ธรรมปัจเวกขณ์ (๑๑๕)
๑๓ กันยายน ๒๕๒๕

นักปฏิบัติ ต้องมีที่พึ่งเป็นของตนเอง อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องพึ่งปัญญาของตนเอง ใช้ปัญญาเป็นตัวตัดสิน สิ่งที่เราได้วิเคราะห์วิจัย เลือกเฟ้นว่า เราจะเอาอย่างไร เราจะเอาอย่างธรรม หรือว่าเราจะเอาอย่างโลก เมื่อเราเข้าใจ อย่างชัดเจนแล้ว ธรรมกับโลก ถ้าพูดในกระแสหนึ่ง มันก็เป็นการทวนกระแสกัน ค้านแย้งกัน เพราะว่าอย่างโลกๆนั้น เขาเอาอย่างประเภทที่ จะต้องประเดประดัง มากมีไปด้วยลาภยศ สรรเสริญ โลกียสุข เป็นความพรั่งพร้อม แล้วก็โลภโมโทสัน หอบ กอบโกย

ส่วนมาทางธรรมนั้น การที่จะมีความสามารถ ในการที่จะสร้างสรร แล้วมีสิ่งแลกเปลี่ยน ตามอัตราโลก ธรรมะถ้าอยู่ในโลก ก็คิดอัตรารายได้ สิ่งจะแลกเปลี่ยน เหล่านั้นได้ เพราะมีกำลังงาน มีผลผลิต มีสิ่งที่สร้างสรร เช่นเดียวกัน ไม่ได้ด้อย ไม่ได้น้อยหน้าชาวโลก ในการเป็นผู้สร้างสรร เป็นผู้ที่จะมี ถ้าจะคิด อัตราความจริง กับสิ่งแลกเปลี่ยนแล้ว เราก็มีเหมือนกัน แต่ยิ่งกว่านั้น เป็นการเหนือชั้น ศาสนานั้น ไม่สะสม ไม่กอบโกย ไม่เอาสิ่งแลกเปลี่ยนเหล่านั้น มาเป็นของๆตัว กล้าที่จะให้แก่โลก ไปทั้งหมดได้ นี่เป็นอุดมการณ์สูงสุด ใครให้ได้บ้างก็ยังดี ให้ได้มากขึ้น ก็ดียิ่งมากขึ้น ให้ได้มาก มากเท่าใด จนกระทั่ง ไม่ต้องกอบโกย ไม่ต้องหอบหามอะไร มีชีวิตอยู่ในโลก ด้วยความขยัน หมั่นเพียร สร้างสรร แล้วเราก็สร้างสิ่งที่ใช้ปัญญา ไตร่ตรองอีก ด้วยว่า สิ่งที่ควรสร้างจึงสร้าง สิ่งที่ควรทำจึงทำ สิ่งที่ไร้คุณค่า สิ่งที่ไม่เหมาะ กับฐานะเศรษฐกิจ ในสังคมหมู่นั้นๆแล้ว เราไม่สร้างสิ่งนั้นขึ้น ในสังคมหมู่ที่เรา อยู่ด้วย

การเป็นนักธรรมะ จะว่าขัดแย้งโดยเชิงตื้น ก็ขัดแย้งกัน เป็นการสวนทางกัน แต่ทว่า สอดคล้องในส่วนลึก รอบถ้วนแล้ว สอดคล้องไปทั้งหมด อย่างโลกเขาว่าได้ดี ทางธรรมะก็ได้ดีด้วย อย่างโลกเขาไม่กล้าทิ้ง ไม่กล้าสละ ไม่กล้าที่จะปลดปล่อยปลงวางได้ แต่ทางธรรม สามารถปลดปล่อย ปลงวาง สละทิ้งได้อีก ซึ่งเป็นการเหนือชั้น เราจึงเรียกว่า โลกุตระ

ผู้ที่จะมาทางนี้ ก็จะต้องมาฟังคำเยาะเย้ย ถากถางจากทางโลก เขาอธิบายแล้วก็ มองให้เห็น ในแง่ตื้นว่า คนในทางธรรมนี่โง่ กินอยู่หลับนอน ก็ยังโง่ๆ ไม่มีฟุ่มเฟือยมากมาย หรูหรา ฟู่ฟ่า ไม่เต็มไปด้วยของปรุง เป็นสังขารโลก อย่างที่เขาปรุง ด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยั่วยวนต่างๆนานา ถ้าผู้ใด ไม่มีปัญญาเป็นของตนเอง อย่างแน่แท้แล้ว ก็ต้องหวั่นไหว และแปรปรวน ไปตามคำที่ เขาจะต้องประชดประชัน ถากถาง เยาะเย้ย อย่างนั้น แน่นอน แต่ถ้าผู้ใดมั่นคงแล้ว ก็มาพยายามใช้ปัญญาตัวเอง อย่าให้ถูกหลอก พระพุทธเจ้า พามาให้เป็นอย่างนี้หรือ สอบตำนาน สอบประวัติ พระสาวก ต่างๆ ท่านมาเป็นอย่างนี้หรือ สอบตำนาน สอบประวัติ ถ้าสอดคล้อง ทั้งพระพุทธเจ้า ทั้งพระมหาสาวก พระสาวกต่างๆ ต่างได้มาเป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษ เป็นผู้ที่ไม่ต้องไปวุ่นวายกับสังขารโลก ที่เขาปรุงแต่ง ยั่วย้อมด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ต่างๆ เราเป็นผู้ที่ได้ทบทวน สอบทาน อย่างถูกต้องแล้ว แล้วเราก็มาปฏิบัติออก จนกระทั่ง เราละออกได้แล้ว ผู้ใดเห็นสัจจะอันหนึ่ง ที่เรียกว่า เป็นวิมุติญาณทัสสนะ หรือเป็นตัวที่เราเป็นจริง มีจริง แล้วก็เห็นด้วย ปัญญาอันยิ่ง ของเราเอง เราจะรู้รสของวิมุติ เราจะรู้ความจริงด้วยปัญญา ไม่มีแปรปรวน ไม่มีเปลี่ยนแปลง เป็นสภาพเอกธรรม เป็นสภาพธรรมะอันเดียว เป็นการไม่เวียนวน ขนาดพระโสดาบันนี่ ก็มีสิ่งที่ไม่หมุนกลับ ส่วนหนึ่งแล้ว เป็นผู้ที่ไม่ตกต่ำ ในส่วนหนึ่ง ส่วนอื่นๆอีก ในพระสกิทาคามี ก็จะมีส่วนที่ไม่หมุนกลับไปอีก สูงขึ้นๆน่ะ ยิ่งอนาคามี ก็ยิ่งแน่นอนขึ้นไปว่า ไม่มี ไม่มีทาง ที่จะแปรปรวน ไปอย่างอื่นได้อีก เพราะมันเลยเขตเลยขั้น ของผู้ที่ได้ความจริง ความมั่นคง สูงยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

สิ่งเหล่านี้พูดให้ฟังได้แต่ภาษา แต่ว่าสัจจะอันแท้จริงนั้น แต่ละคน จะต้องพิสูจน์เอา ใช้ปัญญาของตัวเอง เขาจะบอกว่า ทางใดหลอก ทางธรรมหลอกทางโลก ทางโลกหลอกทางธรรม ต่างคนต่างก็จะว่ากัน ถ้าเผื่อว่า ผู้ใดที่เขาไม่ศรัทธา ในทางโลกุตระ ไม่ศรัทธาในธรรมะ อันทวนกระแสนี้ เขาก็จะบอกว่าโง่ หน้าโง่ ทางธรรมะ มีก็ไม่เอาไว้ อยู่กันอย่างคนกระจอก สิ้นไร้ ไม้ตอก กินอยู่ หลับนอน อะไรก็ อย่างคนยากๆ จนๆ ทุกข์ทน หม่นไหม้ เราเอง เราก็ต้องพิจารณาจริงๆ เพราะว่ามีคน อีกจำนวนหนึ่ง ที่เขาบอกว่า เขามีปัญญา แล้วเขาพยายามดึงเอาธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ที่เป็นไปเพื่อความมักน้อยนี่ มาเป็นไป เพื่อความอยู่กัน อย่างไม่ใช่น้อย แล้วเขาก็พยายามบอกตัวเองว่า เขาเอง เขาก็ไม่ได้ไปหลงมากหลงมาย แต่ความจริงนั้น อันซ่อนแฝงอยู่ เขาไม่สามารถมีมากมีมาย ได้กว่านั้นต่างหาก แต่เขาก็อยู่อย่าง มีมากมีมาย เกินกว่าที่จะเทียบเคียง กับหลักการ หลักฐาน ตำนาน ประวัติแล้ว ถ้าเอาอย่าง เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นพระอริยะ ต่างๆน่ะ ซึ่งเขาก็พยายามจ่ายออก แจกออกน่ะ มีตัวอย่างอันดี มีตัวอย่างที่จะเป็นผู้แจกออก จ่ายออก อยู่ในตำนานเยอะแยะ แต่เขาก็เป็นผู้ที่จ่ายไม่ได้ เขาก็พยายาม ที่จะอธิบายความอยู่ ในประมาณหนึ่ง

เราต้องศึกษา ให้ละเอียดลออ ทุกคนมีสิทธิ ที่จะใช้ปัญญาตัดสิน ให้แก่ตนเองทุกคน น่ะ ไม่มีการบังคับความคิดกัน ไม่มีการเผด็จการ ทางความคิด ใครพอใจได้ขนาดไหน ผู้นั้นก็พอใจได้ขนาดนั้น ใครทำได้มากแค่ไหน ผู้นั้นก็ทำได้มากแค่นั้นน่ะ สำหรับตัวผู้ที่เป็นหัวหน้า หรือผู้นำนี้ ก็จะแสดงได้อย่างเด่นชัด อย่างประวัติพระพุทธเจ้า อย่างตำนาน ท่านแสดงได้เด่นชัด แล้วท่านมักน้อย สันโดษ อย่างน้อย จริงๆ ผ้านุ่งก็มีกำหนด อาหารก็มีมื้อ มีคราว แม้แต่การสะสม ไม่มีการสะสม ด้วยประการทั้งปวง เศษเล็กเศษน้อย ท่านไม่สะสม ยิ่งไปอ่านในพระวินัยแล้ว หรือในศีลแล้ว ยิ่งจะเห็นว่า ไม่สะสม แม้ข้าว แม้น้ำ แม้แต่ผ้า แม้แต่เครื่องอะไรต่างๆนานา ดูแล้วยิ่งน่ากลัว แต่คำว่า สะสมนั้น ถ้าคนเข้าใจไม่จริง ก็จะตู่ท้วงเอาง่ายๆว่า สะสม คือมี พอมีสัก ๒ ชิ้น ๓ ชิ้น ๔ ชิ้นอะไร ก็เลยหาว่ามีการสะสม ถ้าเรามี ไม่ใช่การสะสม สะสมหมายความว่า เกินพอดี เกินสันโดษ เกินความพอเหมาะพอควร ทีนี้เขตสุดท้าย เราก็เอาประมาณของพระพุทธเจ้า เป็นเอก ถ้าเราไม่เก่ง เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า เราอาจจะมีมากกว่า พระพุทธเจ้าเล็กน้อย ถ้าเราเก่ง เท่าพระพุทธเจ้า เราก็จะมีเท่ากับพระพุทธเจ้า นั่นเองน่ะ

สิ่งเหล่านี้มีหลักฐาน มีสิ่งที่ยังไม่เลอะเลือน ยังสามารถพิสูจน์ตาม และ สามารถเอามายืนยัน เป็นหลักอ้างหลักอิงได้ ขอให้พวกเราศึกษาให้ดี แล้วทดสอบให้ จนกระทั่ง ถึงวิมุติจิต หรือ วิมุติญาณทัสสนะ เมื่อเราได้จิต ตัวที่เป็นฐานอาศัยของตนเองแล้ว ผู้นั้นจะรู้เองว่า เราได้เอกธรรม เราไม่แปรปรวน เราไม่หวั่นไหว เราไม่ลำบากลำบนเลย แม้จะอยู่อย่างที่เราทรงอยู่ ธรรมะแปลว่า ความทรงอยู่ ทรงอยู่อย่าง เรามักน้อย เราจะเห็นด้วยซ้ำไปว่า เรายังมักน้อย ลงไปได้กว่านี้ ในบางสิ่งบางอย่าง เราจะเห็น แล้วเราก็จะรู้ขีดขอบว่า เรามักน้อยขนาดนี้ พอเหมาะแล้ว สมบูรณ์แล้ว ยืนหยัดยืนยันได้แล้ว เป็นที่พึ่งขนาดนี้ พอเหมาะพอควรในชีวิต แล้วเราก็จะมีบทบาทการงาน อย่าเข้าใจผิด ว่าศาสนา ไม่มีการงานเป็นอันขาด สำหรับศาสนาพุทธ ยังมีศาสนาดาบส เดียรถีย์ ฤาษีต่างๆ ที่สอนมาก่อนเก่า ซึ่งได้แนะนำให้พิสูจน์แล้ว จะพิสูจน์อย่างฤาษีก็จงพิสูจน์ จะพิสูจน์อย่างพุทธะก็จงพิสูจน์ แล้วคุณเลือกเฟ้นเอา คุณจะเอาอย่างฤาษี หรือ คุณจะเอาอย่างพุทธ

แต่ถ้าจะอยู่กับอโศกนี้ ขอยืนยันว่าเป็นพุทธะ ไม่ได้เดินทางตามฤาษี เดียรถีย์ เป็นพุทธะที่จะดำเนินการ มีการงาน มีการสร้างสรร มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล แก้ประเด็น ของฤาษีเดียรถีย์ ที่อธิบายแล้วขยายความแล้วว่า มันเป็นเรื่องที่ไร้ค่าไร้คุณ จะทำอย่างนั้นก็ทำได้ แต่เป็นฐานหนึ่งเท่านั้น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นปราชญ์เอก ที่ท่านเอง ท่านกระทำงาน งานของท่าน ในตอนที่สร้างศาสนานั้น พระพุทธเจ้าท่านจะไม่มีอื่นเลย เพราะว่า ท่านปลูกฝังศาสนาขึ้นมาแต่แรก ท่านจะทำแต่งานด้านศาสนา งานเดียว เด่นๆเลย

ทุกวันนี้ งานศาสนาเหมือนกัน แต่องค์ประกอบเทคโนโลยี เครื่องประกอบในการสื่อสาร การเผยแพร่ มีมากขึ้น เพราะฉะนั้น การงาน จึงเกี่ยวข้องกับวัตถุ ที่จะเป็นเครื่องสื่อสาร เป็นเครื่องประกอบ ในการที่จะเผยแพร่ จึงมากขึ้นน่ะ และยิ่งมากก็เพราะว่า เราจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องทุ่นแรงเยอะ เพราะคนมากขึ้น ผู้มีธรรมะน้อยลง ผู้จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูล หรือผู้ที่จะลงทุนลงแรง เสียสละ เพื่อที่จะสร้างศาสนา เพื่อที่จะเรียกว่า ดึงดันให้ศาสนานี้ มีฤทธิ์แรงให้มากนั้น มีจำนวนน้อย ประชาชนหรือผู้คนนั้น ไม่เอาศาสนาโลกุตระ มากเหลือเกิน มากยิ่งกว่า ในสมัยพระพุทธเจ้า

การที่จะทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ในการหมุนวงจักร ธรรมจักรนี้ ให้ทั้งเร็วและแรงนั้น จึงเป็นสภาพที่จะต้อง อาศัยเครื่องทุ่นแรง ที่เทคโนโลยี เขามีให้บ้าง ซึ่งเราก็จะต้องตรวจอ่าน อย่างละเอียดลออแยบคาย อย่าหลงวัตถุ อย่าหลงข้าวของเครื่องใช้ ที่มันเฟ้อมันเกิน เพราะว่าศาสนานั้น ไม่ได้สอน ให้เราเฟ้อเกิน สอนให้เรา มักน้อยสันโดษ สอนให้เราประหยัด เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง เศรษฐศาสตร์นี่ แปลว่า การประหยัดน่ะ เศรษฐะ เศรษฐศาสตร์

นี่แปลว่า ผู้ประเสริฐ ถ้าแปลตามภาษาบาลี แปลว่า ผู้ประเสริฐ มีสิ่งที่ดี มีสิ่งที่ประเสริฐ ถ้าแปลตามภาษาอังกฤษ แปลว่า การประหยัดน่ะ (Economy, Economics) อิคอนอมี่ อิคอนอมิคส์ แปลว่า ความประหยัด อย่างแท้จริง ตรงกัน เพราะว่าศาสนาพระพุทธเจ้า ก็เป็นไปเพื่อความประหยัด มัธยัสถ์ ที่จริงประหยัดหรือมัธยัสถ์นี่ แปลว่าปานกลาง แปลว่า เน้นเข้ามาหาแก่นสาร ที่พอดีๆ ไม่เฟ้อไม่เกิน คนเรามันมีจิตใจเฟ้อเกิน มันจึงหาความพอดี ไม่ได้ง่ายๆ มักน้อยเกินไปนั้นน่ะ มันหายาก คนที่มักน้อยเกินไป ส่วนคนมักมาก มันมีหลากหลาย

เราจึงโน้มถ่วงในด้าน ให้มักน้อยนั้นหนัก พระพุทธเจ้าท่านถึงได้ ตราคำสอนของพระองค์ ลงไปว่า "ธรรมใด วินัยใด เป็นไปเพื่อความมักน้อย ธรรมนั้น วินัยนั้น เป็นของเราตถาคต" ท่านตราไว้อย่างนี้ เป็นการโน้มถ่วง ไปในลักษณะที่ถ่วงกับสังคม และค่านิยมของโลกโดยแท้จริง เพราะฉะนั้น เราจึงเอนเอียงเข้าในด้าน ความมักน้อยไว้ก่อนเถิด ส่วนจะเลยความมักน้อย น้อยจนเกินไป น้อยจนกลายเป็น การทรมานตนนั้น เราจะพอรู้กันได้ และเราจะแนะนำกันได้ ไม่ยากเลย ในการที่จะถอดถอน ส่วนการที่ไม่มักน้อย นี่แหละ เป็นการลำบากมาก ที่เราจะต้องมาหัดมักน้อย สันโดษกันให้สำคัญ และเราจะเป็นผู้ที่ไม่เปลือง แต่เป็นผู้ที่สร้างสรร มีคุณค่าให้แก่โลกอย่างสบายใจ เบิกบาน ร่าเริง เมื่อคุณได้วิมุติญาณทัสสนะ มีปัญญา รู้แจ้ง แทงตลอด อย่างจริงแล้ว เราเป็นนักสร้างสรรให้แก่โลก แต่เราจะไม่เป็น นักผลาญพร่าทำลาย หรือเป็นผู้เปลือง เป็นอันขาด เราจึงเป็นคนมีคุณค่า อยู่ในโลก ด้วยประการฉะนี้.

สาธุ

*****