คาถาธรรม ๕

เพียรเพื่อธรรมะ

แต่ว่า เราก็มักจะกระทำกัน ยังไม่ได้ อยู่เสมอ ก็คือ หลักใหญ่ หลักสำคัญ ของการปฏิบัติ ในการก้าวย่าง ไปสู่หลักชัยนั่นเอง คือ โพชฌงค์ ๗ ที่เราจะต้อง สังวรระวัง ให้มีสติรู้ตัว มีธัมมวิจัย มีวิริยะ อย่างแท้จริง

การมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม และ มีธัมมวิจัย เป็นผู้ตื่นอยู่นั้น ไม่ใช่การมีสติรู้ ธรรมดาสามัญ การมีสติรู้ ธรรมดาสามัญ คือ รู้ว่า เรากำลังทำอะไร แล้วเราก็เป็นไป ตามอำเภอใจ ส่วนเรา จะวิริยะ พยายาม ใช้ความเพียร ความเพียรนี้ เป็นสิ่งที่เรา จะต้องเพียร เพื่อธรรมะ และ มีธัมมวิจัย ให้จริง จริง ๆ ตรวจตรา พยายามวิจัยกาย พยายามวิจัยจิต กายใน กายนอก สิ่งที่แวดล้อม สัมพันธ์อยู่ และ พฤติกรรมของเรา

แม้กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม นั่นเอง วิจัยให้เห็นกุศล อกุศล หรือ สุจริต ทุจริต แท้จริง ให้ได้ เท่าที่เรา จะมีความเพียร มีปัญญา โดยความจริงใจ แล้วพยายาม ปรับตนเอง จริง จริงๆ เสมอ ผู้ใดได้พากเพียร ดั่งนี้จริง และได้กระทำได้มาก ผู้นั้น ย่อมมีผลมาก เพราะการก้าว เช่นนี้นั้น เป็นหลักธรรมที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้น จะเป็นผู้ค้นพบ ถ้าพระพุทธเจ้า ไม่อุบัติ หลักโพชฌงค์ ๗ นี้ จะไม่เกิด ในมนุษยโลกเลย

๑๒ เมษายน ๒๕๒๗


 

ความพรั่งพร้อม

ผู้ที่นิยมความพรั่งพร้อม เห็นดีในความพรั่งพร้อม มีจิตใจ นิยมชมชอบ เห็นดีแล้ว ก็กระทำตน เป็นผู้ที่ประสาน ความพรั่งพร้อม สนับสนุน ความพรั่งพร้อม ผู้นั้น ย่อมเป็นผู้ที่ มีน้ำใจเป็นเลิศ และ เป็นคนที่สร้าง ความเจริญ ให้แก่มนุษยชาติ

ความพรั่งพร้อม เป็นของยาก สำหรับ คนที่มีกิเลส ความพรั่งพร้อม เป็นของที่หาได้ ไม่ง่ายเลย ในสังคม ของมนุษย์ ที่มีกิเลส เพราะฉะนั้น ในหมู่ชนใด ที่มีความพรั่งพร้อม ในหมู่ชนนั้น เป็นหมู่ชน อารยะ เป็นหมู่ชนเลิศ เป็นหมู่ชน ที่น่ารัก น่าเอ็นดู เป็นหมู่ชน ที่น่าชื่นชม

ขอให้พวกเรา ได้พยายาม เห็นความสำคัญ ในความพรั่งพร้อม เพราะ ความพรั่งพร้อม เท่านั้น ที่จะทำให้ กำลังของกงล้อ ธรรมจักร เคลื่อนไปได้ อย่างเจริญ งอกงาม

๑๖ เมษายน ๒๕๒๗


 

 

ผู้มีน้ำใจ

เราทุกคนที่มาปฏิบัติธรรมนั้น มาปฏิบัติธรรม เพื่อสร้างจิต สร้างใจ เพื่อที่จะเป็นคน มีน้ำใจ เพราะฉะนั้น เราพึงตระหนัก และพึงระลึก เสมอว่า การล้างกิเลส และ ล้างตัวตน ออกนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราจะมาเอา แต่ตัวตน เห็นแก่ตน เอาแต่ ความคิดของตน เอาแต่ ความเห็นของตน เสพย์อยู่แต่ตน

แต่ เราจะมาเป็น ผู้ละความเสพย์ของตน พยายามที่จะละ หรือปล่อย หรือประสาน ความเห็นของตน ออกไปกับผู้อื่น เราจะไม่เอา แต่ตัวแต่ตน เราจะเสียสละตนเอง นั้นต่างหาก เราจะเป็นคน มีน้ำใจ เราจะเป็นคน มีจิตใจ จิตวิญญาณ ที่กว้างขวาง แผ่รอบ มีความเมตตา เอื้ออารี และใจดีต่อกัน ทุกๆคน

การปฏิบัติธรรม เราจะต้อง ตระหนัก ในจุดนี้ ให้มาก เมื่อเรามีหมู่ มีมวล เรามี องค์ประกอบที่มาก เรายิ่งจะมี แบบฝึกหัดมาก สิ่งเหล่านั้น จะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่จะกระแทก กระทุ้ง ให้เรา กลับเข้ามา หาตัวตน หรือ กิเลสของตน มากขึ้น

เราจึงต้อง ระมัดระวัง และรู้เท่าทัน แล้วก็แก้ไข ปรับปรุง ละตัวละตน ปล่อยวาง และ เห็นแก่สิ่งที่ดี ที่ควรมากขึ้น คือ เราจะต้อง เป็นผู้มีน้ำใจ ให้มากขึ้นๆ นั่นเอง

แล้ว เราจึงเป็น ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ได้กำไร

๗ พฤษภาคม ๒๕๒๗


 

ศาสนา

ศาสนา คือ พลังรวมสังคม สภาวะใด สภาพใด ที่ไม่เป็นไปเพื่อ ความร่วม ความรวมกัน เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน เป็นเอกภาพ สภาวะเช่นนั้น สภาพดังนั้น จะไม่ใช่สภาพที่ สอดคล้อง ลงตัว หรือ เป็นไปเพื่อ ความเกิดศาสนา

แม้บุคคลใด จะมีความเห็น ไม่ลงร่อง ลงช่องกัน กับหมู่ ถึงแม้ว่า จะถูกต้อง เป็นความคิด ที่ดีเลิศ ปานใดก็ตาม แต่ถ้าเผื่อว่า ผู้นั้น ไม่เข้าใจคำว่า มิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี นั้นเป็นทั้งสิ้น ของศาสนา และ เราก็ไม่วางใจ หรือ วางใจไม่ได้ วางใจไม่เป็น รวมเข้า เป็นทั้งสิ้น ของศาสนาไม่ได้ ผู้นั้นจึงคือ ผู้ที่ยังไม่ใช่ศาสนา อยู่แต่ผู้เดียว เท่านั้น

๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗


 

นักปฏิบัติมิใช่นักคิด

การปฏิบัตินั้น ไม่ใช่เอาแต่คิด ที่จริงนั้น ต้องรู้ และก็อยู่กับ ความจริง

ขณะใด เรากำลังเดิน ต้องรู้เดิน เห็นความเดินของเรา เราเดินดีแล้วหรือ เราเดินผิด เดินถูก เราเดิน เรายืน เรานั่ง นั่งดีแล้วหรือ เรานอน นอนดีแล้วหรือ เรากำลังกระทำ อาการกิริยา ใดๆอยู่ ดีแล้วหรือ หรือยังไม่ดี เราจะต้องรู้ ต้องเห็น ไม่ใช่คิด

แม้พูด เรากำลังพูด รู้ตัวทั่วพร้อม ว่าเรากำลังพูด รู้คำพูด รู้เสียง สำเนียงพูด รู้องค์ประกอบ ส่วนที่ประกอบ รอบตัวเรา กำลังพูดกับใคร อย่างไร รู้ความจริง เห็นความจริง แล้วจึง จะมีความคิด ตามประกอบ กับที่เราเป็นอยู่ กายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรม ควบคุมอยู่ทั้งสิ้น เรารู้ และ เราก็ธัมมวิจัย ใช้ความคิด พิจารณา ไม่ใช่คิด คิด คิด ออกนอกกายกรรม ออกนอกวจีกรรม ออกนอกตัว นอกตน ถ้าคิดแต่ ออกนอกตัว นอกตน เราเรียกว่า ตรรกะ หรือ เหตุผลเท่านั้น เป็นเรื่องของ ความคิด คิดอะไรไปก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ ภาคปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ความจริง แต่เป็น ความฟุ้งซ่าน เป็นที่สุด

ขอให้พวกเรา พระโยคาวจร ทั้งหลาย ได้รู้ ได้เข้าใจชัดแจ้ง กระทำให้ถูกตรงว่า พระโยคาวจร หรือ นักปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่นักคิด แต่เป็นนักรู้ นักเข้าใจความจริง มีสติ สัมปชัญญะ มีธัมมวิจัยต่อ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ปรับให้เป็น สุจริตกรรม รู้ด้วยความรู้ว่า อาการกาม อาการพยาบาท อาการ เข้าสู่ถีนมิทธะ เข้าสู่อุทธัจจะ กุกกุจจะ เป็นเช่นนั้นๆ เห็นให้จริง ไม่สงสัย มีความแยบคาย มีความรู้รอบ อย่างชัดแจ้ง ต่อความจริง เหล่านั้นเสมอๆ ความรู้ของใคร ก็ของใคร จะพยายามปรับตน สมเหมาะ สมฐานะของตนๆ ยิ่งขึ้นๆ อย่าทำเลย ศีลที่เรา สมาทานเกินไป อย่าเคร่งเครียดเกินตัว ทำอย่างประมาณ ที่สมควรทำ ให้พอหมาะ พอดีก็ทำ

ถ้ามันเกินไป ก็รู้ตน ทำอย่างนี้ ได้เสมอๆ อินทรีย์พละ ของเรา จะสมตัว แล้วเรา จะปรับ ความจริง เป็นผู้ที่ มีความงาม และความถูกต้อง ได้ปรับปรุง กาย วาจา ใจ เข้าสู่สภาพ เจริญยิ่งๆอยู่ ได้อบรมจิต จริงๆด้วย ขัดเกลากิเลส อันที่จะทำ ตามใจชอบของเรา ไปได้ อย่างเก่งยิ่ง เสมอๆ

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๗


 

อริยมรรค

บุคคลผู้ประกอบ ตามอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ เรียกว่า "พรหมจารี" หรือ ผู้ปฏิบัติธรรม อยู่ในศาสนานี้ ผู้ปฏิบัติธรรม ที่มีทฤษฎี มีความประพฤติ ปฏิบัติ มีหลัก อันกระทำได้ กระทำตรงตาม ทฤษฎี และ เป็นผู้ที่รู้จัก ต่อการปฏิบัติ จนเกิดอริยคุณ อยู่เสมอๆ หรือ เดินอยู่ตามทาง แห่งการประพฤติ ที่เรียกว่า อริยมรรค คือ เดินตามทาง เรียกว่า มรรค แล้ว เกิดอริยคุณ ได้ประโยชน์ ได้ธรรมะ ที่เป็นกุศล สั่งสม ใส่ตนเอง อยู่เสมอๆ หรือ ตามเสขสูตร ที่ว่า

บุคคลผู้ประกอบตาม อริยมรรค อันประกอบด้วย มรรคองค์ ๘ นั้นคือ พระเสขะ ก็มีความหมาย เดียวกัน ผู้ละราคะ ละโทสะ ละโมหะ ได้สิ้น นั้นคือ ที่สุดของ พรหมจรรย์ หรือ ผู้อยู่จบ พรหมจรรย์แล้ว อริยมรรค อันประกอบด้วย องค์ ๘ จึงเป็นแก่น การปฏิบัติ จึงเป็นหลักเอก แห่งการปฏิบัติ อันผู้เป็นลูกศิษย์ พระตถาคต จะต้องเข้าใจ อย่างลึกซึ้ง ละเอียด ในความหมาย ในทางปฏิบัติ ที่ชัดแจ้ง แล้วปฏิบัติตาม อย่างมีอริยคุณ แท้จริง เราจึงจะเป็น ผู้ที่เดินทางอยู่ ในศาสนาพุทธ หรือ เป็นผู้จบ พรหมจรรย์นี้ได้

๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๗


 

ผู้ที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง

ผู้เกิดมา เพียงได้แต่ศึกษา แม้แต่ศึกษา ขั้นทำตามพ่อแม่ พี่น้อง วงศ์วาน เหล่าเครือ ที่ได้ พากันทำการงาน สร้างสรร หรือ เป็นอยู่ สามารถประคอง ชีวิตไปได้ สามารถ สร้างสรร ให้ตัวเองอยู่ได้ เท่านั้น ก็เป็นการศึกษา ที่จะทำให้ชีวิตรอด ไปได้แล้ว เป็นความดีขั้น พื้นฐาน ยิ่งมนุษย์ ได้มีการศึกษา ยิ่งกว่านั้น ได้เรียนรู้ ทั้งด้าน ความเป็นอยู่ พฤติกรรม ทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นเครื่องช่วยเหลือ เกื้อกูล สร้างสรร เป็นประโยชน์ต่อตน เป็นประโยชน์ ต่อท่าน มากขึ้น ก็ยิ่งเป็น การศึกษา ที่ทำให้มนุษย์ เป็นมนุษย์ หรือ ผู้มีจิตใจสูง เป็นผู้ที่มี ความประเสริฐ ความดีงาม มากขึ้น

ยิ่งมนุษย์ ได้รับการศึกษา ฝึกฝนตน ให้เป็นคน ได้ละกิเลส ได้เป็นผู้เสียสละ และ เป็นผู้สร้างสรร ทำประโยชน์ให้มาก ไม่เสพย์ไม่ติด เป็นผู้ที่มี คุณค่า อย่างแท้จริง ตลอดชีวิต สามารถละ ลดกิเลส ได้ยิ่งๆเท่าใด ก็ยิ่งจะมีคุณค่า ประโยชน์ยิ่งๆขึ้น เท่านั้นๆ ตราบจน สูงสุด ได้มีการศึกษา มีระบบ มีระเบียบ มีวิธีการ มีผู้นำพา ศึกษา อบรม ประพฤติ ให้ตนได้เป็น ผู้เจริญ งอกงาม ขึ้นอย่างจริงจัง ผู้นั้น ยิ่งถือว่า เป็นผู้ที่มีโชค มีประโยชน์ คุณค่าได้จริง

เมื่อเราได้พากเพียร อบรมตน ศึกษาตามระบบ ของปราชญ์ ของบรมศาสดา ของผู้ที่ ได้รู้ยิ่ง รู้ยอด มาก่อน ผู้นั้นถือว่า เป็นผู้ที่มี ประโยชน์คุณค่า โชคดีที่สุด และ สามารถ จะเป็นมนุษย์ ผู้ประเสริฐ สูงสุด เป็นผู้ที่มีคุณค่า ประโยชน์ มากที่สุดได้ ถือว่าเกิดมา ในโลกนี้ เป็นสิ่งสูงสุดที่สุด ไม่มีอะไร เทียบเท่า

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๗


 

พรหมจารี

คำว่า "อริยมรรค" อันประกอบด้วย องค์ ๘ นั้น เราจะต้อง รู้ตัว ทั่วพร้อม เข้าใจ ในความหมาย แล้วก็รู้ว่า เรากำลังอยู่ ในอิริยาบถ ใดๆ เราก็เป็น ผู้ที่มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ พยายาม พากเพียรรู้ พากเพียรวิจัย พากเพียรที่จะปรับ เข้าสู่กุศล เข้าสู่สุจริต เข้าสู่สิ่งที่ดี ยิ่งขึ้น อยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงคิด ไม่ว่าจะเป็นเชิง วาจากรรม หรือ กายกรรม กระทั่ง กระทำอยู่ ให้ต่อเนื่อง เป็นส่วนมาก เราจะมีความพยายาม กระทำอยู่ เช่นนั้นจริง ผู้ที่มีโพชฌงค์ ๗ ในขณะใด ขณะใด และ ได้กระทำตาม มรรค องค์ ๘ มีอริยคุณ อยู่จริง

ผู้นั้นๆ คือ พรหมจารี คือ ผู้ที่กำลัง เป็นผู้เดินทาง สู่สุคติ เป็นผู้ที่ เป็นลูกศิษย์ หรือ เป็นลูก พระพุทธเจ้า อยู่ในพรหมจรรย์นั้น

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๗


 

เบิกบานไว้ก่อน

ทุกขณะ เราจะต้องตั้งสติ พยายามวิริยะ อุตสาหะ โดยแท้จริง ให้มีสติ รู้ตัว และตั้งตน สู่ความเจริญ หรือสู่กุศล อย่างน้อยที่สุด จิตใจของเรา เป็นประธาน จะต้องเบิกบาน แจ่มใส ปรับให้เบิกบาน แจ่มใส เท่านั้นแหละ เสมอๆ เท่ากับ เราอยู่สวรรค์ เสมอๆ เรื่องอื่นใด มันย่อมมี แล้วเราก็ ใช้ปัญญาทำงาน ใช้ความคิดทำงาน แล้วก็ทำ กรรมกิริยา อะไรต่ออะไรไป ด้วยความเบิกบาน แจ่มใส

เรื่องจะหนัก วิบากจะมาก อุปสรรคจะเยอะ ปานใดก็ตาม นั่นเป็นเรื่องที่เรา จะประจัน ทุกคน ไม่มีใคร พ้นอุปสรรค แต่ กำไรที่เราได้ เมื่อเรา ทำจิตใจ เบิกบาน แจ่มใสแล้ว เราก็ได้ปรับปรุง ปฏิบัติธรรมะ อย่างแท้จริงด้วย แล้วเราก็จะได้ทำ กรรมกริยา ด้วยความไม่หม่นหมอง ไม่ฝ้ามัว ไม่มีอะไรมาคั่น เมื่อเรา ได้ปรับ อย่างแท้จริง ผู้ที่ระลึกได้ อย่าช้า ทุกขณะ ทุกวินาที เราจะต้องเป็น พุทธะ ผู้เบิกบาน เป็นปฐม ก่อนอื่น ความไม่สบายใจ ใดๆ สลัดทิ้ง อย่างไม่มีข้อแม้

๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๗


 

อย่าปล่อยให้เวลาล่วงไปเปล่า

คนเหล่าใด เกิดในมนุษยโลกแล้ว เมื่อพระตถาคต ทรงประกาศ สัทธรรม ไม่เข้าถึงขณะ ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ล่วงขณะ ชนเป็นอันมาก กล่าวเวลา ที่เสียไปว่า กระทำ อันตรายแก่ตน พระตถาคตเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในกาละ บางครั้ง บางคราว การที่พระตถาคตเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลกหนึ่ง การได้กำเนิด เป็นมนุษย์หนึ่ง การแสดงสัทธรรมหนึ่ง ที่จะพร้อมกันเข้าได้ หาได้ยากในโลก ชนผู้ใคร่ต่อประโยชน์ จึงควรพยายาม ในกาละ ดังกล่าวมานั้น ที่ตนพอจะรู้ จะเข้าใจ สัทธรรมได้ ขณะอย่าล่วงเลย ท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะบุคคล ที่ปล่อยเวลา ให้ล่วงไป พากันยัดเยียดในนรก ย่อมเศร้าโศกอยู่

หากเขาจะไม่สำเร็จ อริยมรรค อันเป็นธรรม ตรงต่อสัทธรรม ในโลกนี้ได้ เขาผู้มีประโยชน์ อันล่วงเสียแล้ว จักเดือดร้อน สิ้นกาลนาน เหมือนพ่อค้า ผู้ปล่อยให้ ประโยชน์ล่วงไป เดือดร้อนอยู่ ฉะนั้น คนผู้ถูก อวิชชา หุ้มห่อไว้ พรากจาก สัทธรรม จักเสวยแต่สงสาร คือ ชาติ และ มรณะ สิ้นกาลนาน

ส่วนชนเหล่าใด ได้อัตภาพ เกิดเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อตถาคต ประกาศสัทธรรม ได้กระทำแล้ว จะกระทำ หรือกระทำอยู่ ตามพระดำรัส ของพระศาสดา ชนเหล่านั้น ชื่อว่า ได้ประสพขณะ คือ การประพฤติ พรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยมในโลก ชนเหล่าใด ดำเนินไป ตามมรรคา ที่พระตถาคตเจ้า ทรงประกาศแล้ว สำรวม ในศีลสังวร ที่พระตถาคตเจ้า ผู้มีจักษุ เป็นเผ่าพันธุ์แห่ง พระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้ว คุ้มครองอินทรีย์ มีสติทุกเมื่อ ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ตัดอนุสัยทั้งปวง อันแล่นไป ตามกระแส บ่วงมาร ชนเหล่านั้นแล บรรลุความสิ้น อาสวะ ถึงฝั่ง คือ นิพพาน ในโลกแล้ว

๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๗


คาถาธรรม ๖ / คาถาธรรม ๗ / คาถาธรรม ๘