู่กับ"กามคุณ"นั้น ไม่หยุด ไม่จบ อยู่นั่นเอง ซึ่งก็มีพักชั่วคราว ชั่วระยะ อาจจะหยุดไปนานๆ ก็ยังได้ แต่ถ้ากิเลสกาม มันยังไม่ได้ถูกกำจัด ออกไปจาก"จิต" จริง มันก็จะกลับ วนมากำเริบ (กุปป) หรือ เวียนมาเสพใหม่ได้อีก

"กาม" ที่เป็นสัจจะสมบูรณ์ ก็หมายถึง "ความใคร่ อยากได้มาเสพ บำเรออารมณ์ตน" ทั้งหมดนั่นเอง ที่ไล่จากหยาบต่ำ ไปหากลาง หาสูง จนถึงที่สุดทีเดียว แม้จะหมดความหยาบต่ำ ระดับต้นแล้ว ระดับต่อไป ก็ย่อมเป็น "ความใคร่อยาก" ในขั้นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่า จะเจริญสูงสุด ถึงขั้นเป็นคนเจริญ ประเสริฐสุดยอด ก็คือ อรหันต์ เช่นกัน

"โลกธรรม" ก็มีนัยคล้ายกันกับคำว่า "โลก" ที่ชื่อว่า "กาม" นั่นแหละ เพียงแต่ว่า เป็นความหมุนวนของคน ผู้ยังมี "กิเลส" ในจิตที่ติดใน "ลาภ -ยศ -สรรเสริญ -โลกียสุข" กิเลสมันก็จะมีอำนาจ บงการบุคคลผู้นั้นอยู่ ให้วนๆเวียนๆ อยู่ใน "โลกธรรม" (ความยังติดยึดลาภ -ยศ -สรรเสริญ -โลกียสุขอยู่) เช่น ได้ลาภมา ก็เป็นสุข ไม่ได้ลาภนั้นก็ทุกข์ ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข ก็นัยเดียวกันกับลาภ แล้วก็ยังเป็นสุข เป็น"รสอร่อย ลิงโลดใจ ชื่นใจ" ที่เรียกว่า "อัสสาทะ" ทั้งหลายอยู่ หาก"จิต"ผู้ใด ยังมีกิเลสติดใน "โลกธรรม" ใดอยู่ ถ้าคนผู้นั้น ยังตัดไม่ขาด หรือ ละล้างกิเลส ออกจากจิตไม่ได้ หมดเกลี้ยงจริง ก็จะยังวนๆเวียนๆเสพ วนๆเวียนๆสุข ยังจะต้อง เป็นสุขเป็นทุกข์ อยู่กับ "โลกธรรม"นั้น ไม่หยุด ไม่จบ อยู่นั่นเอง ซึ่งก็มีพักชั่วคราว ชั่วระยะ อาจจะหยุดไปนานๆ ก็ยังได้ แต่ถ้ากิเลส มันยังไม่ได้ถูกกำจัด ออกไปจาก "จิต" จริง มันก็จะกลับวน มากำเริบ (กุปป) หรือ เวียนมาเสพใหม่ได้อีก

"โลกธรรม" ที่เป็นสัจจะสมบูรณ์ ก็หมายถึง "ความติดยึด ในลาภยศสรรเสริญ โลกียสุข" ทั้งหมดนั่นเอง ที่ไล่จากหยาบต่ำ ไปหากลาง หาสูง จนถึงที่สุดทีเดียว แม้จะหมดความหยาบต่ำ ระดับต้นแล้ว ระดับต่อไป ก็ย่อมเป็น "ความติดยึด" ในขั้นต่อไป เรื่อยๆ จนกว่า จะเจริญสูงสุด ถึงขั้นเป็นคนเจริญ ประเสริฐ สุดยอด ก็คือ อรหันต์ นัยเดียวกันอีก

"โลกอาตมัน" หรือ "โลกอัตตา" ก็มีนัย คล้ายกันกับ "โลก" ต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของ "จิตวิญญาณ" โดยตรง และเป็นเรื่อง ละเอียดลึกล้ำ ที่ศาสนาพุทธ รู้แจ้งเห็นจริง โดยเฉพาะ อันจะได้ศึกษา ในคำอธิบาย "ความรัก มิติที่ ๘-๙-๑๐" อย่างละเอียด

สำหรับผู้มี"ความหลุดพ้น" โลกต่างๆ ดังกล่าว มานั้นได้ ก็จะเป็นผู้ได้ล้างจิต อย่างถูก "ตัวตน" (อัตตาหรืออาตมัน) อย่างจริงจัง แม่นมั่น คมชัด ลึกล้ำ เป็น "อาริยบุคคล" ไปตามลำดับ อันมีขั้นต้น ก็คือ "โสดาบัน" ต่อไปก็ "สกทาคามี" แล้วก็ "อนาคามี" สูงสุดก็ "อรหันต์"

"โสดาบัน" ก็คือ ผู้ที่ไม่ต้องเกิดเวียนวน เป็นสุขๆ ทุกข์ๆ อยู่ใน "โลกอบาย" [โลกอบายมุข คือ โลกที่ต่ำที่สุด] "อบาย" คือ ความต่ำหยาบ ความจัดจ้านร้ายแรง หรือความไม่ดีไม่งาม ขั้นเลวระดับพื้นฐาน หรือความทุจริต ที่รู้กันเป็นสัจจะ ชัดๆโต้งๆ

"สกทาคามี" หรือ "สกิทาคามี" ก็คือ ผู้ที่ยังต้องเกิด เวียนวน เป็นสุขๆทุกข์ๆ อยู่ใน "โลกกาม -โลกธรรม -โลกอาตมัน" ที่เหลือ "โลก" คือ ความวนเวียนใด ที่ยังหลงเสพ หลงติดอยู่ ในโลกดังกล่าว ก็ถือว่า ยังไม่เจริญ ยังติด ในเรื่องของ กามคุณ ๕ ก็ดี โลกธรรม ๘ ก็ดี และโลกอาตมัน หรืออัตตาก็ดี ซึ่งยังเป็น ความติดยึด ขั้นต่อมา จากระดับพื้นฐาน หรือความไม่เจริญ ที่รู้กันเป็นสัจจะ สูงขึ้นๆ ตามลำดับ เมื่อถึงขั้นนี้ ก็สูงขึ้นจากขั้นต่ำ ที่หลุดพ้นมาได้แล้ว ละเอียดขึ้นไป เป็นขั้น เป็นตอน

"อนาคามี" ก็คือ ผู้ที่ไม่ต้องเกิดเวียนวน เป็นสุขๆทุกข์ อยู่ใน "โลกกาม-โลกธรรม" ยังเหลือแต่ ส่วนละเอียด ของ "สังโยชน์ ๕ เบื้องสูง" (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) "โลก" คือ ความวนเวียนใด ที่ยังหลงเสพ หลงติดอยู่ใน "โลกอาตมัน หรืออัตตา" ก็ถือว่า ยังไม่เจริญ ยังติดในเรื่องของ "รูปราคะ" ก็ดี "อรูปราคะ" ก็ดี "มานะ" ก็ดี "อุทธัจจกุกกุจจะ" ก็ดี "อวิชชา" ก็ดี ซึ่งยังเป็น ความติดยึด ขั้นต่อมาจาก ระดับพื้นฐาน หรือ ความไม่เจริญ ที่รู้กันเป็นสัจจะ สูงขึ้นๆ ตามลำดับ เมื่อถึงขั้นนี้ ก็สูงขึ้นจากขั้นต้น ขั้นกลาง ที่หลุดพ้นมาได้แล้ว ละเอียดขึ้นไปๆ สุดท้าย ยังเหลือเป็นขั้นปลาย

"อรหันต์" ก็คือ ผู้ที่ไม่ต้องเกิดเวียนวน เป็นสุขๆ ทุกข์ๆอยู่ใน "โลก" ที่เรียกว่า "โลกียภูมิ" ใดๆ อีกแล้ว พ้น "สังโยชน์ ๕ เบื้องสูง" (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) "โลก" คือ ความวนเวียนใด ที่ยังหลงเสพ หลงติดอยู่ใน "โลกอาตมันหรืออัตตา" ก็ถือว่า รู้แจ้งเห็นจริง และได้ปฏิบัติ จนกระทั่ง ไม่เหลือความติด ความเสพใดอีก มี"วิมุติญาณทัสสนะ" หมดสิ้น"อวิชชา" มี"วิชชา ๙" ถึงขั้นบรรลุสุดยอด "อาสวักขยญาณ" บริบูรณ์ อย่างเป็นสัจจะ หมด"ความวน" ได้ทำการ "ดับโลก" ต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ครบสมบูรณ์ ไม่ต้อง วกเวียนลงไปสู่ "โลก"ต่ำใดๆ อีกแล้วเด็ดขาด (absolute)

ผู้ที่ต้องเวียนวนลงไปสู่ที่ต่ำ ที่เลวนั้นอีก หรือ ต้องเสพต้องติด ต้องเป็นอยู่กับความวน ไปๆมาๆ เพื่อตนเอง จะได้รับสุข รับทุกข์ อยู่กับสภาพ อย่างนั้นๆ ขาดสภาพนั้นไม่ได้ หรือละสภาพนั้นๆ ไม่เสร็จเด็ดขาด ก็เพราะ "ไม่รู้" (อวิชชา)

ไม่รู้ใน"จิต"ของตนว่า ตนมี"กิเลส" นั้นๆ ไม่รู้ "ความจริง อันประเสริฐ" (อาริยสัจ) ว่า "สุข" เพราะได้เสพ สมใจกิเลสนั้น "คน"สามารถ เรียนรู้ฝึกฝน จนดับเหตุแห่ง "สุข" นั้นๆได้ หากดับได้จริง ผู้นั้นก็จะ "สุขสงบ" (วูปสมสุข) ซึ่ง "สุขเลิศวิเศษ" ยิ่งกว่าได้ "เสพสมใจกิเลส" อันเป็น "รสสุข" (อัสสาทะ) ที่โลกโลกีย์ หลงเสพ กันอยู่เสียอีก

"รสสุข" (อัสสาทะ) ที่ว่านี้ แท้ๆแล้ว มันเป็นแค่อามิส ที่ล่อให้คนหลงติด เท่านั้น มันไม่ใช่ของจริง มันเป็น "ของไม่จริง" (อลิกะ) เช่น สุขเพราะได้เสพกาม ดังนี้ ก็เรียกว่า "กามสุขัลลิกะ" ซึ่งล้างให้หายไป จากจิตของคนได้ สิ้นรสกามได้ หรือปฏิบัติ ละล้างเหตุคือ "กามตัณหา" ให้กามตาย หายไปจากจิตได้

หากปฏิบัติได้ผลจริง ก็จะ"สุขสงบ" (วุปสมสุข) เพราะสิ้น "การหมุนวน" กล่าวคือ ไม่ต้องเสพกาม แล้วก็ต้องพัก แล้วก็ต้องกลับวนเวียน ไปเสพใหม่อีก ซึ่งไม่หยุดเด็ดขาดลงได้จริง แม้ชาตินี้ จะหยุดไปได้ชั่วคราว แต่กิเลส โดยเฉพาะ "ปริยุฏฐานกิเลส และอนุสัยกิเลส" ไม่ได้ละล้าง จนหมดสิ้น ก็ต้องวนเวียน เกิดมาเสพ เป็นภาระไม่จบสิ้น อยู่นั่นเอง ต้องเดือดร้อน ต้องเหน็ดเหนื่อย บำเรอตนอยู่ เพราะยังดับกิเลส ไม่ได้สิ้นเกลี้ยง หมดสนิทจริง ยังมีกิเลสหลงเหลือ กิเลสที่ซ่อนลึก ยังมีอยู่ จึงไม่หยุด หมุนวน

จึงเรียกว่า "ยังมีโลกชนิดนี้" อยู่

"โลก" ที่ต้อง "ดับ" หรือที่ต้อง "หยุดหมุนให้ได้" นั้น ก็คือ "โลกีย์" ต้องไม่เป็นทาส "โลกีย์" นั้นๆ ต้องไม่ให้เกิด การหมุนวน หมุนเวียน เสพสุข เสพทุกข์ เพราะมัน ตามนัยที่อธิบาย มานี้ จน "ไม่มีกิเลส" หรือ "ไม่มีโลก - ไม่ต้องหมุนวน อีกเด็ดขาด" จึงจะชื่อว่า "นิพพาน"


 
มิติที่ 9 นิพพานนิยม
page: 11/20
ตัณหา 3
   Asoke Network Thailand

อ่านต่อ ๑๒. มิติที่ ๙ ตัณหา ๓