มาฆบูชามหาฤกษ์
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
ณ สนามหญ้า วิทยาลัยครูนครปฐม
เมื่อเที่ยงคืนวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘

 

วันนี้ เป็นวันมาฆปุณณมี เวียนบรรจบครบรอบ มาเป็นรอบที่ ๓ ของการได้พบกัน ระหว่างชาวเราชาวอโศก การพบกันครั้งนี้ ก็เป็นไปโดยธรรม เป็นไปโดยที่ไม่ได้มีเจตนาอะไร ที่จะให้เป็นการพบกัน จนมากมายถึงอย่างนี้ ก็คิดแต่ว่าจะทำงาน ทำงานให้เป็นไป แล้วก็ให้มันดำเนินไป ประโยชน์อะไรที่จะพึงได้ ผมก็พยายามที่จะกระทำ ตามประโยชน์ที่มันเป็นไปนั้น เช่น ก็พยายามดู พยายามสังเกต พยายามไม่ไปเที่ยวจัดเกียรติอะไร ให้มันเป็นไปโดยบังคับ หรือว่าโดยพยายามเจตนา ในการที่จะกระทำให้มันเกิดการชุมนุมกันขึ้น โดยทำความลำบากยากเย็น ให้เกิดขึ้นแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ให้มากมายเกินควร ผมก็ได้พยายามที่สุด ที่จะไม่ให้เกิด สิ่งเหล่านั้น และก็จะพยายามเหมือนกันว่า จะดูซิว่า ทุกอย่าง มันจะเป็นไปโดยธรรมนั้นอย่างไร

ทุกๆเช้า ถ้าใครสังเกต ผมไม่ได้คิดเอาแน่นอนอะไร แล้วก็ไม่ได้ตกปากตกคำ เป็นการกำหนด หรือเป็นการสั่ง หรือเป็นการจะให้เกิดว่า เราจะต้องมีมาฆบูชา ชุมนุมกันในวันนี้ ณ ที่ตรงไหนแน่นอน ก็พยายามอยู่เสมอ ที่จะดูซิว่า มันจะตกอย่างไร มันจะเป็นไปโดยธรรมนั้นอย่างไร เป็นได้ถึงขนาดไหน จนกระทั่ง พอมาถึงเมื่อวานนี้ ผมก็เห็นเหมาะว่า ยังไงๆเสีย เราก็จะมีมาฆปุณณมีที่นี่แหละ ที่วิทยาลัยครูนครปฐมแห่งนี้

ในวันนี้ ก็จึงได้บอกทั่วๆไป สำหรับญาติโยม หรือสำหรับใครก็ตาม ที่ใคร่จะได้ติดตามมาฟังธรรมในวันนี้ และเมื่อได้พูดขึ้น ได้บอกขึ้นแล้วเสร็จ จนกระทั่งถึงวันนี้เช้า จึงได้รู้ว่าทางวิทยาลัย หรือว่าทางเจ้าหน้าที่ ทางวิทยาลัย ได้มีจิตใจนึกคิดขึ้นมา ว่าจะไปรับเอาพระ หรือว่าเอาชาวเราที่ในแดนอโศกออกมา โดยจะเอารถเข้าไปรับ กระผมก็พยายามที่จะสืบถามว่า พวกเราคนใด ไปกวนเขาหรือได้รบเร้าเขา หรือว่าไปบอกเขาหรือ? ก็ไม่มีใครจะไปรบกวนเขา หรือจะไปบอกไปรบเร้า ผู้ที่จะเอารถไปรับพวกเรา ออกมาจากในแดน เมื่อไม่มีใคร เมื่อเป็นไปอย่างนั้น ก็เป็นเจตนาเป็นศรัทธา เป็นความเห็นของผู้ที่จะย่อมเห็น เป็นความ ... ตั้งใจดี ของผู้ที่จะตั้งใจดี ก็เป็นไปโดยธรรมออกอย่างนั้น ผมก็จึงได้เขียนจดหมาย หรือ เขียนหนังสือบอกไปในแดนฯ(อโศก) บอกไปกะทางรถที่จะเข้าไปรับกันออกมา ไปบอก เขียนหนังสือ ตามที่มันเป็นไปนั้น ก็เจตนาอยู่ ไม่ได้แกล้งพูด ไม่ได้แกล้งเขียน ก็ถ้าเผื่อผู้ใดจะมีธุระอันใด ถ้าพึงเห็นเป็นสำคัญอยู่ ซึ่งมันก็เป็นไปได้ สำหรับผู้ที่มีความสำคัญนั้นๆ ก็ไม่ได้รบเร้าอะไรจนเกินควร จะออกมาก็ได้ ไม่ออกมาก็ได้ แต่ก็ได้ออกมากัน มาพบกัน แล้วก็มาฟังธรรมกันในวันนี้ ก็เป็นไปโดยธรรม

วันนี้เป็นวันสำคัญ ที่เราได้รู้กันมาแล้วทุกคน สำหรับพวกเรา ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญมากอย่างไร มีความหมาย ลึกซึ้งอย่างไร อันเกี่ยวกับคำว่ามาฆะ ทั้งทางด้านรูปธรรม และ มาฆะทั้งรูปธรรม ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ ซึ่งมีเหตุการณ์เกิดในยุคของพระองค์ ซึ่งเป็นความสำคัญของมาฆะฤกษ์ เกิดเป็นมาฆบูชาขึ้นนั้น ผมก็ได้เคยอธิบายสู่กันฟังมาแล้ว แม้ที่สุด มีความสำคัญ เกี่ยวไปถึงนามธรรม เกี่ยวกับพุทธะโดยตรง เป็นความเต็มความพร้อม ความแสดงบทแห่งพุทธะ อันเป็นความหมายเครื่องหมาย อันเป็นเครื่องแสดงถึง ความเต็มของพุทธะแต่ละองค์ ซึ่งผมก็ได้อธิบาย ได้เล่าสู่ฟัง ให้เข้าใจมาแล้ว สำหรับวันสำคัญ ออกปานนี้

 

มาฆะรำลึก
ในวันนี้ ขอให้ทุกคนตั้งใจ ตั้งสติ โน้มน้อมรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีคุณอันยิ่งใหญ่ เราจะกระทำ การคารวะ เคารพ รำลึก น้อมถึงพระคุณนั้น สำหรับผมเอง ผมได้รับประโยชน์ ผมได้รับคุณจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพระบิดาใหญ่ มหาศาลเหลือเกินในชีวิต

พระคุณอันนี้ เป็นพระคุณที่ผมจะไม่มีทางทอดถอน จะไม่มีทางถอดเว้น จะไม่มีทางพรากจาก มนุษย์สุดยอดมนุษย์ ผมไม่เห็นทางใด ผมไม่เห็นคุณค่าใด ที่จะประเสริฐสูงสุด เท่าที่คุณของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นพบ แล้วท่านได้โปรดท่านได้สอน ท่านได้กระจายธรรมะนี้ออกมา จนกระทั่ง สองพันห้าร้อยกว่าปี ผมเกิดมาปางนี้ ปานนี้ ผมก็ยังได้เห็นธรรมนั้นอยู่ ได้รับค่าได้รับประโยชน์จากคำสอนนั้น บุญคุณอันผมจะรำลึกถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่บุญคุณที่เป็นเพียงเนื้อหนังมังสา ไม่ใช่ได้รำลึกถึงพระพุทธเจ้า ที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แต่เพียงเนื้อหนังมังสาร่างกายเท่านั้น ผมรำลึกถึงท่าน ถึงพระคุณ ถึงความสามารถ ถึงคุณธรรม ถึงประโยชน์อันสูงสุด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้บรรลุ แล้วท่านได้สอนผู้อื่นให้บรรลุตาม ท่านได้กระทำให้ผู้อื่นได้เข้าใจแจ้ง แล้วให้ประพฤติตาม ได้เกิดคุณอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ที่มนุษย์ควรได้ควรเป็นควรมีนั้น สุดยอดแห่งพระคุณนั้น ไม่มีอะไรจะเปรียบปานอีกแล้ว


ค่าของพุทธ

สำหรับตัวของผมนั้น ผมได้ออกปานใด ปานใด ผมมีประโยชน์จากคุณธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ได้สอนเอาไว้ พระพุทธเจ้าได้คุณธรรมนั้น ประเสริฐปานใด แม้ผมจะไม่ได้มากมายเท่าพระองค์ท่าน แต่ผมก็ได้ขนาดนี้ ผมก็รู้สึกว่ามากมายเหลือแสน ที่มนุษย์จะควรได้ ควรเป็นควรมีกันไว้บ้าง มากกว่าคุณค่าอันใด ที่ทางโลกเขาพึงมี พึงเป็นอยู่ ซึ่งผมเองก็เคยพบเคยประสบ ผมเองเคยรำลึก ผมเองเคยพยายามที่จะย้อนรำลึกไกลที่สุด เท่าที่ผมจะรำลึกได้ ถึงรสชาติแห่งคุณค่า ที่มนุษย์จะพึงเสพ ที่เป็นรสของทางโลกียสุขใดๆ หรือคุณค่าที่สูง แห่งความเป็นมนุษย์ใดๆ ที่จะพึงสั่งสมให้แก่ตน ผมได้ย้อนรำลึกมาแล้วตลอดชาติ ชาติแล้วชาติเล่า ที่ผมสามารถจะรำลึกได้ ผมก็ยังเห็นอยู่ว่า ยังไม่มีความสูงค่าอันใด ยังไม่มีความประเสริฐอันใด ที่ผมจะได้จะมีจะเป็น เท่าที่ผมได้ผมมีผมเป็น ในแม้ปัจจุบันนี้

ถ้าจะให้สูงยิ่งไปกว่านี้อีก ในทิศทางที่เป็นไป ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะพึงเพียรพึงได้เป็นไป ผมก็เห็นว่า สิ่งนั้นสูงยิ่งขึ้นไปกว่า เลิศประเสริฐยิ่งกว่า เข้าไปทางทิศทางนั้น คนและมนุษย์จะพึงแสวงหาโลกียสุข หรือความสุดยอดของความเป็นมนุษย์ ผมก็ได้แสวงหาโลกียสุข หาความสุขสุดยอดของความเป็นมนุษย์ เท่าที่ได้เป็นมา แม้ไม่ใช่ชาตินี้ แม้จะเป็นชาติอื่นใด ผมก็รำลึกได้อยู่ มีอยู่ รู้อยู่ เท่าที่ผมสามารถจะพึงระลึกได้ รำลึกได้ มันก็ไม่เห็นคุณค่าใดจะประเสริฐเลิศเท่า การที่เป็นมนุษย์แล้ว ได้มาช่วยมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์ ได้รู้จัก ความเป็นจริงว่า มันถูกหลอกมา มาหลงในลาภยศสรรเสริญโลกียสุข แล้วก็พึงเป็นสุขเป็นทุกข์ วนแล้วเวียนเล่า อยู่นี่แหละ ตลอดตราบไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ มันก็มีอยู่แต่เพียงเท่านั้น เขาหลงติดบ่วงนี้ แล้วก็หลอกกัน สร้างค่าวนเวียน ผู้ขึ้นสูงแล้ว ก็ไปเสวยความสูงนั้น แล้วก็วนเวียนมาหาต่ำทดแทน เพราะไปเสพหนี้ เพราะไปสร้างหนี้ไว้ แล้วก็วนแล้ววนเล่าลงมา หมุนเวียนกันอยู่ ตลบแล้วตลบเล่าอย่างนั้น

 

สืบทอดคุณธรรม
คนจึงติดกับดักของลาภยศสรรเสริญ อยู่ออกอย่างนั้น ตลอดกัปตลอดกัลป์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ค้นพบบ่วงอันนี้ ได้ค้นเจอกับดักสัตว์ หรือกับดักมนุษย์อันนี้ ท่านก็ได้มาสอนให้มนุษย์ผู้อื่น รู้ตามเห็นตาม และก็บอกทางประพฤติ บอกทางปฏิบัติเป็นขั้นตอน ให้ได้หลุดพ้นออกมาจากบ่วง หรือกับดักอันนั้น ผู้ใดปฏิบัติได้ ปฏิบัติตาม จนกระทั่งสามารถบรรลุหลุดพ้นได้ และก็พึงเอามาสอนผู้อื่นบ้าง ตามที่พระพุทธเจ้า ท่านได้สอนมนุษยโลก ช่วยเหลือเขาให้เขาเลิกจากบ่วงอันนั้น ให้เขาหลุดจากบ่วงอันนั้น อันนี้เป็นคุณค่าของมนุษย์ ผมยังมองไม่เห็นว่า คุณค่าอะไรของมนุษย์ จะไปสูงเท่าคุณค่าของมนุษย์ ที่จะทำการช่วยเหลือมนุษย์ ให้หลุดจากบ่วงนี้มาได้ แม้เราจะเหน็ดเหนื่อย แม้เราจะมีชีวิตอยู่ โดยที่เรียกว่า เหนื่อย เมื่อย สู้ทน เพราะการที่จะช่วยคนให้หลุดออกจากบ่วง หลุดจากกับดักโลกธรรมทั้งปวงอย่างนี้ มันไม่ใช่ง่าย มันเป็นของยากเหลือเกิน ยากจริงๆ แต่งานนี้ก็มีค่าเหลือเกิน มีค่าจริงๆ ผมเองขอตายกับงานนี้ อย่างที่ไม่มีอะไรสงสัย เคลือบแฝงเลย

 

เปิดใจพิสูจน์
เคยกล่าวเสมอว่า แม้พวกคุณจะจากผมไปจนหมด แต่ไม่ใช่ดูถูก ขอบอกเสียก่อนว่า ไม่ได้ดูถูกพวกคุณเลย แต่เป็นคำกล่าวเท่านั้น เป็นคำกล่าวเพื่อแจ้งความบริสุทธิ์จิต เพื่อเปิดเผยจิตของตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ดูถูกคุณนะ เคยกล่าวเสมอว่า แม้พวกคุณจะได้ออกห่างไปจากผม จะได้หลุดลอยออกไป จะเหลือแม้แต่ เหลือผมคนเดียว ผมก็จะต้องตายกับธรรมอันนี้ จะอยู่กับงานอันนี้ จะอยู่สภาพอย่างนี้ เท่าที่ผมเป็นได้ เพราะผมยังมองไม่เห็น ผมยังไม่สงสัย ผมยังไม่เห็นอื่นเลย ที่มันจะประเสริฐเลิศเท่านี้ ในความเป็นมนุษย์ เกิดมาในชาตินี้ จะว่าผมหลงธรรม ผมก็ขอยอมรับสารภาพว่า ผมหลงในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่าที่ผมได้ผมมีผมเป็น และผมได้สาธยายสู่พวกคุณฟัง มันจะมีอันใดบ้าง ที่มันเป็นความหลงผิด เป็นการหลงไม่ถูก ในธรรมวินัยต่างๆ ที่เราได้ตรวจสอบ แม้จากหลักฐานพระไตรปิฎกก็ตาม ที่เป็นหลักฐาน อันเอามาเปรียบใช้ เทียบเคียงอยู่ หรือแม้แต่เป็นธรรมะ อันที่บรรลุเอง เห็นเองเข้าใจเอง ซึ่งผมได้พยายามให้พวกคุณได้พิสูจน์ ให้เกิดสันทิฏฐิโก เกิดปัจจัตตัง เป็นเวทิตัพโพ เป็นวิญญูหิ อันเห็นเองรู้เองเกิดเอง แม้ขั้นตอนตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลางหรือบั้นปลาย ตามลำดับ ผมก็ให้คุณพิสูจน์ด้วย สอบทานกับพระไตรปิฎกด้วย อธิบายแจกแจงด้วย ถ้าอันใด ที่มันยังเข้าใจยังไม่ถึง ในคำอธิบายเหล่านั้นๆ แม้แต่ได้พยายามที่จะหยั่งไปถึงต้นเค้า ภาษาบาลีกัน ผมก็ได้พยายามที่สุด เท่าที่ผมจะทำได้ตามภูมิปัญญา และพวกคุณก็พยายามที่จะรับฟัง รับพิสูจน์ตาม ในสิ่งส่วนเหล่านั้น ถ้าสิ่งนั้นเป็นจริง สิ่งนั้นก็ต้องบังเกิดผล ปัจจุบัน ณ ขณะนี้ ก็มีพวกคุณ ยืนหยัดอยู่ว่า พวกคุณยังไม่ไป นอกจากไม่ไปแล้ว ก็ยังมีเพิ่มขึ้นมาๆ

 

บนทางพรหมจรรย์
ผมเตือนทุกคน เตือนทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชาย ผู้ใดจะพึงเข้ามาปฏิบัติธรรม ผู้ใดถึงขั้นจะออกมาเนกขัมมะ ออกมาเป็นพระ หรือจะออกมาบวช มาทำงานทางนี้ จะต้องรู้ตน จะต้องมีสติสัมปชัญญะอันดี ผมเตือนทุกคน อย่ามาอย่างหลง อย่ามาอย่างมืด อย่ามาอย่างงมงาย ต้องมาอย่างเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้เข้าใจ ทดสอบทดลอง ผมมีขั้นตอนให้ทดลองเสมอ ให้พิสูจน์ให้ติดตาม พิสูจน์เอาจนแน่ใจ เอาจนแน่จริง ว่าทางนี้เป็นทางเลิศ ทางนี้เป็นทางประเสริฐของมนุษย์ เป็นสุดยอดของความมีค่า และความมีประโยชน์ของมนุษย์ ต้องรู้จุดพัก รู้จุดว่า สงบระงับ เท่าที่เป็นไปได้นั้น เป็นสภาพที่.. ถ้าจะใช้ภาษาเรียกว่า สุข มันก็อยู่ที่ การสงบ การพัก การระงับ การหยุดอยู่ การพักอยู่ นั่นแหละ สุขเย็น เลิศยอดแห่งสุข ไม่ใช่สุขเพราะไปปรุง ไม่เป็นสุขเพราะไปทำ ไปวุ่นไปวาย แม้ที่สุด ผู้ใดรู้จักสุขนั้นแล้ว เราก็จะติดสุขอย่างนั้นๆ นั้นไม่ได้

 

ช่วยตน-ช่วยท่าน
เรารู้ว่า เราควรพักเท่าที่พอดีพอเหมาะ แล้วเราก็จะเป็นผู้ที่มีเมตตาคุณ หรือจะมีกรุณา ที่เรียกว่า กรุณาธิคุณ อย่างพระพุทธเจ้าบ้าง แม้จะไม่มาก ก็เป็นลักษณะโดยนัยะอันเดียวกัน เราจะมีกรุณาธิคุณอย่างนั้น เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษยโลก โดยการรู้อยู่เข้าใจอยู่ว่า ถ้าเราทำงาน ช่วยให้เพื่อนมนุษย์ ให้ออกมาจากบ่วงนั้น ออกมาจาก การติดกับดักของโลกธรรมทั้งหลาย โลกียธรรมทั้งหลาย เป็นงานที่ยากอยู่ และถ้าเรามีกรุณาธิคุณ มีเมตตาคุณ ที่จะช่วยเหลือเฟือฟาย ให้เพื่อนมนุษย์นั้นๆได้ออกมาบ้าง ก็เป็นคุณค่าของมนุษย์ ผู้พบจริง เห็นจริงแล้ว เป็นเบื้องสุดเป็นขั้นสุด จะไม่มีความสงสัย จะไม่มีการละเว้น ในการที่จะช่วยคนอื่นเขา เมื่อยก็พัก

การทำงานช่วยผู้อื่นก็ต้องเมื่อย เมื่อยเราก็รู้ว่าเมื่อย เราทำงาน เราก็รู้ว่ามันไม่ใช่สุขอย่างสงบ สุขอย่างสงบนั้น ก็คือพักคือหยุด สุขอยู่สงบหมด ไม่มีกายกรรม ไม่มีวจีกรรม ก็อยู่สบาย แต่ตราบใดยังมีกายกรรม มีวจีกรรม มันก็เมื่อย มีมโนกรรมมันก็เมื่อย แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นค่า มันเป็นสิ่งสุดท้าย สำหรับพระอรหันต์ทุกองค์ ที่รู้แจ้งเห็นจริง ที่เข้าใจแล้วว่า เราจะทำงาน ตราบขันธ์เรานี้แตกสลาย มันก็หมดเรา มันก็หมดเรื่อง

เพราะฉะนั้น ก็ไม่ช้า ไม่ดูดาย พอใจที่จะทำงานนั้น เพราะว่างานนี้เป็นค่า ถ้าพระอรหันต์ไม่ทำ ก็ไม่มีใครทำ พระโสดาบันก็ยังติดอยู่บ้าง ในความสุขความสงบ พระสกิทาก็เหมือนกัน หรือแม้พระอนาคามี ก็ยังติดความสงบอยู่บ้าง เป็นขั้นตอน จนกว่าจะบริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นมา รู้ความจริงอันชัดแจ้งแล้ว ว่าตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ของใคร มันเป็นแต่เพียงสมบัติโลก มันเป็นแต่เพียงการปรุงกันขึ้นมา ด้วยอำนาจ การเกาะกุมด้วยธาตุ ดินน้ำไฟลม มีอากาศช่องว่าง แล้วก็มีวิญญาณธาตุเดิมอยู่ อยู่ในนั้น มันมีเท่านั้น มันไม่ใช่ของเราของเขา มันเป็นแต่ตัวการงาน เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จะไม่สงสัยเลย ในการที่จะทำงาน ที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น


จุดตัด - แตก พุทธ กับเดียรถีย์
ศาสนาเดียรถีย์ที่ค้นพบจุดสงบสุข มีอยู่แล้ว เค้าก็ติดความสงบสุขนั้น ไปจนตราบตายก็มีอยู่ โดยเขาล้างอนุสัย ไม่สะอาดร่อน ไม่เสร็จสิ้นหมด เพราะเหตุว่า เค้าไม่ได้หมุนเวียนกลับมาทดสอบกับโลกด้วย เขาหลงว่า ความสงบความพักนั้น เป็นยอดสุข แล้วเขาก็หลบเลี่ยงผู้คน หลบเลี่ยงเจ้ากิเลส หลบเลี่ยงสิ่งที่มันได้หลอก คนเหล่านั้น ไปชั่วครั้งชั่วคราว โดยเขาเอาการติดความสงบนั้น เป็นเครื่องจูงนำ แล้วเขาก็อยู่กับความสุขนั้น จนกระทั่ง ตราบรูปนามแตกดับ ซึ่งอนุสัยของเขา ที่มีอยู่เท่าใดๆ เขาไม่ได้พิสูจน์

เขาไม่ได้มากระทบสัมผัส กับแม้แต่โลกอบายมุข ไม่ได้มากระทบสัมผัสกับโลกกามคุณ ไม่ได้มากระทบสัมผัสกับ โลกธรรม ๘ ไม่ได้มาทดสอบในเรื่องของโลกอัตตา โลกปรมาตมัน ที่เต็มไปด้วยมานะอันเย่อหยิ่ง เต็มไปด้วยความถือตัว เต็มไปด้วยความหลงตน เขาไม่ได้มาพิสูจน์ เขาไม่ได้มากระทำการทดสอบ เพื่อที่จะได้รู้จริงว่า เราหมดร่อน จนกระทั่ง เรากระทบสัมผัสต่อใคร ที่เค้าจะมาลบหลู่ดูถูก เขาก็ไม่ได้มาพิสูจน์

เขาจะมาพิสูจน์ว่า เมื่อเราอยู่กลางโลกธรรม ๘ นั้น เราจะมีผลกระเทือนอย่างไร ยังมีเชื้ออนุสัยที่ยังจะขึ้นมา ยังจะมีเชื้ออนุสัย ที่จะทำให้คนนั้นน่ะ ยังรู้เห็นได้ เขาก็ไม่ได้มาพิสูจน์ แม้แต่มาอยู่กลางกองโลกกามคุณ ๕ เขาก็ไม่ได้มาพิสูจน์ เพราะฉะนั้น เขาจะไม่รู้ละเอียด เขาจะไม่บริสุทธิ์ล่วงส่วน ได้เป็นอันมาก ศาสนาที่หลง ความสงบสุขอย่างนี้ ที่เราเรียกว่าเดียรถีย์ ก็มีอยู่

ส่วนศาสนาพุทธนั้น รู้จุดจริงว่า สุขสงบนั้นก็คือ พักสุขที่สูงสุด ก็คือสงบพัก หรือหยุดสนิท เบา ว่าง ง่าย พ้นภาระ เบาสบายจริงๆ หมดแม้กระทั่งกายิกทุกข์ ไม่มีแม้กระทั่งทุกข์อยู่ ทั้งด้านกายกรรม วจีกรรม หรือทุกข์ ที่จะกระทบ สัมผัสอยู่ข้างนอกๆ ทั้งหมด ไม่มี และรู้จนกระทั่ง หมดเจตสิกทุกข์ ที่เป็นทุกข์ในจิต เป็นทุกข์แห่งความยึดถือ เป็นทุกข์แห่งการที่ติดยึด แม้กระทั่งยึดความสงบ มันจะปรุงขึ้นมาอีก ยึดถือเกินไป ก็รู้ และเราก็ไม่ยึดถือเกินไป โดยมีอนุโลม มีสัจจานุโลมญาณอันเพียงพอ ที่จะปรุงเป็นปุญญาภิสังขาร ก็ย่อมได้ ปรุงให้เก่งเท่าใดๆ ก็เป็น อิทธาภิสังขาร เท่านั้นๆ สามารถปรุง สามารถทำงานได้ ปรุงอยู่ก็รู้อยู่ว่าปรุง ไม่ได้หลงกับสังขารนั้น มีวิชชาคุมอยู่ จึงรู้ในสังขารนั้น เป็นปัญญาอันยอด เรียกว่า อธิปัญญาหรือญาณ เรียกว่า ญาณทัศนะวิเสโส หรือ เรียกว่า อลมริยญาณทัศนะวิเสโส รู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างแท้จริง

 

เห็นอริยสัจ
เพราะฉะนั้น นามรูปไม่ได้ตั้งลงที่จิตเลย อายตนะก็เป็นสักแต่ว่าอายตนะ นามรูปที่เราอยู่กับเค้า ก็สักแต่ว่า นามรูป ไม่ได้รวมลง เป็นการเกาะกุม ไม่ได้หยั่งลง น กาหสิ ไม่ได้ตั้งลงหยั่งลงโดยจริง นามรูป เป็นแต่เพียงนามรูป ที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ อายตนะทั้งหมด ก็รับรู้รับเข้าใจ เมื่อยก็รู้อยู่ในจิต เป็นเวทนาใดก็รู้อยู่ เพราะฉะนั้น เวทนาใดที่มันเมื่อย เราก็รู้อยู่ว่า สิ่งนั้นเป็นทุกขอริยสัจ เมื่อยเป็นทุกขอริยสัจ การทำงานย่อมเมื่อย เป็นสัจจริง การหยุดย่อมเบา ก็รู้ตัว ด้วยสัจจะอย่างนั้นอยู่ สมุทัยในการที่ทำงานอยู่ เราทำงานเพราะกุศลเจตนา เป็นสมุทัย เรายังกุศลให้ถึงพร้อมอยู่ มีเจตนาอันดี เราก็รู้ เมื่อยเมื่อไร หรือว่า ในขณะใด ที่ไม่สามารถทำไปให้เกิดประโยชน์ เราก็จะรู้ เมื่อรู้แล้ว เราก็จะหยุด เมื่อดับที่กุศลเจตนานั้นลง ที่เป็นสมุทัย เราก็หยุดเราก็พัก จิตก็ไม่ปรุงต่อ กายกรรมก็หยุดไป วจีกรรมก็หยุดพูด มันก็เบา มันก็พ้นภาระ มันก็สบาย มันก็เป็นความสุข ที่เป็นวูปสโมสุขโข เป็นสุขอันสงบระงับวิเศษ มันก็ไม่ใช่ของที่น่าสงสัย ไม่เป็นสิ่งที่น่าสงสัย สำหรับพระอรหันต์เจ้า

 

กรรมของพระอรหันต์
พระอรหันต์เจ้าทุกพระองค์ ที่ท่านรู้อยู่ออกปานนี้ ท่านจึงสงเคราะห์ช่วยเหลือมวลมนุษย์ เป็นประโยชน์ท่าน เมื่อท่านมีประโยชน์ตน ท่านก็เป็นประโยชน์ท่าน ช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับประโยชน์นั้น เหมือนอย่างที่ตนได้รับ อันเป็นของประเสริฐสุดนี้ ช่วยจริงๆ เท่าที่ภูมิตนเองมี เท่าที่ความสามารถตนเองจะกระทำได้ มีจิตบริสุทธิ์อยู่ ที่จะรู้ว่า ผู้นั้นย่อมถนัดกว่าเราในเชิงนี้ ผู้นี้มีเอตทัคคะในด้านนี้ ผู้นี้มีความเก่งในมุมนี้ ผู้นี้มีความสามารถ ในอย่างนี้ รู้อยู่ ไม่มีความริษยา ไม่มีความไปแข่งเก่งอะไร รู้ว่าเรายังไม่มี พยายามเพิ่มภูมิตน ช่วยตนเองขึ้น อันนี้เก่ง อันนี้เป็นประโยชน์ เวลาก็มียังไม่ตายเน่า ก็พยายามอยู่ รู้ว่าส่วนนี้ควรเพิ่มภูมิของตน ให้เป็นอย่างนี้บ้าง ในเมื่ออย่างนี้เรายังไม่เป็น แต่อย่างนี้เรายังไม่ได้ อย่างนี้เรายังไม่มี สิ่งที่ไม่ได้ไม่มีไม่เป็นนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ มนุษยชาติเหลือหลาย ประโยชน์ตนนั้นมีแล้วละ แต่ประโยชน์แก่มวลมนุษย์อื่น ถ้าเผื่อเรามีปัญญาเฉียบแหลม เรามีภาษา ที่เราจะสามารถรู้ สื่อความหมายให้แก่ผู้อื่นได้รู้ ได้เข้าใจเพิ่ม หรือเราได้รู้มรรควิธีอย่างนี้ ในชั้นเชิงอย่างนี้ เราก็พยายามที่จะรู้เพิ่ม เพื่อที่จะทำประโยชน์ ให้แก่ผู้อื่นต่อ

พระอริยะชั้นพระอรหันต์ ก็จะไม่หยุดยั้ง จะพยายามกระทำเพิ่มภูมิ จะเรียกว่าโพธิสัตว์ต่อก็ได้ แล้วก็จะเป็นจริงอย่างนั้น เพราะท่านรู้ความประเสริฐ ที่ควรเพิ่มความประเสริฐ ท่านรู้จักอนันตัง ท่านรู้ความต่อ ของจุดต่อ ท่านรู้ความจบ และท่านจะทำจุดต่อในความจบนั้น ที่รู้ความเป็นจริงว่า ควรต่ออย่างไร ท่านรู้ความจบ ในความต่อนั้นอีก คือ แม้ท่านจะกระทำนั้น ท่านจะพยายามพากเพียรเรียนรู้อีก โดยการทำงานไปพลาง เรียนรู้ไปพลาง ท่านก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ได้เท่าที่ควรเป็นควรมี เท่าที่ท่านสามารถ ท่านจะไม่อิดหนาระอาใจ จะไม่ท้อแท้ จะไม่ริษยาจริงๆเอานะ แต่อิสสาสังโยชน์ ไม่มีแม้แต่มัจฉริยสังโยชน์จริงๆ พระอรหันต์ย่อมเป็นดังนี้ ย่อมเป็นอย่างนี้ กระทำได้อย่างนี้ เป็นที่สุด

 

อรหัตผลตามภูมิ
พวกเราที่ได้พากเพียร ได้เรียนรู้ขั้นตอนมา ก็ขอให้ทบทวน ขอให้ตรวจสอบตนเอง สิ่งที่ยังเป็นเบื้องต้น เป็นสิ่งที่ต่ำ เราได้พากเพียรทดสอบแล้วหรือยัง เราได้ตรวจตนสนิทแล้วหรือยัง ว่าเราไม่สงสัย เราเข้าใจดี เรารู้แจ้งแล้ว ในตนของเรา เราไม่ได้เดือดร้อน สิ่งเหล่านี้ จะดึงเราเวียนกลับไปเสพ เวียนกลับไปคลุกคลีอีกไม่ได้ แม้โลกอบายต่ำสุด เรารู้อยู่ ไม่ว่าเราจะตกไปในฐานะใด เราจะเปลี่ยนไปเป็นรูปใด เราก็แน่ใจของเราอยู่ว่า สิ่งเหล่านี้ เราจะไม่เวียนกลับมาอีก อย่างเด็ดเดี่ยว อย่างแน่ใจที่สุด ไม่สงสัยจริงๆ การไม่เวียนกลับนั้นแล คืออรหันต์ หรืออรหัตผล แม้แค่โลกอบาย ก็ต้องรู้อรหัตผลของอบายนั้นให้จริง เราแน่ใจของเรา ไม่มีใครมารู้กับเรา ไม่มีใครที่จะมาสัมผัสได้กับเรา จิตของเราเท่านั้น บอกเราได้อย่างเด็ดเดี่ยว จิตของเราเท่านั้น บอกเราได้อย่างเด็ดขาด แม้โลกกามคุณ ๕ เราสัมผัสอยู่ เราก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ จะไม่ทำให้เราตกต่ำไปได้อีก เป็นอันขาด มันจะทำให้เราไปคลุกคลี วนเข้าไปเสพอีก เข้าไปติดยึดอีก เข้าไปหลงใหลอีก เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด คุณต้องตรวจสอบตนเอง ให้รู้ให้เข้าใจ ตนบอกกับตนได้เท่านั้น ตนไม่มีใครบอกเราว่า ชาติไม่เกิด ชาติสิ้นแล้ว ภาระหมดแล้ว เราบอกได้ที่ตัวเรา ไม่ใช่คนอื่นมาแอบบอก ไม่มีคนอื่นมาหลอกบอก เราจะบอกได้ด้วยตน รู้ได้ด้วยตน ตรวจสอบให้สนิท ให้พ้นวิจิกิจฉา สิ่งใดพ้นวิจิกิจฉาแล้ว เราเองเป็นคนตัดสิน เราเองเป็นคนบอกได้ เราเองเป็นคนรู้ ในการพ้นวิจิกิจฉาอันนั้น เราไม่สงสัยจริงๆ แม้โลกธรรม ๘ ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี หรือ โลกียสุขใดๆ จนกระทั่ง เราจะเรียกโลกียสุขนั้นว่าความสงบ หรือความสงบนั้น เราเรียกมันว่า โลกียสุข สูงออกปานนี้ก็ตาม เราก็จะต้องรู้ให้ชัดเจนว่า เราเองยังติดมันอยู่เท่าใด

 

ประโยชน์ตน-ท่าน
เรายังพยายามพากเพียร ที่จะทำประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ให้มันได้สมดุล อย่างน้อยที่สุด เรามีประโยชน์ตน กึ่งหนึ่ง เราเพียรอยู่ เพื่อช่วยมนุษยโลก กึ่งหนึ่ง ก็ยังถือเป็นความบริบูรณ์ของอรหันต์นั้น อรหันต์ย่อมมี คุณประโยชน์ ไม่ได้น้อยไปกว่า ที่เรามีประโยชน์ตนอยู่นี่ ก็เรียกว่าขั้นต้น ถ้าผู้ใดมีประโยชน์ มากกว่าที่ เราเองจะเสพสุข ที่เป็นขั้นสุขขั้นสงบนี้ ผู้นั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่มวลชนได้มากจริงๆ ที่เป็นคุณค่า ผู้ทนได้ ก็ทำได้ การทนนี้เป็นภาษา และมันก็มีสภาพทนอยู่เหมือนกัน ทนได้โดยไม่ยาก ทนได้โดยไม่ลำบาก รู้อยู่ว่า เป็นกุศล ผู้นั้นก็สามารถกระทำ ทนอยู่ได้ โดยไม่มีการเศร้าหมองที่จิต ไม่มีการอึดอัดขัดเคือง ไม่ท้อแท้ ไม่กินแหนง แคลงใจอะไรเลย รู้อยู่ว่า ก็ทนได้อยู่ ก็เป็นสิ่งที่เมื่อยอยู่ ก็รู้อยู่ โดยการที่รู้แจ้ง ไม่มีการคลุมเครือ ไม่มีการสงสัย เป็นการรู้ที่จิตของเราด้วย และการรู้ของผลงาน รู้การงานที่เรากระทำอยู่ด้วย ผู้ที่มีดวงตาอันเปิด ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะอันสว่าง ผู้ที่มีการไม่หลง ไม่พร่าไม่มัว ชัดเจนอยู่ในกรรมทุกกรรม ในการกระทำ ในการงาน ทุกการงาน ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ที่ตื่นแล้ว เป็นพุทธะ เป็นผู้รู้อยู่ เป็นผู้เบิกบานแจ่มใสอยู่จริงๆ ไม่พร่าไม่มัว ไม่เศร้าหมอง จริงๆ และเป็นผู้มีประโยชน์ ในการงานอันแท้จริง ช่วยเขาได้เท่าใด ผู้นั้นไม่หดหู่ ผู้นั้นรู้ค่า เรายังไม่ตาย เราก็ทำตามกำลังของเรา ตายเมื่อใดก็จบ ผู้นั้นจะไม่สงสัยในความตาย การตายเน่า การตายด้วยรูปขันธ์ เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครพ้น พระอรหันต์ไม่สงสัย ตายเมื่อไรก็ธรรมดา เมื่อยังไม่ตาย ก็ทำงาน เมื่อถึงเวลาตายก็ตาย งานก็หมด ก็จบกัน ก็สิ้นกัน

พระอรหันต์ไม่กลัวตาย พอจบงานก็หมดเมื่อย เมื่อมันยังไม่ตายเน่า มันก็มีงานที่เป็นการเพียร เป็นการกระทำ เป็นอายูหะ และก็มีการพักที่เป็นสันติฎฐะ ย่อมมีการพัก การเพียร หรือมีอนายูหะ ที่เรียกว่าไม่เพียร หรือมีอสันติฏฐะ เรียกว่าไม่พักก็ได้ ไม่ต้องสับสน ทำความเข้าใจให้รอบถ้วนให้ได้ เป็นผู้กระทำตน อยู่ออกปานนี้ จึงขอเตือน ในวันมาฆปูรณมีนี้ กับทุกๆคน ขอให้สอบทานตัวเอง อย่าสงสัย อันใดตัดสินแล้ว อันใดตกลงแล้ว อันใดได้ลงตัวแล้วโดยจริง ที่ในจิตของเราได้ทดสอบ ได้กระทบสัมผัสแล้ว โดยอบายมุข อย่างนั้นๆ เขาเป็นเขามี เรารู้เราเห็นอยู่แล้ว แล้วเราก็ไม่ได้เดือดร้อนเลย ในอบายมุขเหล่านั้น และก็ไม่จำเป็นนักที่จะไปทดสอบ ในอบายมุขบางอย่าง ที่เราไม่ได้ใกล้ได้ชิดเลย ก็ไม่จำเป็นเลย เพราะมันเป็นความเลว ที่จะหมดสภาวะแล้ว มันต่ำจริง เรารู้อยู่ ผู้มีจิตสูงขึ้นมาจริงแล้ว ไอ้สิ่งต่ำ ไม่ควรจะสงสัยมาก

 

กามคุณ ๕ กับการคลุกคลี โลกธรรม ๘
แม้แต่กามคุณทั้ง ๕ เราก็รู้อยู่ ได้คลุกคลีอยู่ แม้รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส เราก็รู้แล้วว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่มีอำนาจมาจูงดึง แม้จะเลิศลอยมาปานใด มายั่วเย้า เราได้ทดสอบ ตามที่เราได้เป็นไป ตามที่เราได้กระทบ ไม่ต้องไปแสวงหา หรือไม่ต้องไปดิ้นรน อยากจะไปสัมผัสอย่างนั้น ให้จนเกินควร มันเกินสมณสารูป และมันเป็นการแสดงออก ที่เกินควรไป มันจะเป็นไปเอง มันจะได้มีการมาทดสอบเอง มันจะมีจะประสบเอง ในแต่ละครั้ง ที่ผ่านอยู่ ที่กระทำงานอยู่ คนจะส่งมาลองเอง มันจะมีสิ่งเหล่านี้ เราเรียกว่าการทดสอบ หรือมารเหล่านั้นจะมาลองจริงๆ จะมีอยู่ เราไม่ต้องแสวงหา ไม่ต้องดิ้นรน และเราพยายามมีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันทุกโอกาสให้ได้ก็แล้วกัน แล้วเราก็จะแน่ใจ แม้มารใดไม่มาลองก็ดี ถ้ามารนั้นไม่ลอง ก็มารนั้นเองจะพลาดโอกาส แต่มารก็จะมาลองเอง ไม่ต้องแสวงหา แม้โลกธรรม ๘ ก็ตามนั่น ลาภยศสรรเสริญหรือสุข โลกียสุขที่แนบเนียน ปานใด มันจะมีมาทดสอบเราเอง ขอให้เราทำงาน ขอให้เรามั่นใจ ขอให้เราแน่ใจว่า เราจะช่วยมนุษย์นั้นอยู่โดยสมควร ตามกำลังปัญญา ตามกำลังภูมิธรรมของเรา เห็นให้ได้ว่า เราติดสงบอยู่ปานใด

 

ฐานหยุด-ทำ-นิพพาน
ในส่วนใหญ่ของพวกเรานั้น เมื่อละพ้น หรือว่า วางจากกามฉันทะ วางจากพยาบาท ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีอาวรณ์ ไม่มีอารมณ์ ไม่มีอาลัย ไม่มีอาพาธ ไม่มีอารักษ์ แล้วก็ไม่มีอาพาธ แม้ไม่มีสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งผูกพัน อยู่ในจิตแล้วจริง จิตมันจะลงสงบ นั่งอยู่เฉยๆ มันก็จะตกภวังค์ มันจะหรี่ง่าย ถีนมิทธะจะจับติดง่าย เพราะเราไม่มีจิตฟุ้งซ่านไปหากามฉันทะ จิตของเราไม่มีพยาบาท จิตของเราไม่มีอาวรณ์ ไม่มีนิวรณ์ ที่มันไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผูกพันอยู่ จิตก็จะตกลงไปในภวังค์ง่าย ผู้ที่อยู่ในฐานนี้ จะต้องพยายามตื่น พยายามเลิกขึ้น พยายามให้ได้ อย่าไปจมลงไปกับมัน โดยการที่พยายามให้กล้ามเนื้อตื่นตัว ให้สติสัมปชัญญะตื่นขึ้น จะเป็นการนวดตัว ขยับขยายร่างกาย ขยับอริยาบถ นวดเนื้อนวดตัว มีสภาพอื่น ให้มันตื่น ไปเอาน้ำล้างหน้า สูดลมหายใจ มองดูทัศนียภาพอื่น หรือการเอาการงานอื่นมาสนใจ หรือ การเดินการเหิน การทำงาน ที่มันจะทำให้กล้ามเนื้อขยับขยายมากขึ้น เพื่อที่จะแก้ไขถีนมิทธะนั้น พยายามกระทำเสมอ อย่าไปจมอยู่ในถีนมิทธะ จิตตัวนี้ต้องแก้ พวกเรามีกันอยู่หลายผู้หลายคน ต้องพยายามแก้ไขขึ้นมาให้มาก แม้ถีนมิทธะนี้ เราพ้นไปได้ หรือว่าเบาบางลงแล้ว จิตของเรา ตกไปอยู่ในสภาพภวังค์ มันจะมีสภาพที่ยังฟุ้งไป ยังปรุงอยู่ เราจะให้มันหยุด มันหยุดยังไม่ได้ จะให้มันระงับมันสนิท มันสนิทยังไม่ได้ สิ่งเหล่านั้นก็พยายามลดลง แต่ก็เบาบางบ้างแล้วละ เมื่อใดที่ทำให้จิต มันว่างโปร่ง เป็นอากาสานัญจายตนะอยู่ โดยลดวิตกวิจารลงมาได้ อารมณ์ปีติไม่มี แม้สุขอย่างโลกก็ไม่มี สุขอย่างติดเฉยว่างก็ไม่มี เป็นจิตที่ว่างโปร่งเบาลอยอยู่ ถ้าจะเอาอารมณ์มาเรียกว่าความสุข มันก็เป็นความสุข ที่เทียบกับโลก ไม่มีสุขกว่านั้นอีก เราจึงเรียกว่า สันตวิหาร หรือสันตวิหาระ มันเป็นความสุขที่สงบสูงสุด สูงกว่าฌาน ๔ ที่เราเรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร มันเข้าไปสู่สภาพที่ว่างโปร่งเบา เบาอยู่ พ้นภาระอยู่ แม้จะเป็น การลืมตา เราก็พยายามรู้ให้ได้ ว่ามันว่าง วางเบาอยู่ ไม่หนักหน่วง ไม่มีอะไรถ่วง ไม่มีอะไรที่จะมาทำ ให้เราหนักใจ แม้กายจะทำงานอยู่ ก็รู้ว่ากายทำงาน แต่สภาพของจิตไม่มีหนักถ่วง เป็นสภาพสบายเปล่า ว่างเบาอยู่ ง่ายๆ จะทำอะไรก็ทำอยู่ จะพูดจะคุย จะช่วยเหลือเฟือฟายผู้อื่น จะเทศนา หรือว่าจะทำงาน ที่ประกอบไปด้วย การยกการแบกบ้าง การขน การกระทำบ้าง จิตก็เบาโปร่ง ว่างอยู่ ไม่หนักหนา พยายามกระทำความรู้ กำหนดลงไป ให้รู้ความเบาว่างอันนี้ แม้ในขณะทำงานอยู่ ด้วยกายกรรม หรือ วจีกรรมก็ตาม แต่จิตของเราก็ไม่มีการหนัก จิตมีสภาพรับรู้อยู่ ในฐานะของจิต เต็ม แต่เราไม่หนัก ไม่ถ่วง ไม่อึดอัด ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว เบิกบานแจ่มใสร่าเริง เป็นผู้ตื่นผู้รู้อยู่ อย่างเบิกบานจริงๆ จิตอย่างนี้ เป็นสภาพของ อากาสานัญจายตนะ จิตใดที่เราเริ่มปรุงขึ้นมาอีก เป็นความรู้ เป็นสภาพรู้ รู้เป็นภาษา รู้เป็นสภาวะ รู้เป็นอะไรก็ตามแต่ แต่ละครั้งแต่ละคราว เราเรียกว่าวิญญาณ หรือตัวญาณ ที่เป็นวิญญาณ

 

วิญญาณ
ภาษาเดิมของบาลีเรียกว่า เป็นญาณ ที่เป็นวิญญาณ แต่เดี่ยวนี้มันเพี้ยนมาแล้ว วิญญาณ มันกลายไปเป็น จิตอะไรที่เลอะเทอะแล้ว ก็เอาละ ก็เข้าใจมันให้ได้ และแท้จริงนั้น ตัววิญญาณนี้ เป็นความรู้อันยิ่ง มันรู้ เมื่อเราปรุงขึ้นมา เราจะทำงาน เราก็ปรุงว่า เอ้ออย่างนี้ ควรปรุงขึ้นมา ให้รู้เพิ่มขึ้น ก็มีวิญญาณัญจายตนะ เป็นประโยชน์ เพิ่มมาอีกนิดหนึ่งแล้ว กำลังทำงาน ก็คิดขึ้นมาดัดแปลงหรือปรับปรุง อ๋อ อย่างนี้ ดีกว่าอย่างนี้ ตัวดี ตัวรู้ว่า ดีกว่าขึ้นมา หรือแม้เรากำลังเทศนา กำลังพูด เราคิดปรุงว่า เออ เราจะเอาความหมายอันนี้ ปรุงมาเป็นภาษาอย่างนี้ เรารู้ว่าเป็นภาษาที่ดี รู้ว่าเป็นความรู้ รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่จะออกมาโดยการปรุงของเรา สิ่งนี้ก็เป็นวิญญาณนะ เรารู้สิ่งที่ดีสิ่งนี้ เราก็ไม่หลงติดในวิญญาณัญจายตนะ เราปรุงออกมาให้โลก ก็เป็นอายตนะ แม้ประโยชน์มันจะน้อยจะนิด หรือประโยชน์จะมาก เราก็ไม่หลงประโยชน์มาก มันชวนหลงง่าย ถ้าปรุงภาษาใด ปรุงรูปการที่ธรรมะอันใด ที่เป็นความรู้ ออกมาให้แก่โลกได้รับไป เราจะรู้สึกว่า เราดีใจว่านี่ เป็นประโยชน์หนอ เราเก่งหนอ มันจะเป็นความรู้ อย่างนี้แล้ว มันจะทำให้เราเกิดย้อนขึ้นไป ถึงฌาน ตกลงไปเป็นปีติ ตกลงไปเป็นสุข และมันจะติดเป็นมานะ

ต้องรู้เท่าทันอารมณ์ แม้ที่เป็นสิ่งที่เป็นยอดความรู้ ออกปานนี้ ที่เป็นวิญญาณัญจา และเป็นประโยชน์ เป็นอายะ แม้มันจะนิดน้อย ก็ต้องรู้ให้ดีว่า อย่าไปหลงติดมัน ถ้าเป็นประโยชน์ใหญ่ จะทำให้หลงติดแยะนะ ไม่ใช่อายตนะ แต่เป็นมหัปผลา เป็นสิ่งที่เป็นผลสูง เมื่อเป็นผลสูงแล้ว คุณจะติดมันนั้นน่ะ ง่ายเหลือเกิน อย่าหลงมัน เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ เป็นทางสุด แม้จะมีประโยชน์น้อยนิด ก็อย่าไปหลงติดมัน จึงเรียกว่า อย่าหลงในอายตนะ แม้จะเป็นทางด้านความรู้ หรือจะเป็นทางด้านของความว่าง เรียกว่า อากาสานัญจา ก็อย่าไปหลงในอายตนะอย่างนี้ พยายามเข้าใจอายตนะอย่างนี้ให้ชัด คุณจะหลับตา หรือคุณจะลืมตา ก็ต้องเข้าใจสภาพธรรมะนี้ให้ได้ แล้วก็อย่าไปหลงมัน หรือแม้ที่สุด อากิญจัญญา คือ เป็นสภาพดับสุด จิตดับไปเลยก็ตาม หรือว่ากิเลสดับสุด หมดแล้วหนอจากใจเรา ไม่มี เป็นความไม่มี นิดน้อยหนึ่งก็ไม่มีในกิเลส เป็นสภาพที่รู้ความจริง ตามความเป็นจริง เป็นอสังขตธรรม เป็นธรรม ที่มันเป็นตัวของมันเอง อสังขตธรรม หมายความว่า มันปรุงของมันเอง มันไม่มีอะไรอื่นผสมอีก อสังขตธรรม จิตรู้ มันก็เป็นจิตรู้ของมันอยู่อย่างนั้น สภาพกายกรรม ก็เป็นกายกรรมของมันอยู่อย่างนั้น สภาพวจีกรรม ก็เป็นวจีกรรมของมันอยู่อย่างนั้น มันเป็นหนึ่ง เป็นอสังขตธรรม สภาพที่มีความเป็นจริง ตามความแท้จริง ของแต่ละสภาพ อย่างนี้ เรารู้เราเห็น เราเข้าใจมันอยู่ เป็นยถาภูตญาณ เป็นความจริงตามความเป็นจริง อย่างนี้ๆ อย่างนี้ๆ เราเรียกว่า อสังขตธรรม เป็นสภาพนิพพานชัดๆ ของผู้ตื่น เป็นนิพพานของพุทธศาสนา เป็นนิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้สร้าง เป็นผู้ค้นพบ เป็นนิพพานของคนตื่น เป็นนิพพานของคนรู้ เป็นนิพพานของคนที่มีจิตใจเบิกบาน แจ่มใสอยู่ ไม่มัวหมอง ไม่อับเฉา ไม่ท้อแแท้ ไม่ระโหยระหาอะไรเลย สภาพนิพพานนี้ พยายามกำหนดรู้ให้ได้ จับให้ถูก ให้มันเป็นอยู่ ให้มันมีอยู่ในเราจริงๆ เสมอๆ เป็นสภาพที่ควรอยู่ควรเป็น เป็นสันตวิหาร เป็นสันตวิหารสูงสุด

แม้ที่สุดอันใด ที่เรากำหนดไม่ชัด เป็นเนวสัญญานาสัญญา ต้องกำหนดให้ชัดให้เจนที่สุด นิดน้อยหนึ่งเท่าใด ก็ให้รู้เป็น สัญญาเวทยิทตะให้ได้ อย่าหลง อย่าหลงทีเดียว จิตของเรา อะไรๆไม่มี แม้ที่สุด จิตไม่มีก็รู้ว่า มันจิตไม่มี ถ้าสภาพใด ต้องการพักสูงสุด ก็ตัดให้หมด นิดน้อยหนึ่งก็ไม่มีแม้แต่จิต แต่ในสภาพนิพพาน ไม่ใช่อันนั้น อันนั้นเป็นสมถะ เป็นเจโตสมถะ คือ ดับจิตให้หมด เป็นการพัก ก็ให้รู้ว่าเป็นการพัก เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา จะเป็นได้มีได้ ก็เอา ในสิ่งที่ควรเป็นควรมี ในกาละที่ควรเป็นควรมี ส่วนที่เพียรอยู่ ก็รู้ว่าเพียร ในขณะเป็นผู้ตื่น ก็ตื่นอยู่ ด้วยการงานที่ดี มีกัมโยนิ มีกัมพันธุ มีกัมปฏิสรโณ มีการงานที่ทำ เราทำเกิดเอง เราปรุงขึ้นมา เป็นวิสังขารเอง เป็นปุญญาภิสังขาร ตามที่เราสามารถ จนเป็นอิทธาภิสังขาร สูงขนาดใด เรามีอิทธิขนาดใด เราก็ทำอิทธิขนาดนั้น คือความเก่งนั้นเอง อิทธิ เก่งในการปรุง เพื่อประโยชน์ผู้อื่น เราก็กระทำตามนั้นเท่านั้น ทำอยู่ แล้วเราก็เบิกบานแจ่มใสอยู่ รู้ในสภาพที่เป็นอากาสานัญจายตนะ รู้ในสภาพที่เป็นวิญญาณัญจายตนะ และรู้ในกิเลสที่ไม่มีอยู่เลย เป็นอากิญจัญญายตนะ ไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะจริงๆ ไม่มีโมหะด้วย รู้อย่างวิชชาเต็ม อย่างนี้ เป็นผู้รู้แจ้ง กำหนดสัญญาอันใดก็ไม่มี ที่จะเป็นเนวสัญญานาสัญญา ที่กำหนดลงไป ไม่แม่น ไม่มั่น อันใดเป็นอย่างใด กำหนดรู้อยู่ ไม่หลงเลอะในสัญญาทุกสัญญา สัญญานั้นสัญญานี้ กำหนด สัญญาเก่าสัญญาใหม่ รู้หมด แจ้งในสัญญาทุกสัญญา เป็นสัญญาเวทยิตตนิโรธ จริงๆ จึงอยู่เหนือ เนวสัญญานาสัญญาด้วย สิ่งเหล่านี้ ต้องพยายามรู้ให้จริง รู้ให้หมด นิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยอกย้อน มีเชิงซ้อนมากมาย การอธิบายธรรมวันนี้ ได้อธิบายธรรม ถึงสภาพนิพพานที่ขั้นสันตวิหาร เป็นสภาพสูงสุด เราครบใน มาฆฤกษ์ปุณณมี เป็นคำรบที่ ๓ สิ่งที่อยากจะฝากเตือนไว้กับพวกเรามาก ก็คือ

 

อยู่ร่วมกัน
พวกเรา มีกันมาก มีกันจัดอยู่ ก็คือ มานสังโยชน์ เป็นตัวสำคัญ กับ อุทธัจจสังโยชน์ คือยังฟุ้งซ่านอยู่ ในความดี ในความหมายดี ในความมุ่งดี ยังยึดถืออุทธัจจะ ตัวมุ่งดี คือจิตที่มันรู้ดี แล้วมันก็ยังฟุ้งอยู่ที่จิต มันรู้อยู่ที่จิต เมื่อเห็นเพื่อน ที่เรายึดว่าเป็นเรา หลงว่าเพื่อนเป็นเรา แล้วเราก็อยากจะให้ดีหมด แม้แต่เพื่อนเราทุกคน อยากจะให้ดีหมด จึงเป็นเจตนาดี แต่ถ้าเราไม่มีปุคคลปโรปรัญญุตา เราไม่มีการรู้ในบุคคลว่า เขาย่อมทำได้เท่านั้น เขาย่อมมีจริตของเขาอย่างนั้น เขาย่อมถนัดของเขาอย่างนั้น และเขาย่อมจะละเมิดอยู่ อย่างนั้นของเขา เขาทำได้อย่างนั้น ในมุมนี้ เราเอง เราอยากจะมีส่วนนี้ดีกว่าเขา แต่ส่วนอื่น เขามีดีกว่าเรานั้น เราได้ระลึกหรือเปล่า ว่าเขามีส่วนดีนั้น มากกว่าเราอยู่ตั้งมาก ในส่วนที่เขายังมีดี เราสิยังไม่ดี ในมุมที่เขามีนั้น ก็ได้ด้วย เราควรจะเอามาถ่วงดุลอันนี้บ้าง อย่าไปเพ่งโทษเพื่อน เราพยายามรู้ความจริง ถ้าสิ่งนี้ เราเห็นแล้วว่า เป็นข้อบกพร่องจริง ในเพื่อน ถ้าเราอยู่ในฐานะเตือนกันได้ ช่วยกันได้ จงช่วยกัน ถ้าเราเตือนกันไม่ได้ ช่วยกันไม่ได้ ก็วางปล่อยเสีย ผู้สูงขึ้น ก็จะช่วยกันต่อไป ไม่ใช่เรื่องของปัญหา พยายามอย่าไปมีปัญหา พยายามอย่าไปยึด เอามาครุ่นอยู่ในจิตให้หนัก เราต้องรู้ความจริง แล้วก็ปล่อยวาง เมื่อสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราต้องวางทันที เมื่อสิ่งที่เหมาะสม ในฐานะของมันแล้ว เราต้องหยุดให้มันอยู่ ให้มันหยุด

เพราะฉะนั้น อุทธัจจะตัวที่เราไปรู้ดี แล้วเราไปยึดดีพวกนี้ เราต้องพยายามมีสัจจานุโลมญาณ มีการอนุโลม มีการที่จะมีปุคคลปโรปรัญญุตา หรือ มีปริสัญญุตา หมู่กลุ่ม เมื่อเวลาไปเป็นหมู่ เราก็รู้ ย่อมมีอะไรหลายจริต ย่อมมีความนึกคิด ความยึด หรือความถนัดไปคนละหลายอย่าง เราเองอาจจะรู้ อาจจะไม่รู้ อยู่ในนั้นด้วย เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามพิจารณาหมู่ให้มาก หรือพิจารณาบุคคลให้มาก เราจึงจะเป็นสัตบุรุษที่สูงขึ้น และต้องมีสัจจานุโลมให้ดี เราต้องมีความรู้ ในสัจจานุโลมชัดๆ ถึงจะเรียกว่า สัจจานุโลมญาณ เราจะต้อง ทำให้เกิด เราจะไม่อึดอัดขัดเคือง ในประการทั้งปวง แม้สิ่งนี้ เราจะรู้อยู่ว่าไม่ดี เราก็ไม่อึดอัดขัดเคือง เราจะมีจิตรู้ว่า อันนี้ช่วยได้หรือไม่ได้ ถ้าช่วยได้จงทำ อย่าดูดายนัก ถ้าช่วยไม่ได้ ต้องรู้ความจริงว่า ตอนนี้ ไม่ควรช่วยหรอก ช่วยไม่ได้ ช่วยแล้วเกิดการแตกแยก เกิดการบาดหมาง เกิดการเศร้าหมองกันเกินควร เพราะฉะนั้น เราจะขัดเกลา เราจะต้องรู้ว่า เราจะขัดเกลาเขานั้น แม้ที่เป็นเพื่อนกันก็ตาม จะทำได้ขนาดใด ถ้าทำไม่ได้ ก็หยุด ถ้าทำได้ขนาดนี้ ลองดูแล้ว ได้ขนาดนี้ แล้วก็เกิดการไม่ค่อยดีงามนัก ก็หยุดเสีย พักเสีย อย่าดันทุรัง อย่างนี้เป็นการช่วยกัน ช่วยให้มันสงบ เกิดขึ้นในหมู่ด้วย ได้ช่วยกันขัดเกลา ตามมีตามได้ด้วย

บางครั้งบางที บางสิ่งบางอย่าง เราก็อย่าไปมีอภิชัปปา อย่าไปมีตัณหาล้ำหน้า อยากให้มันได้ดังใจ อย่างนี้มากเกินไปนัก เราช่วยกัน เกื้อกูลกันเท่าที่ควร ผมเอง ผมย่อมรู้อยู่ ในบุคคลที่ควรช่วย ถ้าผมเอง มีอภิชัปปามาก ผมตายนานแล้ว ผมตายนานแล้ว ผมอยู่ไม่ได้หรอก ผมอยากให้คุณดี และผมเห็นข้อบกพร่อง อยู่ในตัวบุคคล ของพวกคุณเนี่ย ผมเห็นอยู่ เห็นความบกพร่องอยู่ เพราะถ้าผมจะไปยึดถือว่า ทำไมอโศก ไม่ทำให้ดี มีความเร่งร้อนมาก ผมจะตายไปตั้งนานแล้ว ผมทนไม่ได้หรอก แต่ที่ผมทนได้ เพราะผมรู้จักวาง ผมไม่เร่งเกินไป ไม่เอาเป็นเอาตายเกินไป มันย่อมเป็นไป ด้วยการเกื้อกูลอยู่ ตามฐานะ เวลา เพราะฉะนั้น พวกคุณ เมื่อมีปัญญา ย่อมรู้ความดี ย่อมรู้จุดดี รู้ความถูกต้อง แม้ในหมู่เพื่อนสหธรรมมิก ทุกคน ก็อย่าไปมีจิตมุ่งแรง เกินขนาดเกินไป ถ้ามุ่งแรงเกินขนาดเกินไปแล้ว มันจะอึดอัด มันจะหนัก มันจะไม่ยอม และมันจะทุกข์ทับถมตน ความทุกข์นั้นเป็นของคุณ คุณย่อมมาเรียนรู้การตัดทุกข์

จะไปทำทุกข์ ให้แก่เราทำไม เราช่วยได้ ก็ช่วยซิ ช่วยไม่ได้ ก็ย่อมรู้อยู่ แม้เป็นอโศกด้วยกัน มันจะบกพร่องบ้าง มันก็ย่อมเป็นอย่างนั้นแหละ ถ้ามันอดทนไม่ได้ มาบอกผม เป็นที่สุด แล้วก็ให้วาง ผมจะช่วยได้หรือไม่ได้ ก็อยู่ในฐานะอย่างนั้นแหละ บางทีผมก็ช่วยไม่ได้ ผมก็ยอมให้มันเป็นอย่างนั้นอยู่ จะบกพร่อง ก็ทำไงได้ เพราะมันต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราก็พยายามช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่ โดยเจตนาอันดีอย่างนี้ แล้วก็อย่าให้ตนเองเป็นทุกข์ แม้แต่ว่า รู้ดีแล้ว ก็พยายามปรารถนาดี แล้วก็รู้จักหยุุด จะปล่อยวาง ออกปานนี้ ผู้นั้นก็เป็นผู้ฉลาดสูงสุด เป็นผู้ที่กระทำ ได้มุมที่ละเอียดสูงสุดได้จริง จึงรู้ในอุทธัจจะนั้น

 

รับติติงยิ่งใหญ่
และขอย้อนกลับไปถึงมานะ อันนี้มีบทบาทมากในพวกเรา ถือตัวถือตน ใครจะว่ากล่าวเรา ก็ไม่ได้ ใครจะสั่งสอนเรา ก็ไม่ได้ จงให้คนที่โง่ที่สุด สอนเราได้เถิด

เมื่อใครคนที่โง่ที่สุด สอนเราได้แล้ว ก็พวกเรานี่ ไม่ใช่คนโง่ที่สุด เป็นชั้นนี้ เป็นนักบวชออกปานนี้แล้ว คุณก็ย่อม ยอมรับทุกคนว่า พวกเราไม่ใช่คนโง่ที่สุด ก็ทำไมพวกเราจะสอนกันไม่ได้ ทำไมกิเลส ตัวถือตัวนั้น ทำไมมันถึง ชั้นไม่ให้คนอื่นมาสอนเราได้ มันเป็นยังไง ใครจะมาแสดงความคิดความเห็นเหนือเราบ้าง ก็ไม่ยอม ทำไมกิเลสนะ ถึงมีฤทธิ์มากนะ เพราะฉะนั้น ใครจะสอนก็สอนเถิด ก็ฟังด้วยดี ถ้ามันถูกก็รับเอา ถ้ามันยังไม่ถูก เราพิจารณาตาม ไม่พยายามมีอคติ เห็นแก่ตนเอง ด้วยประการทั้งปวง สูงสุด เท่าที่เราจะไม่มีอคติได้ พิจารณา ด้วยความเป็นกลาง จริงๆ เมื่อเราถูกอยู่ เขาว่าเราผิดนี่ เออ ก็แล้วไป อันนี้เป็นเครื่องวัด ถ้าเราถูกผู้อื่น มากล่าวโทษเรา เราก็จะได้รู้ว่า คนนั้นมีภูมิปัญญาเท่านั้น เพราะฉะนั้น

มันไม่เป็นการเสียหายอะไรเลย มันเป็นเจโตปริยญาณ อย่างหนึ่งด้วยซ้ำไป เป็นโสตทิพย์ อย่างหนึ่งด้วยซ้ำไป คือเป็นเครื่องวัด วัดเราจะรู้ได้ว่า อ๋อ คนนี้มีภูมิปัญญาอย่างนี้ เขามาแสดงออกเอง เขาประกาศตนเอง มาแสดงภูมิของตน ออกมาให้เรารู้เอง เท่านั้นด้วย มันเป็นกำไรต่างหาก มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะถือตัวถือตน ให้เขาสอนไม่ได้ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ต้องพยายามรู้ให้ได้ในจุดนี้ การถือตัวถือตนในพวกเรา ยังมีมุมเหลี่ยมอื่นๆ อีกเยอะๆ เยอะ หลายอย่าง มันมีละเอียดลออ ซึ่งเคยอธิบายเรื่องมานะสังโยชน์ นี้มามากต่อมาก แม้แต่อุปกิเลส ต่างๆ ก็พยายามเรียนรู้อุปกิเลส ๑๐ ตั้งแต่ อมนสิการ จนกระทั่งมาถึงถีนมิทธะ ฉัมภิตัตตะ หรือแม้แต่อุพพิละ เป็นทุฏฐุลละทั้งหมด ให้รู้ขั้นตอน ๕ อย่างนี้ ก็ให้รู้ให้ชัด ๕ อย่างหลัง แม้แต่อัจจารัทธวิริยะ การขยันเกินไป เราขยันอยู่ แล้วเราก็ไปเพ่งโทษผู้อื่น ก็ไม่เอา ขยันได้ขยันไป ขยันที่มีประโยชน์ ขยันอยู่ ไม่อึดอัดขัดเคือง อะไรขยัน ขยันไป อันที่เกิดประโยชน์อยู่ ขยัน ขยันแล้วท้อแท้ ขยันแล้วทุกข์ ขยันแล้วไม่เกิดผลดีในทางธรรม ในทางประโยชน์อื่น ขยันมากไป จนกระทั่งเกินขอบเขต เป็นได้เหมือนกันนะ พิจารณาให้เห็น ไม่เอา

หรือแม้แต่ขี้เกียจ หรือขยันน้อยไป เรียกว่าอติลีนวิริยะก็ให้รู้ ให้รู้ให้ชัด ในตนนี่แท้ๆจริงๆ อภิชัปปาก็ให้รู้ กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างให้ตรง เป็นนานัตตสัญญา

อันใดเป็นอันใด กำหนดให้ถูก อย่าเลอะเทอะ ในการกำหนดนั้นๆ แล้วก็ไปหลง ในการกำหนดเป็น อตินิชฌายิตัตตะ หลงในสิ่งที่เราไปยึดไปเกาะ ในรูปนั้นเรื่องนี้อยู่ต่างๆนานา รู้ให้หมด กำหนดอันใด รู้แล้ว ก็อย่าไปยึดในสัญญานั้นๆ ติดในสัญญา หยุดในการกำหนด ติดในความหมาย ติดในความดี ติดในความรู้ ติดในสิ่งใดๆก็ไม่ได้ หลงให้มันเป็นเจ้าเป็นนายเหนือเราไม่ได้ เรารู้แม้มันดี ก็ให้รู้ดีนั้น ถ้าดีนั้น ให้บุคคลใดได้ ก็ให้ไป เขาไม่เอาก็เฉย ไม่ต้องไปหลงดี เราทำดี แล้วเขาไม่ว่าดี ก็ช่างเขา ไม่ต้องไปหลงในดีนั้น หลงดีเราก็ทำดี แล้วยกดีของเรา ไปข่มคนอื่นมากมายก็ไม่เอา อย่าไปหลงรูปใดๆทั้งหมด อย่าไปยึดหนัก ยึดใหญ่ ยึดโต ยึดอโศกกว้างใหญ่เกินไป ก็ไม่ได้ ยึดอโศกเล็ก จนกระทั่ง ในตัวเราเองก็ถือตัวถือตน ว่าเป็นอโศกนักเกินไป ก็ไม่ได้ ต้องพยายามรู้ให้จริง รู้ให้เกลี้ยง แม้อุปกิเลส ๑๐ ดังกล่าวทั้งหมด แบ่งออกเป็นหมวดๆ ๕ อย่างต้น ๕ อย่างปลาย

ตั้งแต่อมนสิการ มาจนกระทั่งถึงทุฏฐุลละ ตั้งแต่อัจจารัทธวิริยะ มาจนกระทั่งถึง อตินิชฌายิตัตตะ รู้ให้จริง อย่ารู้แต่บัญญัติ รู้สภาพจิตเป็นอย่างนั้นๆ แล้วถอดถอนๆ ปล่อยวางๆ เราจะพ้นทุกข์ด้วยการปล่อยวาง การไม่ยึดถือเอาเป็นเอาตาย จนจัดจ้านเกินไปเท่านั้น การที่จะกระทำอะไรตามเขา การที่พยายามจะยึดอะไรขึ้นมา ให้เขากระทำเป็นขั้นตอน เราก็เป็นแต่ยกสมมตินั้น ขึ้นมาเท่านั้น เมื่อทำแล้ว ก็ปล่อยวางลงไป เขาจะรับหรือไม่รับ ก็เป็นเรื่องของเขา เราเสนอ เราหาทางที่จะให้เขาเข้าใจ ให้เขาศรัทธา เลื่อมใส ให้เขาเอาให้ได้ ให้เขายกขึ้นไปให้ได้ แล้วเราก็พอ ก็จบ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นจนเกินขอบเขต มันทุกข์ จงหาจุดจบอันนี้ให้ได้ แล้วตัดสินลงตัว ผู้ใดรู้ความลงตัวอันนี้แล้ว ตัดสินได้แล้ว แม้ตรวจตน ไม่มีเศษเหลือของ อบายมุข ไม่มีเศษเหลือของกามคุณ ๕ ไม่มีเศษเหลือของโลกธรรม ๘ ไม่มีเศษเหลือของอัตตา

โดยเฉพาะไม่มีทั้งมานะ ไม่มีทั้งอุทธัจจะ แม้กระทั่งเป็นวิชชา รู้อยู่เห็นอยู่ ก็ไม่หลงในวิชชานั้น ย่อมรู้ในวิชชานั้น เป็นของจริง เป็นของประเสริฐ แต่เราก็ไม่ถือตัวถือตน ว่าเป็นผู้ที่มีวิชชานั้น จนเอาไปข่มคนอื่น ย่อมเป็นผู้รู้แจ้ง ผู้เห็นจริงอยู่อย่างนั้น ผู้นั้นหมดมานะจริงๆ หมดอุทธัจจะจริงๆ เป็นผู้มีวิชชาพร้อมหมดอวิชชาที่แท้จริง รู้ในส่วนเหลือ เศษเล็กเศษน้อยของตน หมดอโสกะ หมดวิรัชชะ เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เป็นเขมะ ผู้นั้น ต้องรู้จิตที่เป็นเขมะจิตตัง ของตนให้ได้ รู้ว่าจิตนี้เกษมอยู่ สบายอยู่ แม้ทำงานหนักอยู่ ก็รู้ว่ากายกรรมหนัก วจีกำลังพูดอยู่ ก็รู้ว่าวจีหนัก ใช้พลังงานปรุงอยู่ในจิต ก็รู้อยู่ว่า ใช้พลังงานปรุงอยู่ในจิต ว่ามันก็หนักเหมือนกัน มันก็เมื่อย หนักตัวนี้ไม่ใช่หนักถ่วง ไม่ใช่หนักอย่างอับเฉา แต่ก็เบิกบานแจ่มใสอยู่ ไม่ได้หม่นหมอง ไม่ได้อับเฉาใดเลย รู้ว่าการหนักเพราะการงาน รู้ว่าเป็นกัมมโยนิ เป็นสิ่งที่เราทำให้เกิด เพราะทำแล้ว มันจะเป็น กัมมพันธุ เป็นสิ่งที่จะเป็นเผ่าพันธุ์ของอริยสาวกของธรรมะ ที่เรียกว่า ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเรียกว่าพุทธธรรม เราสร้างพุทธธรรมนี้ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นพุทธพงษ์ เป็นพุทธพันธุ์ เป็นการกระทำ เรียกว่า กัมมพันธุ ให้เป็นที่พึ่งของโลก เป็นโลกนาถ เราทำนะ ไม่ใช่คนอื่นทำ เมื่อสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทำ ใครจะทำ เมื่อสิ่งใดที่เรารู้ดี สิ่งใดที่ประเสริฐ เราได้แล้ว เรามีอยู่ แล้วเราไม่กระทำออก ไม่สลัดคืน ให้แก่คนในโลกอีก ใครจะกระทำ ไม่มีแล้ว โลกจะห้าม โลกจะด้วน ศาสนาจะกุด ศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นสืบต่อ มีกัมมพันธุ มีกัมมปฏิสรโณ เป็นการงานที่จะสืบเผ่าสืบพันธุ์ เป็นพุทธเผ่า พุทธพันธุ์ อย่างนี้ ตามแรงของเรา มีได้เท่าไร เราก็ทำสุดที่ ส่วนมันจะไปได้อีกเท่าไรๆ ไม่ต้องไปห่วงมัน เราทำสุดที่ สุดกำลัง ของเราที่ทำ

 

พุทธบุตร
ผู้ใดมีความทนได้โดยไม่ยาก ทนได้โดยไม่ลำบาก มากเท่าใด ผู้นั้นก็มีคุณประโยชน์ ให้แก่ศาสนามากเท่านั้น เป็นพุทธบุตรที่น่าสรรเสริญ เป็นพุทธบุตรที่น่าบูชา เป็นพุทธบุตรที่ทำกตัญญูกตเวที ต่อพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สร้างขึ้นไว้ จนกระทั่ง เราได้มารับประโยชน์นี้ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดถือ และเราก็ได้ทำประโยชน์นี้ ให้ต่อทอดเอาไว้ ตามกำลังของเรามี ได้ทำจริงๆ อันนี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด สุดเป็นที่สุด แห่งการบรรยายในวันนี้แล้ว คงจะยากอยู่ ในการบรรยายวันนี้ ขอให้ทบทวน เอาฟังอีก ขอให้ทำความเข้าใจ ในภาษาบัญญัติ แล้วเอาไปไตร่ตรอง ไปกระทำให้เกิดจริงเป็นจริง ในตัวบุคคลนั้น นั้นๆ ตัวเราทุกคน กระทำให้จริง ให้เกิดผลประโยชน์นั้นๆ ผู้ได้ความสูงสุดอันนี้ เป็นอรหันต์ ผู้นั้นจะรู้อรหันต์ในตน อย่างแท้จริง ปฎิญาณตนได้ รู้ได้ว่าเป็นอรหันต์ ผู้เป็นอรหันต์แล้ว แม้ใครจะว่าเราไม่เป็นอรหันต์ ผู้นั้นจะไม่มีการเศร้าหมองเลย จะไม่มีการเสียใจ จะไม่มีการเสียดาย จะไม่มีการโกรธเคือง จะไม่มีการอะไรทั้งสิ้น ผู้เป็นอรหันต์ ใครมาว่า เราไม่ใช่อรหันต์ ก็ไม่ประหลาดอะไรเลย และไม่จำเป็นจะต้องอวดอรหันต์ด้วย ผู้เป็นอรหันต์ ก็ไม่อยากอวดอรหันต์ แต่จะแสดงธรรมเป็นขั้นตอน แก่บริษัทที่ควรแสดงเสมอ แสดงตั้งแต่ โสดา สกิทา อนาคา ถึงเวลาจะแสดงอรหันต์ ก็แสดงไปตามฐานะตามควร ถึงเวลาเปิดเผยอรหันต์ ก็จะเปิดเผย ถ้าเวลาใด ที่ยังไม่สมควรที่จะเปิดเผย อรหันต์ก็จะไม่เปิดเผยให้เขารู้ เป็นการอวดอุตริ ที่มันเป็นอนุสัมบัน อยู่กับอนุสัมบันก็จะไม่อวด ผู้รู้ จะรู้อรหันต์ในอรหันต์ หรือผู้ที่มีภูมิจริง ก็จะรู้อรหันต์ได้เอง โดยไม่ต้องเปล่งปากพูด และเราก็ไม่ต้องอวด พอถึงวาระควรอวดแล้ว จึงจะพูด ในเวลาอันควร กาละที่ควรจะพูด

ในสมัยพระพุทธเจ้า เมื่อสุสิมะได้ถามพระอรหันต์เจ้าว่า ท่านอวดอรหัตผลว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว ภาระกิจสิ้นอยู่ นั้นจริงหรือ สุสิมะไปถามพระอรหันต์เจ้า ในสำนักพระพุทธเจ้า อรหันต์เหล่านั้น ก็ยืนยันว่า เป็นเช่นนั้นสุสิมะ คือ ท่านอวดนั่นเอง ท่านบอกนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคราวที่จะพูดตรงๆ อย่างนี้ บอกว่า เราเป็นอรหันต์นะ ภาษาตรงๆ ก็คืออย่างนั้นแหละ มาถามว่า พรหมจรรย์จบอยู่ ใช่ไหม ก็ใช่ เป็นอรหันต์อยู่ใช่ไหม ก็ใช่ ถึงเวลานั้นผู้นั้นจะบอก ผู้นั้นควรจะบอกก็จะบอกจริงๆ กาละนั้นจะมี และพวกเรานี่ อย่าเพิ่งไปอวดอะไร ตอนนี้ ยังไม่ถึงวาระที่จะควรอวดอย่างนี้ แม้ผู้ใดจะมี ผู้นั้นจะรู้ อรหันต์จะรู้จริงๆ และถึงวาระนั้น จะอวดจึงอวด แต่ในขณะนี้ แม้แต่โสดาบัน ผู้ควรอวด เมื่อถึงกาละควรอวด ก็ควรอวด ยังไม่ถึงกาละ ก็ยังไม่ต้องอวด แต่แสดงธรรม แสดงมรรค ที่เป็นทางแห่งการจะไปสู่โสดาบัน ทางจะไปสู่อนาคา ถ้าเรามีภูมินั้น จงแสดงอยู่ อันใดที่ปัญญาเรายังไม่ถึง รู้เป็นมรรควิธี แต่ผลยังไม่มี เราก็บอกไปเป็นเชิงว่า อันนี้ก็เป็นทาง เรายังไม่มี ก็อย่าไปอวด ให้เขาเข้าใจว่าเรามี ให้เขาหลงผิด เจตนา แต่บอกไว้เป็นทาง ถ้าแม้ว่าเขาจะซักถาม ว่านี่ท่านได้แล้วหรือ เรายังไม่ได้ แต่เรารู้มาเป็นปริยัติ เราก็บอกไปโดยตรง ไม่เสื่อมเสียอะไร ไม่ประหลาดอะไร

ถ้าเราเอง แสดงธรรมด้วยขั้นต้น ขั้นกลาง บั้นปลาย ถูกอยู่อย่างนี้ ศาสนาไม่เสื่อม ศาสนาจะไปรอด ศาสนาจะไปไกล ก็พยายามกระทำเอาจริงๆ

ก็ขอสรุปจบ ในการแสดงธรรม ในวันมาฆปุณณมีในวันนี้ ขอให้พวกเรา ระลึกให้มากที่สุด ถึงผลที่เราได้ สิ่งที่เรามี มีจริงอยู่หรือ ถ้ามันไม่มี ก็มาซักซ้อมกันใหม่ มาถาม มาทวนกันดูว่า เราไม่มี ผู้ที่จะเข้ามาใหม่ ก็ขอให้แน่ใจ ขอให้ปฏิบัติ จนรู้ความจริงว่า เป็นขั้นตอนที่เราควรได้ควรมี และแน่ใจว่า เราจะมาสู่ทางนี้ ที่เป็นทางอันประเสริฐ แสนประเสริฐสุดนี้ เอาให้จริง อย่าหลงใหลหลงเลอะ ถ้ามันดีแล้ว ก็จงมาเถิด ไม่มีทางใดสูงกว่านี้อีก จริงแล้ว ก็จงทำเถิด ให้แน่ใจให้จริง อย่าหลง อย่าพร่า พยายาม สุดประเสริฐของมนุษย์ มีเท่านี้

ก็ขอจบเท่านี้.

 


มาฆบูชามหาฤกษ์ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘
พิมพ์โดย นัยนา ๒๕ กันยายน ๒๕๓๒
ตรวจทานโดย ปราณี ๒๖ กันยายน ๒๕๓๒