โยนิโสมนสิการมีความสำคัญอย่างไร?
คำว่าโยนิโสมนสิการนี่แหละเป็นคำที่สำคัญมากที่สุดเลย สำคัญที่สุด อาตมาใช้ว่าเป็นคำสำคัญมากที่สุด เพราะว่าคำๆ นี้ชี้บ่ง “แดนเกิดแดนตาย” ที่แท้ที่สุด เป็น “สัมภวะ” ตรงที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันไว้ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๔ ข้อ ๕๘ “มูลสูตร” ที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องรู้แจ้งเห็นจริงมี “มนสิการ” จริง คือมี “การกระทำ” มี “พฤติของงาน” เกิดขึ้นที่จิตที่ใจ กันจริงๆ แต่คนไม่ค่อยเข้าใจ คนไม่ค่อยรู้รายละเอียด ไปแปลสั้นๆ ตื้นๆ แต่แค่ว่า โยนิโสมนสิการ เป็นแค่ “ทำใจในใจ โดยแยบคาย” และก็เป็นความหมายแต่แค่เป็นตรรกะ เป็นความหมายอยู่ในแค่ เป็นเหตุเป็นผลนึกคิด เท่านั้น

ซึ่งความจริงแล้วคำว่า โยนิโสมนสิการ นี่ มันเป็นตัวที่แจ้งบอกให้เห็นเลยว่า ผู้ที่ปฏิบัติธรรมต้องมีมรรคผล ถึงขั้น ปรมัตถ์ คือมีผล มีประโยชน์สูงสุดขั้นนามธรรมที่จิต เป็นเจตสิกเลื่อนฐานะเข้าไปสู่นิพพาน เดินทางเข้าหานิพพาน จนถึง นิพพานจริง นั่นคือหมายความว่า มีพฤติกรรมของมนสิการ หมายความว่า มีการงานขึ้นที่จิต มนสิ นี่คือ "ที่จิต หรือ ในจิตวิญญาณ ในจิตในใจ" การะก็คือมันได้เกิดการงาน มันได้เกิดการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงขึ้นในจิตแล้ว “มนสิการ” นี่ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๖๑ และ ๖๒ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อวิชชาสูตรและตัณหาสูตรว่า “อาหารของ การทำไว้ในใจ โดยแยบคาย คือ ศรัทธา อาหารของศรัทธาคือ การได้ฟังสัทธรรม และอาหารของ การฟังสัทธรรม คือ การคบสัตบุรุษ ดังนั้น การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยัง ศรัทธา ให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ย่อมยัง การทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์

เพราะฉะนั้น คนที่ “ทำใจในใจ” หรือ “การทำไว้ในใจ”โดยภาษา เพียงตรรกะ “ทำใจในใจ” โดยเข้าใจว่าวิธีการ ก็คือ ไปนั่งสะกดจิต ไปนั่งสมาธิแบบฤาษี เสร็จแล้วก็ไปคิด พอเข้าไปอยู่ในภวังค์ เป็นฌานแบบฤาษี เข้าไปอยู่ภวังค์ แล้วก็ พยายามที่จะมีสติ พยายามที่จะใช้ความนึกคิดอยู่ในภวังค์นั้น เมื่อขบคิดได้แล้ว ก็ถือว่า มีปัญญาอันแยบคาย ที่จริง นั่นเป็นเพียง ความนึกคิดในภวังค์นะ ขบคิดขบคิดอยู่ในภพ เหมือนกับเรานั่งขบคิด คอนเซนเทรต ใช้สมาธิ ที่นั่งเพ่ง การขบคิดเฉยๆ แค่นี้ มันไม่ใช ่มนสิการ มันเป็นการคิด มันเป็นเพียง การเกิดผล ของความนึกคิด เท่านั้น มันไม่ใช่ ลักษณะของ "มนสิการ" ที่แท้จริง

มนสิการนี่มันต้องมี “การ” การหรือการะนี่ หมายถึง งาน เป็นบทบาทของการงาน จิตมีการกระทำ มีการงาน จนมี การเปลี่ยนแปลงของจิต ไม่ใช่แค่งานสรุปผลทางความคิด หรือความรู้ขั้นสุดท้าย ของการขบคิด แต่เป็น การงานของจิต ที่เกิดการพัฒนา มันเกิดเพราะได้รับการปฏิบัติ จนกระทั่ง จิตเกิดผลเปลี่ยนแปลง เกิดการปฏิสังเคราะห์ ของจิต เนื้อหาของจิตเกิดใหม่ เป็นสภาพใหม่ขึ้นมาอย่างแท้จริง บทบาทของจิต มันเกิดการทำอะไรต่ออะไร ขึ้นมากันจริงๆเลย

ให้อธิบายตรงๆ ก็คือมีการเปลี่ยนแปลงของกิเลสในจิต จิตนั้นมันถูกทำงาน มีการต่อสู้ มีการลดละ ถึงขั้น มีการฆ่า กิเลสในจิต ให้สลายลงไปได้ หรือดับไปได้เลย นี่คือ มนสิการ - การทำใจในใจ หรือการทำกันริงๆที่ใจในใจ"

โยนิโส แปลว่า แยบคาย ความหมายก็ถูก เพราะมันต้องแยบคายกันอย่างลึกซึ้งจริงๆ แต่ว่าคำว่าแยบคายนี้ มันยังไม่ สื่อลึก และ ละเอียดถึงเนื้อแท้ของลักษณะจริงเท่าไร โยนิแปลว่าเกิด แปลว่าการเกิด โยนิโส มีคำแปล ในพจนานุกรม บาลี -ไทย -อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ท่านแปลได้ดีมากเลย แปล โยนิโส ว่า ลงไปถึงที่เกิด ซึ่งมันถูกต้องเลย คือมันต้อง หยั่งลึก ลงไปถึงที่เกิด ที่เกิดอยู่ในจิต จิตเป็นตัวจริง จิตเป็นตัวเกิดตัวตาย เพราะฉะนั้น อ้ายที่เกิดคือ กิเลสมันเกิด กิเลส มันเกิดในใจในจิต เมื่อปฏิบัติการ มนสิการ นี่คือปฏิบัติการทางจิต จิตปฏิบัติการได้ โดยมีญาณ มีความสามารถ ของผู้ปฏิบัติ สามารถปฏิบัติการ จนกระทั่งไปถึงที่เกิด จนกระทั่งจับตัวกิเลส มันเกิดได้แล้ว ก็จัดการดับตัวเกิดตัวนี้ ดับกิเลส ตัวนี้ได้ ดับได้จนกระทั่งลงไปถึงที่เกิดจริงๆเลย ถึงรากเหง้า ถึงต้นตอจริงๆ นี่คือความหมายถึงเนื้อแท้ ของคำว่า โยนิโสมนสิการ

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดยังเข้าใจและยังไม่มีญาณ ยังไม่มีวิชชา หรือมีวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณนี่ เป็นข้อหนึ่ง ของวิชชา ๘ ประการ วิชชา ๘ ประการมีวิปัสสนาญาณ มีมโนมยิทธิ มโนมยิทธิหมายความว่า มีความเก่ง อิทธิแปลว่า ความเก่ง ที่ทำความสำเร็จ มรรคผลในจิตแบบพุทธ แต่ผู้รู้ท่านก็ไปแปล ความสำเร็จของจิต เป็นแบบนอกรีต ไม่ใช่ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ แต่มักจะไปแปลเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ ไปแปลเป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ มันก็ผิดไปจาก “อนุสาสนี” ผิดไปจาก “คำสอน” ของพระพุทธเจ้า จึงไม่เป็น “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” มโนมยิทธิในอนุสาสนีปาฏิหาริย์ หมายความว่า มีความเก่ง มีความสามารถจริงจังเลย ความสามารถพิเศษ ที่สามารถทำให้เกิดความสำเร็จ มรรคผลทางจิต เกิดการ ปฏิบัติการเรียนรู้ อาริยสัจ เรียนรู้เหตุแห่งทุกข์ แล้วก็กำจัดประหาร มีปหานปธาน มีการทำลาย มีการกำจัดต้นตอ สมุทัย ตัวกิเลส ตัวตัณหานี่แท้จริง อันนี้เป็นเป้าหมายหลักเป็นเนื้อแท้ นัยสำคัญของศาสนาพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น ผู้ใดที่มีความสามารถถึงขั้น มีวิปัสสนาญาณ มีมโนมยิทธิ ก็หมายความว่า มีความเก่ง สามารถที่จะ ลดกิเลสได้ วิชชาข้อต่อไปก็คือ มีความเก่งเป็นปาฏิหาริย์ หลากหลายขึ้น ก็มีอิทธิวิธี มีฤทธิ์ มีความเก่ง นั้นหละ อิทธิ คือ ความเก่ง มโนมยะ บวก อิทธิ ตัวนี้ก็คือ ความเก่งหลากหลาย อิทธิวิธีหรืออิทธิวิธญาณ มีญาณหลากหลาย แปลว่ามากมาย หลากหลาย หลากหลายขบวนท่า ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ อิทธิวิธีท่านว่ากัน เป็นเรื่องของความเก่ง เกินมนุษย์สามัญ เป็นเรื่อง พิเศษ ท่านเปรียบเทียบเป็นบุคลาธิฐานว่า หนึ่งทำมาเป็นพันก็ได้ พันลดมาเป็นหนึ่งก็ได้ จากหนึ่ง มาเป็นพัน จากพัน มาเป็นหนึ่ง อะไรเป็นต้น หรือว่าจะเหาะเหิน เดินน้ำ จะเหาะได้เหมือนนกก็ได้ หรือดำลงไป ในดินแข็งๆ ก็ยังได้ หรือว่า เดินบนน้ำที่มันอ่อนๆ ก็ยังได้ อะไรอย่างนี้ ทะลุภูเขากำแพงก็ได้อะไรก็แล้วแต่ พวกนี้ เป็นคำพูดเชิง บุคลาธิษฐาน ที่แท้จริงแล้ว ก็คือ เป็นความสามารถ เป็นการปฏิบัติธรรม ที่มันน่าอัศจรรย์ โอ้โห่ น้ำ มันเดินได้อย่างไร บนน้ำ มันต้อง ตกน้ำลงไป หรือดิน มันดำไปได้อย่างไรง่ายๆ ภูเขากำแพง ไปเดินทะลุได้อย่างไร บนฟ้า เหาะเหินเหมือนนก ได้อย่างไร ความจริงแล้วนี่ มันเบาว่างง่าย เหมือนกับนกบินไปได้กว้างสุด ไม่มีที่กั้น หรือแม้แต่ทะลุภูเขากำแพง ก็หมายถึง กองกิเลส กองโลกียะ หนาแน่น แข็งแรง จัดจ้านอยู่ในโลกนี้ เต็มเหมือนกองภูเขาเลากา เหมือนกำแพงแข็ง แต่ผู้ที่ ปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้า ถ้าได้มรรคผลแล้ว ก็เหมือนไม่มีภูเขา เดินทะลุไปมาได้ เหมือนเดินอยู่ในที่ว่าง อยู่กับภูเขา อยู่กับ กองกำแพงแข็ง อยู่ในโลกีย์ เหมือนทะลุไปเฉยๆ เหมือนเดินอยู่ในที่ว่าง ไม่มีภูเขา ไม่มีกำแพง แต่มันก็มี สิ่งเหล่านั้น อยู่ในโลกจริง เป็นต้น ซึ่งเป็นความละเอียดลึกซึ้ง ซับซ้อน ที่จะต้องเข้าใจนามธรรม เข้าใจสภาวธรรม ที่ลึกซึ้ง ถ้าไปแปลแต่ว่า เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ พาซื่อ เหาะก็เหาะจริงๆ ลอยขึ้นไปบนฟ้า เดินบนน้ำ ก็เดิน เหมือนบนน้ำแข็งกันจริงๆ ดำดินก็ดำมุดหายไปเลย เดินผ่านทะลุภูเขากำแพงก็ เดินทะลุทะลวงเข้าไปภูเขา แยกภูเขา แตกไปเลย อะไรอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นความหมายซื่อๆ เป็นภาษาคน ที่มีความหมาย ตามภาษาทื่อๆตรงๆเท่านั้น ไม่ผิดแต่ไม่ใช่ภาษาธรรม ในภาาาธรรมนั้น อิทธิวิธีนี้ มันลึกซึ้งกว่านั้น มันต้องหมายถึง ความเป็นธรรมะ ที่มหัศจรรย์ ต่างหาก ที่ทำได้ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่หมายถึงแค่เก่งอย่างอิทธิปาฏิหาริย์ หรือ อาเทสนาปาฏิหาริย์

เพราะงั้น มีวิชชา ศาสนาพุทธต้องมีวิชชา ๘ ประการ วิชชาจรณะสัมปันโน ทีนี้คนสอนกันมา อธิบายกันมาผิดๆ เพี้ยนๆ ว่าวิชชา ๘ ประการนี้ เป็นวิชาพิเศษ เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ จะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ซึ่งมันเข้าใจผิด "วิชชา ๘" นี้มัน ไม่ใช่ "มีก็ได้ไม่มีก็"ด้" มันต้อง "มี" กันทีเดียว ในสามัญผลสูตรไปอ่านดูเถอะ ต้องมี พระพุทธเจ้ายืนยัน ชัดเจนเลย จะต้องมีวิชชา ๘ ประการ ต้องมี ต้องเป็นจริงๆ ต้องมีจริงๆ อาตมายืนยันได้เลยว่า ถ้าไม่มีวิชชา ๘ ประการนี้ ไม่สามารถ จะบรรลุธรรม ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นอรหันต์ได้ ต้องมีจึงจะบรรลุได้ อย่างนั้นด้วยซ้ำ จะบอกว่า ไม่มีก็ บรรลุได้นั้นผิด อันนั้นคำสอนของพวก อรรถกถาจารย์ เขียนกันไว้ก็เชื่อตามกันมา ผิดๆเพี้ยนๆ ถ้าหมายถึง อิทธิปาฏิหาริย์ และ อาเทสนาปาฏิหาริย์ นั้นต่างหาก ที่มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ไม่เกี่ยวกันกับ การบรรลุธรรมของพุทธ เพราะฉะนั้น เมื่อสอน กันมาผิดๆ "อธิปัญญาสิกขา" ที่เป็นการศึกษาหลักของพุทธก็ผิดไปแล้ว จึงไม่สามารถที่จะรู้แจ้ง มนสิการ ไม่สามารถ ที่จะมีความหยั่งรู้ โยนิโส หยั่งลงไปถึงที่เกิด กำจัดเหตุเกิด พัฒนาขึ้นเป็นอาริยภูมิ หรือว่า อย่างถ่องแท้ ในสมุทัย ที่แท้จริง อย่างชัดเจน แยบคาย จนกระทั่ง ละเอียดลออ จนกระทั่ง รู้ลึก รู้ซึ้งไปถึงสมุทัย หรือ ต้นเหตุ แห่งการเกิด อย่างแท้ และฆ่าเหตุได้ นี่คือความหมาย

ผู้จะ "โยนิโสมนสิการ" ได้จริง จะต้องมีญาณ เกิดวิชชา มีวิปัสสนาญาณ มีมโนมยิทธิ อิทธิวิธี วิชชาต่างๆ อะไรอย่างนี้ มันก็เป็นความเจริญของวิชชา ไม่ว่าจะเป็นทิพพโสต เป็นเจโตปริยญาณ อะไรต่อๆไปอีก ก็เป็นความเจริญ หรือว่า เตวิชโช บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณต่างๆ ที่เป็นวิชชาทั้ง ๘ เนี่ย ต้องใช้จริงๆ โดยเฉพาะเตวิชโช จะต้องเอามาตรวจสอบตัวเอง อย่างอ่านรู้ เป็นผู้ที่มีญาณหยั่งรู้ปรมัตถ์ หมายความว่า สามารถหยั่งรู้ลงไปในจิต เจตสิก รูป นิพพาน สามารถรู้ว่าจิต อาการของจิตเป็นอย่างไร รู้ด้วยญาณ วิปัสสนาญาณ รู้นามรู้รูป นามรูป รูปแปลว่าสิ่งที่ถูกรู้ มันเป็นจิตแล้วหละ รู้ในจิตนี่หละ รูปเป็น"สิ่งที่ถูกรู้" นามคือ ญาณปัญญาที่ สามารถหยั่งรู้สิ่งที่ถูกรู้นั้น" เรียกว่า มีนามรูป มีญาณปัญญาทางนามรูป นั่นคือรู้จักจิต เจตสิก รูป นิพพาน คำว่ารูป ก็เป็นรูปขั้นนามธรรม หรือนามรูป ไม่ใช่ รูปมหาภูตรูป แต่เป็นอุปาทายรูป เป็นรูปที่ลึกซ้อน ต่อเข้าไปถึงในจิตในใจ เป็นสภาพที่เป็นนามธรรม นามรูปคือ รูปที่เป็น นามธรรม อย่างนี้เป็นต้น งั้นผู้ที่มีญาณปัญญาหยั่งรู้ปรมัตถ์อย่างนี้จริงๆ จึงเป็นผู้ที่จะเข้าไป "มนสิการ" จนกระทั่ง ไปถึง โยนิโส ไปถึงที่เกิดได้ ความหมายของ โยนิโสมนสิการ จึงลึกซึ้ง ละเอียดลออ และมีความสำคัญ มีนัยสำคัญ อย่างยิ่ง อย่างที่กล่าว

พระพุทธเจ้า ท่านตรัสเอาไว้ใน พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๔๙๗ ท่านบอกว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฐิ มีอยู่ ๒ อย่างคือ ๑. ปรโตโฆสะ การฟัง การยอมรับฟัง การได้สดับฟังเสียงผู้อื่น ปรโต =คนอื่น โฆสะ= เสียง การสดับฟังเสียงผู้อื่น คือ การได้ยินได้ฟัง จากคนอื่นด้วย ต้องสามารถมีใจที่จะยอมรับฟัง อะไรต่ออะไรจากผู้อื่น จึงจะเกิดสัมมาทิฐิได้ กับอีกข้อ ๒ ก็คือ โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการนี่ อธิบายไปแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ "ปรโตโฆสะ" ไม่อมฟังคนอื่นอย่างจริงๆ ตนเอง เข้าใจอย่างไร ก็เข้าใจอย่างนั้น อย่างเรียนกันมา ชาวพุทธเรียนกันมามาก เรียนกันมา แล้วก็ยึดถืออยู่อย่างเก่า ยึดถือ อยู่อย่างนั้นแหละ พูดก็พูดเถอะนะ อย่าหาว่าว่าเลย ก็ขออภัยเถอะ ถ้าอาตมาจะพูดตรงๆว่า พุทธกระแสหลัก ก็เข้าใจ อยู่อย่างนั้น ยึดกันอยู่อย่างนั้น โยนิโสมนสิการ ก็ตื้นๆ อยู่แค่นั้น อาตมาพยายามอธิบายเรื่องของ ปรมัตถ์ พยายาม อธิบาย เรื่องของโลกุตระ อะไรต่างๆ นานา ก็หาว่านอกรีต หาว่าพูดเอาเอง หาว่าอะไรต่ออะไร เพราะไม่เหมือน ที่ที่เขา อธิบายมา และขัดแย้งอาจารย์ต่างๆ อรรถกถาจารย์ต่างๆ ที่เขายึดถือตามๆกันมา ยกตัวอย่างเมื่อกี้ อธิบายว่า วิชชามีก็ได้ ไม่มีก็ได้ อาตมาว่าผิด ไม่มีไม่ได้ด้วย ไม่มีไม่สามารถรู้แจ้บรรลุธรรม ไม่มีอธิปัญญาสิกขา พระพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้ คือ วิชชาจรณสัมปันโน และทุกคนก็ต้องเรียนตามอันนี้ ให้ได้ไปตามภูมิ ตามฐานะ โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ จะต้องมี วิชชาจรณสัมปันโน ตามฐานะแต่ละฐานะ และการปฏิบัติไม่ผิด ก็ต้องมีจรณะ หรือมี อปัณณกปฏิปทา ถ้าไม่มี อปัณณกปฏิปทา ไม่มีจรณะ ก็ออกนอกรีตหมดแหละ อะไรอย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเกิดสัมมาทิฐิได้ ก็จะต้องรับฟังเสียงผู้อื่น และเปิดใจรับ แล้วเอาไปพิจารณาให้จริงๆ พิจารณา ตามที่ได้ยิน ได้ฟัง และลองเชื่อถือตาม ทำตาม ปรโตโฆสะ รับฟังเสียงคนอื่นได้ แล้วก็ เอาไปพิสูจน์ปฏิบัติตาม ลองดูซิ จึงจะพิสูจน์ ไปถึงขั้น โยนิโสมนสิการ จึงจะสามารถไปปฏิบัติถึงขั้น มนสิการ ถึงขั้นทำการเกิดผล ที่ใจในใจ อย่างแยบคาย อย่างถ่องแท้ หรือ หยั่งลงไปถึงที่เกิดได้ มิฉะนั้น ถ้าไม่ถึงขั้นอันนี้จริง ถ้าไม่ถึงขั้นปรมัตถ์จริง ไม่มีภูมิต่างๆ อื่นๆ ที่จะสามารถรู้ วิชชาก็ไม่เกิดจริง แม้แต่ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญาก็จะไม่เกิดในผู้นั้น ปริญญา ๓ ก็จะไม่เกิด ในผู้นั้น ญาตปริญญาคือ รู้องค์รวมของจิต ก็จะไม่สามารถรู้องค์รวม ของจิตวิญญาณต่างๆ ไม่สามารถ ตีรณะ ไม่สามารถที่จะแยกแยะ วิเคราะห์วิจัยอะไรต่ออะไร จิตในจิต เวทนาในเวทนา ธรรมในธรรม จะไม่สามารถ แยกความจริง นั้นออกได้ ได้แต่นึกๆ เดาๆ เดาไปอย่างนั้นเอง มันจะไม่ชัดเจน มันจะไม่ถึงสภาวธรรมจริง จะไม่แม่น ในธรรมเลย เพราะมันไม่มี ตีรณปริญญา ไม่รู้สมุทัย จึงบไม่สามารถลดเหตุสมุทัยที่ถูกตัวตนของสภาวะ ก็ไม่สามารถ ปหาน ปหานปริญญา ก็ไม่เกิด เพราะมันปหานไม่ถูก จะฆ่าโจรไม่ถูกตัวโจร เพราะไม่รู้แจ้งเห็นจริงตัวโจร ไปฆ่าสุ่มสี่ สุ่มห้า เดาๆด้นๆ มันก็เลยไม่แม่น ไม่ชัด ไม่จริง ต้องรู้แจ้งเห็นจริง ธรรมะของพระพุทธเจ้าต้อง "รู้แจ้งเห็นจริง" เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ฟังเสียงคนอื่น ยึดถือความเห็นของตนเองเดิมๆ ไม่มีปรโตโฆสะ ไม่ยอมรับความเห็นของคนอื่น จึงไม่เกิด สัมมาทิฐิ เมื่อไม่เกิดสัมมาทิฐิ มรรคองค์ ๘ ไม่เดินทั้งหมดเลย เพราะสัมมาทิฐิ เป็นประธานของมรรคทั้ง ๘ เมื่อสัมมาทิฐิไม่มี หรือทิฐิไม่สัมมาแท้แล้ว เพราะฉะนั้น การปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ ก็สูญ ไม่มีผล เพราะประธานมันผิด ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น สัมมาทิฐิของพระพุทธเจ้า จะต้องมี ปรโตโฆสะ และก็มี โยนิโสมนสิการ ๒ ข้อนี้ จึงเป็นส่วนที่ สำคัญมาก