นั่งสมาธิหลับตากันทำไม ?

น้อยคนนักที่จะรู้จริงว่า การนั่งสมาธิภาวนานั้น เขานั่งกันทำไม ?

แม้ผู้ที่ได้ทำการนั่งสมาธิมา ๓๐ ปี ๔๐ ปี แล้วก็ตาม แต่ไม่เกิดปัญญา ไม่บรรลุแจ้งแทงทะลุได้ ก็เพราะเหตุไม่เข้าใจตรงทาง ไม่รู้จุดหมายแท้ แห่งศาสนาพุทธ นั่นเอง

โดยได้หลงเข้าใจผิดตามทางอื่น ไปหลงเข้าใจไกลจุดแท้ของศาสนาพุทธ อยู่นั่นทีเดียว จึงไม่บรรลุ ไม่เห็นแจ้ง และไม่สำเร็จ ในวิชา "พุทธศาสนา" ได้สักที

 

"พุทธ"พาคนให้"พ้นทุกข์"

"ศาสนาพุทธ" สอนให้คน "พ้นทุกข์" จำไว้ให้ดี และนำไปคิด ให้เห็นแจ้งก่อนอื่นทีเดียว

"ศาสนาพุทธ" ไม่ได้สอนให้คนเป็น "คนเก่งในอภิญญา" ใดๆ เป็น "จุดเอก"

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้บรรลุพุทธศาสนา จะไม่มี "อภิญญา" มีได้เป็นได้ แต่ไม่ใช่จุดเอก ไม่ใช่จุดแท้

จุดเอกจุดแท้ อันเป็นเงื่อนต้น หรือเป็นเบื้องต้น เป็นจุดสำคัญจุดแรก ที่พุทธศาสนิกชน จะต้องตั้งทิศให้ตรง มุ่งหมายให้ได้ก่อน "วิชชา" อื่นๆ หรือก่อน "อภิญญา" ใดๆ ก็คือ "อาสวักขยญาณ" ที่จะทำให้เรา "พ้นทุกข์อริยสัจ" นั่นเอง

 

สุดยอดวิชาของพุทธ

"อาสวักขยญาณ" คือ ญาณอย่างไร ?
"อาสวักขยญาณ" ก็คือ ปัญญาอันแหลมคมละเอียดอ่อน ที่สามารถจะรู้ ความกระเพื่อมไหวของ "จิต" ตัวเองได้

แม้จะกระเพื่อมไหวอย่างอ่อน อย่างเบาอย่างบาง อยู่สุดซึ้งก้นบึ้งของ "จิต" ของเรา ก็สามารถจับได้ไล่ทัน อ่านออกทุกขณะ และทุกดวงแห่ง "จิต" ที่มัน "เกิด"

(อันคนธรรมดา จะไม่รู้ได้เป็นอันขาด เป็น "ความไว" ของประสาทสัมผัส ชั้นยอดเยี่ยม ที่เหนือยิ่งกว่า "มิเตอร์" ทางวัตถุใดๆ จะเป็นได้)

นอกจากจับ "จิต" ที่ "เกิด" ได้ทุกดวงแล้ว ยังสามารถลึกทะลวงทะลุลงไป ล่วงรู้แจ้ง "เหตุ-ปัจจัย" ที่มาปรุงแต่งให้ "จิต-ขั้นลึก หรือ จิตอันบางเบา" (อาสวจิต) นั้นๆ "เกิด" ได้ด้วย

และสามารถที่จะ"ดับ" ความ"เกิด" นั้น ได้ด้วยตน ในทุกขณะที่ต้องการอีกด้วย

จึงไม่ใช่เรื่องอื่น ไม่ใช่ "งาน" อื่น ไม่ใช่ภาระอื่น และไม่ใช่ "ความเก่ง" อย่างอื่น เป็นอันขาด

แม้จะเป็น"ตาทิพย์" เป็น"หูทิพย์" เป็นผู้รู้"ระลึกชาติได้" หรือ เป็น"การรู้ชาติกำเนิด ของผู้อื่น รู้วาระจิตของผู้อื่น" ก็ตาม ก็ไม่ใช่"วิชชา" หรือ ไม่ใช่"ความเก่ง" ที่เป็น "เงื่อนต้น" หรือ "จุดสำคัญจุดแรก" เป็นอันขาด

"ความเก่ง" หรือ "วิชชา" ที่จะต้องมุ่งเพียรให้บรรลุสำเร็จแจ้งให้ได้ ก็คือ ให้รู้ว่า"ทุกข์" คืออะไร?

และ จะทำการ"หยุดทุกข์" นั้น ได้อย่างไร? แล้วก็ทำให้ได้ เท่านั้นเอง

จึงควรจะ "พิจารณา" คำว่า "ทุกข์" ให้ออก

แล้วเราจะเข้าใจ จะรู้แจ้งว่า ที่คนไปนั่งหลับตา ทำสมาธิกันนั้น เขานั่งกันทำไม?

และนั่งเพื่อให้อะไรมัน"เกิด"? ใครทำถูกอยู่? ใครทำผิดอยู่? เราก็จะรู้ได้ ด้วยผลจากการฝึกฝน จนลุถึง "อรูปพรหม"

ลัทธิการนั่งหลับตาทำสมาธินั้น มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนสมัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเสียอีก

แล้ว "ผลได้" จากการนั่งหลับตาบำเพ็ญตบะนั้น ก็มี ก็เกิดออกมา ตามอายุกาลของ ความจริงที่ได้กระทำ

คือ เมื่อฝึกหัดนั่งไปนาน สภาวะที่จะออกมาเป็น"ผล" ในแง่ใดแง่หนึ่ง ที่มันเป็นได้เกิดได้ ก็ย่อมจะ"เกิด"

เมื่อทำ"เหตุ" บำเพ็ญ"ปัจจัย" ได้ครบได้เต็ม ห้ามไม่ให้มัน"เกิด" ก็ไม่ได้เอาด้วย

เช่นว่า คนผู้บำเพ็ญเพ่งเล็ง "น้อมจิต" ใฝ่เพียรทำ"จิต" เพื่อให้นิ่ง ให้มี"พลัง" ในทาง "ระงับความรู้สึก" ที่จะเกิดมากระทบสัมผัส "ร่างกาย" ของตน

ถ้าเขาผู้นั้น ได้สร้างแบบฝึกหัด หรือก่อเหตุก่อปัจจัยไป จนถ้วนพอ หรือครบจำนวน

"ผล" คือ เป็นผู้พร้อมทนหนาว ทนเจ็บปวด ทนการกระทบสัมผัสต่างๆ อันหนักหนา ที่มนุษย์ธรรมดาทนไม่ได้ อย่างนั้น

นั่นก็เป็น"ผล" ของลัทธิอื่น ที่เขาทำกัน เขาเพ่งเล็ง และเขาก็เรียก"ผล" เช่นนั้นของเขาว่า "นิพพาน" ก็มี

พวกที่ทำอย่างนี้ มุ่งอย่างนี้ เป็น"จุดเอก" ก็คือ พวกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเรียกว่า "อุปาทาน" และ "อรูปพรหม"

จนลุถึง "อสัญญีพรหม"

หรือคน ผู้บำเพ็ญเพ่งเล็ง "น้อมจิต" ใฝ่เพียรทำ"จิต" เพื่อให้นิ่งให้ดับ ให้ขาดจากร่างกาย อย่างแท้จริง เหมือนอยู่กันคนละส่วน คนละอัน "จิต"ก็แยกจากร่างกายไป "ร่างกาย"ก็แข็งทื่อ นิ่งอยู่ต่างหาก ไม่มี"จิต" ครอง

ถ้าเขาผู้นี้ได้สร้างแบบฝึกหัด หรือก่อเหตุก่อปัจจัย ไปจนครบถ้วนพอ หรือครบจำนวน

"ผล" คือ เป็นผู้ทนได้ทุกอย่าง ทนแม้กระทั่งดินฟ้าอากาศ จะแปรเปลี่ยนอย่างไร ก็ยังสามารถทนได้

เช่น ไฟเผาก็ไม่ไหม้ ทิ้งน้ำก็ไม่จม มีดฟันก็ไม่เข้า เป็นต้น อย่างนี้ก็มี

นั่นเป็น"ผล" ของลัทธิอื่นเขาทำกัน เขาเพ่งเล็งกัน และเขาก็เรียก"ผล" เช่นนั้น ของเขาว่า "นิพพาน" ก็มี

พวกที่ทำอย่างนี้ มุ่งอย่างนี้เป็น"จุดเอก" ก็คือ พวกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเรียกว่า "อสัญญีพรหม" เก่งจริงๆ ราวกับเล่นกล "เดรัจฉานวิชชา"

หรือ ยิ่งคนผู้บำเพ็ญเพ่งเล็ง "น้อมจิต" ใฝ่เพียรทำ"จิต" เพื่อให้จิต"มีพลัง"

แล้วนำ "พลังจิต" นั้น ไปสร้างฤทธิ์ สร้างอภินิหาร ปาฏิหาริย์ ต่างๆได้ แล้วก็เที่ยวนำออกแสดง "ผล" อย่างนี้ ก็มี และเป็นจริงได้

ซึ่งก็เป็นของลัทธิอื่น เขาทำกัน เขาเพ่งเล็งกัน

แต่ "ผล" อย่างนี้ แม้ศาสดาของลัทธิเช่นนี้ เขาก็ยังไม่กล้าเรียก "ผล" อย่างนี้ ของเขาว่า "นิพพาน"

แต่เขาเรียกของเขาว่า "วิชชา" หรือเป็น "อภิญญา" ของเขา

พวกที่ทำอย่างนี้เป็น"จุดเอก" ก็คือ พวกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเรียกว่า พวกสำเร็จ "เดรัจฉานวิชชา"

เพราะเป็น "วิชชา" ที่ยังไม่ช่วยตนให้พ้นความเป็น"สัตวโลก" ยังเป็น"วิชชา" ที่ยังมีความหลง ความพึงพอใจ ความถือว่าตนเก่ง ความอวดรู้อวดผล เพื่อตำแหน่ง อันนำมาซึ่ง ลาภ-ยศ-สรรเสริญอยู่

(เดรัจฉาน หมายถึง สัตวโลก เดรัจฉานวิชา หมายถึง วิชชาที่ยังไม่พ้น ความเป็นสัตวโลก อย่าไปแปลว่า วิชชาของสัตว์ขั้นต่ำ มันเป็นการดูถูก"วิชชา" หรือ"ความรู้" ไป เพราะ "ความรู้" นั้นเป็นของดีทั้งสิ้น ถ้าผู้ใดมีประดับตน แต่พระพุทธเจ้า สอนให้"คนรู้" ยิ่งกว่า คือ แม้แต่ลำดับ แห่งการหา"ความรู้" ใส่ตน ก็จะต้อง"รู้"จัก ทางหนีทีไล่ให้แก่ตน อย่างชาญฉลาดที่สุด)

ดังนั้น "วิชชา" ตามที่ยกตัวอย่างมา ทั้งหลายนั้น จึงยังไม่ใช่ "จุดเอก" ไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ของพุทธศาสนา

 

จุดเอก จุดเด่น สุดสำคัญ ของพุทธวิชชา

"จุดเอก" หรือเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ของพุทธศาสนา จึงคืออะไรกันแน่ ?

"จุดเอก" ของพุทธ ก็คือ ต้องแทงทะลุ"ทุกขอริยสัจ" ด้วย"ปัญญาญาณ" ให้ได้นั่นเอง ยังไม่ต้องไปคำนึงถึง "ผลอื่น"

ยังไม่ต้องถึงกับทนร้อนทนหนาว ทนเจ็บปวดได้ หรือยังไม่ต้องถึงกับ สามารถแยก"จิต" แยก"กาย" ให้ขาดจากกัน จนเป็น "นิโรธสมาบัติ" ขั้นไฟเผาก็ไม่ไหม้ มีดฟันก็ไม่เข้า หรือ ยังไม่ต้องสามารถแสดง "อภินิหาร" อะไรได้

"ผล" เหล่านั้น เป็น "ผลส่วนเกิน" เป็นความสามารถของจิต ที่จะพึงเกิดเองเป็นเอง มีมาเอง เมื่อ "เหตุ" และ "ปัจจัย" ครบถ้วน ตามฐานะของแต่ละบุคคล ผู้มี "เพียร"

"เงื่อนต้น" หรือ "จุดเอก จุดแรก" ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ถึงให้พุทธศาสนิกชน มุ่งเพียรบำเพ็ญ และทำให้ได้ก่อนอื่น

จึงคือ "ผล"อันนี้ "ผล"อย่างนี้ จึงจะเรียกว่า "ถูกทาง"

ดังนั้น คำว่า "สีลัพพตปรามาส" จึงมีความหมายเพียง "ถูกทาง" ตรงทางเท่านั้น

บุคคลใด แม้จะได้บำเพ็ญจิต (โยคะหรือตบะ) มาอย่างเก่งอย่างสูงเท่าใด ถ้ายังไม่เข้าใจ "จุดเอก" ยังไปมัวเมาใน"วิชชา" อย่างอื่นอยู่ จึงเรียกว่า ยังมี"วิปัสสนูปกิเลส" อยู่ทั้งสิ้น

จึงคือผู้ยังไม่ได้เข้าอันดับเป็น "สมณะ" ของ"พุทธวิชชา"

จนกว่าจะจับจุดเอกได้ และเริ่มเดินทางถูก จึงจะได้ชื่อว่านักศึกษา ขั้นผ่านการสอบ คัดเลือกเข้ามาได้ คือเรียกว่า เริ่มเป็น"พระโสดาบัน"

 

การบำเพ็ญจิตให้ลุถึง "พระนิพพาน"

เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญ"จิต" เพื่อให้บรรลุ"นิพพาน" สำเร็จเป็น"พระอรหันต์" ของศาสนาพุทธ หรือตามลัทธิของพระสมณโคดม จึงไม่ต้องมีฤทธิ์เดช ดังตัวอย่างที่ยกมาแล้ว แต่สามารถมี"จิต" มี"กาย" มี"วาจา" บรรลุธรรมถึงขั้น"สงบ" ได้อย่างจริงแท้ ก็เป็นอันเพียงพอ สำหรับตำแหน่งที่จะเรียกว่า "อรหันต์"

แม้ยังไม่มีฤทธิ์ใดเดชใด อันเรียกว่า "อิทธิปาฏิหาริย์" ซึ่งคือ ปาฏิหาริย์ ทางแสดงให้ตนเห็นผล แปลง"รูป" หรือทำรูป ทำตัวตน ทำวัตถุ ให้เป็นของน่าทึ่งได้

เช่น เสกเป่าบันดาลของ ให้เป็นไปตามต้องการ หรือทำตนให้เหาะได้ หายตัวได้ เป็นต้น

และที่เรียกว่า "อาเทสนาปาฏิหาริย์" ซึ่งคือ ปาฏิหาริย์ทางแสดงออก ให้คนเห็นผลทาง "นาม" หรือสามารถทำให้คนทึ่งได้ โดยทายจิตทายใจ หรือสามารถใช้จิต กำหนดหยั่งดินฟ้าอากาศ หยั่งนรก-สวรรค์ได้ เป็นต้น

ผู้ที่ได้ตำแหน่ง "พระอรหันต์" ในพุทธศาสนา จึงไม่ใช่บุคคลในประเภท มี"ปาฏิหาริย์" ดังกล่าวนั้นเลย

แต่พระพุทธองค์ระบุว่า จะต้องมี "อนุสาสนีปาฏิหาริย์" ซึ่งคือ "ปาฏิหาริย์" ในการรู้แจ้ง "เหตุ" และ "ผล" ของความจริงแท้แน่ชัด รู้อย่างทำได้ และบอกได้ อธิบายถึงที่เป็นไปอย่างนั้น ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ด้วย

อย่างต่ำที่สุด ก็ต้องรู้ว่า "ทุกข์" คืออะไร?

"เหตุ" แห่งทุกข์ คืออะไร ?

อาการของ "ความดับ" แห่งทุกข์นั้น เป็นอาการอย่างไร ?

และทางที่จะทำให้ "เกิดความดับ" แห่งทุกข์นั้น ประกอบไปด้วยอะไร?

เท่านี้ เท่านั้นเอง เป็น"ความเก่ง" เป็น"ความรู้ยิ่ง" ของผู้ที่ได้ชื่อว่า "อรหันต์" หรือผู้สำเร็จ "วิชชาอรหันต์"

จะเรียกว่า เป็น "บัณฑิต" หรือ ผู้จบปริญญาตรี ก็ได้

 

ใบไม้นอกกำมือที่อาจมีได้

ส่วนจะมี "พลังจิต" เข้มแข็ง มีอำนาจจิตสูงขึ้นไปอีก จนสามารถทำ "อิทธิปาฏิหาริย์" ได้ และสามารถทำ "อาเทสนาปาฏิหาริย์" ได้ ก็ไม่ใช่ความผิด หรือความยุ่งยากอะไร สำหรับ "พระอรหันต์"

ท่านอาจมีได้ เป็นได้ และแม้มีแล้วในตน เป็นแล้วในตน

พระอรหันต์ ผู้รู้แจ้งความทุกข์ และการดับทุกข์แล้ว ท่านก็จะไม่หลงไม่งมงาย ที่จะ"ยึด" ไม่ติดใจที่จะมัวเมาในฤทธิ์ ในปาฏิหาริย์ เหล่านั้น

ท่านจึงจะไม่เป็น "รูปพรหม" ไม่เป็น "อรูปพรหม" ไม่เป็น "อสัญญีพรหม" และย่อมจะไม่ข้องอยู่ เป็นสัตวโลก ในวัฏสงสารอีก

ด้วยเหตุดังนี้ "พระอรหันต์" แต่ละองค์ จึงมี"อภิญญา" หรือ"ความเก่ง" สำหรับตน ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน

เช่น พระโมคคัลลานะ ก็เก่งทางแสดง อิทธิปาฏิหาริย์

พระอนุรุทธะ ก็เก่งทางแสดง อาเทสนาปาฏิหาริย์

ส่วนพระสารีบุตร ไม่เก่งในปาฏิหาริย์ทั้งสองนั้นเลย แต่เก่งทางอนุสาสนีปาฏิหาริย์ จึงได้รับยกย่องเป็นพิเศษ กว่าพระอรหันต์องค์อื่นๆ

และพระอรหันต์อื่นๆ บางองค์ (ซึ่งมีจำนวนมากเสียด้วย) ก็ไม่มีปาฏิหาริย์ใดๆเลย เป็นเพียงมี "ความรู้แจ้ง" พอตัว รู้จัก ทุกข์ - เหตุแห่งทุกข์ - อาการของความดับแห่งทุกข์ - และ ทางที่จะทำให้ตนพ้นทุกข์ เท่านั้นเอง ที่ทุกองค์ มีเท่าๆกัน

เช่น พระยศ พระภัททิยะ พระราหุล พระอุบาลี เป็นต้น

ท่านเหล่านี้ (เท่าที่เอ่ยพระนามมานั้น) ต่างก็ได้รับยกย่อง แตกต่างกัน จากพระพุทธองค์ทั้งสิ้น แต่เป็น "ความเก่ง" ในทางส่วนตน อันไม่เป็นปาฏิหาริย์ หรือ ความเก่งที่คนจะหลง จะทึ่ง ถึงสนเท่ห์แต่อย่างใด

 

อรหันต์ ย่อมรู้แจ้งในอริยสัจ ๔

ดังนั้น ความเป็น"บัณฑิต" ของ"พุทธศาสตร์ หรือการจบปริญญาตรี ทางพุทธศาสตร์ จึงคือ การรู้แจ้งแทงตลอด "อริยสัจ ๔" นั้นเท่านั้น ที่ทุกองค์ ต้องมีประดับตนให้ได้

อันมีรู้ทุกข์แท้ๆ รู้อาการของความดับแห่งทุกข์แท้ๆ และรู้จักทาง ที่จะนำพาตน ไปสู่ความดับทุกข์แท้ๆ ให้ได้ นี่แหละคือ "อรหันต์" ขั้นต้น อรหันต์แท้ๆของ "พุทธศาสนา"

เมื่อพระอรหันต์ท่านเหล่านั้น จบปริญญาตรีแล้ว ท่านจะบำเพ็ญจิตของท่าน ให้บรรลุ "อภิญญา" อื่นๆ

สำเร็จ "วิชชาอิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ที่กว้างขวางยิ่งๆ ขึ้นไป" อีกนั้น ก็เป็นเรื่องของท่าน เป็นการสั่งสมบารมีของแต่ละองค์ อันจะเป็นปริญญาโท ปริญญาเอก ดังเช่น พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเรา ผู้มีครบได้ทุกปาฏิหาริย์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ และจะเป็นไป ดังนั้นด้วย

ความเป็น "บัณฑิต" ของ "พระอรหันต์" ดังกล่าว ก็มิได้สูญสิ้นไป แต่จะเป็น "บัณฑิต" ที่มี "วิชชา" เพิ่มเติมมา สูงขึ้นๆไป ตามความเป็นจริง

ผู้ที่ยังเข้าใจว่า "อรหันต์" คือ "การจบ" การสิ้นสุดแล้ว ไม่มีการได้อะไรอีก ไม่มีการเรียนอะไรอีก หรือไม่ก่ออะไรต่อ จึงต้องพยายามทำความเข้าใจให้ได้ จงอ่านให้ออก เข้าใจให้ถูก

 

อรหันต์ย่อมไม่หยุดในกุศลทั้งปวง

พระอรหันต์ท่านต่างๆ ไม่มีองค์ไหน "หยุด" จริงๆ

ทุกองค์ยังบำเพ็ญต่อ ทุกองค์ยังศึกษาต่ออยู่ทั้งสิ้น มีการถกปัญหาธรรม มีการบำเพ็ญธุดงคธรรม มีการได้อภิญญาธรรม มาเพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งสิ้น

แม้พระพุทธองค์เอง ก็ไม่เคยปล่อยปละละเลยการบำเพ็ญ จงทำความเข้าใจให้ถ่องแท้

แต่มันก็ยากเหมือนกัน ที่จะเข้าใจดังนี้ได้ เพราะ "ปฏิเวธธรรม" มันคือ "ปัจจัตตัง" และ "สันทิฏฐิโก" มันคือ อาการส่วนตน เฉพาะตน เท่านั้น

ผู้ยืนอยู่บันไดขั้นที่ ๑ ย่อมเห็นขั้นที่ ๒ พอได้ จะมองไปดูขั้น ๓ ก็ยาก ยิ่งมองดูขั้น ๔ ขั้น ๕ อันยิ่งสูงขึ้นไป ก็ยิ่งจะเห็นชัดเห็นแจ้ง ได้ยากยิ่งขึ้น

ต้องผู้ไปยืนขั้นนั้นๆจริงๆ จึงจะเห็นขั้นที่ตนยืน และขั้นที่สูงขึ้นไปกว่า ได้อย่างถูกกว่า ไปตามลำดับได้จริงๆ และไม่ผิดเพี้ยน หรือเดาสุ่ม

ด้วย "จุดเอก"ของพุทธ เป็นดังนี้ การนั่งหลับตา สมาธิภาวนา จึงไม่จำเป็นนัก สำหรับ "เงื่อนต้น"

พระพุทธองค์ จึงมีวิธีให้แก่พุทธบริษัท เรียกว่า "สติปัฏฐาน ๔" คือ ให้หัดมี "สติ" หรือ หัดอย่าลืมตัว

อย่าทำอะไร ก็ทำไปโดยไม่รู้ ว่าเรากำลังทำอะไร?

ต้องทำอย่างมี "ความรู้ตัว" ทุกขณะ แม้จะ"คิด" จะ"พูด" จะ"ลงมือทำ" จริงๆ ก็ต้องให้รู้ใน "กรรม" หรือใน"การกระทำ" นั้นๆ ของตนให้ได้

แล้วก็ต้องใช้ "ปัญญา" พิจารณาใน "การกระทำ" ของเราให้ออกว่า สิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่นั้น เรา "ทำดี" หรือ "ทำชั่ว"

ถ้าแจ้งใจว่า "เรากำลังทำดี" ก็จงทำต่อไป

ถ้าแจ้งใจว่า "เรากำลังทำชั่ว" ก็จงระงับการกระทำนั้นให้ได้

 

โมหบุคคล

ถ้าผู้ใดไม่รู้เลยว่า ที่ตนกำลังทำอยู่นั้น ว่าเป็น "ดีหรือชั่ว"

(อันนี้สำคัญ คนทุกคนเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ทุกคนไม่รู้ตัวอย่างแท้จริง แต่สำคัญตนว่า ตนรู้ แต่แท้จริง "รู้" ตามอำนาจของกิเลสตัณหา มันครอบงำ ปิดบังอยู่ จึงนึกว่า ตนทำดีอยู่ทุกที แท้จริง ทำเพื่อเห็นแก่ตน ลองคิดดูให้ดี)

คือ ทำไปตามความเคยของใจ หรือทำไปตามอย่างคนส่วนมากในโลก ก็เรียกว่า ยังโง่ คือ ยังมี "โมหะ"

ถ้าผู้ใดรู้แจ้งได้ว่า "เป็นดีหรือชั่ว" เรียกว่า ผู้นั้นเป็น "ผู้พ้นโมหะ" (อย่างหยาบ)

และผู้ที่รู้นั้น ถ้ารู้ว่าสิ่งที่ตน กำลังกระทำอยู่นั้น เป็น "ชั่ว" แต่ก็ยังทำอยู่ หยุดไม่ได้ อดทำไม่ได้ ตัดไม่ขาด ทั้งๆที่รู้แสนรู้ ผู้นั้นก็คือ ผู้ที่ยังมี "โลภะและโทสะ" อยู่ และ ก็ยังดีที่ "พ้นโมหะ"

 

ผู้ชนะที่แท้จริง

ถ้ายิ่งผู้นี้รู้ได้ด้วยว่า "ตนกำลังทำชั่ว" แล้วก็ตัดใจ ระงับการกระทำนั้นลงให้ได้ อย่างเด็ดขาดด้วย คนผู้นั้นก็ "พ้นทั้งโลภะและโทสะ" (คือ บางทีสิ่งที่กำลังกระทำนั้น อาจจะเป็น "โลภะ" บางทีก็อาจจะเป็น "โทสะ")

ผู้นี้จึงคือ ผู้ที่ "ชนะ" เป็นผู้บรรลุ เป็นผู้สำเร็จในแบบฝึกหัด การปฏิบัติธรรมของ พระพุทธศาสนาไปได้ ๑ ข้อ เป็นผู้ถึงขั้น "ทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส" ได้แล้วข้อหนึ่ง หรือครั้งหนึ่ง

ดังนี้ เรียกว่า "ตทังคปหาน" คือ ได้ทำการ"ฆ่ากิเลส"ในตน จนมันตายไปจริงๆ ได้แล้วจริงๆ ครั้งหนึ่ง

จงหัดทำดังนี้ให้ได้มากๆข้อเถิด หัดทำแบบฝึกหัดเช่นนี้เข้า เมื่อจำนวนข้อ หรือจำนวนครั้ง ของแบบฝึกหัดมาก ครบจำนวน "การบรรลุอรหัตตผล" จะถึงเอง โดยไม่ต้องมีใครแต่งตั้ง ผู้นั้นจะแจ้งกับใจเองว่า "ทุกข์" ได้พ้นแล้ว ความเบาได้เกิดขึ้นแล้ว ภาระได้หมดไปแล้ว ความอยู่สุขได้ถึงแล้ว ความสงบ เป็นอย่างไร ก็จะแจ้งกับใจ และจะอยู่กับมันได้อย่างอิ่มเอม ไม่ทุรนทุราย ไม่มีอาการฟูเฟื่อง ไม่มีอาการดิ้นแส่

จะซาบซึ้งรสแห่งการอยู่คนเดียวเงียบๆ ด้วยจิตของตนเอง เป็นสภาวะนิ่ง สภาวะหยุด สภาวะรู้จักอิ่มรู้จักพอ อย่างตรงกันข้ามกับความเป็น "ปุถุชน" โดยแท้จริง

ดังนั้น "กรรม" ของผู้บรรลุนี้ จึงเป็น"อโหสิกรรม" คือเป็น "กรรมที่ไม่ส่งผลใดให้ตนเสพ" หรือผู้บรรลุนั้น "เสพความว่างเปล่า" ก็เช่นกัน มีความหมายเหมือนกัน

แต่ "กรรม" ที่ผู้บรรลุนั้นประกอบ จะเป็น"กุศลกรรม" คือ เป็นการกระทำที่ดีกว่า เหนือกว่า สูงกว่า ปุถุชนกระทำนั่นเอง

เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เห็นแก่ตน เป็นมหาเมตตา-กรุณา-มุทิตาแก่โลก และผู้อื่นแต่ส่วนเดียว เป็นจุดใหญ่ ตราบชีวิตจะดับขันธ์ จนกายแตก แยกจากกันไป ตามแรงสามารถของ "พระอรหันต์" นั้นๆ

จงมั่นเป้าในการฝึกสมาธิภาวนา

ดังนั้น การจะ "นั่งสมาธิหลับตา" ก็ตาม จึงต้องรู้ให้ได้อย่างแจ้งว่า จะต้องปฏิบัติ เพื่อตัดตรงให้เห็น-ให้รู้ "ทุกข์" แท้ๆให้ได้เช่นกัน เป็นเบื้องต้น เป็นจุดเอก

มิใช่จะ "นั่งหลับตา" เพื่อเพ่งความดิ่งให้ "จิต" สงบสนิท แล้วก็ฝึกหัด "น้อมจิต" ไปให้เห็นแสงเห็นสี เห็นนรกเห็นสวรรค์ หรือถอดจิตออกไปดูของหาย ถอดจิต ออกไปดูเลขล็อตเตอรี่

หรือ ไม่ก็ฝึก "น้อมจิต" ให้ตนเองสามารถเหาะได้ หายตัวได้ รักษาคนป่วยได้ นั่นไม่ใช่ทางตรง ไม่ใช่ทางเอก แห่งการ"พ้นทุกข์"

นั่นคือ การ"ต่อทุกข์"ให้ตน ไม่ใช่"จบทุกข์"ให้ตน เป็น"วิปัสสนูปกิเลส" เป็น"สีลัพพตปรามาส" จึงต้องทำความเข้าใจให้ละเอียด

และแม้ท่านผู้ใด บรรลุอรหัตตผลแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว จะทำสิ่งอันใด ให้แก่ผู้อื่น ที่เป็นเรื่อง การนอกเหนือกว่า "อาการพ้นทุกข์" ท่านก็ย่อมทำได้ และท่านก็ยังต้องทำ เป็นการทำอย่าง "รู้"

เช่น พระพุทธองค์ แสดงปาฏิหาริย์เอง ทั้งๆที่ห้ามสาวกแสดง อย่างนี้เป็นต้น

(เหตุที่ห้าม ก็เพราะ พระอรหันต์ต่างๆ ยังไม่บรรลุวิชชา ที่เป็นอภิญญาทั้ง ๘ ครบ อย่างแท้จริง ส่วนพระองค์ ที่ทรงแสดงเสียเอง ก็เพราะพระองค์บรรลุสิ้นแล้ว กระทำได้สำเร็จหมดจดทั้ง ๘ อภิญญา แล้วอย่างจริง เป็นอย่างแน่นอน ไม่ใช่อย่างหลงตน คือ สัมฤทธิ์ผลบ้าง ไม่สัมฤทธิ์ผลบ้าง)

หรือ พระอรหันต์บางองค์ อาจจะรักษาไข้ให้กับคนบ้าง ตามโอกาส หรืออาจจะสร้าง ก่อวัตถุบางอย่าง อันเป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ส่วน คือ เป็นทั้งประโยชน์โลก และประโยชน์ธรรม ท่านก็ทำได้ ตามเหตุตามกาล

ซึ่งปุถุชน ผู้ไม่รู้ต้องพยายาม อย่าเพิ่งไปเที่ยวได้จับ เอาพฤตินัยต่างๆ ที่ตนยังไม่ได้ ไปวัดความเป็น"อริยะ" ของท่านสมณะต่างๆ เป็นอันขาด

จึงแม้การนั่งหลับตาสมาธิ ก็ต้องนั่งให้รู้ตัว (กาย) ให้รู้ใจ (จิต) ของตนให้ได้ว่า เมื่อจิตเป็น "ฌาน" (คือ "จิตสงบ" ลงนั่นเอง) มันเป็นสภาวะอย่างไร อ่านให้ออก ค้นให้เห็น เข้าใจให้ได้ ให้รู้ความสงบแห่ง "จิต" นั้น

เมื่อรู้ได้ เข้าใจถึง "อาการสงบ" นั้นว่า เป็นอย่างนี้หนอ และมี"เหตุ" มี"ปัจจัย" อะไร ที่ทำให้"สงบ" อยู่อย่างนี้ ก็รู้แจ้งได้ จึงจะออกมาจากอาการ "นั่งหลับตา" นั้น

แล้วก็นำ"เหตุ" และ"ปัจจัย" ที่ทำให้"จิตสงบ" ได้นั้น มาหัดทำกับตน ในขณะ "ลืมตาโพลงๆ" นี้ให้ได้ (ไม่ใช่ทำความสงบได้ ก็แต่ขณะนั่งอยู่เท่านั้น ตลอดกาล พอออกมาจากสมาธิ ก็ทำความสงบอย่างนั้น ให้แก่จิตของตน ไม่ได้สักที)

ถ้าทำได้จริงๆ เมื่อใด ก็เรียกว่า "บรรลุ" เรียกว่า "สำเร็จ" เรียกว่า "นิพพาน" เรียกว่า "สงบ" ได้อย่างจริง ในแบบคนเป็นๆ ลืมตาโพลงๆ

ดังนี้แล เรียก "นิพพาน" อย่างนี้ว่า "ตทังคนิพพาน" คือ ได้ทำจิตของตนให้ว่างเปล่า พ้นกิเลส - ตัณหา - อุปาทาน ไปได้ ในขณะมีชีวิตเต็มๆ ธรรมดาๆ คือ ลืมตาโพลงๆอยู่ แต่ทำได้เพียง ชั่วขณะหนึ่ง

ถ้าแม้นผู้ใด ทำ "จิต" ให้เป็นดังนี้ได้เด็ดขาด ตามต้องการ ในขณะลืมตาโพลงๆ ได้ทุกเวลาที่ต้องการ ผู้นั้นก็ถึงซึ่ง "สมุจเฉทนิพพาน" เป็น "อรหันต์"

๒๒ มกราคม ๒๕๑๔

ประกายธรรม ๑๒

*****